ศิลปะทวารวดี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระพุทธรูปปางแสดงธรรมที่พระปฐมเจดีย์

อาณาจักรทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16) เป็นของชนชาติมอญ มีศูนย์กลางอยู่บริเวณจังหวัดนครปฐม จังหวัดราชบุรี อำเภออู่ทอง และกินพื้นที่ไปจนถึงภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงหนือ แถบจังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดปราจีนบุรี และขึ้นไปถึงทางเหนือ จังหวัดลำพูน จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงในภาคใต้เช่น จังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดปัตตานี เป็นต้น

จิตรกรรม[แก้]

ไม่เหลืออะไรปรากฏเป็นหลักฐานทางด้านจิตรกรรม ชำรุดเสียหายไปหมดแล้ว เพราะงานจิตรกรรมเขียนด้วยวัสดุที่ไม่คงทน และถูกแดดถูกฝนจึงสูญหายไป

ประติมากรรม[แก้]

พระพุทธรูป[แก้]

ลักษณะสำคัญของพระพุทธรูปสมัยทวาราวดี แบ่งออกเป็น 3 ยุค คือ

  1. มีลักษณะของอินเดียแบบคุปตะและหลังคุปตะ บางครั้งก็มีอิทธิพลของอมราวดีอยู่ด้วย ลักษณะวงพักตร์แบบอินเดีย ไม่มีรัศมี จีวรเรียบเหมือนจีวรเปียก พระพุทธรูปนั่งจะขัดสมาธิหลวม ๆ แบบอมราวดี มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 12
  2. พัฒนาขึ้นจากแบบแรก โดยมีอิทธิพลพื้นเมืองผสมมากขึ้น พระขนงต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเกตุมาลาเป็นต่อมนูนใหญ่ บางทีมีรัศมีบัวตูมเหนือเกตุมาลา และสั้น พระพักตร์แบนกว้าง พระเนตรโปน พระหนุ (คาง) ป้าน พระนลาฏ (หน้าผาก) แคบ พระนาสิกป้านใหญ่แบน พระโอษฐ์หนา พระหัตถ์และพระบาทใหญ่ ยังคงขัดสมาธิหลวม ๆ แบบอมราวดี มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษ ที่ 13-15
  3. พระพุทธรูปในช่วงนี้ได้รับอิทธิพลศิลปะเขมร เนื่องจากเขมรเริ่มมีอิทธิพลมากขึ้นในสมัยเมืองพระนคร ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ในระยะนี้จึงมีอิทธิพลเขมรแบบบาปวนในประเทศไทยเรียกว่าศิลปะลพบุรีปะปน เช่น พระพักตร์เป็นรูปสี่เหลี่ยม มีลักยิ้ม นั่งขัดสมาธิราบ เป็นต้น นอกจากพระพุทธรูปแล้วยังพบสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า ซึ่งแสดงการสืบทอดแนวคิดทางศิลปะอินเดียโบราณก่อนหน้าที่จะทำรูปเคารพเป็นรูปมนุษย์ภายใต้อิทธิพลศิลปะกรีก

ประติมากรรมกลุ่มเทวรูปรุ่นเก่า[แก้]

เป็นประติมากรรมศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู อยู่ร่วมสมัยกับทวารวดีตอนต้น และตอนปลาย ในราวพุทธศตวรรษที่ 11-13 ที่เมืองศรีมโหสถและเมืองศรีเทพ และพบอยู่ร่วมกับศรีวิชัยและทวารวดีที่ภาคใต้ของประเทศไทย มักจะทำเป็นรูปพระนารายณ์

ลักษณะพระพักตร์จะไม่เหมือนพระพุทธรูปแบบทวารวดี จะมีลักษณะคล้ายกับอินเดีย ตัวอย่างเช่น พระนารายณ์ที่ไชยาแสดงลักษณะอิทธิพลศิลปะอินเดียแบบมทุราและอมราวดี(พุทธศตวรรษที่ 6-9) รวมทั้งที่พบที่นครศรีธรรมราช ซึ่งถือสังข์ด้วยพระหัตถ์ซ้ายด้านล่าง ผ้านุ่งและผ้าคาดที่พบที่ภาคใต้และที่เมืองศรีมโหสถ จะมีผ้าคาดเฉียงเหมือนศิลปะอินเดียหลังคุปตะ (ปัลลวะ) ในราวพุทธศตวรรษที่ 12 ส่วนเทวรูปรุ่นเก่าที่อำเภอศรีเทพจะมีอายุใกล้เคียงกัน และที่ศรีเทพนอกจากที่จะพบรูปพระนารายณ์แล้วยังพบรูปพระกฤษณะและพระนารายณ์ด้วย

ลักษณะของเทวรูปกลุ่มนี้ไม่เหมือนกับที่พบในเขมรเนื่องจากทำรูปลอยตัวอย่างแท้จริง ไม่ทำแผ่นหินมารับกับพระหัตถ์คู่บน แต่ยังไม่มีการนำเอากลุ่มเทวรูปนี้เข้าไปไว้ในศิลปะทวารวดี จึงเพียงมีแต่สมมุติฐานว่าเทวรูปกลุ่มนี้น่าจะเป็นทวารวดีที่เป็นพราหมณ์ การเข้ามาของเทวรูปนี่มีข้อคิดเห็นแตกไปเป็น 2 ทางคือ เป็นศิลปะอินเดียที่นำเข้าที่พร้อมกับการติดต่อค้าขาย หรือเป็นศิลปะแบบอินเดียที่ทำขึ้นในท้องถิ่น และมีการพัฒนาการภายใต้อิทธิพลศิลปะพื้นเมืองแบบทวารวดีและศรีวิชัย

สถาปัตยกรรม[แก้]

สถาปัตยกรรมทวารวดีส่วนใหญ่แสดงให้เห็นว่าสร้างขึ้นในพุทธศาสนานิกายเถรวาท[1]

สถาปัตยกรรมแบบทวาราวดีมักก่ออิฐและใช้สอดิน เช่น วัดพระเมรุและเจดีย์จุลปะโทน จังหวัดนครปฐม บางแห่งมีการใช้ศิลาแลงบ้าง เช่น ก่อสร้างบริเวณฐานสถูป การก่อสร้างเจดีย์ในสมัยทวารวดีพบทั้งเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยม เจดีย์ทรงระฆังคว่ำมียอดแหลมอยู่ด้านบน

เครื่องมือเครื่องใช้[แก้]

เครื่องมือเครื่องใช้ที่พบในแหล่งทวารวดีทั่วไปมักจะเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เศษภาชนะดินเผา เนื้อดินมักทำเป็นภาชนะปากบาน ภาชนะทรงหม้อตาล เศษภาชนะเคลือบ มีทั้งที่เป็นเครื่องเคลือบจีนในสมัยราชวงศ์ถังถึงสมัยราชวงศ์หยวน เครื่องเคลือบจากเตาในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ เครื่องเคลือบเปอร์เซีย เครื่องใช้อื่น ๆ ก็มีพบ เช่น กุณฑีดินเผา กาดินเผา ตะคันดินเผา กระสุนดินเผา ที่ประทับตราดินเผา ตุ๊กตาดินเผา ฯลฯ นอกจากเครื่องปั้นดินเผาแล้ว ยังพบเครื่องใช้สำริด ทั้งเป็นเครื่องใช้ทั่วไปกับที่เป็นของของสูง หรือของที่ใช้ในพีธีกรรม เช่นคันฉ่อง เครื่องประกอบราชยานคานหาม และเครื่องใช้ทำจากเหล็ก นอกจากเครื่องใช้แล้วยังพบเครื่องประดับทำจากหิน แก้ว ดินเผา สำริด ทองคำ ได้แก่ ลูกปัด แหวนตุ้มหู กำไล ฯลฯ

ภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. อานนท์ เรืองกาญจนวิทย์. "การออกแบบพระอุโบสถและพระวิหารแบบไทยประเพณีสมัยอยุธยาตอนปลาย (พ.ศ. 2173-2310)" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 41.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]