โปรตอน (โครงการดาวเทียม)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โปรตอน 1, 2, 3  และ 4
Протон-1, 2, 3  и 4
ดาวเทียมโปรตอน
ประเภทภารกิจดาราศาสตร์
ผู้ดำเนินการสหภาพโซเวียต
COSPAR ID
  • 1965-054A (โปรตอน 1)
  • 1965-087A (โปรตอน 2)
  • 1966-060A (โปรตอน 3)
  • 1968-103A (โปรตอน 4)
ข้อมูลยานอวกาศ
ผู้ผลิตОКБ-52 [en]
มวลขณะส่งยาน
  • 12,200 กิโลกรัม (26,900 ปอนด์) (โปรตอน 1)
  • 12,200 กิโลกรัม (26,900 ปอนด์) (โปรตอน 2)
  • 12,200 กิโลกรัม (26,900 ปอนด์) (โปรตอน 3)
  • 17,000 กิโลกรัม (37,000 ปอนด์) (โปรตอน 4)
เริ่มต้นภารกิจ
วันที่ส่งขึ้น
  • โปรตอน 1: 16 กรกฎาคม 2508 (2508-07-16) 17:16 UTC+6
  • โปรตอน 2: 2 พฤศจิกายน 2508 (2508-11-02) 18:28 UTC+6
  • โปรตอน 3: 6 กรกฎาคม 2509 (2509-07-06) 18:57 UTC+6
  • โปรตอน 4: 16 พฤศจิกายน 2511 (2511-11-16) 17:40 UTC+6
จรวดนำส่งУР-500 (1–3), Протон-К (4)
ฐานส่งท่าอวกาศยานบัยโกเงอร์ ฐานส่ง 81/23 (1–3), ท่าอวกาศยานบัยโกเงอร์ ฐานส่ง 81/24 (4)
สิ้นสุดภารกิจ
การกำจัดปลดจากวงโคจร (De-orbited)
เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ
  • โปรตอน 1: 11 ตุลาคม 2508
  • โปรตอน 2: 6 กุมภาพันธ์ 2509
  • โปรตอน 3: 6 กันยายน 2509
  • โปรตอน 4: 24 กรกฎาคม 2512
ลักษณะวงโคจร
ระบบอ้างอิงพ้องคาบโลก
ความเยื้อง.030 (1–3), .017 (4)
ระยะใกล้สุด
  • โปรตอน 1: 183 กิโลเมตร (114 ไมล์)
  • โปรตอน 2: 189 กิโลเมตร (117 ไมล์)
  • โปรตอน 3: 185 กิโลเมตร (115 ไมล์)
  • โปรตอน 4: 248 กิโลเมตร (154 ไมล์)
ระยะไกลสุด
  • โปรตอน 1: 589 กิโลเมตร (366 ไมล์)[1]
  • โปรตอน 2: 608 กิโลเมตร (378 ไมล์)[2]
  • โปรตอน 3: 585 กิโลเมตร (364 ไมล์)[3]
  • โปรตอน 4: 477 กิโลเมตร (296 ไมล์)
[4]
ความเอียง63.5° (1–3), 31.5° (4)
คาบการโคจร≈92 นาที (1–4)
 

โปรตอน (รัสเซีย: Протон, อักษรโรมัน: Proton ) เป็นดาวเทียมตรวจจับรังสีคอสมิกและอนุภาคมูลฐาน สี่ดวงของสหภาพโซเวียต เข้าสู่วงโคจรในปี พ.ศ. 2508–2511 โดยสามดวงแรกส่งโดยจรวดทดสอบ УР-500 (อักษรโรมัน: UR-500 ) ซึ่งเป็นขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) และอีกหนึ่งดวงส่งโดยจรวด Протон-К (อักษรโรมัน: Proton-K ) ดาวเทียมทั้งสี่ดวงทำภารกิจสำเร็จ โดยดวงสุดท้ายกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกในปี พ.ศ. 2512

ภูมิหลัง[แก้]

ดาวเทียมโปรตอนเป็นห้องปฏิบัติการอัตโนมัติขนาดใหญ่ที่ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรในปี พ.ศ. 2508–2511 เพื่อศึกษาอนุภาคพลังงานสูงและรังสีคอสมิก[5] ดาวเทียมเหล่านี้ใช้การทดสอบการส่งขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) แบบ УР-500 ซึ่งเป็นจรวดแบบสองขั้นตอนที่มีน้ำหนักบรรทุกสูง ออกแบบโดยสำนักออกแบบพิเศษของสหภาพโซเวียตในการออกแบบเครื่องบินที่ไม่มีนักบิน (ОКБ-52) ซึ่งมี วลาดีมีร์ เชโลเมย์ (รัสเซีย: Влади́мир Челоме́й) เป็นผู้นำองค์กร ภารกิจหลักเพื่อบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ขนาด 100 เมกะตัน ดาวเทียมโปรตอนแต่ละดวงจะถูกบรรจุอยู่ในจรวดขั้นที่สามที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะ ที่เพิ่มซ้อนเข้าไปบนจรวด УР-500[6]

การออกแบบดาวเทียม[แก้]

แผนผังของดาวเทียมโปรตอน

โปรตอน 1–3 มีขนาดเท่ากันโดยมีมวล 12,200 กิโลกรัม (26,900 ปอนด์) โดยมีบรรจุภัณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ที่พัฒนาขึ้นภายใต้การดูแลของนักวิทยาศาสตร์ เซอร์เกย์ นิโคลาเยวิช เวียร์นอฟ (รัสเซีย: Серге́й Никола́евич Вернóв) จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์-ฟิสิกส์นิวเคลียร์ของมหาวิทยาลัยมอสโก[6] การทดลองประกอบด้วยกล้องโทรทรรศน์รังสีแกมมา, กล้องโทรทรรศน์ตรวจจับการเปล่งแสงวับ (scintillator) และอุปกรณ์นับตามสัดส่วนสำหรับตรวจวัดอนุภาคจากการไอออไนเซชันของแก๊ส[7] ตัวนับสามารถระบุพลังงานทั้งหมดของอนุภาคคอสมิกพลังงานสูงพิเศษแต่ละอนุภาคได้ทีละอนุภาคซึ่งเป็นความสามารถที่ไม่เคยมีในดาวเทียมมาก่อน แม้ว่าอุปกรณ์ดังกล่าวจะได้รับการพัฒนาขึ้นก่อนหน้านั้นแปดปี โดยศาสตราจารย์ นาอูม เลโอนีโดวิช กริโกรอฟ (รัสเซีย: Нау́м Леони́дович Григо́ров) แต่ УР-500 เป็นจรวดบูสเตอร์รุ่นแรกที่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะส่งดาวเทียมที่มีเครื่องวัดอนุภาคที่มีความอ่อนไหวเข้าสู่วงโคจรได้[8] ตัวนับสามารถวัดรังสีคอสมิกด้วยระดับพลังงานได้ถึง 100 ล้านอิเล็กตรอนโวลต์ (eV)[9]

โปรตอน 3 ยังติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ ตรวจจับการเปล่งแสงวับจากการแผ่รังสีเชเรนคอฟของแก๊ส (gas-Cherenkov-scintillator)[10] เพื่อพยายามตรวจจับอนุภาคพื้นฐานที่ได้รับการตั้งสมมติฐานใหม่คือควาร์ก บรรจุภัณฑ์การทดลองทั้งหมดมีมวล 4,000 กก. (8,800 ปอนด์) และประกอบด้วยชิ้นส่วนโลหะ, พลาสติก และพาราฟิน[9]

โทรมาตรถ่ายทอดผ่านสัญญาณนำทาง (beacon) ที่ 19.910 เมกะเฮิร์ตซ แผงโซลาร์เซลล์สี่แผงจ่ายพลังงานให้กับดาวเทียมซึ่งระบายความร้อนแผงด้วยเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน ดาวเทียมมีความเสถียรในการหมุนโดยระบบควบคุมทิศทางถูกควบคุมโดยเครื่องยนต์เจ็ต มีระบบควบคุมความชื้น ระบบทั้งหมดถูกควบคุมโดยคอมพิวเตอร์ภายใน[7]

โปรตอน 4 มีมวลที่มากกว่าคือ 17,000 กิโลกรัม (37,000 ปอนด์) โดยมีเครื่องมือหลักคือแคลอรีมิเตอร์ไอออไนเซชันที่ประกอบด้วยแท่งเหล็กและตัวเปล่งแสงวับพลาสติก อุปกรณ์ตรวจวัดที่ประกอบด้วยคาร์บอนหนึ่งก้อนและโพลีเอทิลีนอีกชิ้นหนึ่ง[9] ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับรังสีคอสมิกและสเปกตรัมของพลังงานจากการชนกันที่เป็นไปได้ของอนุภาครังสีคอสมิกกับนิวเคลียสของอนุภาคในชั้นบรรยากาศของไฮโดรเจน, คาร์บอน และเหล็ก ที่เกิดขึ้นในวงโคจร และยังคงดำเนินการค้นหาควาร์ก[4]

ภารกิจ[แก้]

โปรตอน 1[แก้]

โปรตอน 1 ถูกส่งเข้าสู่วงโคจรโลก ในวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2508 เวลา 11:16 UTC จากฐานส่ง 81/23 ที่ท่าอวกาศยานบัยโกเงอร์[11] แม้ว่าการปล่อยจะพบอุปสรรคจากการรั่วไหลในท่อส่งสารออกซิไดซ์ (oxidizer) ซึ่งส่งผลให้ไนโตรเจนเตตรอกไซด์ (NTO; N2O4) หกรดบนสายไฟฟ้า ในช่วงแรกของเที่ยวบินผู้เชี่ยวชาญในการส่งจรวดได้รับสัญญาณที่ระบุว่าดาวเทียมกำลังทำงานอยู่เท่านั้น อย่างไรก็ตามในที่สุดโปรตอน 1 ก็ทำงานได้ตามปกติโดยส่งกลับข้อมูลทางฟิสิกส์ของอนุภาคคอสมิกพลังงานสูงพิเศษ ภารกิจกินเวลา 45 วัน[5] และดาวเทียมกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2508[12]

โปรตอน 2[แก้]

โปรตอน 2 ที่แทบจะเหมือนกับโปรตอน 1 ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 เวลา 12:28 น. UTC จากฐานส่ง 81/23 ที่ท่าอวกาศยานบัยโกเงอร์[11] และกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509[12] ในช่วงเวลาของการส่ง ผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกันเชื่อว่าโปรตอนรุ่นแรกเป็นส่วนประกอบของสถานีอวกาศทดลองเนื่องจากน้ำหนักของดาวเทียมและโซเวียตใช้คำว่า "สถานี" ในการระบุถึงดาวเทียมสังเกตการณ์[13][14]

โปรตอน 3[แก้]

หลังจากการทดสอบครั้งที่สามของการปล่อยจรวด УР-500 ในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2509 เวลา 14:39 น. UTC ไม่ประสบความสำเร็จ โปรตอน 3 ก็ได้ถูกนำขึ้นสู่วงโคจรโลกในวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2509 เวลา 12:57 น.[11] ในการทดสอบจรวดครั้งที่สี่และเป็นครั้งสุดท้าย[5] โดยเป็นดาวเทียมดวงแรก ๆ ที่ติดตั้งอุปกรณ์ค้นหาควาร์ก และอนุภาคมูลฐานอื่น ๆ ซึ่งเป็นส่วนย่อยของอิเล็กตรอน[9] ดาวเทียมดังกล่าวกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกในวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2509[12]

โปรตอน 4[แก้]

หลังจากสิ้นสุดการทดสอบจรวด УР-500 (ปัจจุบันถูกกำหนดชื่อเป็น "โปรตอน") จรวดรุ่นนี้และรุ่นต่อมาส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้ในการปล่อยยานอวกาศไปยังดวงจันทร์ในโครงการซอนด์ (รัสเซีย: Зонд) อย่างไรก็ตามในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511 เวลา 11:40 น. UTC ดาวเทียมโปรตอน 4 ซึ่งเป็นรุ่นสุดท้ายและมีขนาดใหญ่กว่ามากถูกปล่อยขึ้นสู่วงโคจรผ่านจรวดโปรตอน Протон-К จากฐานส่ง 81/24 ที่ท่าอวกาศยานบัยโกเงอร์ เพื่อดำเนินการค้นหาควาร์กต่อไป และเสริมการวัดรังสีคอสมิกของดาวเทียมโปรตอนรุ่นก่อนหน้า[9] ดาวเทียมโปรตอนดวงสุดท้ายนี้กลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกในวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2512[12]

สิ่งตกทอด[แก้]

ดาวเทียมโปรตอนได้รับการประกาศจากสื่อมวลชนของโซเวียตว่าเป็นจุดเริ่มต้นของขั้นตอนใหม่ในการสำรวจอวกาศของสหภาพโซเวียต[15] ความสำเร็จของโปรตอนทำให้ วลาดีมีร์ เชโลเมย์ มีสถานะในอุตสาหกรรมจรวดของโซเวียตเทียบเท่ากับ เซียร์เกย์ โคโรเลฟ (รัสเซีย: Серге́й Королёв) แห่ง ОКБ-1 (ผู้พัฒนา สปุตนิก, วอสตอก และวอสฮอด) และ มีฮาอิล ยันเกล (รัสเซีย: Михаил Янгель) จาก ОКБ-456 (ผู้ออกแบบขีปนาวุธทางทหารคนสำคัญ) จรวด УР-500 เดิมชื่อ (รัสเซีย: Геркулес, อักษรโรมัน: Gerkules ) หมายถึงเฮอร์คิวลิส ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "โปรตอน" เมื่อมีการรายงานข่าวที่สับสนทำให้ชื่อของจรวดนำส่งและวัสดุที่บรรทุกกลายเป็นชื่อเดียวกัน แม้ว่าโปรตอนจะไม่เคยใช้ในบทบาทขีปนาวุธข้ามทวีป แต่ก็กลายเป็นจรวดนำส่งที่ประสบความสำเร็จเป็นพิเศษสำหรับส่งดาวเทียมเชิงพาณิชย์ซึ่งให้บริการได้ดีจนถึงในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990[15]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Proton 1". NASA Space Science Data Coordinated Archive. สืบค้นเมื่อ 23 ตุลาคม 2020.
  2. "Proton 2". NASA Space Science Data Coordinated Archive. สืบค้นเมื่อ 23 ตุลาคม 2020.
  3. "Proton 3". NASA Space Science Data Coordinated Archive. สืบค้นเมื่อ 23 ตุลาคม 2020.
  4. 4.0 4.1 "Proton 4". NASA Space Science Data Coordinated Archive. สืบค้นเมื่อ 23 ตุลาคม 2020.
  5. 5.0 5.1 5.2 Wade, Mark. "UR-500". สืบค้นเมื่อ 23 ตุลาคม 2020.
  6. 6.0 6.1 Chertok, Boris (2011). Rockets and People. Volume IV, The Moon Race. Washington D.C.: NASA. p. 21. OCLC 775599532.
  7. 7.0 7.1 William R. Corliss (1967). Scientific Satellites. Washington D.C.: Science and Technical Information Division, Office of Technology Utilization, National Aeronautics and Space Administration. pp. 779–780.
  8. "Aeronautics and Astronautics, 1965" (PDF). NASA. p. 342. สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2020.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 hart, douglas m. (1987). The Encyclopedia of Soviet Spacecraft. New York: Exeter Books. pp. 82–83. OCLC 17249881.
  10. MEASUREMENTS OF THE COSMIC RAY SPECTRA IN THE 1010-1013 RANGE FROM THE PROTON-1, 2, 3 SATELLITES. Proceedings of the 11th International Conference on Cosmic Rays. Budapest. 25 สิงหาคม – 4 กันยายน 1969. p. 567.
  11. 11.0 11.1 11.2 McDowell, Jonathan. "Launch Log". Jonathon's Space Report. สืบค้นเมื่อ 30 ธันวาคม 2018.
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 McDowell, Jonathan. "Satellite Catalog". Jonathon's Space Report. สืบค้นเมื่อ 23 ตุลาคม 2020.
  13. "News Digest (Soviets launched)". Aviation Week and Space Technology. New York: McGraw Hill Publishing Company. 8 พฤศจิกายน 1965. สืบค้นเมื่อ 23 ตุลาคม 2020.
  14. "Aeronautics and Astronautics, 1965" (PDF). NASA. p. 333. สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2020.
  15. 15.0 15.1 Asif A. Siddiqi. Challenge to Apollo: The Soviet Union and the Space Race, 1945–1974 (PDF). Washington D.C.: NASA. pp. 339–440, 967, 971. OCLC 1001823253.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]