นางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์
ท้าวศรีสุดาจันทร์
รูปพระนางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ ภายในศาล ที่วัดแร้ง(ร้าง) จ.พระนครศรีอยุธยา
พระอัครมเหสีกรุงศรีอยุธยา
(พิพาท)
ดำรงพระยศพ.ศ. 2091
ก่อนหน้าพระนางจิตรวดี
ถัดไปพระสุริโยทัย
ประสูติไม่ปรากฏ
สิ้นพระชนม์พ.ศ. 2091
พระราชสวามีสมเด็จพระไชยราชาธิราช (2077–2089)
ขุนวรวงศาธิราช (2091)
พระราชบุตรสมเด็จพระยอดฟ้า
พระศรีศิลป์
พระธิดาไม่ปรากฏพระนาม
ราชวงศ์อู่ทอง (สันนิษฐาน)
สุพรรณภูมิ (เสกสมรส)

นางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ คือพระมเหสีฝ่ายซ้าย[1]ในสมเด็จพระไชยราชาธิราช พระอัครมเหสี[1]ในขุนวรวงศาธิราช และพระราชมารดาในสมเด็จพระยอดฟ้าและพระศรีศิลป์[2]

พระประวัติ[แก้]

มีการสันนิษฐานเกี่ยวกับพระชาติกำเนิดของท้าวศรีสุดาจันทร์ว่าสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์อู่ทอง โดยอาจสืบเชื้อสายมาจากสมเด็จพระเจ้ารามราชาที่เสียราชสมบัติแล้วถูกส่งไปอยู่เมืองปทาคูจาม พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ได้ให้ข้อสังเกตว่าราชวงศ์ดังกล่าวอาจถูกละเว้นไว้ในฐานะที่เป็นตระกูลศักดิ์สิทธิ์ ผู้สืบเชื้อสายราชวงศ์ดังกล่าวจึงได้รับการเลี้ยงดูสืบมาให้มาทำหน้าที่สำคัญในราชสำนัก[3] สอดคล้องกับจดหมายเหตุวันวลิต ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับขุนวรวงศาธิราช ที่เดิมเป็นพนักงานเฝ้าหอพระมาก่อน ว่าเป็นหมอผี มีหน้าที่อ่านแปลหนังสือพงศาวดารของต่างประเทศให้แก่พระเจ้าอยู่หัว แสดงให้เห็นว่าขุนวรวงศาธิราชและท้าวศรีสุดาจันทร์ที่มีศักดิ์เป็นญาติ ไม่ได้มาจากตระกูลชั้นต่ำ แต่เป็นระดับผู้รู้ และอยู่ในฐานะระดับปุโรหิตที่มีหน้าที่เกี่ยวกับพระราชพิธีในราชสำนัก[4]

ขุนวรวงศาธิราชมีน้องชายคือนายจัน บ้านมหาโลก ซึ่งเป็นหมู่บ้านเขมร ดังนั้นตระกูลของเขาอาจมีความสัมพันธ์กับเขมรด้วย[3] เอกสารโปรตุเกสได้กล่าวถึงนายจันว่าเป็นช่างเหล็ก ซึ่งเทคโนโลยีผลิตเครื่องมือเหล็กในสมัยนั้นไม่ใช่ของที่ใครก็ทำได้ง่าย ๆ ต้องอาศัยผู้ชำนาญสะสมมาเป็นเวลานาน จึงยืนยันได้ว่าตระกูลของนายจันไม่ใช่ตระกูลชั้นต่ำแต่อย่างใด[3]

การครองอำนาจ[แก้]

ด้วยเหตุที่พระนางมีพระราชโอรสคือสมเด็จพระยอดฟ้า พระนางจึงมีฐานะที่สูงกว่าพระชายาอื่นอีก 3 พระองค์[5] ต่อมาสมเด็จพระไชยราชาธิราช พระสวามีได้เสด็จกลับจากราชการสงคราม ทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคต จึงได้มีการยกพระยอดฟ้า พระราชโอรสครองราชย์ต่อมาในปี พ.ศ. 2089 โดยมีนางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ในปี พ.ศ. 2091 นางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ทรงอ้างว่าสมเด็จพระยอดฟ้ายังทรงพระเยาว์ หัวเมืองเหนือก็ไม่เป็นปกติจึงปรึกษากับขุนนางว่าจะให้ขุนวรวงศาธิราชว่าราชการแผ่นดินจนกระทั่งสมเด็จพระยอดฟ้าทรงเจริญพระชนมายุ เหล่าขุนนางก็เห็นชอบด้วย เมื่อขุนวรวงศาธิราชขึ้นครองราชย์แล้ว ก็สถาปนานายจัน ผู้เป็นน้องชายที่อยู่บ้านมหาโลกขึ้นเป็นพระมหาอุปราช แล้วนำสมเด็จพระยอดฟ้าไปสำเร็จโทษที่วัดโคกพระยา ส่วนพระศรีศิลป์ พระราชโอรสอีกพระองค์ซึ่งในขณะนั้นมีพระชันษาได้ 7 ปี ทรงเลี้ยงไว้[2]

สิ้นพระชนม์[แก้]

หลังจากการครองราชย์ของขุนวรวงศาธิราช ก็มีกลุ่มขุนนางผู้ใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกับการครองราชย์นั้น นำโดยขุนพิเรนทรเทพ (ต่อมาคือสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช) ได้ร่วมกันวางแผนจับขุนวรวงศาธิราชปลงพระชนม์เสีย โดยวางแผนหลอกล่อขุนวรวงศาธิราชว่ามีช้างเผือกติดเพนียด หากขุนวงศาธิราชเสด็จไปคล้องช้างก็จะเกิดบารมีและสิทธิธรรมในการครองราชย์[6] ต่อมาเมื่อถึงวันที่เสด็จทางชลมารคตามลำคลองสระบัวเพื่อไปคล้องช้างเถื่อนที่เพนียดวัดซองที่ย่านหัวรอ[7] ฝ่ายขุนพิเรนทรเทพได้ก็นำกำลังดักซุ่มที่คลองบางปลาหมอ[7] เมื่อขบวนเรือล่องมาถึงบริเวณปากคลองสระบัวที่บรรจบกับคลองบางปลาหมอ (สันนิษฐานว่าปริมณฑลดังกล่าวในปัจจุบันคือวัดเจ้าย่า)[6] ก็สกัดจับขุนวรวงศาธิราชกับนางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์พร้อมด้วยบุตรปลงพระชนม์เสียแล้วนำพระศพไปเสียบประจานที่วัดแร้ง[2] แล้วจึงไปทูลเชิญพระเฑียรราชาซึ่งผนวชอยู่ที่วัดราชประดิษฐาน ให้ลาสิกขาบทมาครองราชย์เป็นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ[8]

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม[แก้]

มีนักแสดงผู้รับบท นางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ ได้แก่

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 คำให้การชาวกรุงเก่า, พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553, หน้า 492-494
  2. 2.0 2.1 2.2 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553, หน้า 66-7
  3. 3.0 3.1 3.2 พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. การเมืองในประวัติศาสตร์ ยุคสุโขทัย-อยุธยา พระมหาธรรมราชา กษัตราธิราช. กรุงเทพ:สำนักพิมพ์มติชน,2553. พิมพ์ครั้งที่ 2, หน้า 95
  4. พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. การเมืองในประวัติศาสตร์ ยุคสุโขทัย-อยุธยา พระมหาธรรมราชา กษัตราธิราช. กรุงเทพ:สำนักพิมพ์มติชน,2553. พิมพ์ครั้งที่ 2, หน้า 94
  5. พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. การเมืองในประวัติศาสตร์ ยุคสุโขทัย-อยุธยา พระมหาธรรมราชา กษัตราธิราช. กรุงเทพ:สำนักพิมพ์มติชน,2553. พิมพ์ครั้งที่ 2, หน้า 90
  6. 6.0 6.1 "ชมคลิป จุดลอบสังหารท้าวศรีสุดาจันทร์ "ตามรอยขัตติยนารีพระศรีสุริโยทัย" กับ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์". มติชน. 25 สิงหาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 17 มกราคม 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. 7.0 7.1 ปวัตร์ นวะมะรัตน. "คลองสระบัวและคลองบางปลาหมอ (คลองผ้าลาย)" ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 29 ฉบับที่ 7 พฤษภาคม 2551 กรุงเทพ:สำนักพิมพ์มติชน,2551. หน้า 58
  8. ปวัตร์ นวะมะรัตน. "คลองสระบัวและคลองบางปลาหมอ (คลองผ้าลาย)" ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 29 ฉบับที่ 7 พฤษภาคม 2551 กรุงเทพ:สำนักพิมพ์มติชน,2551. หน้า 59

ดูเพิ่ม[แก้]