เรียม เพศยนาวิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มาเรียม บินตี อับดุลละฮ์
ขณะประกวดนางสาวไทยใน พ.ศ. 2482
จิกปวนแห่งรัฐปะลิส
ดำรงพระยศ18 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 – 29 กันยายน พ.ศ. 2529
ประสูติ23 เมษายน พ.ศ. 2465
จังหวัดพระนคร ราชอาณาจักรสยาม
สิ้นพระชนม์29 กันยายน พ.ศ. 2529 (64 ปี)
รัฐปะลิส ประเทศมาเลเซีย
พระสวามีรายาฮารุน ปูตราแห่งปะลิส (พ.ศ. 2495–2529)
พระบุตรเจ้าชายไซนัล-ราชิด
เจ้าชายอัซนี
เจ้าชายบัดลีชะฮ์
เจ้าหญิงเมลานี
ราชวงศ์จามาลูไลล์ (เสกสมรส)
พระบิดาสุมิต เพศยนาวิน
พระมารดาจำรัส เพศยนาวิน

จิกปวนมาเรียม บินตี อับดุลละฮ์ (มลายู: Che’ Puan Mariam Binti Abdullah) หรือพระนามเดิมคือ เรียม เพศยนาวิน (23 เมษายน พ.ศ. 2465 – 29 กันยายน พ.ศ. 2529) เป็นนางสาวไทยประจำปี พ.ศ. 2482 เป็นสตรีคนแรกที่ได้รับตำแหน่งในนาม นางสาวไทย เพราะก่อนหน้านี้ใช้ชื่อการประกวดว่า นางสาวสยาม[1] เป็นสตรีไทยมุสลิมคนแรกและคนเดียวที่ครองตำแหน่งดังกล่าว[2][3] ภายหลังได้เสกสมรสกับรายาฮารุน ปูตราแห่งปะลิสเมื่อ พ.ศ. 2495 มีพระราชโอรส-ธิดาด้วยกันสี่พระองค์

พระประวัติ[แก้]

พระชนม์ชีพช่วงต้น[แก้]

เรียม เพศยนาวิน ขณะประกวดนางสาวไทย

จิกปวนมาเรียม มีพระนามเดิมว่ามาเรียม เพศยนาวิน แต่รัฐบาลรณรงค์ให้ใช้ชื่อเป็นภาษาไทยจึงเปลี่ยนเป็นเรียม ประสูติเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2465 ณ อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร เป็นบุตรคนโตจากทั้งหมดเจ็ดคนของสุมิต เพศยนาวิน ชาวไทยมุสลิม กับจำรัส ภริยาที่เป็นจีนอพยพ[4] เบื้องต้นพระองค์เข้ารับการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนมหัสดัมอิสลามวิทยาลัย[2]

ในยุคนโยบายชาตินิยมได้มีการออกพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติในปี พ.ศ. 2485 ให้ใช้ชื่อให้เหมาะสมกับเพศสภาพ พระองค์จึงเปลี่ยนพระนามเป็น "เรียมรมย์" พักหนึ่ง หลังผ่านยุคนั้นก็กลับมาใช้ชื่อ "เรียม" ตามเดิม[2][5]

ประกวดนางสาวไทย[แก้]

จิกปวนมาเรียมได้เข้าร่วมการประกวดนางสาวไทยส่งเข้าประกวดในนามของอำเภอยานนาวา ระหว่างการฉลองรัฐธรรมนูญระหว่างวันที่ 8-12 ธันวาคม พ.ศ. 2482 ซึ่งเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงชื่อการประกวดจากเดิมคือนางสาวสยามเป็นนางสาวไทยตามชื่อใหม่ของประเทศ[6] นอกจากนี้การประกวดนางสาวไทยยังให้ผู้เข้าประกวดสวมชุดเสื้อกระโปรงติดกันเปิดแผ่นหลังครึ่งหลัง ตัวกระโปรงยาวถึงหัวเข่าเพื่อความทันสมัย จากเดิมที่ผู้ประกวดจะสวมชุดไทยสไบเฉียง[2] ซึ่งจากการประกาศผลในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2482 ได้ประกาศให้เรียม เพศยนาวินวัย 16 ปี จากอำเภอยานนาวาครองตำแหน่งนางสาวไทย[1][3] โดยมีมาลี พันธุมจินดา, เทียมจันทร์ วนิชขจร, เจริญศรี ปาศะบุตร และลำยอง สู่พานิชย์ เป็นรองนางสาวไทยอันดับที่ 1-4 ตามลำดับ

โดยพระองค์ได้รับรางวัลที่นับว่ามีค่าในขณะนั้น เช่น พานรอง, ขันน้ำ, จักรยาน หรือโต๊ะเครื่องแป้ง เป็นอาทิ หลังรับตำแหน่งแล้วพระองค์จะมีหน้าที่สำหรับการประชาสัมพันธ์นโยบายการสร้างชาติของรัฐบาล หรือมีบทบาทสำคัญต่อการรังสรรค์ประเทศ อย่างเช่นช่วงประเทศกำลังประสบปัญหาในสงครามอินโดจีน พระองค์ได้นำถ้วยเงินออกขายเพื่อนำเงินมาบำรุงประเทศ[6]

เสกสมรส[แก้]

สมเด็จพระราชาธิบดีซัยยิด ปูตรา ทรงฉายกับเรียม เพศยนาวิน ในวันเสกสมรส

ในปี พ.ศ. 2494 รายาปูตราแห่งปะลิสได้เสด็จมาประเทศไทยเป็นการส่วนพระองค์และมีพระประสงค์ที่จะประทับในบ้านมุสลิมเพื่อหลีกเลี่ยงการต้อนรับอย่างเอิกเกริกรวมทั้งต้องการทอดพระเนตรมุสลิมผู้รับตำแหน่งนางสาวไทยด้วย โดยเจ๊ะอับดุลลาห์ หลังปูเต๊ะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูลจึงให้พระองค์ประทับ ณ บ้านของนิพนธ์ สิงห์สุมาลี ซึ่งขณะนั้นเรียมก็ประทับอยู่ในบ้านหลังดังกล่าวด้วย แต่ทว่าเรียมหลบเลี่ยงที่พบปะกับรายาเสมอ จนกระทั่งวันหนึ่งเรียมทรงแบตมินตันกับบุตรสาวของนิพนธ์ องค์รายาได้ออกมาทอดพระเนตรพอดีและทรงพอพระทัยยิ่ง[2]

วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2495 รายาได้นำพระธำมรงค์ 10 กะรัต และเงิน 10,000 บาท มาทำพิธีหมั้นที่บ้านของนิพนธ์อย่างเรียบง่าย โดยมีต่วน สุวรรณศาสน์ จุฬาราชมนตรีในขณะนั้นเป็นประธานในพิธี หลังจากนั้นอีกสองเดือน จึงได้จัดพิธีเสกสมรสอย่างเรียบง่ายเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมปีนั้นโดยมีจุฬาราชมนตรีมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และมีแขกมาร่วมงานราว 50 คน[2] หลังจากนั้นเป็นต้นมา เรียมจึงมีตำแหน่งเป็นจิกปวน (Che’ Puan) หรือพระมเหสีรอง เพราะรายามีพระมเหสีอยู่ก่อนแล้วคือราจาเปอเริมปวนบูดรียะฮ์ (Raja Perempuan Budriah) ซึ่งตามหลักศาสนาอิสลามแล้วผู้ชายจะมีภรรยาได้สี่คน ทั้งนี้รายาและจิกปวนมาเรียมมีพระโอรส-ธิดาด้วยกัน 4 พระองค์ ได้แก่

  1. เจ้าชายไซนัล-ราชิด (Syed Zainal-Rashid; ประสูติ 18 เมษายน พ.ศ. 2496)
  2. เจ้าชายอัซนี หรือ อัศนีย์ (Syed Azni; ประสูติ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2497) เสกสมรสกับเติงกูอิลฮัม มาลีนาแห่งปาฮัง (Tengku Ilham Malina of Pahang) มีพระโอรส-ธิดาสามพระองค์
  3. เจ้าชายบัดลีชะฮ์ หรือ รังสิกร[ก] (Syed Badlishah; ประสูติ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2501) เสกสมรสและหย่ากับรสยาตี บินตีอะฮ์มัด (Rosyati binti Ahmad) และเสกสมรสอีกครั้งกับฟัซลีน บินตีอะฮ์มัด (Fazlyn binti Ahmad) มีพระโอรส-ธิดา 4 พระองค์
  4. เจ้าหญิงเมลานี (Sharifa Melanie; ประสูติ 30 มกราคม พ.ศ. 2511)

โดยจิกปวนมาเรียมทรงสอนให้พระราชโอรส-ธิดาพูดภาษาไทย ทรงใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในรัฐปะลิส เสด็จกลับประเทศไทยปีละสามครั้ง บ้างก็เสด็จไปเยี่ยมพระโอรสที่กำลังศึกษาในประเทศอังกฤษ

สิ้นพระชนม์[แก้]

จิกปวนมาเรียมสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2529 ด้วยพระอาการพระหทัยวายเฉียบพลัน สิริชันษา 64 ปี พระศพถูกฝัง ณ สุสานหลวงประจำราชวงศ์จามาลูไลล์ รัฐปะลิส ประเทศมาเลเซีย[2]

เชิงอรรถ[แก้]

หมายเหตุ

ได้รับพระราชทานพระนามภาษาไทยจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช[2]

อ้างอิง
  1. 1.0 1.1 "ทำเนียบนางสาวไทย". MCOT. 19 พฤศจิกายน 2556. สืบค้นเมื่อ 31 สิงหาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 โรม บุนนาค (11 มกราคม 2559). "เพราะความรักจึงบันดาลให้ นางสาวไทยเป็นราชินีแห่งสหพันธรัฐมลายู!!!". ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 31 สิงหาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  3. 3.0 3.1 "เรียม เพศยนาวิน". Next Step สังคมแห่งการเรียนรู้. 10 กุมภาพันธฺ 2556. สืบค้นเมื่อ 31 สิงหาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  4. "ชีวิตและความรักของ "เรียม เพศยนาวิน" นางสาวไทยที่พบรักเจ้าผู้ครองรัฐในมาเลเซีย". ศิลปวัฒนธรรม. 23 ตุลาคม พ.ศ. 2564. สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  5. "เรื่องนี้เรียกว่า "ชื่อ" ตอน ๒". จิงโจ้นิวส์. 14 กันยายน 2557. สืบค้นเมื่อ 31 สิงหาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. 6.0 6.1 "นางงามไทย: จากใต้อำนาจรัฐสู่การรับใช้นายทุน". ศิลปวัฒนธรรม. 5 มิถุนายน 2560. สืบค้นเมื่อ 31 สิงหาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)