กันยา เทียนสว่าง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กันยา เทียนสว่าง
เกิดกันยา เทียนสว่าง
30 สิงหาคม พ.ศ. 2457
เมืองนนทบุรี ประเทศสยาม
เสียชีวิต16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2503 (46 ปี)
จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
ชื่ออื่นลูซิล
อาชีพนางงาม
มีชื่อเสียงจากนางสาวสยาม พ.ศ. 2477
คู่สมรสดร.สุจิต หิรัญพฤกษ์
บุตร5 คน
บุพการีสละ เทียนสว่าง
สนอม เทียนสว่าง

กันยา เทียนสว่าง (30 สิงหาคม พ.ศ. 2457 – 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2503) ชื่อเล่น ลูซิล เป็นนางสาวสยาม พ.ศ. 2477

เป็นธิดาของ นายสละ เทียนสว่าง และนางสนอม เทียนสว่าง แม่เธอมีเชื้อสายมอญ บิดาของเธอทำงานเป็นนายท่าเรืออยู่ที่ท่าเขียวไข่กา บางกระบือ พระนคร เกิดเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2457 ที่บ้านปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เธอเป็นลูกคนโตในพี่น้องทั้งหมด 5 คน ด้วยเหตุที่หน้าตาคมคาย จมูกโด่งเหมือนฝรั่ง พ่อแม่จึงตั้งชื่อให้ว่า “ลูซิล” เธอได้รับการศึกษาจากโรงเรียนวัดสังเวช โรงเรียนราชินี และโรงเรียนสตรีวิทยา เมื่ออายุ 10 ปีแม่เธอก็จากไป เธอได้รับการอุปการะจากน้าชาย เข้าประกวดนางสาวสยามเมื่อมีอายุ 21 ปี ขณะนั้นทำงานเป็นครูอยู่ในโรงเรียนประชาบาลทารกานุเคราะห์ ได้ 4 ปีแล้ว

ในการประกวด นางสาวสยาม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานฉลองรัฐธรรมนูญ ที่ทางรัฐบาลจัดขึ้น ซึ่งในปี พ.ศ. 2477 ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญปีที่สอง แต่เริ่มจัดการจัดประกวดเป็นปีแรก การประกวดความงาม มิติใหม่ของงานฉลองรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ดูจะเป็นจุดรวมความสนใจของประชาชนมากที่สุด ด้วยเป็นของใหม่และสีสันอันชวนตื่นตา หนังสือพิมพ์ประชาชาติทยอยลงข่าวคราวการประกวดในครั้งนี้อย่างต่อเนื่อง การจัดงานครั้งนี้มีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดงานอันประกอบด้วยบุคคลที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นและมีคณะกรรมการตัดสิน อันได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาและ เจ้าพระยารามราฆพ เป็นต้น ได้รับการดูแลเรื่องการแต่งกาย และการประกวด โดยหม่อมกอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยา ซึ่งกันยา เทียนสว่าง ได้ตำแหน่งนางสาวพระนคร มาก่อนในคืนวันที่ 9 ธันวาคม และเป็นตัวแทนจังหวัดพระนครเข้าประกวดนางสาวสยามในคืนวันที่ 10 ธันวาคม และตัดสินในคืนวันที่ 12 ธันวาคม รางวัลที่ได้มีมงกุฎ ทำด้วยผ้ากำมะหยี่ปักดิ้นเงิน ประดับโครงเงินและเพชร(ภายหลังสูญหายไป เนื่องจากถูกขโมย ตั้งแต่สมัยก่อนที่เธอจะแต่งงาน) ขันเงินสลักชื่อ "นางสาวสยาม ๗๗" ล็อกเก็ตห้อยคอทองคำ(ในภาพ) เข็มกลัดทองคำลงยา อักษรว่า "รัฐธรรมนูญ ๗๗" และเงินสด 1,000 บาท แต่เงินนั้น ทางรัฐบาลขอรับบริจาคเพื่อบำรุงการทหาร การได้รับตำแหน่งของกันยาในครั้งนั้น สร้างความไม่พอใจต่อทางญาติผู้ใหญ่ในเรื่องครอบครัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากกันยา ไปประกวด โดยที่ญาติผู้ใหญ่ไม่ทราบเรื่องมาก่อน และคนเชื้อสายมอญ ถือเรื่องศักดิ์ศรี และถือว่าการกระทำเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องน่าอับอายสำหรับพวกเขา

หลังพ้นจากตำแหน่ง ได้เข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่หอสมุดแห่งชาติ ได้พบกับ ด็อกเตอร์สุจิต หิรัญพฤกษ์ ที่ทำงานอยู่กระทรวงต่างประเทศ พิธีแต่งงานของเธอมีขึ้นเมื่อ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2486 โดยมีนายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ผู้บังคับบัญชาของฝ่ายชายเป็นเจ้าภาพ ณ บ้านพักของท่าน

ชีวิตการครองคู่ของเธอเต็มไปด้วยความรักความเข้าใจอันดีระหว่างกันและกัน เธอมีบุตรธิดา 5 คน คือ สุกันยา (นิมมานเหมินท์) , ทินกร, สุจิตรา, สุวิชา และ สุชาติ ต่อมาสามีของเธอได้เป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เป็นผู้ร่วมคณะผู้แทนไทยในการนำประเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ และร่วมประชุมสมัชชาใหญ่เป็นครั้งแรก เป็นโฆษกฝ่ายไทยประจำสำนักงานใหญ่ องค์การสหประชาชาติ และครอบครัวเธอดำเนินธุรกิจบริษัทนาคาไข่มุก ทำกิจการเพาะเลี้ยงไข่มุกที่เกาะนาคา จังหวัดภูเก็ต

กันยา (เทียนสว่าง) หิรัญพฤกษ์ ป่วยด้วยโรคมะเร็งในมดลูก เธอเดินทางไปรักษาตัวที่เยอรมันเพื่อทดลองยาที่เพิ่งค้นพบใหม่ ด้วยความหวังกำลังใจจะหายจากโรคร้าย แต่ยังไม่ทันได้ทำการรักษา สามีก็ต้องประสบมรสุมทางการเมือง เมื่อ เมษายน พ.ศ. 2502 กรณีมีข่าวว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทุจริตเรื่องการพิมพ์ธนบัตร ซึ่งสามีของเธอเป็นเลขานุการรัฐมนตรีฯ เธอรู้ว่าไม่มีโอกาสได้รักษาต่อไปแล้ว เธอจึงกลับมาเป็นขวัญกำลังใจเคียงข้างคู่ชีวิต แม้ว่าในภายหลังผลการสอบสวนจะไม่พบการกระทำผิด เพราะเนื่องจากเป็นเรื่องของการเมืองในขณะนั้น แต่กว่าศาลฎีกาจะพิพากษาก็วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2508 เธอจึงไม่มีโอกาสเห็นสามีผู้เป็นที่รักของเธอพ้นมลทิน

กันยา (เทียนสว่าง) หิรัญพฤกษ์ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2503 ในวัย 46 ปี ร่างของเธอถูกเก็บไว้ ณ สุสานวัดมกุฏกษัตริยาราม ไว้นานถึง 21 ปี เพื่อรอการฌาปนกิจพร้อมกับการพระราชทานเพลิงศพด็อกเตอร์สุจิต คู่ชีวิตผู้เป็นที่รักเมื่อ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2524

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]