เรนโบว์ (วงดนตรีไทย)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เรนโบว์
ที่เกิดไทย กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
แนวเพลงสตริงคอมโบ
ลูกทุ่ง
ป๊อป
ลูกกรุง
บัลลาด
คันทรี่
ร็อค
ดนตรีอะคูสติก
โฟล์ค
ช่วงปีพ.ศ. 2528 - 2538
ค่ายเพลงอาร์.เอส.โปรโมชั่น
สมาชิกพีระพงษ์ พลชนะ (ต้อม)
ธีระศักดิ์ วดีศิริศักดิ์ (อุ๋น)
ทวี ศรีประดิษฐ์ (อ๊อด)
สุชาติ จันทร์ต้น (อี๊ด)
อัมพร ชาวเวียง (พร)
อดีตสมาชิกเรวัติ สระแก้ว (ป๋อง)

เรนโบว์ (อังกฤษ: Rainbow) เป็นวงดนตรีสตริงวัยรุ่นจากค่าย อาร์.เอส.โปรโมชั่น ที่ประสบความสำเร็จในช่วงยุค 80-90 วงเรนโบว์เริ่มขึ้นจากสมาชิกบางส่วนของวงอินทนิลได้แยกออกมาและก่อตั้งวงนี้ขึ้น หลังจากวงอินทนิลถูกยุบวงไปก่อนหน้านี้[1] ออกอัลบั้มแรกในปี พ.ศ. 2528 วงเรนโบว์มีเพลงฮิตอย่าง ความในใจ, อยากให้รู้ใจ, ยังหวัง, อย่าหวั่นใจ, เท่านั้นก็พอ, เออ…ก็ใช่, เลิกง้อ (พอกันที), ตัดใจลา, สิ่งสุดท้าย, จดหมายฉบับสุดท้าย, ทั้งชีวิต, ความทรงจำ, ด้วยดวงใจ เป็นต้น [2][3]

ประวัติ[แก้]

วงเรนโบว์เริ่มเกิดขึ้นมาจาก พีระพงษ์ พลชนะ (ต้อม) ร่วมกับ เรวัติ สระแก้ว (ป๋อง) และธีระศักดิ์ วดีศิริศักดิ์ (อุ๋น) ได้เข้าเป็นสมาชิก วงอินทนิล วงดนตรีวงแรกของค่ายอาร์เอสซาวน์ ซึ่งได้เข้ามาแทนสมาชิกเก่า โดยพีระพงษ์ได้เข้ามาเป็นมือกีตาร์และร้องนำด้วยในภายหลัง ได้ทำอัลบั้มชุดที่ 4 ของวงอินทนิล "ขอรัก..อีกครั้ง" (2527) ซึ่งพีระพงษ์ เรวัติ ธีระศักดิ์ ได้ทำเพลงกับวงอินทนิลเพียงอัลบั้มเดียว และเป็นอัลบั้มสุดท้ายของวง

ต่อมาวงอินทนิลประกาศยุบวงในปี พ.ศ. 2528 แต่ไม่ได้สลายตัว สมาชิกที่เหลืออยู่ อันได้แก่ พีระพงษ์ เรวัติ ธีระศักดิ์ และ ทวี ศรีประดิษฐ์ (อ๊อด) (หัวหน้าวงอินทนิล) ได้แยกออกมาตั้งวงใหม่ขึ้นในปีนั้น ร่วมกับสมาชิกใหม่อีกสองคนคือ อัมพร ชาวเวียง (พร) จากวงแฟนนาติกและสเตริโอ และ สุชาติ จันทร์ต้น (อี๊ด) รวมเป็น 6 คน จึงได้ก่อตั้งวงใหม่ขึ้นและเปลี่ยนชื่อวงเป็น "เรนโบว์" โดยสังกัดค่ายเดิม

โดยในตอนแรกทางวงจะตั้งชื่อเป็น "สายรุ้ง" แต่ในสมัยนั้นนิยมตั้งชื่อวงดนตรีเป็นภาษาอังกฤษ ประกอบกับต้อม (พีระพงษ์) นั้นชื่นชอบ ริทชี แบล็กมอร์ มือกีตาร์วงเรนโบว์ ของประเทศอังกฤษ จึงเปลี่ยนชื่อวงเป็น "เรนโบว์" [4]

ความแตกต่างของวงเรนโบว์ต่อวงสตริงอื่นๆนั่นคือการนำเสนอภาพลักษณ์ของต้อมหรือพีระพงษ์ที่วางตำแหน่งต่างออกไปและโดดเด่นมากกว่าสมาชิกวงคนอื่น ทั้งการแต่งกายและการจัดตำแหน่งเวลาถ่ายรูป (ต้อมมักจะอยู่ข้างหน้าหรือถ่ายรูปเดี่ยวเสมอ) เนื่องด้วยทางอาร์เอสต้องการปรับตำแหน่งของวงให้มีความแตกต่างจากวงสตริงวงอื่นในค่ายโดยใช้ระบบ สมาชิกคนหนึ่งเป็นตัวศูนย์กลางทุกอย่างของวง ในการนำเสนอ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากวงวิงส์ (Wings) ของพอล แม็กคาร์ตนีย์ ซึ่งแม้จะมีสมาชิกโดดเด่นขึ้นมาหนึ่งคนแต่ทุกคนก็รวมกลุ่มในการเป็นวงดนตรี [5][6]

วงเรนโบว์มีผลงานชุดแรกคือ ช้ำเพื่อรัก (2529) ซึ่งเป็นที่รู้จักในระดับหนึ่ง มีเพลงที่เป็นที่รู้จักก็คือ "ลาจากเธอ" และ "ช้ำเพื่อรัก"

และโด่งดังอย่างสุดขีดในชุดที่ 2 คือ ความในใจ (2529) ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงจากบทเพลง "ความในใจ" ซึ่งว่ากันว่าสามารถทำยอดขายได้เกินล้านตลับ[1] ในชุดนี้ยังมีเพลงดังอื่น ๆ อีก เช่น "เลิกง้อ (พอกันที)" "อย่าหวั่นใจ" "ละครเศร้า" ฯลฯ

และมาต่อยอดความดังจากชุดที่ 3 คือ ด้วยดวงใจ (2530) ซึ่งมีเพลงที่โด่งดังเช่น จม.ฉบับสุดท้าย, คนละเส้นทาง, ด้วยดวงใจ, ความทรงจำ ฯลฯ

ชุดที่ 4 ด้วยแรงรัก (2530) มีเพลงฮิต เช่น เออ.ก็ใช่, อยากให้เป็นเช่นวันก่อน, วันสุดท้าย, ในฝัน ฯลฯ

ชุดที่ 5 "รอบใหม่ (2531) มีเพลงสุดฮิตอย่าง อยากให้รู้ใจ (ติดชาร์ตเพลงฮิตอันดับ 1 ของประเทศในรายการ โค้กมิวสิคอะวอร์ด ถึง 2 เดือนซ้อน), ขอแค่คิดถึง, รักหนอรัก ฯลฯ

ชุดที่ 6 เพื่อนคนเก่า (2532) มีเพลงที่โด่งดัง เช่น ยังหวัง, แรงใจ, เพื่อนคนเก่า, นายยอดชาย ฯลฯ

ชุดที่ 7 ลัดฟ้ามากับรุ้ง (2533) มีเพลงซึ่งเป็นที่รู้จักเช่น เท่านั้นก็พอ, รุ้ง, หัวใจไม่จน, และมีเพลงที่สมาชิกในวงร้องร่วมกันทั้งหมดคือเพลง "เพื่อน" ฯลฯ

ชุดที่ 8 เมื่อความรักเดินทาง (2534) มีเพลงฮิต เช่น

ทั้งชีวิต (ซึ่งมิวสิควีดีโอเพลงนี้ ได้ ปู - วิชชุดา สวนสุวรรณ นางเอกดาวรุ่งของช่อง 7 สีมาแสดง เป็นมิวสิควีดีโอ 1 ใน 2 เพลงของเธอก่อนจะประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตในเวลาต่อมา - อีกเพลงคือ รักจางที่บางปะกง ของ กุ้ง ตวงสิทธิ์)

และเพลงอื่น ๆ อย่าง ไม่พูดไม่จา, เสียดาย, เก็บใจไว้ดู ฯลฯ

และยังมีเพลงพิเศษอื่น ๆ ที่ถูกรวมไว้ในอัลบั้มรวมฮิตต่าง ๆ เช่น ขอรักอีกครั้ง (นำเอาเพลงเก่าจากวง อินทนิล มาร้องอีกครั้ง), รักฉันสักนิด, รอคอย, หากรู้มาก่อน, ใจเดียว ฯลฯ

ภายหลังได้มีอัลบั้มพิเศษโดยนำเพลงมาขับร้องใหม่เช่นชุด เรนโบว์พิเศษ ระคนละคร (2534) ที่มีเพลงประกอบละครหลายเรื่อง อาทิเช่น ขมิ้นกับปูน, มณีร้าว, คู่กรรม, กนกลายโบตั๋น, บัวแล้งน้ำ, พิษสวาท ฯลฯ

และยังได้ออกอัลบั้ม เรนโบว์ ข้ามเวลา 1, 2, 3 และ รวมฮิตข้ามเวลา (2535,2536) โดยนำเพลงที่เคยโด่งดังในอดีตจากวงชาตรี, แกรนด์เอ็กซ์, อรรถพล ประเสริฐยิ่ง, สุชาติ ชวางกูร, ดนุพล แก้วกาญจน์ ฯลฯ มาร้องใหม่ ได้แก่ รักฉันนั้นเพื่อเธอ, อธิษฐานรัก, ยากยิ่งนัก, ที่สุดของหัวใจ, รักในซีเมเจอร์, ลมหายใจของความคิดถึง, รักครั้งแรก, แสนรัก, ดั่งเม็ดทราย, เหมันต์ที่ผ่านไป, สัญญาใจ, วันวานยังหวานอยู่ ฯลฯ

อัลบั้มชุด เรนโบว์'นัส (2536) โดยนำเพลงลูกกรุงกับสุนทราภรณ์จากชุด แกรนด์เอ็กซ์โอ ของวงแกรนด์เอ็กซ์มาร้องใหม่ ได้แก่ บัวน้อยคอยรัก, ทาสรัก, ลมสวาท, ลาก่อนความรัก ฯลฯ

และ เรนโบว์คอรัส หัวใจสลาย (2537) โดยเขาได้ร้องเพลงเก่ามาทำใหม่ร่วมกับคณะประสานเสียง ซิตี้ คอรัส มีเพลงอย่าง ไฟสุมทรวง, คอยวันจะได้เจอ, หัวใจสลาย ฯลฯ

นอกจากนี้ต้อม เรนโบว์ ยังได้เป็นหนึ่งในนักร้องกลุ่มรวมดาว, รวมดาว 2 โดยร้องเพลง จูบเย้ยจันทร์ คู่กับ โอ๋ ทวินันท์ คงคราญ ในอัลบั้ม รวมดาว เมื่อปี พ.ศ. 2527 กับ เพลง หวานรัก ในอัลบั้ม รวมดาว 2 เมื่อปี พ.ศ. 2528 คู่กับ บุ๋ม จุฑามาศ อิสสรานุกฤต จากวงปุยฝ้าย, อัลบั้มนพเก้า 1, 2, 3 โดยมีเพลงที่ดังเช่น รอวันพบเธอ, ฝันผิดทาง, รักฉันนาน.นาน ฯลฯ และอัลบั้ม พบดาว เช่นเพลง แม่ยอดรัก, จับกระแต ฯลฯ อีกทั้งได้เล่นละครทางช่อง 7 ในปี พ.ศ. 2530 เรื่อง สกาวเดือน ที่มี อภิชาติ หาลำเจียก และมนฤดี ยมาภัย แสดงนำ ซึ่งเขาได้ร้องเพลงประกอบละครเรื่องนี้อีกด้วย และยังได้แสดงละครพิเศษเรื่อง ความรักของเท่าทุน ในปีพ.ศ. 2531 ซึ่งออกอากาศทางช่อง 7 ในวันหยุดพิเศษ อีกด้วย และเมื่ออาร์เอสมีโปรเจกต์พิเศษ "อาร์เอส อันปลั๊ก" ต้อม ก็ได้คัดเลือกให้ร้องเพลง "ใจจำยอม" ลงในอัลบั้มด้วย

ต้อม เรนโบว์ ถูกจัดได้ว่าเป็นเจ้าพ่อเพลงละคร (คู่บุญกับ ชมพู ฟรุ๊ตตี้ ซึ่งเป็นผู้ประพันธ์เพลง) โดยที่ได้ร้องเพลงประกอบละครที่ดัง ๆ และเป็นที่รู้จักแพร่หลาย เช่น คู่กรรม (ร้องคู่กับ กวาง กมลชนก โกมลฐิติ), ขมิ้นกับปูน (เพลงนี้ ต้อม เรนโบว์ เป็นผู้ประพันธ์เพลงเอง และยังได้รับรางวัลเพลงประกอบละครดีเด่นในปีนั้นด้วย), ความรักไม่มีวันละลาย (เพลงประกอบละคร "สายโลหิต" ร้องคู่กับ จิณณา เชิญพิพัฒนสกุล), น้ำเซาะทราย, พรหมไม่ได้ลิขิต, พิษพยาบาท, ฝันร้าย (ประกอบละคร มัจจุราชสีน้ำผึ้ง) ฯลฯ

ต้อม เรนโบว์นอกจากจะร้องทั้งเพลง สตริง,สุนทาภรณ์และลูกกรุงแล้ว เพลงลูกทุ่งก็ประสบความสำเร็จอีกเหมือนกัน มียอดขายเกินล้านตลับ ในสมัยที่วงการเพลงลูกทุ่งกำลังซบเซาอย่างหนัก โดยช่วงแรกต้อมนำเพลงเก่ามาขับร้องใหม่ชื่อชุด ต้อม ขนานเอก เพลงสามัญประจำบ้าน มีทั้งหมด 10 ชุด ร้อยกว่าเพลง เช่น มนต์รักแม่กลอง, ลารักจากสวนแตง, โชคดีที่รัก, ไอ้หนุ่มชุมพร, หนาวลมที่เรณู, ตะวันรอนที่หนองหาร, แม่สื่อแม่ชัก, ข้าด้อยเพียงดิน ฯลฯ และอัลบั้มเดี่ยวลูกทุ่ง ชุด ยังงี้ต้องรักแล้ว(ตื้ด ตื้ด), อมตะสุนทราภรณ์, หลังจากนั้น ในยุคหลัง ๆ มีอัลบั้มเพลงคู่กับ "ปุ้ย จิตสุดา" อาทิ ชุด เพลงรักคู่ใจ 1-2, คู่รักรวมดาว 1-2, อัลบั้มเดี่ยว อดีตรัก, ต่างเวลา 1และ2

ต่อมา ต้อม เรนโบว์ ได้เดินทางไปอาศัยอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส และออกอัลบั้มเพลงลาว โดยอัดเสียงที่ฝรั่งเศส มีเพลงที่ดังคือ ภาพแห่งความหลัง ฯลฯ และปัจจุบันกลับมาอยู่ที่เมืองไทยเป็นการถาวร พร้อมทั้งเปิดร้านอาหารชื่อว่า ร้าน Tom's Home Pub & Bistro

ในปี 2566 วงเรนโบว์ได้เปิดตัวเป็นศิลปินเบอร์แรกของค่ายวันซ์ออล มิวสิค ซึ่งมี อุ๋น-ธีระศักดิ์ มือคีย์บอร์ดของวงนั่งแท่นเป็นผู้อำนวยการบริหาร[7]

สมาชิกวงเรนโบว์[แก้]

  • พีระพงษ์ พลชนะ (ต้อม) = ร้องนำ กีต้าร์ เกิด 24 สิงหาคม พ.ศ. 2509
  • เรวัติ สระแก้ว (ป๋อง) = กีต้าร์ คีย์บอร์ด ร้องนำ เกิด 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2505
  • ธีระศักดิ์ วดีศิริศักดิ์ (อุ๋น) = คีย์บอร์ด ร้องนำ เกิด 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2504
  • สุชาติ จันทร์ต้น (อี๊ด) = กีต้าร์ ร้องนำ (2528-2538)
  • อัมพร ชาวเวียง (พร) = เบส (2528-2538)
  • ทวี ศรีประดิษฐ์ (อ๊อด) = หัวหน้าวง กลอง คีย์บอร์ด ร้องนำ เกิด 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2505 (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว)

ผลงานเพลง[แก้]

  • ช้ำเพื่อรัก (มกราคม 2529)
  • ความในใจ (กรกฎาคม 2529)
  • ด้วยดวงใจ (มกราคม 2530)
  • ด้วยแรงรัก (ตุลาคม 2530)
  • รอบใหม่ (พฤษภาคม 2531)
  • เพื่อนคนเก่า (สิงหาคม 2532)
  • ลัดฟ้ามากับรุ้ง (2533)
  • เรนโบว์เฉพาะกิจ ระคนละคร (กุมภาพันธ์ 2534)
  • เมื่อความรักเดินทาง (ธันวาคม 2534)
  • ข้ามเวลา 1 (มกราคม 2535)
  • ข้ามเวลา 2 (มกราคม 2535)
  • ข้ามเวลา 3 (มกราคม 2536)
  • เรนโบว์นัส (2537)
  • เรนโบว์คอรัส หัวใจสลาย (11 พฤศจิกายน 2537)

ผลงานร่วมกับศิลปินอื่น[แก้]

  • รวมดาว (2527)
  • รวมดาว 2 (2528)
  • นพเก้า (2528)
  • นพเก้า 2 (เมษายน 2529)
  • พบดาว 2 (2529)
  • นพเก้า 3 (2530)
  • ตราบนิรันดร์ 1 (2531)
  • ตราบนิรันดร์ 2 (2531)
  • ตราบนิรันดร์ 3 (2531)

อัลบั้มรวมเพลง[แก้]

  • ความทรงจำ (มกราคม 2530)
  • ความทรงจำ หมายเลข 2 (2531)
  • รวมฮิตเรนโบว์ 1989 (2532)
  • ความสุขนับแสน (กุมภาพันธ์ 2535)
  • รวมฮิต เรนโบว์ 1-2 (2536)
  • รวมฮิตข้ามเวลา (2536)
  • เรนโบว์ รวมฮิตสีรุ้ง (2537)
  • The best of เรนโบว์ 1 (2539)
  • The best of เรนโบว์ 2 ข้ามเวลา (2539)
  • The best of เรนโบว์'นัส (2539)
  • The best of เรนโบว์คอรัส หัวใจสลาย (2539)
  • save hits เรนโบว์ (2541)
  • big bonus เรนโบว์ (2542)
  • The best of เรนโบว์ (มกราคม 2544)
  • Classic - เรนโบว์ (กันยายน 2548)
  • 25 Best of เรนโบว์ (เมษายน 2549)
  • เรนโบว์ 2 ทศวรรษ (กันยายน 2550)
  • Exclusive Hits เรนโบว์ (มิถุนายน 2551)
  • Time Machine Project - เรนโบว์ (สิงหาคม 2552)
  • Best Collection เรนโบว์ (เมษายน 2554)
  • เพลงรักและคิดถึง เรนโบว์ (มิถุนายน 2555)
  • Classic - เรนโบว์ (มกราคม 2556)
  • Classic - เรนโบว์ (สิงหาคม 2557)
  • Classic - เรนโบว์ ข้ามเวลา (กุมภาพันธ์ 2558)

คอนเสิร์ต[แก้]

  • คอนเสิร์ต Rainbow ขอแค่คิดถึง (20 มีนาคม 2563)
  • คอนเสิร์ต Rainbow The Grand Charity Concert 2014 (28 พฤศจิกายน 2557)
  • คอนเสิร์ต ประสานใจสู้ภัยเอดส์ (2537)
  • คอนเสิร์ต 7 สีคอนเสิร์ต (2534)
  • คอนเสิร์ต ไฟ (มิถุนายน 2532) รับเชิญ

อ้างอิง[แก้]