เพลงลูกทุ่ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ลูกทุ่ง)

เพลงลูกทุ่ง คือเพลงที่สะท้อนวิถีชีวิต สภาพสังคมอุดมคติและวัฒนธรรมไทย โดยมีท่วงทำนอง คำร้อง สำเนียง และลีลาการร้องการบรรเลงที่เป็นแบบแผน มีลักษณะเฉพาะซึ่งให้บรรยากาศ ความเป็นลูกทุ่ง

ขุนวิจิตรมาตราบันทึกไว้ในหนังสือเรื่องของละครและเพลง ว่าเพลงลูกทุ่งเป็นวงดนตรีแบบสากลที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณปีหรือสองปี ลักษณะเพลงลูกทุ่งในระยะเริ่มแรก มาจากการร้องรำทำเพลงของไทยดั้งเดิม อาทิ แหล่เทศน์ สวดคฤหัสถ์ จำอวด ลิเก (ทรงเครื่อง) ลิเกลูกบท (ไม่แต่งเครื่อง) ลิเกบันตน ลำตัด เพลงขอทาน เพลงพื้นเมืองบางเพลง ฯลฯ โดยเพลงลูกทุ่งนำมาดัดแปลงแล้วใส่ดนตรีแบบสากล เป็นลักษณะเพลงแบบใหม่[1]

ส่วนคำว่า "เพลงลูกทุ่ง" อาจารย์จำนง รังสิกุล คิดประดิษฐ์ขึ้นใช้เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2507[2] เพลงลูกทุ่งมีความชัดเจนจากเพลงลูกกรุงโดยประกอบ ไชยพิพัฒน์ จัดรายการเพลงสถานีไทย โทรทัศน์ ใช้ชื่อรายการว่า "เพลงลูกทุ่ง"[3]

สุรพล สมบัติเจริญ ได้ทำให้เพลงลูกทุ่งอยู่ในความนิยม ในช่วงปี พ.ศ. 2506–2513 จนเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของเพลงลูกทุ่ง ได้เกิดการแข่งขัน และยังมีนักร้องลูกทุ่งเกิดขึ้นใหม่หลายคน ต่อมาหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เพลงลูกทุ่งก็อยู่ในยุคเพลงเพื่อชีวิต เนื้อหาเพลงลูกทุ่ง ได้สอดแทรกเนื้อหาเพลงเพื่อชีวิต โดยในยุคนั้นมีเพลงลูกทุ่งเพื่อชีวิตเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้น ระหว่าง พ.ศ. 2520–2528 วงดนตรีเพลงลูกทุ่งได้เข้าสู่ระบบทุนมากขึ้น มีการแสดงเพลงลูกทุ่งมีการประกวดประชันการเต้นและเครื่องแต่งกายของหางเครื่องประกอบ จนในปัจจุบัน มีศิลปินลูกทุ่งหน้าใหม่เข้าสู่วงการเพลงลูกทุ่งของค่ายเพลงหน้าใหม่ ตลาดเพลงลูกทุ่งเป็นตลาดใหญ่ เพลงลูกทุ่งได้รับความนิยมอีกครั้ง และมีการมอบรางวัลทางดนตรีลูกทุ่งอยู่หลายรางวัล

สำหรับธุรกิจเพลงลูกทุ่งในปัจจุบันถือเป็นตลาดใหญ่ มีทั้งค่ายเล็ก ค่ายใหญ่ เป็นจำนวนมาก โดยสัดส่วนของเงินในตลาดเพลงลูกทุ่งครอง คาดการณ์น่าจะอยู่ที่ ปีละ 1,000-1,500 ล้านบาท โดยมีตลาดหลักอยู่ที่ภาคอีสาน 50% ภาคเหนือและภาคกลาง 35% และภาคใต้ 15% และสัดส่วนการแบ่งตลาด มีแกรมมี่ โกลด์ ครองส่วนแบ่งการตลาดเพลงลูกทุ่งทั่วประเทศ 65% ส่วนอาร์สยาม 19% และอื่นๆ 16% ซึ่งธุรกิจเพลงลูกทุ่งได้ขยายไปสู่ธุรกิจใกล้เคียงอย่างสื่อวิทยุ โทรทัศน์และภาพยนตร์

ประวัติ[แก้]

บริบท[แก้]

ขุนวิจิตรมาตราบันทึกไว้ในหนังสือเรื่องของละครและเพลง ว่าเพลงลูกทุ่งเป็นวงดนตรีแบบสากลที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณปีหรือสองปี ลักษณะเพลงลูกทุ่งในระยะเริ่มแรก มาจากการร้องรำทำเพลงของไทยดั้งเดิม อาทิ แหล่เทศน์ สวดคฤหัสถ์ จำอวด ลิเก (ทรงเครื่อง) ลิเกลูกบท (ไม่แต่งเครื่อง) ลิเกบันตน ลำตัด เพลงขอทาน เพลงพื้นเมืองบางเพลง ฯลฯ โดยเพลงลูกทุ่งนำมาดัดแปลงแล้วใส่ดนตรีแบบสากล เป็นลักษณะเพลงแบบใหม่

วิวัฒนาการเพลงลูกทุ่งกล่าวได้ว่ามาจาก เพลงที่มีเนื้อร้องแบบกลอนแปด จะร้องสลับกับการเอื้อนทำนอง แต่ละเพลงจะมีความต่อเนื่องเป็นเพลงเถา ตับ ชั้น เช่น 2 ชั้น 3 ชั้น ฯ และมีความยาวพอสมควร เพลงมักจะเริ่มจากช้าไปหาเร็ว ต่อมาเพลงได้ถูกพัฒนา เป็นเพลงประกอบรำจนถึงเข้าเรื่องละคร และเนื่องจากมีความยาวเกินไปจึงพัฒนาให้กระชับลง โดยใส่คำร้องในทำนองเอื้อน เรียกว่า เนื้อเต็ม นาฏกรรมจากวรรณคดี เช่น โขน ละครร้องของเจ้านายในราชสำนัก ได้รับความนิยมในหมู่เจ้านายวังหน้า วังหลัง หรือนอกวัง การแสดงแบบคลาสสิก ก็ถูกปรับให้เข้ากับชาวบ้านจากโขน ละคร มาเป็น หนังสด ลิเก[4]

ลิเกได้ถูกประยุกต์พัฒนา ให้เชื่อมโยงศิลปะการแสดงพื้นบ้านท้องถิ่นต่าง ๆ มาผสมผสานกัน ลิเกนั้นมักใช้ภาษาพูดจากหนังสือราชการ ใช้ราชาศัพท์จากเวียงวังในการแสดง ลิเกถือว่าเป็น “รากร่วมของศิลปวัฒนธรรมเพลงลูกทุ่งไทยอย่างแท้จริง” โดยก่อนหน้าที่จะถูกยอมรับว่าเป็น “เพลงลูกทุ่ง” นั้น เพลงจากไทยเดิม จากละครวรรณคดี ในยุคที่ขาดแคลนภาพยนตร์ ละครเวทีจึงได้รับความนิยมแทน ลักษณะละครเวทีสมัยใหม่ จะมีการร้องเพลงสลับฉาก วงที่เกิดและดังอยู่ตัวมาก่อนก็คือ “สุนทราภรณ์[5] อันเป็นวงดนตรีราชการของกรมโฆษณาการ ที่มีครูเอื้อ ครูแก้ว สร้างเพลง และเพลงในยุคนั้น ราชการให้เรียกเพลงไทย(เดิม)และเพลงไทยสากล

ส่วนคำว่า "เพลงลูกทุ่ง" อาจารย์ จำนง รังสิกุล คิดประดิษฐ์ขึ้นใช้เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 เพลงลูกทุ่งมีความชัดเจนจากเพลงลูกกรุงโดย ประกอบ ไชยพิพัฒน์ จัดรายการเพลงสถานีไทย โทรทัศน์ ใช้ชื่อรายการว่า "เพลงลูกทุ่ง"

การจัดประกวดเพลงแผ่นดินทองคำครั้งแรกโดย “ ป. วรานนท์ ” กับทีมวิทยุกองพล 1 โดยโกชัย เสมา ชำนาญ ฯลฯ ร่วมจัด จึงได้มีรางวัลเพลง “แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน” เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ปี พ.ศ. 2507 ในครั้งเริ่มต้นมีแต่ประเภท ลูกกรุง สุเทพ สวลี ได้รับรางวัลไปครองครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2509 ได้มีการเพิ่มหมวดหมู่ลูกทุ่งขึ้น โดย “ สมยศ ทัศนพันธ์ ” เป็นคนแรกชนะด้วยเพลง “ช่อทิพย์ รวงทอง” [6]

ถ้าจะนับปีกำเนิดของเพลงแรกที่ควรถือเป็นต้นกำเนิด “แนวลูกทุ่ง” ก็น่าจะถือเอาเพลง “ขวัญของเรียม” แต่มีบางหลักฐานบันทึกไว้ว่าเพลงแรก คือเพลง "โอ้เจ้าสาวชาวไร่" ผลงานประพันธ์ทำนองและคำร้องของ ครูเหม เวชกร เมื่อ พ.ศ. 2481 ขับร้องโดย คำรณ สัมบุญณานนท์ เป็นเพลงประกอบละครวิทยุเรื่องสาวชาวไร่[2] ส่วนนักร้องลูกทุ่งคนแรก สมควรยกให้ “คำรณ สัมบุญณานนท์[4]

เพลงลูกทุ่งยุคแรก[แก้]

สุรพล สมบัติเจริญ ราชาเพลงลูกทุ่ง

ในยุคแรก ๆ เพลงลูกทุ่งและลูกกรุงยังถือว่าเป็นเพลงกลุ่มเดียวกัน ยังไม่มีการแยกประเภทออกจากกัน มีนักร้องเพลงไทยสากลได้ร้องเพลงประเภทที่มีสาระบรรยายถึงชีวิตชาวชนบท หนุ่มสาวบ้านนา และความยากจน โดยรู้จักกันในชื่อ "เพลงตลาด" "เพลงภูธร" [7]หรือ "เพลงชีวิต" โดยส่วนใหญ่นักร้องเพลงตลาดหลายท่านจะประพันธ์เพลงเองด้วย อาทิ ไพบูลย์ บุตรขัน ชะลอ ไตรตรองสอน พยงค์ มุกดา มงคล อมาตยกุล เบญจมินทร์ (ตุ้มทอง โชคชนะ) สุรพล สมบัติเจริญ ฯลฯ เป็นต้น ส่วนวงดนตรีที่เด่น ๆ ของเพลงแนวนี้ได้แก่ วงดนตรี “จุฬารัตน์” ของมงคล อมาตยกุล วงดนตรี “พยงค์ มุกดา” และ วงดนตรี “สุรพล สมบัติเจริญ” นับได้ว่าวงดนตรีทั้งสามนี้เป็นแหล่งก่อกำเนิดแยกตัวเป็นวงดนตรีเพลงลูกทุ่งจำนวนมากในเวลาต่อมา

ในระยะแรกที่ยังไม่เรียกกันว่า “นักร้องลูกทุ่ง” นักร้องชายที่มีชื่อเสียง เช่น คำรณ สัมบุณณานนท์ ชาญ เย็นแข นิยม มารยาท ก้าน แก้วสุพรรณ ชัยชนะ บุญนะโชติ ทูล ทองใจ ฯลฯ ส่วนนักร้องหญิงที่มีชื่อเสียงเด่น ได้แก่ ผ่องศรี วรนุช ศรีสอางค์ ตรีเนตร

เมื่อปลายปี พ.ศ. 2507 เพลงลูกทุ่งเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นนับตั้งแต่ ประกอบ ไชยพิพัฒน์ นักจัดรายการเพลงทางสถานีไทยโทรทัศน์ได้ตั้งชื่อรายการว่า “เพลงลูกทุ่ง” และต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 มีการจัดงานแผ่นเสียงทองคำพระราชทานในครั้งที่สอง ได้มีการพิจารณาการมอบรางวัลเพลงลูกทุ่งเพิ่ม โดยได้กำหนดความหมายของเพลงประกวดประเภท ค. (ลูกทุ่งหรือพื้นเมือง) ไว้ว่า คือ "เพลงที่มีลีลาการบรรเลงตลอดจนเนื้อร้อง ทำนองเพลงและการขับร้องไปในแนวเพลงพื้น จะเป็นทำนองเพลงผสมหรือดัดแปลงมาจากทำนองเพลงไทยภาคต่าง ๆ ซึ่งเรียกเพลงประเภทนี้ว่า “ลูกทุ่ง” "[8] ซึ่งในครั้งนั้นได้มีการมอบรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานในฐานะนักร้องลูกทุ่งชายยอดเยี่ยม โดย สมยศ ทัศนพันธ์ ได้รับรางวัลจากเพลง “ช่อทิพย์รวงทอง”[9]

ยุคทองของเพลงลูกทุ่ง[แก้]

สุรพล สมบัติเจริญ ได้ทำให้เพลงลูกทุ่งอยู่ในความนิยม ด้วยเอกลักษณ์ ลีลา และ รูปแบบเฉพาะตัว อีกทั้งยังแต่งเพลงร้องเองเป็นส่วนใหญ่ เขาเริ่มชีวิตการร้องเพลงจากกองดุริยางค์ทหารอากาศ[10] สุรพลชอบใช้เพลงจังหวะรำวงในเพลงที่เขาแต่ง ผลงานเพลงของเขามีลีลาสนุกสนานครึกครื้นเป็นส่วนใหญ่ เช่น เพลงเสียวไส้ เพลงของปลอม ฯลฯ

ยุคของสุรพล สมบัติเจริญ อาจกล่าวได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่เพลงลูกทุ่งพัฒนามาถึงจุดสุดยอด เป็นยุคทองของเพลงลูกทุ่ง อยู่ระหว่างปี พ.ศ. 2506 –2513 ในช่วงนี้ สุรพล สมบัติเจริญ ได้ออกผลงานเพลงลูกทุ่งออกมาเป็นจำนวนมากมาย นักแต่งเพลงรุ่นนี้สืบทอดการแต่งเพลงมาจากครูเพลงในยุคต้น ตัวอย่างเช่นพีระ ตรีบุปผา เป็นศิษย์ของสมยศ ทัศนพันธ์ ส่วนศิษย์ของวงดนตรีจุฬารัตน์ ได้แก่ พร ภิรมย์ สุชาติ เทียนทอง และชาย เมืองสิงห์ นักแต่งเพลงที่สำคัญท่านอื่น ๆ อาทิ เพลิน พรหมแดน จิ๋ว พิจิตร สำเนียง ม่วงทอง ฉลอง การะเกด ชาญชัย บัวบังศรสมเศียร พานทอง ฯลฯ

เจนภพ จบกระบวนวรรณ กล่าวไว้ในหนังสือ ดวลเพลงลูกทุ่ง ว่า “เพลงลูกทุ่งเฟื่องฟูสุดขีดในยุคสมัยของครูสุรพล สมบัติเจริญ (ประมาณปี 2504-2511) และหลังจากครูสุรพลถูกลอบยิงตายในขณะที่ชื่อเสียงกำลังเกรียงไกร หลังจากนั้นเพลงลูกทุ่งก็พุ่งขึ้นสู่ความนิยมชมชอบของผู้คนทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นชนบทหรือในเมือง” [11]

และยังมีนักร้องลูกทุ่งเกิดขึ้นใหม่หลายคน นักร้องเด่นของยุคนี้ได้แก่ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เพลิน พรหมแดน พร ภิรมย์ ชาย เมืองสิงห์ ศรคีรี ศรีประจวบ ก้าน แก้วสุพรรณ ไพรวัลย์ ลูกเพชร ผ่องศรี วรนุช สุชาติ เทียนทอง ฯลฯ[9]

ยุคแห่งการแข่งขัน[แก้]

ในช่วงปี พ.ศ. 2513–2515 ในวงการเพลงลูกทุ่งเองก็มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง ทั้งยังเกิดการแข่งขันระหว่างเพลงลูกกรุงและเพลงลูกทุ่งสูง นักแต่งเพลงพยายามสร้างเอกลักษณ์ประจำตัวของนักร้องแต่ละคน มีนักร้องเพลงลูกทุ่งบางคนได้สู่บทบาทการแสดงภาพยนตร์ บางคนถึงแสดงเป็นตัวเอกโดยเฉพาะในภาพยนตร์เพลง ภาพยนตร์บางเรื่องนำเพลงลูกทุ่งมาประกอบเป็นเพลงเอก อย่างเช่นเรื่องมนต์รักลูกทุ่ง ประสบความสำเร็จ ทำรายได้เป็นอย่างดี นำแสดงโดยพระเอกขวัญใจในยุคนั้นคือ มิตร ชัยบัญชา เพลงเอกชื่อเดียวกับภาพยนตร์ประพันธ์โดย ไพบูลย์ บุตรขัน ภาพยนตร์เรื่องนี้มีนักร้องเพลงลูกทุ่งร่วมแสดงด้วย ได้แก่ บุปผา สายชล โดยขับร้องเพลงดังในภาพยนตร์ชื่อ สาวคอยคู่

เมื่อภาพยนตร์เรื่องมนต์รักลูกทุ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทำให้มีการสร้างภาพยนตร์โดยมีการแสดงเพลงลูกทุ่งประกอบอีกหลายเรื่องในลักษณะเดียวกัน อาจเรียกได้ว่าเป็น "ยุคของภาพยนตร์เพลงลูกทุ่ง" นักร้องที่เกิดจากภาพยนตร์แนวนี้และโด่งดังในวงการเพลงลูกทุ่งต่อมา ได้แก่ สังข์ทอง สีใส โดยเป็นผู้ร้องเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง โทน และแสดงคู่กับพระเอกไชยา สุริยัน นักร้องคนอื่น เช่น ระพิน ภูไท เสกศักดิ์ ภู่กันทอง ศรคีรี ศรีประจวบ สมัย อ่อนวงศ์ พนม นพพร ยุพิน แพรทอง ชาตรี ศรีชล กาเหว่า เสียงทอง กังวานไพร ลูกเพชร ฯลฯ และยังสร้างนักแต่งเพลงให้ประสบความสำเร็จในช่วงนี้ อาทิ กานท์ การุณวงศ์ ฉลอง ภู่สว่าง ช. คำชะอี พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา สุรินทร์ ภาคศิริ ฯลฯ[9]

วงการดนตรีลูกทุ่งมีการประชันขันแข่งสูงมาก ซอยบุปผาสวรรค์เริ่มกลายมาเป็นชุมชนคนลูกทุ่งในช่วงนี้เองหลังจาก เพลิน พรหมแดน ย้ายเข้ามาอยู่เป็นคนแรกเมื่อปี 2512[11]

เพลงลูกทุ่งยุคเพลงเพื่อชีวิตและการเมือง[แก้]

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง ในวงการเพลงเกิดวงดนตรีแนวที่เรียกว่า “เพลงเพื่อชีวิต” ส่วนเพลงลูกทุ่งก็อยู่ในยุคเพลงเพื่อชีวิตเช่นกัน เนื้อหาเพลงลูกทุ่ง ได้สอดแทรกเนื้อหาเพลงเพื่อชีวิต โดยในยุคนั้นมีเพลงลูกทุ่งเพื่อชีวิตเป็นจำนวนมาก นักร้องเพลงลูกทุ่งมักกล่าวถึงชีวิตชนบทและความยากจนข้นแค้นอยู่แล้ว เนื้อหาจะเน้นปัญหาชาวไร่ชาวนาและกรรมกรให้โดดเด่นมากยิ่งขึ้น เพลงลูกทุ่งในยุคนั้นเช่น เพลงข้าวไม่มีขาย หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน เสียนาเสียนาง เราคนจน โอ้ชาวนา ฯลฯ

ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2516–2519 ได้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ในวงการเพลงลูกทุ่ง คือ การร้องเพลงล้อเลียนการเมือง เพลงเหล่านี้มักเป็นการร้องเพลงลูกทุ่งผสมบทพูด แฝงแง่คิดหรือการวิพากษ์วิจารณ์ไว้อย่างคมคาย และสร้างความบันเทิงขำขันให้แก่ผู้ฟัง ผู้ที่แต่งเพลงแนวนี้ไว้เป็นจำนวนมาก ได้แก่ สงเคราะห์ สมัตถภาพงษ์ ซึ่งส่วนใหญ่ขับร้องโดย เพลิน พรหมแดน ตัวอย่างเช่น เพลงกำนันผันเงิน พรรกระสอบหาเสียง ฯลฯ นักแต่งเพลงท่านอื่น ๆ ที่ประสบความสำเร็จสูงในยุคนี้ได้แก่ ชลธี ธารทอง ธงชัย เล็กกำพล โผผิน พรสุพรรณ สดใส ร่มโพธิ์ทอง กู้เกียรติ นครสวรรค์

นักแต่งเพลงส่วนใหญ่จะแต่งเพลงส่วนใหญ่ให้กับนักร้องเป็นรายบุคคลไป ส่วนนักร้องมักมีวงดนตรีของตนเอง ตลอดจนผลิตแผ่นเสียงหรือบันทึกเทปจำหน่ายเอง นักร้องที่มีชื่อเสียงในช่วงนี้ได้แก่ สายัณห์ สัญญา ศรเพชร ศรสุพรรณ สัญญา พรนารายณ์ บานเย็น รากแก่น น้ำอ้อย พรวิเชียร ฯลฯ เป็นต้น

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เพลงลูกทุ่งแนวเพื่อชีวิตก็ซาลง บทเพลงมีเนื้อหากลับมาบรรยายเรื่องของความรัก ความเศร้า และความงามของสาวชาวไร่ชาวนาเช่นเดิม เช่น เพลงรักสาวชาวไร่ น้ำตาชายเหนือ สิ้นทางรัก ฯลฯ และยิ่งเมื่อเศรษฐกิจพัฒนารุดหน้ามากขึ้น ก่อให้เกิดการย้ายถิ่นฐานประกอบอาชีพของชาวชนบทเข้าสู่เมืองหลวง บทเพลงลูกทุ่งสะท้อนชีวิตและปัญหาของบุคคลเหล่านี้ซึ่งประกอบอาชีพเป็นสาวใช้ สาวบาร์ หมอนวด กรรมกร ลูกจ้าง ตลอดจนไปขายแรงงานในกลุ่มประเทศอาหรับ เช่น เพลงฉันทนาที่รัก พาร์ทเนอร์เบอร์ห้า สาวโรงทอรอรัก หนุ่มกระเป๋า ไอ้หนุ่มรถตุ๊กตุ๊ก ฯลฯ[12]

ปรากฏการณ์ใหม่ในวิวัฒนาการของเพลงลูกทุ่ง[แก้]

ในช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. 2520–2528 วงการเพลงลูกทุ่งและลูกกรุงได้กำเนิด นักร้องเป็นจำนวนมาก วงดนตรีเพลงลูกทุ่งได้เข้าสู่ระบบทุนมากขึ้น มีการแสดงเพลงลูกทุ่งมีการประกวดประชันการเต้นและเครื่องแต่งกายของหางเครื่องประกอบด้วย นักแต่งเพลงแนวลูกทุ่งในช่วงเวลานี้ เช่น ชลธี ธารทอง ฉลอง ภู่สว่าง คัมภีร์ แสงทอง วิเชียร คำเจริญ ชัยพร เมืองสุพรรณ สุชาติ เทียนทอง ชวนชัย ฉิมพะวงศ์ ดอย อินทนนท์ ดาว บ้านดอน ฯลฯ

นักร้องชายที่อยู่ในความนิยม เช่น สายัณห์ สัญญา เกรียงไกร กรุงสยาม สุรชัย สมบัติเจริญ ยอดรัก สลักใจ ศรชัย เมฆวิเชียร ศรเพชร ศรสุพรรณ พร ไพรสณฑ์ ฯลฯ

นักร้องเพลงลูกทุ่งหญิงที่ได้รับการขนานนามว่าราชินีลูกทุ่งในยุคนี้คือ พุ่มพวง ดวงจันทร์ นักร้องหญิงที่ได้รับความนิยมนอกจากพุ่มพวงได้แก่ นันทิดา แก้วบัวสาย ดาวใต้ เมืองตรัง หงษ์ทอง ดาวอุดร สดศรี พรหมเสกสรร อ้อยทิพย์ ปัญญาธรณ์ ข้าวทิพย์ ธิดาดิน ฯลฯ

ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2528 เป็นต้นมา เกิดแฟชั่นการแสดงคอนเสิร์ตของนักร้องแนวสตริง ซึ่งเป็นผลให้มีการแสดงคอนเสิร์ตขึ้นในวงการเพลงลูกทุ่งด้วย พุ่มพวง ดวงจันทร์ ได้จัดการแสดงคอนเสิร์ตได้รับความนิยมอย่างสูง จัดขึ้นประมาณกลางปี พ.ศ. 2529 ที่เซ็นทรัลพลาซ่า ในขณะที่เพลง กระแซะ ของเธอมีความโด่งดังอย่างมาก[12]

ในช่วงปี 2531-2535 เป็นช่วงที่ซบเซาสำหรับวงการเพลงลูกทุ่ง เพราะช่วงนี้เพลงสตริงสมัยใหม่ และวัฒนธรรมทางดนตรีจากต่างชาติ เข้าหลั่งไหลทะลักมา ทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ ๆ สำหรับวงการเพลงสตริง แต่เพลงลูกทุ่ง กลับไม่ค่อยมีอะไรใหม่ ๆ จนกระทั่ง มีบทเพลง ๆ หนึ่ง ที่ทำให้ลูกทุ่งฟื้นคืนชีพใหม่ และสง่างามมาได้คือ "สมศรี 1992" ของ "ยิ่งยง ยอดบัวงาม" เลยเกิดกระแสเพลงลูกทุ่งลุกฮือขึ้นมาอีกครั้ง ในปี 2535 และช่วงเวลาเดียวกัน ก็เกิดเพลงผสมผสาน ลูกทุ่ง+สตริง มาในสมัยนี้ แต่เรียกเพลงสไตล์นี้ว่า "เพลงร่วมสมัย" เพราะยังติดคำร้องลูกทุ่ง แต่ทำนอง และดนตรี จะออกเหมือนเพลงจีน ๆ คำร้อง สไตล์เมียน้อย เมียเก็บ เช่นเพลง "ทางใหม่" ของ "นิตยา บุญสูงเนิน" แต่ดูโดยรวมลักษณะ ก็ไม่ใช่เพลงลูกทุ่ง และไม่ใช่เพลงสตริงวัยรุ่น และปี 2538-2542 เพลงลูกทุ่ง เริ่มมีการผสมผสานหลากหลายมากขึ้น จนสไตล์ แท้ ๆ แบบลูกทุ่งชาวบ้าน แทบเลือนหายไป

เพลงลูกทุ่งในปัจจุบัน[แก้]

ในปัจจุบัน ตั้งแต่ปี 2541 มีศิลปินลูกทุ่งหน้าใหม่เข้าสู่วงการเพลงลูกทุ่งของค่ายเพลงหน้าใหม่[13] ตลาดเพลงลูกทุ่งเป็นตลาดใหญ่ เพลงลูกทุ่งได้รับความนิยมอีกครั้ง เนื่องมาจาก ได้มีการทำเพลงประกอบละครมนต์รักลูกทุ่งของอาร์เอส และฮิตติดตลาด ประกอบกับการกลับเข้ามาแจ้งเกิดของ ก๊อต จักรพรรณ์ ครบุรีธีรโชติ กับอัลบั้มเพลงที่นำเพลงเก่ามาทำใหม่ เพลงลูกทุ่งชุดสองที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มนักฟังเพลงรุ่นใหม่ในกรุงเทพฯ และการเกิดขึ้นของเพลงลูกทุ่งในคลื่นเอฟเอ็ม นำทีมบริหารโดย วิทยา ศุภพรโอภาส นอกจากนี้ยังมีศิลปินแนวสตริงและแนวเพื่อชีวิตหลายคนที่หันมาทำเพลงลูกทุ่งทดแทนการอิ่มตัวที่จะสามารถอยู่ในวงการอย่าง ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง ต้อม เรนโบว์ เทียรี่ เมฆวัฒนา เป็นต้น[14]

ในยุคก่อนเพลงลูกทุ่งจะเปิดเฉพาะในคลื่นเอเอ็มเท่านั้น ในปัจจุบันทีวีก็เริ่มเปิดกว้างมากขึ้น เกมโชว์เอานักร้องเพลงลูกทุ่งไปเล่น ภาพยนตร์ ละครเอาลูกทุ่งไปเล่น และกลายเป็นธุรกิจกลุ่มใหญ่ขึ้น

ครูเพลงบางคนถึงกับกล่าวว่า เพลงลูกทุ่งในสมัยนี้ไม่เหมือนเดิม เพราะขาดเอกลักษณ์ของการขึ้นต้น เรื่องราวตรงกลาง และตอนจบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดสัมผัสนอก-ใน ตลอดจนการเปรียบเทียบ[15] ส่วนเนื้อหาของเพลงไปทางล้ำเส้นศีลธรรม เพลงในทำนองนี้อย่างเช่นเพลง "เด็กมันยั่ว" ของยอดรัก "อกหักซ้ำเฒ่า" ของ ไกรสร เรืองศรี "เรียกพี่ได้ไหม" ของ เสรีย์ รุ่งสว่าง[16]

องค์ประกอบของเพลงลูกทุ่ง[แก้]

ทำนองและจังหวะ[แก้]

ในภาคอีสานนิยมใช้ทำนองเพลงของหมอลำ

มีเพลงลูกทุ่งหลายเพลงได้ดัดแปลงจากเพลงไทยเดิม ยังคงทำนองเดิมแต่ตัดการเอื้อนแบบเพลงไทยเดิมออกและใส่คำร้องลงไปแทนที่ ส่วนทำนองก็มาจากเพลงพื้นบ้าน พื้นเมืองของทุก ๆ ภาค อย่างภาคกลางใช้ทำนองเพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงลำตัด เพลงกลองยาว เพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว ฯลฯ ภาคอีสานจะใช้ทำนองเพลงลำหรือหมอลำและเซิ้ง ทำนองลำที่นิยมในเพลงลูกทุ่ง ได้แก่ ลำเต้ย ลำเพลิน ลำสารวัน ส่วนทำนองเพลงเซิ้งนิยมเป็นเซิ้งบ้องไฟ

เพลงลูกทุ่งมักมีการนำทำนองจากการขับร้องลิเกและทำนองเพลงแหล่มาใช้ การใช้ทำนองเพลงลิเกซึ่งเป็นมหรสพพื้นบ้านโบราณของไทยมักไม่ใช้ทำนองเพลงลิเกโดด ๆ แต่จะนำมาผสมผสานกับทำนองเพลงสากลด้วย ส่วนทำนองเพลงแหล่ ที่เป็นการแสดงธรรมเทศนา เพลงลูกทุ่งนำมาใช้ในสองลักษณะ คือ ใช้ทำนองเพลงแหล่ตลอดทั้งเพลง และใช้ทำนองแหล่ผสมกับทำนองลิเกหรือกับทำนองเพลงสากล สำหรับนักร้องเพลงลูกทุ่งที่ร้องเพลงทำนองแหล่ที่เป็นที่รู้จักกันดีได้แก่ พร ภิรมย์ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ และชินกร ไกรลาศ และหลังจากที่พร ภิรมย์ เข้าสู่สมณเพศแล้วก็คงเหลือแต่ไวพจน์และชินกรเท่านั้นที่มีชื่อเสียงในการร้องเพลงทำนองแหล่มาจนถึงก่อนหน้า ซึ่งทั้งสองท่านมีชื่อเสียงด้านทำขวัญนาคอีกด้วย

การโห่ เป็นลักษณะอีกประการหนึ่งที่พบได้บ่อยครั้ง มีสองลักษณะคือ การโห่แบบไทยและการโห่แบบตะวันตก การโห่แบบไทยปรากฏในเพลงที่มีเนื้อหากล่าวถึงการบวชนาค การแห่ขันหมาก คือเป็นการโห่ประกอบขบวน จะร้องว่า “โห่……. (ฮิ้ว) ” และอาจพบในเพลงที่เอ่ยถึงการแห่วงดนตรีด้วย เช่น รุ่งเพชร แหลมสิงห์ ร้องโห่ในเพลง "ยกพลรุ่งเพชร"

“โห่โดรีโฮ” การโห่แบบนี้ในเพลงลูกทุ่งแสดงถึงอิทธิพลจากเพลงลูกทุ่งตะวันตก คือมีลักษณะการโห่ การผิวปาก และการกู่ตะโกน แบบหนุ่มโคบาลหรือคาวบอยในทุ่งหญ้า เพลงลูกทุ่งไทยที่ใช้การโห่แบบตะวันตกนี้ มักพรรณนาชื่นชมบรรยากาศความงามและความสงบของธรรมชาติท้องทุ่งเช่นเดียวกัน สร้างบรรยากาศที่สนุกสนาน

ยังมีผู้แต่งเพลงลูกทุ่งบางท่านนำเอาทำนองเพลงต่างชาติเข้ามาเป็นส่วนประกอบในเพลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำนองเพลงของชาติในเอเซียที่เกี่ยวข้องหรือคุ้นเคยกับคนไทย เช่น จีน อินเดีย ลาว ญี่ปุ่น เกาหลี[17]

คำร้อง[แก้]

ในแง่การใช้ภาษา ภาษาที่ใช้ในเพลงลูกทุ่งมีสองรูปแบบคือภาษามาตรฐานและภาษาชาวบ้าน ภาษามาตรฐานมักจะใช้กับเพลงลูกทุ่งที่กล่าวถึงเรื่องราวนิทานชาดก นิทานเกี่ยวกับพุทธประวัติ ตลอดจนวรรณคดีลายลักษณ์ของไทย เช่น อิเหนา รามเกียรติ์ กากี พระลอ ฯลฯ ที่มีลักษณะคำร้อยกรอง มีความงดงามของภาษา นอกจากนี้เพลงลูกทุ่งที่ใช้ภาษาใช้ภาษาหนังสือตามแบบแผน จะพรรณาชมธรรมชาติ ชีวิตอันสุขสงบในชนบท ความรักของหนุ่มสาว ความงามของสาว

เพลงลูกทุ่งโดยส่วนมากจะใช้ภาษาชาวบ้าน ภาษาที่ใช้ในเพลงลูกทุ่งจึงเป็นภาษาพื้น ๆ แบบชาวบ้านทั่วไป ง่ายต่อการเข้าใจ สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของชาวชนบท เนื่องจากผู้ที่ฟังเพลงลูกทุ่งมักเป็นชาวบ้านและชาวชนบท กอปรทั้งผู้แต่งเพลงลูกทุ่งส่วนใหญ่มักมีพื้นเพมาจากชนบท มีการศึกษาน้อย

การร้องเพลงลูกทุ่งบางเพลงยังใช้คำร้องและศัพท์สำนวนที่เป็นของท้องถิ่น เช่น สำเนียงสุพรรณบุรี และสำเนียงถิ่นภาคต่าง ๆ อย่าง ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคอีสานอีกด้วย การขับร้องด้วยสำเนียงถิ่นต่าง ๆ นี้เป็นลักษณะเฉพาะของเพลงลูกทุ่ง เมื่อเทียบกับเพลงลูกกรุง กล่าวคือนักร้องเพลงลูกกรุงจะออกเสียงให้ตรงตามวรรณยุกต์ของภาษามาตรฐาน ส่วนนักร้องเพลงลูกทุ่งมักออกเสียงเพี้ยนไปจากเสียงวรรณยุกต์ของภาษามาตรฐาน และนักร้องบางคนยังมีสำเนียงที่ติดมากับตัว มีทั้งเจตนาที่จะเพี้ยนเสียงเพื่อสร้างความรู้สึกให้เป็นชนบทถิ่นนั้น ๆ ตามที่ต้องการ นักร้องเพลงลูกทุ่งที่มีการร้องแบบเพี้ยนสำเนียง เช่น ชาย เมืองสิงห์ รุ่งเพชร แหลมสิงห์ ศรคีรี ศรีประจวบ ศรเพชร ศรสุพรรณ สายัณห์ สัญญา จีระพันธ์ วีระพงษ์ ฯลฯ เป็นต้น

ส่วนสาระของคำร้องในเพลงลูกทุ่งนั้นมีคุณค่าเกี่ยวกับสังคมไทยและวิถีชีวิตของชาวชนบทไทยอย่างกว้างขวาง เพลงลูกทุ่งสะท้อนให้เห็นความผูกพันอันแนบแน่นของชาวชนบทกับขนบธรรมเนียมประเพณี ความยึดมั่นในพุทธศาสนา และความเชื่อเรื่องบุญกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีรวมที่เพลงลูกทุ่งกล่าวถึง ได้แก่ สงกรานต์ เข้าพรรษา การอุปสมบท ออกพรรษา การทอดกฐิน การทอดผ้าป่า ลอยกระทง การหมั้น การแต่งงาน ตลอดจนงานศพ ส่วนขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นที่ปรากฏในเพลงลูกทุ่ง ได้แก่ การถวายขวัญข้าว การเล่นเพลงพื้นบ้าน การเล่นกลองยาว งานบุญพระเวศ บุญบั้งไฟ งานชักพระ

นอกจากสะท้อนถึงสังคมไทยและวิถีชีวิตยังมีเนื้อหาบรรยายถึงสภาพแวดล้อมธรรมชาติของชนบทไทย การประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ท้องทุ่ง ไร่นา แม่น้ำ ต้นไม้ สัตว์ต่าง ๆ ตลอดจนสายลม แสงแดด แสงจันทร์ ดวงดาว ฯลฯ ประชากรที่กล่าวถึงในเพลงมักเป็นชาวชนบทหรือไม่ก็คนยาก คนจน บรรยายถึงความรัก การประกอบอาชีพ ลักษณะบ้านเรือนที่อยู่อาศัย การแต่งกาย การบริโภคอาหาร สิ่งบันเทิง และในบางครั้งเพลงลูกทุ่งสะท้อนถึงระบบความเชื่อและระบบค่านิยมของประชากรเหล่านี้ อาทิ ความเชื่อในไสยศาสตร์และโหราศาสตร์ ค่านิยมเกี่ยวกับสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ค่านิยมเชิงวัตถุในเรื่องความร่ำรวยและทรัพย์สมบัติ ค่านิยมในฐานันดรภาพและอำนาจ ค่านิยมในชีวิตเมืองกรุง ค่านิยมเรื่องอบายมุขและสตรี และในเนื้อหาเพลงลูกทุ่งบางส่วนภาพพจน์ของสตรี จะถูกประณามเมื่อเสียพรหมจรรย์หรือถูกหลอกลวง แต่กับผู้ชายแล้วเห็นว่าการมีอนุภรรยาเป็นเรื่องโก้เก๋

เพลงลูกทุ่งบางเพลงยังเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นปัญหาในแง่มุมต่าง ๆ อันสืบเนื่องมาจากความยากจนและสภาวะธรรมชาติ เช่น สภาพนาแล้ง นาล่ม ภาวะหนี้สิน ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ การเอารัดเอาเปรียบของนายทุนเงินกู้และพ่อค้าคนกลาง ฯลฯ สาระต่าง ๆ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการกระจายรายได้ซึ่งยังคงเป็นปัญหาหลักของสังคมไทย[18]

เครื่องดนตรี[แก้]

ในช่วงแรกของเพลงลูกทุ่ง จะมีลักษณะเป็นเพลงไทยเดิมและเพลงพื้นเมืองอยู่มาก ขุนวิจิตรมาตรา กล่าวว่า "วงดนตรีเพลงลูกทุ่งในช่วงนั้นตั้งเป็นวงดนตรีแบบสากล แต่คงปรากฏการใช้เครื่องดนตรีที่บรรเลงเพลงไทยเดิม และเพลงพื้นเมือง ประกอบในบางเพลงอยู่"

มีการใช้เครื่องดนตรีไทยประกอบเพลงลูกทุ่งบรรเลงรับเมื่อร้องจบแต่ละท่อนเป็นช่วงสั้น ๆ เครื่องดนตรีที่ใช้ได้แก่ ระนาด ฉิ่ง โทน กลอง ฯลฯ เป็นต้น เช่น ในเพลงหอมหน่อย ฉิมพลี ดาวลูกไก่ ฯลฯ

ยังมีการนำเครื่องดนตรีพื้นเมืองของภาคต่าง ๆ มาบรรเลงประกอบกับเครื่องดนตรีสากล ในเพลงลูกทุ่ง เช่นเครื่องดนตรีพื้นเมืองของภาคอีสานที่นำมาใช้ได้แก่ แคน โปงลาง ของภาคเหนือ ได้แก่ ซึง ซอ พิณ ของภาคใต้ ได้แก่ กลอง โหม่ง ส่วนของภาคกลางมีกลองยาว ระนาด ฉิ่ง กรับ โทน เป็นต้น เพลงลูกทุ่งที่ใช้เครื่องดนตรีพื้นเมืองมาประกอบ เช่น เพลงลำเลาะทุ่ง เพลงเสียงซอสั่งสาว เพลงต้อนไว้ ๆ เป็นต้น

และยังมีการใช้เครื่องดนตรีสากลหรือเครื่องดนตรีตะวันตก ประกอบด้วยเครื่องเป่า เครื่องสาย และเครื่องประกอบจังหวะ รวมแล้วประมาณ 12–18 ชิ้น วงดนตรีของสุรพล สมบัติเจริญ และของสุรฃัย สมบัติเจริญ มีจุดเด่นที่ใช้แอคคอร์เดียนหรือหีบเพลง อย่างไรก็ตามวงดนตรีเพลงลูกทุ่งอื่น ๆ ก็มีการใช้เครื่องดนตรีสากลบ้าง[19]

หางเครื่อง[แก้]

คอนเสิร์ตลูกทุ่ง กับวิถีบรรเลงนักเต้นหางเครื่อง

ที่มาของคำว่าหางเครื่อง คาดว่ามาจากสำนวนคำว่า “เขย่าหางเครื่อง” ในขณะที่นักร้องออกมาร้องเพลงบนเวที คนที่ให้เสียงจังหวะเรียกว่า หางเครื่อง คือจะมีคนออกมาตีฉิ่ง ฉาบ กรับ ไม้ต๊อก และเคาะลูกแซ๊กอยู่ข้างหลังนักร้องเพื่อให้จังหวะเพลงให้เด่นชัดขึ้นและสนุกสนานมากขึ้น แต่ความหมายดังกล่าวได้เปลี่ยนไปมีความหมายว่า คนเต้นประกอบเพลงในปัจจุบัน

ตำบลบางเสร่ ในอดีตนั้นเป็นที่กล่าวขานถึงความโด่งดังของ " หมู่บ้านหางเครื่อง " ซึ่งเป็นหางเครื่องพื้นบ้าน ซึ่งนักเต้นหรือหางเครื่องภายในวงส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นลูกหลานของชาวบ้านตำบลบางเสร่ จุดเด่นของหางเครื่องบางเสร่อยู่ที่ท่วงท่าการเต้นที่สวย งามและพร้อมเพรียงเป็นเอกลักษณ์ และที่สำคัญไม่ออกในแนวทางการเต้นที่ส่อในทางลามกอนาจาร แต่ในปัจจุบันวิถีชีวิตเปลี่ยนไปและเริ่มมีการรับเอาวัฒนธรรมของต่างชาติในงานแสดงต่างๆหันไปใช้นักเต้นที่นิยมนุ่งน้อยห่มน้อย และท่าเต้นที่ส่อไปในทางลามกอนาจาร ทำให้หางเครื่องบางเสร่ที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์เดิมๆไว้แทบจะหมดสิ้นไป หลายวงต้องเลิกหรือยุบคณะบางวงที่อยู่ได้ก็ต้องออกไปนอกพื้นที่ๆไกลมากขึ้นเราจึงควรอนุรักษ์วัฒนธรรม " หมู่บ้านหางเครื่องบางเสร่ " ต่อไปมิให้เหลือแต่เพียงชื่อหรือตำนานหรือเพียงคำๆหนึ่ง ในคำขวัญของตำบลบางเสร่เท่านั้น หากท่านใดที่สนใจใช้บริการของวงหางเครื่องเช่นในงานมงคล งานบวช และงานแสดง เช่นงานประกอบมิวสิกวิดีโอใดๆ ก็สามารถติดต่อใช้บริการได้ก็จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยได้เช่นกัน...

ในช่วงแรก ผู้เขย่าหางเครื่องก็มีทั้งหญิงและชาย ไม่ได้เป็นกลุ่มคณะ บางครั้งก็เป็นตัวตลกประจำวง บางครั้งก็เป็นนักร้องประจำวง ไม่มีรูปแบบที่ตายตัว ต่อมาได้มีการพัฒนาขึ้นโดยมีผู้หญิงสวย ๆ ออกมาเขย่าหางเครื่อง แต่ก็ยังไม่ออกลีลาการเต้น เพียงเดินให้เข้ากับจังหวะเพลงเท่านั้น เพลงส่วนใหญ่ที่ใช้หางเครื่องจะมีจังหวะบีกิน ช่าช่าช่า โบเล หลังจากนั้นได้ใส่ลีลาการเต้นและการแต่งกายมากขึ้น โดยพัฒนามาจากการเต้นระบำฝรั่งเศสของฟอลลี่ แบร์แช (Folies Bergeres) และการเต้นโมเดิร์นด๊านซ์ (Modern Dance)[20] จนในปี พ.ศ. 2509 หางเครื่องแต่งตัวเหมือนกันเป็นทีม อย่างเช่นวงของสุรพล สมบัติเจริญ สมานมิตร เกิดกำแพง และหลังจากที่สุรพล เสียชีวิตลง ศรีนวล สมบัติเจริญ ภรรยาสุรพลได้จัดหางเครื่องใช้ผู้เต้นประมาณ 10 คน ลีลาการเต้นก็เป็นแบบระบำฮาวายของตะวันตก จนปี 2510 หางเครื่องเริ่มเปลี่ยนแปลงชัดเจนกลายเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ของวงดนตรีลูกทุ่ง[21]

นับตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2517 ในช่วงนี้คำนี้ “หางเครื่อง” แปรเปลี่ยนมาเป็นบุคคลที่เต้นประกอบเพลงและจำนวนผู้เต้นก็มีมากขึ้น[19] และเมื่อเข้าสู่ปีทองอีกช่วงในปี 2520 มีการแข่งขันด้านหางเครื่องจึงเพิ่มขึ้น วงดนตรีใหญ่ ๆ มีหางเครื่องในสังกัดตัวเองประมาณ 60 คน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในเรื่องเครื่องแต่งกายหางเครื่องสูงถึง 1 ล้านบาท[21]

ลักษณะการแต่งกายของหางเครื่องมักแต่งกายด้วยผ้าสีสด เช่น สีแดงสด ฟ้า เขียว ชมพูสด เหลืองจำปา สีทอง สีดำ เนื้อผ้ามักเป็นผ้าเนื้อนุ่มพลิ้ว ปักเลื่อม ประดับสายสร้อย กำไล ตุ้มหู และดอกไม้ ส่วนผู้ชายมักสวมรองเท้าบู๊ต

หางเครื่องที่เป็นการนำมาจากวัฒนธรรมตะวันตกซึ่งไม่น่าจะเข้ากันได้กับการแสดงเพลงลูกทุ่ง แต่ในแง่ธุรกิจผู้ที่อยู่ในวงการเพลงลูกทุ่งต่างยอมรับว่าหางเครื่องเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ผู้ชมชื่นชอบกับการชมหางเครื่องประกอบการแสดงเพลงลูกทุ่ง หางเครื่องในปัจจุบันจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เพลงลูกทุ่งต่างจากลูกกรุง ผู้ชมก็ตื่นตาตื่นใจกับเสื้อผ้าและลีลาการเต้นของหางเครื่อง[19]

ธุรกิจเพลงลูกทุ่ง[แก้]

นับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกเสียงลงแผ่นเสียง เพลงลูกทุ่งครองตลาดเพลง ในปี พ.ศ. 2510 เนื่องจากมีการบันทึกลงเทปแทนแผ่นเสียง และโทรทัศน์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น และต่อมาเพลงลูกทุ่งเริ่มเงียบหายลงไปเพราะการเมือง จนมาโด่งดังอีกครั้งในปี 2520 และหายไปอีกครั้งเพราะผลจากเศรษฐกิจ และในปี 2541 ธุรกิจในวงการลูกทุ่งก็กลับมาอีกครั้งกับนักร้องใหม่ ๆ ธุรกิจแบบใหม่ ๆ[22]

ในปัจจุบัน ธุรกิจลูกทุ่งมีฐานที่กว้างมากในตลาดวงการเพลง เป็นตลาดใหญ่ มีทั้งค่ายเล็ก ค่ายใหญ่ เป็นจำนวนมาก การแข่งขันก็มากขึ้นเรื่อยๆ โดยสัดส่วนของเงินในตลาดเพลงลูกทุ่งครอง คาดการณ์น่าจะอยู่ที่ ปีละ 1,000-1,500 ล้านบาท เฉพาะธุรกิจเพลงอย่างเดียวไม่รวมกับธุรกิจข้างเคียงอื่นๆ โดยมีตลาดหลักอยู่ที่ภาคอีสาน 50% ภาคเหนือและภาคกลาง 35% และภาคใต้ 15% และสัดส่วนการแบ่งตลาด มีแกรมมี่ โกลด์ ครองส่วนแบ่งการตลาดเพลงลูกทุ่งทั่วประเทศ 65% ส่วนอาร์สยาม 19% และอื่นๆ 16%[23] สำหรับตลาดรวมของธุรกิจในปี 2549 มูลค่าตลาดประมาณ 7,100 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9 จากปี 2548 และหากเปรียบเทียบกับตลาดเพลงอื่นแล้ว เพลงไทยสากลเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมสูงสุดในตลาด มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 45 รองลงมาคือเพลงลูกทุ่ง ร้อยละ 30 และเพลงสากล ร้อยละ 20[24]

ในปัจจุบันมีศิลปินลูกทุ่งต่างออกผลงานเพลงเป็นจำนวนมาก ทำให้มีการแข่งขันสูง บางศิลปินออกได้ชุดเดียวก็ไปเลย บางคนสองชุด บางคน 5-6 ปี และยังมีปัญหา ความตกต่ำของเศรษฐกิจ เทปผี ซีดีเถื่อนอีก จึงมีบางค่ายเพลงหันมาโปรโมตศิลปินแทนโปรโมตเพลง[25]

สื่อวิทยุ โทรทัศน์ และภาพยนตร์[แก้]

รายการดาวรุ่งลูกทุ่งไทยแลนด์ รายการค้นหานักร้องลูกทุ่งทางโทรทัศน์

รายการชิงช้าสวรรค์ เป็นรายการนำเสนอรูปวัฒนธรรมเพลงลูกทุ่งโดยมีการประกวดร้องเพลงและวงดนตรีลูกทุ่งระดับชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนทั่วประเทศไทย ด้านสื่อวิทยุ เดิมทีเพลงลูกทุ่งออกอากาศโดยคลื่นเอเอ็ม เพราะสามารถส่งสัญญาณไปได้ไกลมาก จนในปี 2540 ได้เกิดสถานีวิทยุเอฟเอ็มขึ้นคือสถานีลูกทุ่งเอฟเอ็ม แนวความคิดในการจัดรายการวิทยุเพลงลูกทุ่งจึงเริ่มเปลี่ยนไป ลูกทุ่งเอฟเอ็มเป็นสถานีวิทยุเพลงลูกทุ่ง 24 ชั่วโมง โดยใช้วิธีรูปแบบไม่ให้ดูเชย ดูทันสมัย มีลักษณะรายการเหมือนเอ็มทีวี แต่เป็นเพลงลูกทุ่ง ซึ่งต่อมาคลื่นนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก จนมีการจัดมอบรางวัลมาลัยทองคำขึ้นในปี 2544 และมีการเกิดมาของสถานีลูกทุ่งบนหน้าปัดเอฟเอ็มขึ้นอีกอย่าง ลูกทุ่งมหานคร[24] ที่มีรูปแบบรายการโดยเน้นให้ดีเจเป็นเพื่อนกับคนฟัง ซึ่งฐานคนฟังคลื่นลูกทุ่งมหานคร มีคนฟังนาทีละ 300,000 คน จากทั่วประเทศในเครือข่ายของ อ.ส.ม.ท. โดยเน้นช่วงเวลาระหว่างเที่ยงคืน ตี3 และ ตี5 เพราะมีกลุ่มคนฟังที่ส่งของ ขับรถ ชาวสวนที่ตื่นแต่เช้า เป็นต้น[26]

ทางด้านวงการโทรทัศน์จากที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงในรายการวาไรอิตีโชว์ต่าง ๆ ก็มีรายการที่พัฒนาจาก การค้นหานักร้องลูกทุ่ง ที่มีเกิดขึ้นในเวทีการสรรหานักร้องลูกทุ่งเดิม ไม่ว่าจะเป็นเวทีตามอำเภอ ระดับจังหวัด จนมาสู่รายการเรียลลิตี้โชว์ แบบรายการทรู อะคาเดมี่ แฟนเทเซีย เดอะ สตาร์ ค้นฟ้าคว้าดาว เดอะ ซิงเกอร์ กับโครงการดาวรุ่งลูกทุ่งไทยแลนด์ เป็นต้น[27]

ส่วนภาพยนตร์ไทย ก็มีการสร้างภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้อกับเพลงลูกทุ่งอย่างภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักทรานซิสเตอร์ ในปี 2544 กำกับโดย เป็นเอก รัตนเรือง[28] และในปี 2545 สหมงคลฟิล์มมีภาพยนตร์ที่รวมนักร้องลูกทุ่งชั้นนำของเมืองไทยร่วม 168 ชีวิต ในภาพยนตร์เรื่อง มนต์เพลงลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม.[29] และด้วยกระแสความโด่งดังของวงโปงลางสะออน กลุ่มศิลปินแนวลูกทุ่งดนตรีอีสาน มีผลงานภาพยนตร์อย่าง โปงลางสะดิ้ง ลำซิ่งส่ายหน้า ในปี 2550 ทำรายได้รวม 75 ล้านบาท[30]

สินค้าสนับสนุนเพลงลูกทุ่ง[แก้]

นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงของตลาดเพลงลูกทุ่ง ทำให้สินค้าหลายประเภทต่างปรับกลยุทธ์ หาช่องทางทางด้านธุรกิจ อีกทั้งหน้าตาของเพลงทุ่งที่มีทิศทางที่ดูทันสมัยขึ้น ในช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงจะมีสินค้าอุปโภคบริโภคที่เจาะกลุ่มตลาดล่าง ราคาถูก ต้องการขายในปริมาณมากๆ ซึ่งเพลงลูกทุ่งสามารถตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี จริงๆ แล้วรูปแบบที่เกิดกับเพลงลูกทุ่งนั้น ไม่แตกต่างจากวงการเพลงสตริงเลย คือมีเจ้าของสินค้าสนับสนุนศิลปินอยู่ แต่สำหรับตลาดเพลงลูกทุ่ง สินค้าจะมีความหลากหลายกว่า และเจาะกลุ่มลูกค้าคนละแบบ

สินค้าประเภทเครื่องดื่มชูกำลัง เป็นสินค้าที่ที่ตรงกลุ่มเป้าหมายที่สุดคือ กลุ่มผู้ใช้แรงงาน อย่าง เอ็ม150 ใช้งบประมาณในการจัดงานประมาณปีละ 70 ล้านบาท โดยการสนับสนุนศิลปินแบบครบวงจร ตั้งแต่การออกเทป คอนเสิร์ต มิวสิกวิดีโอ โดยการรุกของสินค้าเข้าไปถึงทางด้านเนื้อเพลงด้วย อย่างเนื้อที่ว่า "คนดีอย่างเธอที่เป็น เซเว่นไม่มีให้ซื้อ" หรือ "รอเธอในร้านเคเอฟซี ที่คาร์ฟูร์" เป็นตัวอย่างเนื้อเพลงที่มีแบรนด์สินค้าเข้าไปปรากฏอยู่ชัดเจน และเพลงที่มีโทรศัพท์มือถือเข้ามาเกี่ยวข้อง ถือว่าเป็นกระแสหลักของเพลงลูกทุ่งในช่วงหลัง ออกมาจำนวนมาก

ผู้คนที่ใช้โทรศัพท์มือถือ 27 ล้านคน จากผู้ใช้โทรศัพท์ทั้งประเทศ 45 ล้านคน ทางเอไอเอสใช้พรีเซ็นเตอร์นักร้องลูกทุ่ง 4 คน ที่ได้รับความนิยมคือ พี สะเดิด ฝน ธนสุนทร จากแกรมมี่ บ่าววี และ หลิว อาจารียา พรหมพฤกษ์ จากอาร์สยาม ทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งคอนเสิร์ต โหวตศิลปิน และดาวน์โหลดเพลง ด้วยงบประมาณ 30-40 ล้านบาท และทางด้านทรูมูฟ คู่แข่งจะเพิ่มช่องทางขายซิมการ์ดโดยร่วมมือกับคลื่นเพลงลูกทุ่ง ซึ่งทำรายได้ถึงร้อยละ 9.6 จากรายได้รวมของทรูมูฟ ทั้งหมด 22,300 ล้านบาท

ทางด้านรถยนต์มี 2 รายที่ใช้เพลงลูกทุ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการตลาด คือ โตโยต้า ใช้ จินตหรา พูนลาภ และอีซูซุคือ ก๊อต จักรพรรณ์ อาบครบุรี[31]

การส่งเสริมเพลงลูกทุ่ง[แก้]

เจนภพ จบกระบวนวรรณ บุคคลสำคัญส่งเสริมวัฒนธรรมและผู้บันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ลูกทุ่ง

ได้มีการส่งเสริมเพลงลูกทุ่งด้วยการมอบรางวัลทางดนตรีอย่าง รางวัลมาลัยทอง ที่มอบเป็น ขวัญ กำลังใจ ให้คนทำงานเพลงลูกทุ่งที่มีคุณภาพ ทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลัง[32] ซึ่งเริ่มจัดมาตั้งแต่ปี 2544 โดย สมาคมลูกทุ่ง เอฟ. เอ็ม.[33] ส่วนทางคลื่นวิทยุลูกทุ่งมหานคร อสมท FM. 95 MHz ภายใต้การผลิตรายการของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติก็มีการจัดงานมอบ รางวัลมหานครอวอร์ดส[34]

ในปี 2532 สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้จัด งานกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย ครั้งแรก ในวันที่ 16 กันยายน 2532 ซึ่งเป็นช่วงที่วงการเพลงลูกทุ่งเริ่มซบเซา ซึ่งปรากฏว่ามีบรรดานักฟังเพลงลูกทุ่งมาชมกันมากเป็นประวัติการณ์จนต้องจัดให้มีการถ่ายทอดสดทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และในปีถัด ๆ ไปสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ก็ได้สนับสนุนเพลงลูกทุ่งไทยมาโดยตลอด และได้จัด งานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ภาค 2 ในปี 2533 ซึ่งในปีนี้ เพลง ส้มตำ ถือเป็นเพลงเกียรติยศ ที่นักร้องลูกทุ่งนำมาขับขานในโอกาสการจัดงาน กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ภาค 2 เพลงลูกทุ่งที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์ และได้อัญเชิญมาขับร้องด้วยการบันทึกเสียงโดย พุ่มพวง ดวงจันทร์ และถูกอัญเชิญขับร้องใหม่โดย สุนารี ราชสีมา ในงานนี้ด้วย[35] และในปี 2534 ได้จัดโครงการจัดทำโครงการส่งเสริมเพลงลูกทุ่งไทยด้วยการประกวดขับร้องเพลงลูกทุ่งไทย สืบสานคุณค่าวัฒนธรรมไทย ต่อมาในปี 2537 จัดให้มีการประกาศผลงานเพลงลูกทุ่งดีเด่นส่งเสริมวัฒนธรรมไทย และ ในวันที 15 กันยายน พ.ศ. 2542 นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ในขณะนั้น ได้จัดงาน 60 ปีเล่าขานตำนานลูกทุ่งไทยขึ้น ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย[36]

สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ยังได้มอบรางวัลศิลปินแห่งชาติในสาขาต่าง ๆ โดยในหมวดหมู่ศิลปะการแสดง ที่มอบให้กับการดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน ซึ่งรวมถึงในหมวดหมู่ย่อยดนตรีไทย ได้รวมเพลงลูกทุ่ง[37] ผู้ที่ได้รับรางวัลได้แก่ นาวาตรีพยงค์ มุกดา (เพลงไทยสากล-เพลงลูกทุ่ง ประพันธ์) (2534), นางผ่องศรี วรนุช (เพลงลูกทุ่ง-ขับร้อง) (2535), นายสมเศียร พานทอง (ชาย เมืองสิงห์) (เพลงลูกทุ่ง-ขับร้อง ประพันธ์) (2538), นายไวพจน์ สกุลนี (ไวพจน์ เพชรสุพรรณ) (เพลงลูกทุ่ง-ขับร้อง ประพันธ์) (2540), นายชัยชนะ บุญนะโชติ (เพลงลูกทุ่ง-ขับร้อง) (2541), นายชิน ฝ้ายเทศ (ชินกร ไกรลาศ) (เพลงลูกทุ่ง-ขับร้อง) (2542), นายสมนึก ทองมา (ชลธี ธารทอง) (เพลงลูกทุ่ง-ประพันธ์) (2542), นายวิเชียร คำเจริญ (ลพ บุรีรัตน์) (นักแต่งเพลงลูกทุ่ง) (2548), นายประยงค์ ชื่นเย็น (ดนตรีไทยลูกทุ่ง-เรียบเรียงเสียงประสาน) (2552)[38] นายสมส่วน พรหมสว่าง (เพลิน พรหมแดน) (ดนตรีลูกทุ่ง) (2555)

การแบนเพลงลูกทุ่งและข้อพิพาท[แก้]

ในช่วงที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง คำรณ สัมบุณณานนท์ นักร้องเพลงลูกทุ่ง ผู้ได้รู้รสความเป็นไปของบ้านเมืองจนถ่ายทอดความอึดอัดคับข้องใจต่าง ๆ และได้ถ่ายทอดเพลงอย่าง "ผู้แทนควาย" "ไอ้ทุยแถลงการณ์" "อสูรกินเมือง" ซึ่งเพลงเหล่านี้ทำให้เขาต้องเลิกร้องเพลงไปเพราะไม่เข้าหูรัฐบาลเผด็จการในขณะนั้น[39]

ในปี พ.ศ. 2546 กระทรวงวัฒนธรรม ออกมาเปิดเผยเพลงที่ได้รับการร้องเรียนเข้าข่ายขัดต่อศีลธรรม วัฒนธรรม จำนวน 18 เพลง โดยมีเพลงลูกทุ่งหลาย ๆ เพลงโด่งดังมานานหลายทศวรรษ เช่น เพลง "เมียพี่มีชู้" โดยอ้างว่า เป็นเพลงขัดต่อศีลธรรมอันดีของประเทศ โดยทางกระทรวงวัฒนธรรมขอให้ยุติการเผยแพร่ผ่านทางวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ เพราะมีเนื้อหาหมิ่นเหม่ ผิดต่อศีลธรรม ขัดขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของคนไทยและชาติ เพราะส่งเสริมให้มีหลายสามีและหลายภรรยา รวมทั้งพฤติกรรมชู้สาว โดยเฉพาะหลายเพลงมีศิลปินแห่งชาติ และศิลปินส่งเสริมพระพุทธศาสนา ที่ควรเป็นแบบอย่างการประพฤติที่ดีงาม เป็นผู้ร้องในเพลงดังกล่าวด้วย เช่น ชาย เมืองสิงห์ และดาวใจ ไพจิตร เป็นต้น[40]

ส่วนเหตุการณ์ที่เป็นข้อพิพาทในสังคมที่เกิดขึ้นในวงการเพลงลูกทุ่ง ในปี พ.ศ. 2548 ที่กระทรวงวัฒนธรรม ได้ออกออกมาร่วมประณาม นักร้องลูกทุ่งสาว "เอ" สุขุมา มณีกาญจน์ ได้ถ่ายภาพโชว์หน้าอกเพื่อโปรโมทผลงานเพลง จนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม[41] รวมทั้งในปี พ.ศ. 2550 เพลงและมิวสิกวิดีโอเพลง "ขอโทษแม่เฒ่า" โดยนักร้อง มนต์ เมืองมุก โดยในส่วนของเนื้อเพลงมีเนื้อหาส่อไปในทางลามกอนาจาร โดยเนื้อเพลงบางท่อนร้องว่า "ลูกผิดที่เอากันก่อนที่จะมาสู่ขอแม่เฒ่า ลูกมาอยู่ กทม.ลูกผิดที่เอากันก่อนจะมาสู่ขอแม่เฒ่า" อีกทั้งภาพมิวสิกวิดีโอก็เป็นภาพของหนุ่มสาวโรงงานคู่หนึ่งที่มีเพศสัมพันธ์กันด้วย โดยทางกระทรวงวัฒนธรรมได้ขอให้ยกเลิกและแบนไม่ให้เพลงนี้ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ทุกช่อง[42] แต่อย่างไรก็ดี กระทรวงวัฒนธรรมได้ยกเลิกการแบนเพลง "ขอโทษแม่เฒ่า" ไปในที่สุด เนื่องจากเมื่อพิจารณาถึงการใช้ถ้อยคำในเพลงแล้วได้พบว่า คำว่า "เอากัน" นั้นเป็นเพียงคำพูดโดยทั่วไปในภาษาท้องถิ่นภาคอีสาน ซึ่งหมายถึงการอยู่กินร่วมกัน อีกทั้งเมื่อพิจารณาถึงภาพที่ปรากฏในมิวสิกวิดีโอแล้วก็พบว่าผู้สร้างมิได้สื่อสารออกมาในรูปแบบที่น่าเกลียด นอกจากนี้ เนื้อหาของเพลงยังมีส่วนสร้างสรรค์ในแง่มุมที่ดีต่อสังคม โดยแสดงให้เห็นถึงการหวนคิดถึงผู้เฒ่าและบุพการีผู้มีพระคุณและชี้นำให้หนุ่มสาวกลับไปขอขมาผู้ใหญ่เมื่อตนได้ทำผิด[43]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วิวัฒนาการและองค์ประกอบของเพลงลูกทุ่ง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-15. สืบค้นเมื่อ 2007-06-10.
  2. 2.0 2.1 ประวัติลูกทุ่งไทย คอลัมน์ รู้ไปโม้ด
  3. "ประวัติเพลงลูกทุ่ง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-12. สืบค้นเมื่อ 2007-06-10.
  4. 4.0 4.1 น่าจะเป็นที่มา ... (1) เก็บถาวร 2007-05-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย นาวาตรีพยงค์ มุกดา
  5. เส้นทาง 63 ปี วงดนตรีสุนทราภรณ์ เก็บถาวร 2007-07-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน websuntaraporn.com
  6. น่าจะเป็นที่มา ... (2) เก็บถาวร 2007-06-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย นาวาตรีพยงค์ มุกดา
  7. ความจริงไม่ตาย : บุปผาสวรรค์ ชุมชนคนลูกทุ่ง (8 ส.ค 61)
  8. สุรสิทธิ์ ศรีสมุทร, ประวัติและวิวัฒนาการเพลงลูกทุ่ง หน้า 4 เก็บถาวร 2008-02-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  9. 9.0 9.1 9.2 วิวัฒนาการและองค์ประกอบ (1) เก็บถาวร 2007-05-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย รศ.ดร.จินตนา ดำรงค์เลิศ
  10. รำลึก...สุรพล สมบัติเจริญ เก็บถาวร 2011-08-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย ผู้จัดการออนไลน์ 16 สิงหาคม 2548 17:04 น.
  11. 11.0 11.1 กำเนิดหางเครื่องลูกทุ่งไทย เก็บถาวร 2007-10-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน dancerthai.th.gs
  12. 12.0 12.1 วิวัฒนาการและองค์ประกอบ (2) เก็บถาวร 2007-05-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน รศ.ดร.จินตนา ดำรงค์เลิศ
  13. สมเกียรติ บุญศิริ, 69 ปี ลูกทุ่งไทย นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2550
  14. Integrated Marketing กลยุทธ์ครองตลาดเพลงลูกทุ่ง " แกรมมี่-อาร์.เอส " เก็บถาวร 2008-02-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย บิสิเนสไทย 2-9-2004
  15. ลูกทุ่งไทย กลายพันธุ์ ตีตลาดอินเตอร์ เก็บถาวร 2011-08-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 30 มิถุนายน 2548 15:44 น.
  16. คมเคียว : ลูกทุ่งแบบโป๊ไม่เปลือย เก็บถาวร 2008-02-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน komchadluek.net
  17. วิวัฒนาการและองค์ประกอบ (3) เก็บถาวร 2007-06-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย รศ.ดร.จินตนา ดำรงค์เลิศ
  18. วิวัฒนาการและองค์ประกอบ (4) เก็บถาวร 2007-07-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย รศ.ดร.จินตนา ดำรงค์เลิศ
  19. 19.0 19.1 19.2 วิวัฒนาการและองค์ประกอบ (5) เก็บถาวร 2007-07-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย รศ.ดร.จินตนา ดำรงค์เลิศ
  20. "หางเครื่อง จังหวะชีวิตบนถนนดนตรีลูกทุ่ง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2007-06-30.
  21. 21.0 21.1 สมเกียรติ บุญศิริ, หางเครื่อง สีสันวงดนตรีลูกทุ่ง นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2550
  22. 69 ปี ลูกทุ่งไทย. นิตยสารผู้จัดการ ฉบับที่ 291 เดือนธันวาคม 2550 หน้า 118
  23. การตลาดThrough the Line ปลุกกำลังซื้อเพลงลูกทุ่ง เก็บถาวร 2008-02-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย บิสิเนสไทย 19-9-2007
  24. 24.0 24.1 สมเกียรติ บุญศิริ, พลังลูกทุ่ง นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2550
  25. สมเกียรติ บุญศิริ, ลูกทุ่งยุคต่อไป เดินหน้าหรือถอยหลัง นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2550
  26. สมเกียรติ บุญศิริ, FM 95 ลูกทุ่งมหานคร ไพร์มไทม์หลังเที่ยงคืน นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2550
  27. สมเกียรติ บุญศิริ, ดาวรุ่งลูกทุ่งไทยแลนด์ บันไดขั้นแรกนักร้องลูกทุ่ง นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2550
  28. ข่าววันที่ 25 มิถุนายน 2545 ผู้จัดการออนไลน์
  29. มนต์เพลงลูกทุ่งเอฟ.เอ็ม.รับกระแสลูกทุ่งฟีเวอร์ เก็บถาวร 2008-02-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน บิสิเนสไทย 15-2-2002
  30. 20 หนังยอดฮิตแดนสยามปี 2550 เก็บถาวร 2011-08-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย ผู้จัดการออนไลน์ 16 มกราคม 2551 07:28 น.
  31. สมเกียรติ บุญศิริ, เครื่องมือการตลาดที่ทรงพลัง นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2550
  32. ผลรางวัลมาลัยทองประจำปี 2546 เก็บถาวร 2006-01-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน luktungfm.com
  33. “เอกชัย – ฝน” คว้ารางวัล "มาลัยทอง ครั้งที่ 6" kapook.com
  34. จ๊ะจ๋ามหานคร เก็บถาวร 2007-03-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน mcot.net
  35. ส้มตำ ฟังเพลิน – กินต้องระวัง… เก็บถาวร 2008-02-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เขียนโดย สวท.ขอนแก่น
  36. "กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-17. สืบค้นเมื่อ 2007-09-02.
  37. ศิลปะการแสดง เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ศิลปินแห่งชาติ
  38. "ศิลปินแห่งชาติสาขา ศิลปะการแสดง ๑๐๕ คน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-26. สืบค้นเมื่อ 2007-08-23.
  39. ...ผมเป็นผู้แทนมาจากควาย ฟังเถิดพี่น้องหญิงชาย นี่ควายเขาใช้ฉันมา... เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กรุงเทพธุรกิจ
  40. สุทธิดา มะลิแก้ว ,กระทรวงวัฒนธรรม (ทางเพศ)
  41. วธ.ขู่ลูกทุ่งโชว์เต้า ไม่เลิกเจอคุกแน่ เก็บถาวร 2008-02-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน คมชัดลึก
  42. โวยเพลงมีคำว่าเอากัน[ลิงก์เสีย] bangkokcity.com
  43. "วธ. ไม่แบนลูกทุ่ง "ขอโทษแม่เฒ่า"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-17. สืบค้นเมื่อ 2008-10-01.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]