เฉินเจิน หน้ากากฮีโร่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เฉินเจิน หน้ากากฮีโร่
กำกับแอนดริว เลา
เขียนบทชุง ชิชิง
กอร์ดอน ชาง
อำนวยการสร้างแอนดริว เลา
กอร์ดอน ชาง
นักแสดงนำเจิ้น จื่อตัน
หวง ชิวเซิน
ซูฉี
หยู เหวินเล่อ (นักแสดงรับเชิญ)
ผู้บรรยายแอนดริว เลา
ตัดต่อGo Go film productions.co.ltd
ผู้จัดจำหน่ายฮ่องกง Media Asia Entertainment Group
ไทย มงคลภาพยนตร์
วันฉายสาธารณรัฐเวนิส 1 กันยายน ค.ศ. 2010 (ปฐมทัศน์)
จีน 21 กันยายน ค.ศ. 2010
ฮ่องกง
ไทย 23 กันยายน ค.ศ. 2010
ความยาว113 นาที
ประเทศฮ่องกง ฮ่องกง
ภาษากวางตุ้ง
ทุนสร้าง60 ล้านเหรียญฮ่องกง
ก่อนหน้านี้Fist of Legend (ค.ศ. 1994)
ข้อมูลจาก IMDb
ข้อมูลจากสยามโซน

เฉินเจิน หน้ากากฮีโร่ ชื่อภาษาไทยของภาพยนตร์กังฟูสัญชาติฮ่องกงเรื่อง Legend of the Fist: The Return of Chen Zhen (จีนตัวเต็ม: 精武風雲-陳真; จีนตัวย่อ: 精武风云-陈真) นำแสดงโดย เจิ้น จื่อตัน, ซูฉี, หวง ชิวเซิน ร่วมด้วย หยู เหวินเล่อ กำกับโดย แอนดริว เลา ออกฉายเมื่อกลางปี ค.ศ. 2010

เรื่องย่อ[แก้]

ประเทศจีนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 รัฐบาลจีนได้ส่งชายชาวจีนเกณฑ์ไปเป็นแรงงานในสมรภูมิต่าง ๆ ในยุโรป รวมถึง เฉินเจิน (เจิ้น จื่อตัน) เฉินเจินสามารถเอาชีวิตรอดกลับมาสู่ประเทศจีนได้ แต่ทว่าต้องสูญเสียเพื่อนร่วมชาติที่มีอุดมการณ์ไป หลังสงครามจบ ชาติมหาอำนาจที่เข้าร่วมในสงคราม เช่น สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ กลับไม่ใยดีจีน และไม่สนใจที่เมืองชิงเต่าถูกกองทัพญี่ปุ่นยึด

ในกลางทศวรรษ 20 เฉินเจินได้กลับมาสู่เซี่ยงไฮ้ ในยุคที่จักรวรรดิญี่ปุ่นกำลังแผ่แสนยานุภาพ และกำลังสู่สงครามจีน-ญี่ปุ่น ในคราบนักธุรกิจหนุ่มเจ้าสำราญ ที่เซี่ยงไฮ้มีไนต์คลับที่เป็นแหล่งรวมของบุคคลชั้นสูงในเวลานั้น ชื่อ คาซาบลังกา มีนักร้องหญิงชื่อ กีกี้ (ซูฉี) เป็นดาวที่ดึงดูดแขกเข้ามายังที่แห่งนี้ คาซาบลังกาบริหารโดย หลิว ยั่วเทียน (หวง ชิวเซิน) นักธุรกิจใหญ่ที่มีเส้นสายในเซี่ยงไฮ้ โดยไม่มีใครรู้ว่าแท้ที่จริงแล้วเฉินเจิน คือ ลูกศิษย์ของ ฮั่ว หยวนเจี๋ย(หลี่ เหลียงเจี๋ย) ปรมาจารย์หมัดหมี่จงชื่อดัง ที่ล่วงลับไปก่อนหน้านี้ด้วยการสู้กับพวกญี่ปุ่นเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีชาวจีนและประเทศชาติ เฉินเจินแฝงตัวเข้ามาในไนต์คลับแห่งนี้เพื่อสืบหาเบาะแสพวกญี่ปุ่น โดยเข้าร่วมกับขบวนการกู้ชาติจีน ซึ่งประกอบด้วย ตำรวจ, นักศึกษา และแรงงาน

เฉินเจินได้ปลอมตัวเป็นหน้ากากฮีโร่เพื่อจัดการทหารญี่ปุ่น และคุ้มครองชาวจีนผู้รักชาติหลายคนที่ตกเป็นเป้าสังหารของญี่ปุ่น โดยที่กีกี้ นักร้องสาวประจำคาซาบลังกานั้นเป็นสายลับของฝ่ายญี่ปุ่น ท้ายสุดเมื่อความจริงปรากฏ เฉินเจินได้เปิดเผยตัวและบุกเข้าสู่ โดโจ สำนักฝึกศิลปะป้องกันตัวของฝ่ายญี่ปุ่นเพื่อดวลเดี่ยวกันตัวต่อตัวต่อแม่ทัพฝ่ายญี่ปุ่น

เบื้องหลังและคำวิจารณ์[แก้]

Legend of the Fist: The Return of Chen Zhen ถือเป็นภาพยนตร์ใหญ่ที่เป็นผลงานรีเมคของภาพยนตร์ชุดในอดีต Fist of Fury ที่นำแสดงโดย บรูซ ลี และถือเป็นภาคต่อจาก Fist of Legend ในปี ค.ศ. 1994 ที่นำแสดงโดย หลี่ เหลียนเจี๋ย และเป็นภาพยนตร์ที่เป็นชุดต่อจากซีรีส์ในชื่อเดียวกันกับภาพยนตร์ของบรูซ ลี ในปี ค.ศ. 1995 ซึ่งก็นำแสดงโดย เจิ้น จื่อตัน ที่ดัดแปลงมาจากเรื่องราวการต่อสู้ของ หลิว เจินเซิง ซึ่งเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์จีนและเป็นลูกศิษย์ที่มีอยู่จริงของ ฮั่ว หยวนเจี๋ย[1]

กับภาพยนตร์เรื่องนี้ ออกฉายในช่วงที่เจิ้น จื่อตัน นักแสดงนำกำลังมีผลงานต่อเนื่องกันหลายเรื่อง และเกือบทุกเรื่องประสบความสำเร็จแทบทั้งนั้น ได้รับการกำกับการแสดงโดย แอนดรูว์ เลา ที่เคยสร้างชื่อมาแล้วจาก Infernal Affiars ในปี ค.ศ. 2002

ภาพยนตร์ใช้เงินสร้างสูงถึง 60 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง และเป็น เจิ้น จื่อตัน เองที่เป็นผู้กำกับฉากแอ็คชั่น ออกฉายในฮ่องกงและประเทศไทยพร้อมกัน คือ ในวันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 2010 เมื่อเข้าฉายแล้ว ได้รับเสียงวิจารณ์ว่า ฉากแอ๊คชั่นทำได้ตื่นเต้น สนุก และเร้าใจ โดยเฉพาะฉากสมรภูมิในฝรั่งเศสใน 10 นาทีแรกของเรื่อง แต่ทว่าในตอนท้ายที่เป็นไคลแมกซ์กลับสั้นอยู่บ้าง ตัวละครอื่น ๆ เช่น กีกี้ ที่แสดงโดย ซูฉี เหมือนเป็นตัวประกอบให้กับเฉินเจินที่เป็นพระเอกมากกว่า[2] แต่สำหรับฉากประกอบที่เป็นนครเซี่ยงไฮ้ในยุคทศวรรษที่ 20 โดยเฉพาะไนต์คลับ คาซาบลังกา ผู้ชมชาวจีนวิจารณ์ว่าทำได้สวยงามและเซ็กซี่[1]

โดยฉายในรอบปฐมทัศน์เมื่อวันที่ 1 กันยายน ปีเดียวกัน ในเทศกาลภาพยนตร์เวนิส ครั้งที่ 67 ซึ่งตรงกับวาระครบรอบอายุ 70 ปีของ บรูซ ลี ซึ่งเป็นเจ้าของบทบาทนี้เป็นคนแรกอีกด้วย[1]

สำหรับในเว็บไซต์IMDbได้ให้ดาวภาพยนตร์เรื่องนี้ไปทั้งหมด 6.1 จากทั้งหมด 10 ดาว[3]

ขณะที่ ณัฐพงษ์ โอฆะพนม คอลัมนิสต์ของคมชัดลึก วิจารณ์ไว้ว่า ช่วงฉากแอ๊คชั่น 10 นาทีแรกที่ได้รับคำชมนั้น แม้จะดูเกินจริง แต่ทว่าภาพยนตร์ก็ยังทำออกมาได้น่าสนุกจนลืมความไม่สมจริงนั้นไปได้ แต่เมื่อเข้าสู่กลางเรื่องแล้ว ภาพยนตร์กลับทำแฟลชแบ๊คย้อนกลับไปที่เนื้อหาภาคที่แล้ว (Fist of Legend) ซึ่งอาจทำให้ผู้ชมงง โดยเฉพาะกับผู้ชมที่เป็นคนรุ่นใหม่ซึ่งอาจจะรู้จักแค่ชื่อ บรูซ ลี แต่ไม่คุ้นกับภาพยนตร์ชุดนี้ ทำให้ความต่อเนื่องของเรื่องสะดุด และกลายเป็นจุดอ่อนของภาพยนตร์เรื่องนี้[4]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]