เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว
ไอยูซีเอ็นกลุ่ม 4 (เขตบริหารสิ่งแวดล้อม)
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว
มองจากที่ว่าการอำเภอสอยดาว
แผนที่แสดงที่ตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว
แผนที่แสดงที่ตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว
ที่ตั้งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว
แผนที่แสดงที่ตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว
แผนที่แสดงที่ตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว (ภาคตะวันออก (ประเทศไทย))
ที่ตั้งประเทศไทย
เมืองใกล้สุดจังหวัดจันทบุรี
 • อำเภอสอยดาว
 • อำเภอโป่งน้ำร้อน
พิกัด13°02′03″N 102°10′22″E / 13.034232°N 102.172713°E / 13.034232; 102.172713
พื้นที่744.96 ตารางกิโลเมตร
จัดตั้ง4 กันยายน พ.ศ. 2515
หน่วยราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว (อังกฤษ: Khao Soi Dao Wildlife Sanctuary) เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในจังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่ครอบคลุมเขาสอยดาวใต้ และเขาสอยดาวเหนือ ที่เป็นจุดสูงสุดสองแห่งในเทือกเขาจันทบุรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาคาร์ดามอมซึ่งเป็นเทือกเขาหลักที่ตั้งอยู่ในประเทศกัมพูชา[1]

พื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าประกอบไปด้วยป่าดิบชื้น ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำจันทบุรี มีเนื้อที่ติดกับอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏทางทิศใต้ ติดต่อกับอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไนทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

ประวัติ[แก้]

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว ตั้งขึ้นเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2515[2] มีเนื้อที่ประมาณ 744.96 ตารางกิโลเมตร หรือ 465,602 ไร่[3] ภูมิประเทศส่วนใหญ่ประกอบด้วยภูเขา โดยในปี 2550 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาวถูกประกาศให้เป็น พื้นที่สำคัญเพื่อการอนุรักษ์นก (Important Bird Areas: IBAs)[4] ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญระดับนานาชาติในการอนุรักษ์นก

ภูมิประเทศ[แก้]

พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาวมีความลาดชันน้อย มีลักษณะเป็นแบบลูกคลื่นประกอบกับที่ลาดเชิงเขาต่อเนื่องจากภูเขา มีสายน้ำคือลำธารไหลต่อเนื่องตลอดทั้งปีจำนวน 2 สาย ซึ่งมีต้นน้ำมาจากเทือกเขาสอยดาว[5]

ภูมิอากาศ[แก้]

พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาวเป็นรูปแบบของภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้ประกอบด้วยฤดูที่โดดเด่นชัดทั้ง 3 ฤดู อุณหภูมิเฉลี่ย 26.8 องศาเซียลเซียส สูงสุดเฉลี่ย 31.6 องศาเซลเซียส[5]

สัตว์ป่า[แก้]

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว เป็นเพียง IBA แห่งเดียวในประเทศไทยที่พบ นกกระทาดงจันทบูรณ์[6] (Chestnut-headed partridge)[7] ซึ่งเป็นสัตว์ในกลุ่ม A2 คือกลุ่มที่มีการแพร่กระจายที่จำกัด[8] (Restricted-range species) รวมถึงเป็นที่อยู่อาศัยของนกที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์อีกหลายสายพันธุ์ ประกอบไปด้วย ไก่ฟ้าพญาลอ (Lophura diardi), นกกก (Buceros bicornis), นกคัคคูเหยี่ยวเล็ก[9] (Hierococcyx vagans) ซึ่งที่กล่าวมานี้อยู่ในสถานะใกล้ถูกคุกคามในระดับโลก[4] นอกจากนี้ยังมีนกที่มีสีสันสวยงามอย่าง นกแต้วแล้วใหญ่หัวสีน้ำเงิน (Blue-rumped Pittas) ซึ่งมีสถานะใกล้สูญพันธุ์ในประเทศไทย[10] พบอาศัยอยู่เพียงที่นี่เท่านั้นเช่นกัน[11] นอกจากนี้ยังพบนกอีกกว่า 128 ชนิดในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว อาทิ นกแก๊ก ไก่ป่า นกกระทาดง นกขุนทอง นกพญาปากกว้าง และนกอพยพต่าง ๆ[5]

ไก่ฟ้าพญาลอ นกประจำชาติไทย[12]เป็นสัตว์อีกชนิดที่อาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว

ในส่วนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว พบหลากหลายชนิดเช่นกัน[5] อาทิ ช้างป่า เก้ง หมูหริ่ง ชะมด อีเห็น แมวป่า ลิงกัง ลิงลม พญากระรอกดำ รวมไปถึงสัตว์ที่อยู่ในสถานะถูกคุกคามในระดับโลก ประกอบไปด้วย ช้างเอเชีย (Elephas maximus indicus), เสือโคร่ง (Panthera tigris), เสือไฟ (Catopuma temminckii) และกระทิง (Bos gaurus) ก็ถูกพบที่นี่เช่นกัน สำหรับสัตว์ประเภทลิงนั้น ชะนีมงกุฎ (Hylobates pileatus) ถือเป็นสัตว์อีกชนิดที่โดดเล่นสำหรับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว

สำหรับสัตว์เลื้อยคลานที่พบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว ประกอบไปด้ย ตัวเงินตัวทอง ตะกวด งูเหลือม งูหลาม งูจงอาง งูเขียวหางไหม้ เต่หวาย ตะกอง กิ้งก่าหนามเขา สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก อาทิ กบอกหนาม (สัตว์ประจำถิ่น)[13] กบอ๋อง อึ่ง เขียด ปาดอีกหลายชนิด[5]

ทรัพยากรป่าไม้[แก้]

พื้นที่ป่าเกือบทั้งหมดของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาวเป็นป่าดิบชื้น[5] ประกอบด้วยพันธุ์ไม้มีค่าหลากหลายชนิดขึ้นปะปนกันหนาแน่นพื้นที่ เป็นรูปแบบโครงสร้างป่าหลายชั้นเรือนยอด ประกอบด้วยไม้มีค่าทางเศรษฐกิจกระจายอยู่ทั่วไป

สถานที่ท่องเที่ยว[แก้]

การเดินทางมาท่องเที่ยวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว หากเดินทางจากตัวจังหวัดจันทบุรีจะอยู่ห่างจากอำเภอเมืองจันทบุรีประมาณ 70 กิโลเมตร เดินทางมาตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 317 มุ่งหน้าจังหวัดสระแก้ว โดยเลี้ยวซ้ายที่กิโลเมตรที่ 22 ก่อนถึงตลาดปะตง และเดินทางเข้ามาอีก 4 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว[14]

น้ำตกเขาสอยดาว[แก้]

น้ำตกเขาสอยดาว อยู่ภายในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว มีจำนวน 16 ชั้น เหมาะกับการชมผีเสื้อและศึกษาพรรณไม้ เนื่องจากมีพื้นที่ที่มีความหลากหลาย ทั้งป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง รวมถึงมีต้นไม้ยักษ์ หรือต้นพระเจ้าห้าพระองค์ อยู่ทางขวาของน้ำตกห่างไปประมาณ 200 เมตรจากน้ำตกชั้นแรก ลำต้นมีขนาดใหญ่ประมาณ 20 คนโอบ[14]

การเยี่ยมชมน้ำตก นักท่องเที่ยวสามารถเดินเท้าขึ้นไปชมได้ถึงชั้นที่ 9 ระยะทางประมาณ 2.5 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ส่วนชั้นที่ 10 - 16 จะต้องมีเจ้าหน้าที่นำทางขึ้นไป ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง[14][13]

การเดินทางมายังน้ำตกเขาสอยดาว ตัวน้ำตกห่างจากที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาวประมาณ 4 กิโลเมตร[14] เปิดให้เข้าชมเวลา 09.00 - 16.00 น.[13]

ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาสอยดาว[แก้]

ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาสอยดาว อยู่ภายในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว สังกัดอยู่กับส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) จัดตั้งขึ้นเพื่อเผยแพร่และให้ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2533[5] ในชื่อ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติสัตว์ป่าทรายขาว และเปลี่ยนมาใช้ชื่อปัจจุบันในปี พ.ศ. 2556 โดยกิจกรรมของศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาสอยดาวประกอบไปด้วย กิจกรรมค่ายเยาวชนอนุรักษ์ธรรมชาติ การดูนก การศึกษาค้นคว้าวิจัย และการเดินป่าเพื่อศึกษาธรรมชาติ[5]

การเดินทางมายังศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาสอยดาว อยู่ห่างจากที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาวประมาณ 500 เมตร เปิดทำการทุกวัน ไม้เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 08.30 - 17.00 น.[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Google Travel". www.google.com.sa.
  2. "จำนวนพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า - รายชื่อเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าของประเทศไทย - DNP Data Catalog". catalog.dnp.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-25. สืบค้นเมื่อ 2022-06-26.
  3. "จำนวนพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า - พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พ.ศ. 2562 - DNP Data Catalog". catalog.dnp.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-07. สืบค้นเมื่อ 2022-06-26.
  4. 4.0 4.1 "BirdLife Data Zone". datazone.birdlife.org.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 5.6 5.7 5.8 "สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า :: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช". portal.dnp.go.th.
  6. "นกกระทาดงจันทบูรณ์ Chestnut-headed Partridge – ภาพถ่ายนกทุกชนิดที่พบในประเทศไทย".
  7. "นกกระทาดงจันทบูรณ์ Chestnut-headed Partridge". Birds of Thailand: Siam Avifauna.
  8. "[PDF] IBA Monitoring Form 2015. - สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย - Free Download PDF". hugepdf.com (ภาษาอังกฤษ).
  9. "นกคัคคูเหยี่ยวเล็ก Moustached Hawk Cuckoo". Birds of Thailand: Siam Avifauna.
  10. "นกแต้วแล้วใหญ่หัวสีน้ำเงิน Blue-rumped Pitta". Birds of Thailand: Siam Avifauna.
  11. "Birdwatching in Thailand; Locations, Khao Soi Dao, Chantaburi". www.thaibirding.com.
  12. "ไก่ฟ้าพญาลอ". biodiversity.forest.go.th.
  13. 13.0 13.1 13.2 "น้ำตกเขาสอยดาว ที่เที่ยวจันทบุรี เดินป่า ชมธรรมชาติ ของหน้าฝน ต้องที่นี่แหละ!". travel.trueid.net.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  14. 14.0 14.1 14.2 14.3 "น้ำตกเขาสอยดาว". thai.tourismthailand.org (ภาษาอังกฤษ).