สะพานว่านอัน

พิกัด: 26°49′22″N 118°50′40″E / 26.8226852°N 118.844484°E / 26.8226852; 118.844484
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สะพานว่านอัน
万安桥
พิกัด26°49′22″N 118°50′40″E / 26.8226852°N 118.844484°E / 26.8226852; 118.844484
ข้ามแม่น้ำหลงเจียง (มณฑลฝูเจี้ยน)
ที่ตั้งเมืองฉางเฉียว อำเภอผิงหนาน นครหนิงเต๋อ มณฑลฝูเจี้ยน
ชื่ออื่นสะพานฉาง (长桥), สะพานหลงเจียงกงจี้ (龙江公济桥)、สะพานไฉ่หง (彩虹桥)[1][2]
สถานะสิ่งอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญแห่งชาติ (全国重点文物保护单位)
ข้อมูลจำเพาะ
ประเภทสะพานแบบโค้ง
วัสดุไม้, หิน
ความยาว98.2 เมตร (322 ฟุต)
ความกว้าง4.7 เมตร (15 ฟุต)
ความสูง8.5 เมตร (28 ฟุต)
จำนวนช่วง6
จำนวนตอม่อ5
ประวัติ
ทำลาย6 สิงหาคม ค.ศ. 2022
ที่ตั้ง
แผนที่

สะพานว่านอัน (จีนตัวย่อ: 万安桥; จีนตัวเต็ม: 萬安橋; พินอิน: Wàn'ān Qiáo) สร้างข้ามแม่น้ำหลงเจียง (龙江) ที่หมู่บ้านฉางเฉียว[3] เมืองฉางเฉียว อำเภอผิงหนาน นครหนิงเต๋อ มณฑลฝูเจี้ยน ประเทศจีน เป็นสะพานแบบโค้งสร้างด้วยไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศจีน[4]

สถาปัตยกรรม[แก้]

สะพานว่านอัน มีความยาวรวม 98.2 เมตร กว้าง 4.7 เมตร ความสูงจากพื้นทางเดินสะพานถึงผิวน้ำ 8.5 เมตร[2][5] มีเสาห้าต้นและมีช่องโค้งหกช่องที่มีความกว้างแตกต่างกัน ฐานตอม่อของสะพานสร้างด้วยหินตัดก้อน โดยส่วนด้านหน้าและด้านหลังทำเป็นรูปหัวเรือ[2][6] ด้านข้างของฐานต่อม่อกลางมีจารึกทำด้วยแผ่นหินฝังไว้ อธิบายวัตถุประสงค์ของการสร้างสะพานและชื่อผู้บริจาค[a][8] ตัวสะพานทำจากไม้สนเฟอร์ ที่ปลายทั้งสองของแต่ละโค้งใช้ท่อนซุงเก้าท่อนและคานขวางสองท่อนเชื่อมต่อกันด้วยท่อนซุงแปดท่อนและคานขวางสี่ท่อนเพื่อสร้างซุ้มโค้ง[9][10] บนสะพานมีพื้นที่โถง 37 ช่วงและเสา 152 ต้นรองรับหลังคาโถงทางเดินบนสะพาน และมีเก้าอี้นั่งทั้งสองด้านของสะพาน[2][8][7] ศาลเจ้าดั้งเดิมในโถงทางเดินอุทิศให้กับพระโพธิสัตว์กวนอิม ต่อมาในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 เพื่อป้องกันอันตรายจากเพลิงไหม้ ศาลเจ้าได้ถูกรื้อถอนไป[2] บนสะพานมีจารึกของโคลง 13 บท[2] ที่ปลายด้านตะวันตกเฉียงเหนือของสะพานมีบันไดหิน 36 ขั้น และที่ปลายด้านตะวันออกเฉียงใต้มีบันไดหิน 10 ขั้น[2][11]

การก่อสร้าง[แก้]

สะพานเป็นโครงสร้างไม้ โดยมีช่วงหกช่วงเป็นซุ้มโค้งรองรับด้วยเสาหินแกรนิตห้าต้น ระยะต่างกันในช่วงจาก 10.6 ม. (สั้นที่สุด) ถึง 15.3 ม. (ยาวที่สุด) พื้นทางเดินของสะพานเป็นทางราบ นำไปสู่ขั้นบันได 10 ขั้นทางตะวันตกเฉียงใต้ และ 36 ขั้นทางฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ แม้ว่าระดับความสูงจะค่อนข้างต่ำ แต่ก็เป็นสะพานโค้งไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศจีน[12]: 241  ตรงทางเข้าสะพานมีวัดขนาดใหญ่ที่ประดับด้วยไม้แกะสลักอย่างวิจิตรบรรจง แม้ว่าใบหน้าของรูปเคารพจำนวนมากจะถูกทำลายหรือเสียหาย[12]: 78  สะพานมีหลังคาหน้าจั่วรองรับด้วยเสาไม้ 152 เสา รวมกันเป็นพื้นที่โถง 37 ช่วง[3]

สะพานเป็นตัวอย่างของโครงสร้างโค้งไม้จากมณฑลฝูเจี้ยนและมณฑลเจ้อเจียง โครงสร้างของช่วงประกอบด้วยสองระบบคือคานตามยาว (ขนานกับแนวสะพาน) ที่เชื่อมต่อกับคานขวาง ระบบแรกประกอบเป็นส่วนโค้งที่มีสามส่วนย่อยโดยแต่ละส่วนมีคานตามยาวเก้าอัน (คานทแยงมุมสองอันและคานแนวนอนหนึ่งอันเชื่อมต่อกัน) ส่วนต่าง ๆ เชื่อมต่อกันด้วยคานขวางสองอัน ระบบที่สองสานเข้ากับระบบแรก ประกอบด้วยส่วนโค้งห้าส่วนที่ถูกมัดด้วยคานขวางสี่อัน แต่ละส่วนประกอบด้วยคานตามยาวแปดท่อน องค์ประกอบตามยาวของทั้งสองระบบสานเข้าด้วยกัน (คานของระบบที่สองตั้งอยู่ในช่องว่างระหว่างคานของระบบแรก) นอกจากนี้ โครงสร้างของช่วงการเสริมแรงยังประกอบด้วยคานรูปกากบาท ซึ่งทำให้ส่วนมีความแข็งแรงมากขึ้น[13]

ในความหมายที่เคร่งครัดของคำ โครงสร้างนี้ไม่ใช่ประเภทส่วนโค้ง (arch) (รวมถึงไม่ใช่โครงสร้างประเภทสะพานยื่น[14]) เนื่องจากคานขวางอยู่ภายใต้แรงดัดที่มีนัยสำคัญ และในโครงสร้างส่วนโค้งแบบคลาสสิก องค์ประกอบทั้งหมดควรเป็นแรงบีบอัดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคานตามยาวที่ประกอบเป็นโครงสร้างรับน้ำหนักหลักทำงานเกือบทั้งหมดโดยการบีบอัด สะพานนี้จึงสามารถเรียกว่าเป็นสะพานโค้งไม้ หลังคาและอาคารที่สร้างขึ้นบนสะพานไม่เพียงแต่มีบทบาทในการป้องกันสภาพอากาศเท่านั้น แต่ยังมีบทบาททางโครงสร้างที่สำคัญคือ น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นทำให้ส่วนโค้งมีเสถียรภาพ แต่สะพานไม่ทนต่อแรงจากด้านล่างและอาจเสียหายหรือถูกทำลายได้ เช่นโดยลมที่มีความแรงพัดยกขึ้นจากด้านล่าง[3][13]

ประวัติ[แก้]

นับตั้งแต่สะพานว่านอันสร้างเสร็จในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ ก็ได้ถูกทำลายและสร้างใหม่หลายครั้ง ตามบันทึกบนศิลาที่ฝังอยู่ด้านข้างของตอม่อกลาง สะพานว่านอันสร้างขึ้นในปีที่ห้าของรัชสมัยจักรพรรดิซ่งเจ๋อจงในราชวงศ์ซ่งเหนือ (ค.ศ. 1090)[1][2] ในช่วงปลายราชวงศ์หมิงมีบันทึกว่า "ส่วนที่คงอยู่ถูกขโมยและถูกเผา เหลือเพียงกระดานแผ่นเดียวเท่านั้น"[b] คานไม้และพื้นของสะพานถูกเผาในปีที่ 47 ของรัชกาลจักรพรรดิคังซีแห่งราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1708) แล้วสะพานถูกสร้างขึ้นใหม่ในปีที่ 7 ของรัชกาลจักรพรรดิเฉียนหลง (ค.ศ. 1742) และปีที่ 33 ของรัชกาล (ค.ศ. 1768) ส่วนของสะพานถูกขโมยและเผาอีกครั้ง ต่อมาในปีที่ 25 ของรัชกาลจักรพรรดิเต้ากวัง (ค.ศ. 1845) สะพานที่มีหลังคาโถง 136 เสาและพื้นที่โถง 34 ช่วงได้ถูกสร้างขึ้นใหม่ สะพานถูกไฟไหม้อีกครั้งในช่วงปีแรก ๆ ของยุคสาธารณรัฐจีน และถูกสร้างขึ้นใหม่อีกครั้งในปีที่ 21 ของสาธารณรัฐจีน (ค.ศ. 1932) ตัวสะพานขยายออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ โดยมีพื้นที่โถง 38 ช่วงและหลังคาโถง 156 เสา ศาลาถูกสร้างขึ้นที่ปลายด้านตะวันตกเฉียงเหนือของสะพาน และมีการเปลี่ยนชื่อเป็น "สะพานว่านอัน" ในปี ค.ศ. 1952 น้ำท่วมได้พัดพาส่วนพื้นที่โถง 12 ช่วงทางตะวันตกเฉียงเหนือสุดของสะพานออกไป ในปี ค.ศ. 1954 ได้มีการสร้างสะพานขึ้นใหม่ด้วยเงินทุนจากรัฐบาลประชาชนของอำเภอผิงหนาน มีการเพิ่มเก้าอี้ตามทางเดินบนสะพาน ช่างไม้ของการสร้างใหม่ครั้งนี้คือหวง เชิงฝู และหวง เซียงหยาน ชาวหมู่บ้านฉางเฉียว และช่างก่ออิฐคือชิว หยุ่นชิง จากหมู่บ้านชูชือเหว่ย และหลิน ชิงเซียง จากหมู่บ้านเฉียนซี[8][15]

จากงานค้นคว้าทางวิชาการ สะพานว่านอันมีลักษณะเป็นสะพานคานแบนที่มีโครงทางสัญจรสองทิศทางในสมัยโบราณ แต่น่าจะถูกเปลี่ยนเป็นสะพานไม้แบบโค้งที่มีหลังคาเมื่อสร้างใหม่ในปี ค.ศ. 1932[16][17]

วันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 2022 เวลาประมาณ 21 นาฬิกา ชาวบ้านคนหนึ่งสังเกตเห็นไฟไหม้บนสะพาน แม้จะมีการแจ้งเหตุในทันทีและหน่วยดับเพลิงเข้าดำเนินการระงับเหตุ แต่สะพานว่านอันก็ถูกไฟไหม้ทั้งหมด ไฟได้สงบลงเมื่อเวลา 22:45 น. โดยซากของสะพานที่ถูกไฟไหม้ได้ทรุดตัวลง เจ้าหน้าที่ของอำเภอผิงหนานกล่าวว่าพวกเขาจะเริ่มงานปิดกั้นพื้นที่และฟื้นฟูสะพาน ในขณะที่กำลังสืบสวนสาเหตุของเพลิงไหม้[10]

สถานะการอนุรักษ์[แก้]

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1988 ได้มีการประกาศให้เป็นสิ่งอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในอำเภอผิงหนาน และเมื่อวันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1991 ได้มีการประกาศให้เป็นสิ่งอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในมณฑลฝูเจี้ยน[2] เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 2006 ได้มีการประกาศให้เป็นหนึ่งใน "สะพานที่มีหลังคาคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของฝูเจี้ยน" ซึ่งเป็นสิ่งอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญแห่งชาติชุดที่หก[18][19] และในเดือนกันยายน ค.ศ. 2012 ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน "สะพานไม้แบบโค้งที่มีหลังคาคลุมของฝูเจี้ยน-เจ้อเจียง" ในรายการเบื้องต้นสำหรับการเสนอมรดกโลกทางวัฒนธรรมของประเทศจีน[20]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. ข้อความคือ "ศิษย์ของเจียงเจิ่นขอขอบคุณสำหรับเงินสิบสามเหรียญและหินสามสิบสี่ก้อน, ตอม่อหินหนึ่งจุด, สำหรับมารดาที่ล่วงลับจากสกุลเกา และขอพรให้ครอบครัวทั้งชายและหญิงปลอดภัย ปีที่ห้าในรัชศกหยวนโย่ว (元祐) เดือนกันยายน"[7]
  2. ในปีที่ 34 ของรัชกาลจักรพรรดิกวังซฺวี่ เอกสารผิงหนานเซี่ยนจื้อ (屏南县志) ได้อ้างถึงพงศาวดารโบราณ

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 冯东生著 (2013). 闽都桥韵 (ภาษาจีน). 福州: 海峡文艺出版社. p. 27. ISBN 978-7-5550-0197-3.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 2.8 中国人民政治协商会议福建省屏南县委员会文史资料委员会编 (2003). 屏南文史资料·第18辑:屏南古代桥梁. 内部发行. pp. 7–9.
  3. 3.0 3.1 3.2 Y. Yang; B. Chen; J. Gao (2007). "Timber arch bridges in China". ใน Paulo B. Lourenc̦o; Daniel V. Oliveira; A. Portela (บ.ก.). ARCH'07: 5th International Conference on Arch Bridges, 12–14 September 2007 (PDF). Guimaraes: University of Minho. pp. 171–178. ISBN 978-972-8692-31-5. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-08-10. สืบค้นเมื่อ 2022-08-13.
  4. 詹詠淇 (7 สิงหาคม 2022). 中國現存最長木拱廊橋 近千年歷史「萬安橋」遭火焚. 新頭殼newtalk (ภาษาจีนกลางสำเนียงไต้หวัน). สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2022.
  5. 周芬芳,陆则起,苏旭东著 (2011). 中国木拱桥传统营造技艺. 浙江人民出版社. 杭州. pp. 35–36. ISBN 978-7-213-04656-8.
  6. 福建省地方志编纂委员会 (2002). 福建省志·文物志. 方志出版社. 北京. p. 131. ISBN 7-80122-638-0.
  7. 7.0 7.1 唐寰澄,唐浩编著 (2017). 中国桥梁技术史·第二卷·古代篇·下. 北京交通大学出版社. 北京. pp. 749–750. ISBN 978-7-5121-2386-1.
  8. 8.0 8.1 8.2 张春琳著;万敏主编 (2019). 活态遗产桥梁的价值及其评价研究. 华中科技大学出版社. 武汉. pp. 216–220. ISBN 978-7-5680-5439-3.
  9. 国家文物局主编 (2007). 中国文物地图集·福建分册(上). 福建省地图出版社. 福州. p. 351. ISBN 978-7-80516-829-6.
  10. 10.0 10.1 蒋子文 (7 สิงหาคม 2022). 消防部门发布万安桥火灾后现场照片:桥体已烧毁坍塌. 澎湃新闻. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 สิงหาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 7 สิงหาคม 2022.
  11. 国家文物局主编 (2007). 中国文物地图集·福建分册(下). 福建省地图出版社. 福州. p. 782. ISBN 978-7-80516-829-6.
  12. 12.0 12.1 Knapp, Ronald (2012). Chinese Bridges: Living Architecture From China’s Past. New York: Tuttle Publishing. ISBN 978-1-4629-0586-7.
  13. 13.0 13.1 Yan Yang; Shozo Nakamura; Baochun Chen; Takafumi Nishikawa (มีนาคม 2012). "Traditional construction technology of China timber arch bridges". Journal of Structural Engineering (ภาษาอังกฤษ). 58A: 777–784. doi:10.11532/structcivil.58A.777.
  14. Needham, Joseph (1971). "Science and Civilization in China". Physics and Physical Technology, Part 3: Civil Engineering and Nautics (ภาษาอังกฤษ). Vol. 4. Cambridge: Cambridge University Press. pp. 162–166.
  15. 屏南县地方志编纂委员会编 (1999). 屏南县志. 方志出版社. 北京. p. 231. ISBN 7-80122-453-1.
  16. 刘杰著 (2017). 中国木拱廊桥建筑艺术. 上海人民美术出版社. 上海. pp. 383–387. ISBN 978-7-5586-0338-9.
  17. 韩雨亭 (8 สิงหาคม 2022). 建筑历史学者谈万安桥遭焚毁:现代物质环境给桥梁带来新隐患. 澎湃新闻. สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2022.
  18. 国务院关于核定并公布第六批全国重点文物保护单位的通知(国发〔2006〕19号). 中国政府网. 25 พฤษภาคม 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 สิงหาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 8 สิงหาคม 2022.
  19. 福建省人民政府关于公布全国重点文物保护单位(第四至七批)保护范围的通知(闽政〔2016〕19号). 福建省人民政府. 29 เมษายน 2016. สืบค้นเมื่อ 8 สิงหาคม 2022.
  20. 国家文物局重设《中国世界文化遗产预备名单》. 光明日报. 18 พฤศจิกายน 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 สิงหาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 8 สิงหาคม 2022.