ข้ามไปเนื้อหา

กติกาสัญญาความเป็นกลางโซเวียต–ญี่ปุ่น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น นายมัสซูโอกะ กำลังลงนามในกติกาสัญญาความเป็นกลางโซเวียต-ญี่ปุ่น

กติกาสัญญาความเป็นกลางโซเวียต-ญี่ปุ่น (อังกฤษ: Soviet–Japanese Neutrality Pact) (ญี่ปุ่น: 日ソ中立条約, Nisso Chūritsu Jōyaku) คือสนธิสัญญาระหว่าง สหภาพโซเวียตและจักรวรรดิญี่ปุ่น ลงนามกันเมื่อปี ค.ศ. 1941 สองปีหลังจากสงครามชายแดนโซเวียต-ญี่ปุ่น

เบื้องหลัง

[แก้]

หลังจากที่สงครามอุบัติขึ้นในทวีปยุโรประหว่างสหราชอาณาจักรกับฝรั่งเศสฝ่ายหนึ่ง และนาซีเยอรมนีอีกฝ่ายหนึ่ง ตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ. 1939 สหภาพโซเวียตมองเห็นความจำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศในภาคพื้นตะวันออกไกล เพื่อเตรียมตัวรับภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับภาคตะวันตกของประเทศ อีกด้านหนึ่ง คือ ญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ระหว่างสงครามกับประเทศจีน และความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาก็เริ่มเลวร้ายลงไปทุกขณะ ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงมีความต้องการที่จะปรองดองกับสหภาพโซเวียตเพื่อพัฒนาจุดยืนของตนในเวทีโลก และรักษาแนวชายแดนทางเหนือของแมนจูกัว จากการรุกรานของสหภาพโซเวียตที่อาจจะเกิดขึ้นได้

กติกาสัญญาดังกล่าวได้รับการลงนามที่กรุงมอสโก เมื่อวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1941 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น นายโยะซุเกะ มะสึโอกะ และเอกอัครราชทูต โยชิสึกุ ทะเทกาวะ ซึ่งเป็นผู้แทนฝ่ายญี่ปุ่น และนายวียาเชสลาฟ โมโลตอฟ ซึ่งเป็นผู้แทนฝ่ายโซเวียต

ข้อความ

[แก้]

สภาผู้บริหารสูงสุดแห่งโซเวียต ของสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตและฝ่าละอองธุลีพระบาท จักรพรรดิฮิโระฮิโตะ ได้มารวมกันด้วยความปรารถนาที่จะส่งเสริมสันติภาพและสัมพันธไมตรีระหว่างสองประเทศ ได้ตัดสินใจที่จะลงนามในข้อตกลงรักษาความเป็นกลาง เพื่อจุดประสงค์ดังต่อไปนี้:

  • สภาผู้บริหารสูงสุดแห่งโซเวียตของสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต - วียาเชสลาฟ โมโลตอฟ ประธานสภาผู้ตรวจการของประชาชนและผู้ตรวจการประชาชน แห่งกิจการว่าการต่างประเทศของสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต
  • ฝ่าละอองธุลีพระบาท จักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น นายโยะซุเกะ มะสึโอะกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น จุซันมิน คาวาเลียร์แห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์อรหสมบัติขั้นที่หนึ่ง และพลโทโยะชิสึเกะ ทาเทกาวะ เอกอัครราชทูตวิสามัญและทูตผู้มีอำนาจเต็มแห่งสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต จุซันมิน คาวาเลียร์แห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์อาทิตย์อุทัยขั้นที่หนึ่ง และเครื่องราชอิสริยภรณ์ว่าวทองขั้นที่สี่

ผู้ซึ่งหลังจากการแลกเปลี่ยนหนังสือแนะนำตัวกันแล้ว และได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ ได้สรุปข้อตกลงดังต่อไปนี้:

  • ข้อหนึ่ง คู่สัญญาทั้งสองได้ให้การรับรองว่าจะดำรงรักษาสันติภาพและสัมพันธไมตรีระหว่างทั้งสองฝ่าย และต่างก็เคารพความมั่นคงของอาณาเขตของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งจะถูกละเมิดมิได้
  • ข้อสอง ในช่วงที่หนึ่งในคู่สัญญาเกิดภาวะสงครามกับประเทศที่สาม คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องดำรงความเป็นกลางตลอดช่วงสภาวะสงครามนั้น
  • ข้อสาม สัญญาดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้มาลงนามกันในวันนี้ และมีผลบังคับใช้เป็นเวลาห้าปีนับตั้งแต่วันที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้ลงนาม ในกรณีถ้าหากฝ่ายหนึ่งเพิกถอนสัญญาเป็นเวลาหนึ่งปี ก่อนสัญญาดังกล่าวจะครบวาระ สัญญาจะได้รับการพิจารณาให้ต่อเวลาออกไปอีกห้าปีโดยอัตโนมัติ
  • ข้อสี่ สัญญาดังกล่าวจำต้องได้รับการอนุมัติโดยเร็วที่สุด และสถานที่ลงนามอาจจะเปลี่ยนไปเป็นที่กรุงโตเกียวได้เช่นกัน

ในการยืนยันของข้อตกลงที่ได้กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าวเป็นจำนวนสองฉบับ ซึ่งได้ร่างขึ้นในภาษารัสเซียฉบับหนึ่งและในภาษาญี่ปุ่นอีกฉบับหนึ่ง และได้รับการประทับตราจากผู้แทนของทั้งสองฝ่าย ลงนามในกรุงมอสโก เมื่อวันที่ 13 เมษายน 1941 ซึ่งตรงกับ วันที่ 13 เดือน 4 ปีโชวะที่ 16, วี.โมโลตอฟ; โยะซุเกะ มัสซูโอกะ, โยชิสึกุ ทาเทกาวะ[1]

ผลที่เกิดขึ้นตามมา

[แก้]

สนธิสัญญาดังกล่าวได้ขยายตัวขึ้น โดยมีการเชื่อมโยงไปถึงมองโกเลียและแมนจูเรีย สหภาพโซเวียตได้รับประกันต่อความมั่นคงตามอาณาเขตของแมนจูกัว ขณะที่ญี่ปุ่นก็ได้รับประกันความมั่นคงแก่มองโกเลียด้วยเช่นกัน[2] หลังจากนั้น ในปี 1941 ญี่ปุ่น ในฐานะผู้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาไตรภาคี มีความวิตกกังวลว่าควรจะมีการเพิกถอนสนธิสัญญาความเป็นกลางโซเวียต-ญี่ปุ่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากนาซีเยอรมนีรุกรานสหภาพโซเวียตในปฏิบัติการบาร์บารอสซา แต่ญี่ปุ่นก็ได้ตัดสินใจที่จะยังคงรักษาสัญญานี้ไว้ และจะขยายดินแดนไปทางใต้ และโจมตีอาณานิคมของชาติอาณานิคมยุโรปในทวีปเอเชียแทน

ในวันที่ 5 เมษายน ค.ศ. 1945 สหภาพโซเวียตได้ฉีกสนธิสัญญาดังกล่าว โดยแจ้งแก่รัฐบาลญี่ปุ่นว่า "ตามที่ในข้อสามได้กล่าวเอาไว้ 'ซึ่งได้เปิดโอกาสให้เพิกถอนสนธิสัญญาได้เป็นเวลาหนึ่งปีก่อนหน้าที่ระยะเวลาของสนธิสัญญาจะครบห้าปีตามกำหนด รัฐบาลโซเวียตได้ทราบดีว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะยังสามารถจำสนธิสัญญาในวันที่ 13 เมษายน 1941 นี้ได้'"[3]

ในวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1945 สหภาพโซเวียตประกาศสงครามต่อญี่ปุ่นในปฏิบัติการพายุสิงหาคม ซึ่งเป็นการรักษาสัญญาในที่ประชุมยัลต้า แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ที่จะเข้าสู่สงครามในเวลาสามเดือนหลังจากวันแห่งชัยชนะในทวีปยุโรป[4] ญี่ปุ่นได้โต้แย้งว่า ขณะที่สหภาพโซเวียตชี้ให้เห็นถึงเนื้อหาของข้อสามว่าสนธิสัญญาดังกล่าวจะไม่ได้รับการต่ออายุ ปฏิบัติการพายุสิงหาคมก็ยังละเมิดต่อสนธิสัญญา ซึ่งยังไม่ครบวาระจนกว่าจะถึงวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1946[5]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. สนธิสีญญาความเป็นกลางโซเวียต-ญี่ปุ่น เก็บถาวร 2015-03-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 13 เมษายน 1945 (จากโครงการเอวาลอน แห่งสถาบันกฎหมายเยล) (อังกฤษ)
  2. คำประกาศให้การรับรองมองโกเลีย เก็บถาวร 2007-03-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เมื่อวันที่ 13 เมษายน 1941 (จากโครงการเอวาลอน ที่ สถาบันกฎหมายเยล) (อังกฤษ)
  3. การยกเลิกสนธิสัญญา เก็บถาวร 2006-09-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน วันที่ 5 เมษายน 1945 (จากโครงการเอวาลอน แห่งสถาบันกฎหมายเยล) (อังกฤษ)
  4. สหภาพโซเวียตประกาศสงครามต่อญี่ปุ่น เก็บถาวร 2006-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน วันที่ 8 สิงหาคม 1945 (จากโครงการเอวาลอน แห่งสถาบันกฎหมายเยล) (อังกฤษ)
  5. "So Sorry, Mr. Sato" จาก นิตยสารไทมส์, วันที่ 16 เมษายน 1945, ตัวบทความ เก็บถาวร 2013-08-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)