วัดพระพิเรนทร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดพระพิเรนทร์
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 326 ถนนวรจักร แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูภัทรกิตติสุนทร
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดพระพิเรนทร์ เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร

ประวัติ[แก้]

วัดสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2300 สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในราวปี พ.ศ. 2379 สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระพิเรนทรเทพ (ขำ อินทรกำแหง ณ ราชสีมา) เจ้ากรมพระตำรวจหลวง ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์วัด ตั้งนามวัดว่า วัดขำเขมการาม จนในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงแปลงนามวัดว่า วัดขำโคราช ใช้มาถึงปี พ.ศ. 2430[1] จึงได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดพระพิเรนทร์" ตามชื่อบรรดาศักดิ์ผู้บูรณปฏิสังขรณ์

ปี พ.ศ. 2480 ได้ประกอบพิธียกป้ายวัดขึ้นสู่ซุ้มประตูด้านติดกับถนนวรจักร ในยุคเจ้าอาวาส พระเทพคุณาธาร (ผล ชินปุตฺโต) เป็นยุครุ่งเรืองของวัด มีพระสงฆ์สามเณรในวัดประมาณ 50–60 รูป ยังมีกิจนิมนต์นอกวัดในวันเสาร์อาทิตย์ ศาลาวัดมี 45 ศาลา มีพิธีสงฆ์เกือบทุกศาลา วัดแห่งนี้ยังผลิตนักปราชญ์อย่าง สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)[2]ที่พำนักจำพรรษา เคยดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ ช่วงปีพ.ศ. 2515 - พ.ศ. 2519 และได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ในราชทินนามที่ พระศรีวิสุทธิโมลี สถิต ณ วัดพระเรนทร์ กรุงเทพมหานคร

อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ[แก้]

ปูชนียวัตถุของวัด คือ อุโบสถที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกและตะวันออก อุโบสถยกพื้นสูง อุโบสถไม่มีเสาหาร คันทวย แต่ดัดแปลงเป็นซุ้ม แบบศิลปะตะวันตก หรือแบบกอทิก รับพาไล ส่วนช่อฟ้าลักษณะ เป็นหัวพญานาคอ้าปากเห็นเขี้ยว ภายในประดิษฐาน พระประธานปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 1 เมตร มีพระพุทธรูปยืน ปางห้ามญาติ 2 องค์ ปางห้ามสมุทร 2 องค์ ปางประทานพร 1 องค์ ปางอุ้มบาตร 1 องค์ พระพุทธรูปนั่งปางสมาธิ 5 องค์ ซุ้มด้านหน้าพระอุโบสถ มีพระพุทธรูปปางลีลา 1 องค์ ซุ้มด้านหลังมีพระพุทธรูปปางรำพึง บานประตูไม้แกะสลักลายใบเทศ เป็นฝีมือช่างจีน

ระหว่างอุโบสถกับวิหารเป็นที่ตั้งมณฑป ประดิษฐาน รูปหล่อพระเทพคุณาธาร (ผล ชินปุตโต) และรูปอดีตเจ้าอาวาส หลายรูป ด้านหน้าวิหารจีน เป็นศาลาคอนกรีต วิหารมีทั้งวิหารไทยและวิหารจีน มีพระเจดีย์ทรงลังกา ติดกับเจดีย์ทรงลังกาคือศาลาประชาอุทิศ[3]

ทำเนียบเจ้าอาวาส[แก้]

ลำดับ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ หมายเหตุ
1 พระอธิการไกร - - ไม่ชัดเจน
2 พระอธิการเอี่ยม - - ลาสิกขา
3 พระอธิการเทศ - - ทุพพลภาพ
4 พระอธิการเหม - 2457 มรณภาพ
5 พระอธิการปอ ธมฺมกถิโก 2458 2472 มรณภาพ
พระมหาปูขุ่น (ผล ชินปุตฺโต) ป.ธ.4 2473 2476 รักษาการ
6 พระเทพคุณาธาร (ผล ชินปุตฺโต) ป.ธ.4 2476 2512 มรณภาพ
พระครูวินัยธร ใช้เลี้ยง จารุวณฺโณ 2512 2515 รักษาการ
7 พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ป.ธ.9 2515 2521 ลาออก
8 พระครูปลัด สมัย กิตฺติทตฺโต 2521 2522 มรณภาพ
9 พระครูวรกิจวิจารณ์ (ใช้เลี้ยง จารุวณฺโณ) 2522 2526 มรณภาพ
10 พระครูกิตติญาณประยุต (ประสม กิตฺติญาโณ) 2526 2531 มรณภาพ
11 พระเทพวิสุทธิโมลี (อุทัย อุทโย) ป.ธ.9 2532 2555 มรณภาพ
12 พระครูภัทรกิตติสุนทร (แถม กิตฺติภทฺโท) ป.ธ.4 2555 - ปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดพระพิเรนทร์".[ลิงก์เสีย]
  2. "วัดพระพิเรนทร์ วัดเล็กๆ แต่ผลิตบัณฑิตมาก". โพสต์ทูเดย์. 8 ตุลาคม 2560.
  3. "ทำไมจึงได้ชื่อว่าวัดพระพิเรนทร์". โพสต์ทูเดย์. 17 มิถุนายน 2555.