รัฐสุลต่านซิงกอรา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รัฐสุลต่านซิงกอรา

ค.ศ. 1605–ค.ศ. 1680
สถานะประเทศราชของอยุธยา (ค.ศ. 1605–1631)
เมืองหลวงซิงกอรา
ภาษาทั่วไป
การปกครองรัฐสุลต่าน
สุลต่าน/เจ้าผู้ครอง 
• 1605–1620
ดาโต๊ะโมกอล (คนแรก)
• 1620–1668
สุลต่านสุลัยมาน ชาห์
• 1668–1680
สุลต่านมุสตาฟา (สุดท้าย)
ประวัติศาสตร์ 
• ประกาศอิสรภาพ
ค.ศ. 1605
• รวมเข้ากับอยุธยา
ค.ศ. 1680
ก่อนหน้า
ถัดไป
อาณาจักรอยุธยา
อาณาจักรอยุธยา
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย

รัฐสุลต่านซิงกอรา (มลายู: Kesultanan Singora) ท้องถิ่นออกเสียงว่า เสงคะละ[1] ในเอกสารไทยเรียก เมืองวิไชยคีรี หรือ วิไชยาคิริราช[2] เป็นรัฐเมืองท่าบริเวณปากทะเลสาบสงขลาต่ออ่าวไทย ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณเขตจังหวัดสงขลาของประเทศไทย มีชื่อเสียงจากการเป็นเมืองท่าปลอดภาษี เป็นแหล่งรวมสินค้าจากตะวันออกและตะวันตก รวมทั้งควบคุมเส้นทางเดินเรือภายในทะเลสาบสงขลาและบริเวณอ่าวไทยบางส่วน[3] ทุกวันนี้ยังเหลือร่องรอยของรัฐสุลต่านแห่งนี้เป็นอนุสรณ์ เช่น ป้อมปราการ, สุสานวิลันดา ซึ่งเป็นที่ฝังศพของชาวดัตช์[4] และสุสานมรหุ่ม ซึ่งเป็นที่ฝังพระศพสุลต่านสุลัยมานชาห์ บริเวณหัวเขาแดง อำเภอสิงหนคร[5]

รัฐสุลต่านซิงกอรา หรือเมืองวิไชยคีรี ก่อตั้งโดยดาโต๊ะโมกอล ไม่ทราบชาติพันธุ์มาแต่เดิม แต่คาดว่าน่าจะเป็นโจรสลัดก่อนขึ้นเป็นเจ้าเมือง[6] บางแห่งว่า เป็นชาวมุสลิมเชื้อสายเปอร์เซียหรืออาหรับจากชวา บ้างว่าเป็นแขกมักกะสัน[7] ขณะที่บันทึกของคณะพ่อค้าชาวฝรั่งเศสในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวไว้ว่า "...เมื่อปี ค.ศ. 1642 (พ.ศ. 2158) มีแขกมลายูคนหนึ่งได้ตั้งตนเป็นใหญ่และได้กบฏต่อพระเจ้ากรุงสยาม แขกมลายูผู้นี้ได้ทำป้อมคูประตูหอรบอย่างแข็งแรงแน่นหนา...พอสักหน่อย แขกมลายูอยู่ก็ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ เรียกว่า พระเจ้าเมืองสงขลา" สอดคล้องข้อความเหนือหลุมฝังพระศพระบุว่า สุลต่านสุลัยมานเป็น "...มลายูที่นับถือศาสนาอิสลาม"[8] เดิมรัฐสุลต่านซิงกอราเป็นประเทศราชขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา[9] ที่มีไว้เพื่อควบคุมและแก้ปัญหาโจรสลัดมุสลิมหรือที่เรียกว่าสลัดแขกในบริเวณนั้น[10] ซิงกอรามีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นในช่วงเวลาที่อาณาจักรนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศราชและตัวแทนของอยุธยาในภาคใต้สิ้นความแข็งแกร่ง อันเนื่องมาจากการโจมตีของเหล่าสลัดแขก[11] หลังการสถาปนาราชวงศ์ปราสาททอง ซิงกอราประกาศไม่ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาหรือใคร ๆ พร้อมกับพัฒนาจนกลายเป็นเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่ง ครั้นในรัชสมัยสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ รัฐสุลต่านซิงกอราขยายอำนาจทางการทหาร เข้ายึดเมืองนครศรีธรรมราช ปัตตานี และพัทลุงไว้ในอำนาจ[12] พวกเขาวางอำนาจลงในท้องถิ่นพัทลุง[13] ทว่าในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงมองว่าซิงกอราหรือวิไชยคีรีเป็นเพียงประเทศราชของอยุธยา การกระทำเช่นนี้ทรงถือว่าเป็นกบฏ จึงมีพระราชโองการให้ทหารไปรบและยึดซิงกอราไว้ได้ ก่อนทำการกวาดต้อนผู้คนไปถวาย[2] อย่างไรก็ตามเจ้านายซิงกอราที่ถูกกวาดต้อน บางคนยังรับราชการต่อเนื่องจนถึงยุครัตนโกสินทร์ มีลูกหลานสืบทอดลงมา หนึ่งในนั้นคือสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว[14] และวงศ์มาหุมแขกบางส่วนได้เป็นเจ้าเมืองพัทลุงสืบทอดมา[15][16] ส่วนราษฎรบางส่วนถูกกวาดต้อนไว้ที่บ้านสงขลาและบ้านพุมเรียง จังหวัดสุราษฎร์ธานี[17]

ระเบียงภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. "สาส์นสมเด็จ (12 มิถุนายน พ.ศ. 2478 น)". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 18 Apr 2021.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. 2.0 2.1 มรดกความทรงจำแห่งนพบุรีศรีลโวทัยปุระ : ว่าด้วยโคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์ฯ และจารึกโบราณแห่งเมืองละโว้, หน้า 76-77
  3. "สงขลาหัวเขาแดง เมืองสุลต่านสุไลมาน". วารสารเมืองโบราณ. 1 Dec 2018. สืบค้นเมื่อ 24 Apr 2020.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. พิทยะ ศรีวัฒนสาร (13 Dec 2010). "หลักฐานการฝังศพชาวดัทช์ในสมัยอยุธยาที่เมืองสงขลาเก่า". สยาม-โปรตุเกสศึกษา. สืบค้นเมื่อ 17 Apr 2020.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  5. "สุสานมรหุ่ม (สุสานสุลต่าน สุไลมาน)". สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา. 14 Jul 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-05-22. สืบค้นเมื่อ 24 Apr 2020.
  6. สุลต่านลุ่มทะเลสาบสงขลา, หน้า 65
  7. อาลี เสือสมิง (24 Mar 2012). "ขุนนางสายตระกูลสุลต่านสุลัยมาน". อาลี เสือสมิง. สืบค้นเมื่อ 25 Apr 2020.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  8. พรชัย นาคสีทอง (เมษายน–กันยายน 2552). "ร่องรอยและเรื่องราวเกี่ยวกับ (ชนเชื้อสาย) อิหร่านในคาบสมุทรไทย : การศึกษาผ่านแหล่งเรียนรู้และหลักฐานทางประวัติศาสตร์". วารสารปาริชาต (22:1). หน้า 211
  9. สุลต่านลุ่มทะเลสาบสงขลา, หน้า 75
  10. สุลต่านลุ่มทะเลสาบสงขลา, หน้า 80
  11. กรุงแตก, พระเจ้าตากฯ และประวัติศาสตร์ไทย, หน้า 243
  12. สุลต่านลุ่มทะเลสาบสงขลา, หน้า 93
  13. กรุงแตก, พระเจ้าตากฯ และประวัติศาสตร์ไทย, หน้า 247
  14. "สกุลมุสลิม "สุนนี" กับสายสัมพันธ์ราชินิกุลของรัชกาลที่ 3". ศิลปวัฒนธรรม. 17 Jan 2020. สืบค้นเมื่อ 24 Apr 2020.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  15. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, หน้า 112, 166, 323
  16. กรุงแตก, พระเจ้าตากฯ และประวัติศาสตร์ไทย, หน้า 250-251
  17. เกสรบัว อุบลสวรรค์ (16 Jul 2019). "มุสลิมบ้านสงขลาเมืองไชยา". วารสารเมืองโบราณ. สืบค้นเมื่อ 24 Apr 2020.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  18. กรกิจ ดิษฐาน (5 May 2017). "ปืนใหญ่ 4 แผ่นดิน". Gypzy World. สืบค้นเมื่อ 24 Apr 2020.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
บรรณานุกรม
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ : มติชน, 2559. 632 หน้า. ISBN 978-974-323-056-1
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์กรุงแตก, พระเจ้าตากฯ และประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553. 288 หน้า. ISBN 978-974-02-0664-4
  • ดร. วินัย ศรีพงศ์เพียร และ ดร. ตรงใจ หุตางกูร (บรรณาธิการ). มรดกความทรงจำแห่งนพบุรีศรีลโวทัยปุระ : ว่าด้วยโคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์ฯ และจารึกโบราณแห่งเมืองละโว้. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2558. 330 หน้า. ISBN 978-616-7154-31-2
  • อาณัติ อนันตภาค. สุลต่านลุ่มทะเลสาบสงขลา. กรุงเทพฯ : ยิปซี, 2557. 208 หน้า. ISBN 978-616-301-243-2

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]