สตาร์ วอร์ส เอพพิโซด 1 ภัยซ่อนเร้น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ภัยซ่อนเร้น)
สตาร์ วอร์ส เอพพิโซด 1 ภัยซ่อนเร้น
ใบปิดภาพยนตร์โดยดรูว สตูซอน
กำกับจอร์จ ลูคัส
เขียนบทจอร์จ ลูคัส
อำนวยการสร้างริก แม็คคาลลัม
นักแสดงนำ
กำกับภาพเดวิด เทตเทอร์ซอลล์
ตัดต่อ
ดนตรีประกอบจอห์น วิลเลียมส์
บริษัทผู้สร้าง
ผู้จัดจำหน่ายทเวนตีท์เซนจูรีฟอกซ์
วันฉาย16 พฤษภาคม ค.ศ. 1999 (1999-05-16)(ลอสแอนเจลิส)
19 พฤษภาคม ค.ศ. 1999 (1999-05-19)(สหรัฐ)
ความยาว133 นาที[1][a]
ประเทศสหรัฐ
ภาษาอังกฤษ
ทุนสร้าง115 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[2]
ทำเงิน1.027 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[2]

สตาร์ วอร์ส เอพพิโซด 1 ภัยซ่อนเร้น (อังกฤษ: Star Wars: Episode I – The Phantom Menace) เป็นภาพยนตร์อเมริกันแนวมหากาพย์บันเทิงคดีอวกาศ ฉายเมื่อปี ค.ศ. 1999 กำกับและเขียนบทโดย จอร์จ ลูคัส สร้างโดย ลูคัสฟิล์ม จัดจำหน่ายโดย ทเวนตีท์เซนจูรีฟอกซ์ แสดงนำโดย เลียม นีสัน, ยวน แม็คเกรเกอร์, นาตาลี พอร์ตแมน, เจค ลอยด์, เอียน แมกเดอร์มิด, แอนโทนี แดเนียลส์, เคนนี เบเกอร์, เพอร์นิลลา ออกัสต์และแฟรงค์ ออซ ภัยซ่อนเร้น เป็นภาพยนตร์เรื่องที่สี่ในภาพยนตร์ชุด สตาร์ วอร์ส และเป็นตอนที่หนึ่งของ "มหากาพย์สกายวอร์คเกอร์" ภาพยนตร์ดำเนินเรื่อง 32 ปีก่อน ไตรภาคเดิม ในยุคสาธารณรัฐกาแลกติก เล่าเรื่องราวของอาจารย์เจได ไควกอน จินน์ และศิษย์ของเขา โอบีวัน เคโนบี ขณะที่พวกเขาพยายามปกป้อง ราชินี แพดเม่ อมิดาลา แห่ง นาบู โดยหวังว่าจะยุติข้อพิพาททางการค้าระหว่างดวงดาวได้โดยสันติ ต่อมาทั้งสองคนได้พบกับ อนาคิน สกายวอล์คเกอร์ ทาสเด็กที่มีสัมผัสแรงกล้าในพลัง พวกเขาต่อสู้ไปพร้อม ๆ กันกับการกลับมาอย่างลึกลับของซิธ

หลัง การกลับมาของเจได ฉายแล้ว ลูคัสไม่มีแรงจูงใจที่จะกลับสานต่อแฟรนไชส์และเล่าเรื่องราวต่อจาก การกลับมาของเจได แม้ว่าเรื่องราวเบื้องหลังของอนาคินที่เขาสร้างไว้จะจุดประกายความสนใจในตัวเขาในการพัฒนาไตรภาคต้น หลังจากที่เขาตัดสินใจแล้วว่า ภาพที่สร้างจากคอมพิวเตอร์ (ซีจีไอ) ได้ก้าวหน้าไปสู่ระดับที่เขาต้องการสำหรับเทคนิคพิเศษในไตรภาคต้น ลูคัสเริ่มเขียนบทภาพยนตร์ ภัยซ่อนเร้น ในปี ค.ศ. 1993 และเริ่มสร้างในปี ค.ศ. 1994 การถ่ายทำเริ่มต้นเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1997 ที่ ลิฟส์เดนฟิล์มสตูดิโอส์ และทะเลทรายในตูนิเซียและสิ้นสุดการถ่ายทำเมื่อวันที่ 30 กันยายน ภัยซ่อนเร้น เป็นการกำกับภาพยนตร์ครั้งแรกในรอบ 22 ปี ของลูคัส ตั้งแต่เขากำกับ สตาร์ วอร์ส[b] ในปี ค.ศ. 1977

ภัยซ่อนเร้น ฉายในโรงภาพยนตร์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1999 เกือบ 16 ปีหลัง การกลับมาของเจได ฉายครั้งแรก รอบปฐมทัศน์ของภาพยนตร์ครองพื้นที่สื่อจำนวนมาก และได้รับการคาดหวังอย่างมากเนื่องจากวัฒนธรรมขนาดใหญ่ ที่เกิดขึ้นหลังมหากาพย์เรื่อง สตาร์ วอร์ส ได้รับการปลูกฝังมาอย่างยาวนาน ภาพยนตร์ได้รับการตอบรับจากนักวิจารณ์ที่หลากหลาย โดยชมในเรื่องของวิชวลเอฟเฟกต์, ฉากโลดโผน, ดนตรีประกอบและการแสดง (โดยเฉพาะการแสดงจากนีสันและแม็คเกรเกอร์) แต่ติในเรื่องของบทภาพยนตร์, จังหวะการดำเนินเรื่องและตัวละคร (โดยเฉพาะ จาร์ จาร์ บิงคส์) ภัยซ่อนเร้น ประสบความสำเร็จในบ็อกซ์ออฟฟิศและทำลายสถิติหลายรายการในวันเปิดตัว ภาพยนตร์ทำเงิน 924.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลก ในระหว่างการฉายครั้งแรก, กลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงสุดในปี ค.ศ. 1999, เคยเป็นภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงสุดอันดับที่สองทั้งในอเมริกาเหนือและทั่วโลก (รองจาก ไททานิค) และเคยเป็นภาพยนตร์ สตาร์ วอร์ส ที่ทำเงินสูงสุด ภาพยนตร์ฉายใหม่ในรูปแบบสามมิติในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2012 ทำเงินเพิ่มอีก 102.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐในบ็อกซ์ออฟฟิศ ทำให้ภาพยนตร์ทำเงินรวมกันมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพยนตร์มีภาคต่ออีกสองภาค ได้แก่ กองทัพโคลนส์จู่โจม (2002) และ ซิธชำระแค้น (2005) รวมกันเป็น สตาร์ วอร์ส ไตรภาคต้น

โครงเรื่อง[แก้]

ในปีที่ 32 ก่อนยุทธการยาวิน เกิดความขัดแย้งกันขึ้นในเรื่องเกี่ยวกับการค้าระหว่างสหพันธ์พาณิชย์กับดาวนาบู (Naboo) ซึ่งก่อให้เกิดการปิดล้อมดาวนาบูขึ้น สมุหนายกวาโลรัมได้ลอบส่งอัศวินเจไดสองนาย คือ ไควกอน จินน์ (Qui-Gon Jinn) และโอบีวัน เคโนบี (Obi-Wan Kenobi) ออกไปแก้ปัญหาอย่างลับๆ แต่ไม่มีผู้ใดล่วงรู้เลยว่า แท้จริงแล้วสหพันธ์พาณิชย์นั้นได้ร่วมมือกับดาร์ธ ซิเดียส (Darth Sidious) ผู้ลึกลับ ซึ่งเป็นผู้สั่งการรุกรานดาวนาบู และสั่งฆ่าเจไดทั้งสองทันทีที่เดินทางไปถึงยังยานสหพันธ์ แต่อย่างไรก็ตาม ไควกอน และโอบีวันก็หลบหนีออกมาได้และเดินทางไปยังพื้นผิวดาวนาบู

บนดาวนาบู เจไดทั้งสองได้พบกับจาร์ จาร์ บิงคส์ (Jar Jar Binks) ชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่บนดาวนาบู จาร์ จาร์ บิงส์ช่วยพาเจไดทั้งสองคนหลบหนีกองทัพสหพันธ์ฯ ไปยังนครกันก้าเมืองใต้บาดาลของชาวกันแกน ในขณะเดียวกันทางด้านสหพันธ์ฯ ก็บุกรุกเข้าสู่นาบูและจับตัวราชินีแพดเม่ อมิดาลา (Queen Amidala) ผู้นำนาบูไว้ ด้านเจไดได้พบกับบอสแนซ (Boss Nass) ผู้นำชาวกันแกน และขอให้แนซช่วยชาวนาบู แต่แนซปฏิเสธและให้ยานแก่เจไดทั้งสองไป ด้วยยานดังกล่าว เจไดทั้งสองพร้อมด้วยจาร์จาร์บิงส์ได้เดินทางไปถึงเมืองหลวงของนาบู และเข้าช่วยเหลือราชินีอมิดาล่าจากกองทัพดรอย์ของสหพันธ์ไว้ได้ จากนั้นพวกเขาเดินทางสู่คอรัสซานท์ (Coruscant) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของสาธารณรัฐ (Galactic Republic) เพื่อขอความช่วยเหลือจากสภาสูง ในระหว่างการเดินทางหลบหนีออกจากดาวนาบูนั้น ดรอย์ตัวหนึ่ง รหัส R2-D2 ได้กลายเป็นฮีโร่ เมื่อสามารถช่วยซ่อมแซมยานขณะถูกยานของสหพันธ์ไล่ยิงได้

อย่างไรก็ตาม จากการถูกโจมตีระหว่างเดินทางหลบหนีนั้น ทำให้จำเป็นต้องลงจอดยานบนดาวทะเลทรายทาทูอีนเพื่อทำการซ่อมแซม ในระหว่างหาซื้ออะไหล่ที่ต้องการอยู่นั้น พวกเขาก็ได้พบกับอนาคิน สกายวอล์คเกอร์ (Anakin Skywalker) ทาสของพ่อค้าอะไหล่ชาวต่างดาวนามวัตโต้ (Watto) อนาคินเป็นเด็กที่มีพรสวรรค์ทางด้านการเป็นนักบินและการประดิษฐ์สิ่งจักรกลต่างๆ (เขาได้สร้างดรอย์ตัวหนึ่งได้เกือบสมบูรณ์ โดยให้ชื่อว่า ซีทรีพีโอ (C-3PO) ไควกอน จินสัมผัสถึงพลังที่แข็งแกร่งในตัวอนาคิน และรู้สึกว่าเขาอาจเป็นผู้ที่ถูกเลือก และนำสมดุลมาสู่พลัง ตามคำทำนายโบราณของเจได

ไควกอนนำอนาคินเข้าสู่การแข่งขันพอดเรซ (podrace) และพนันกับวัตโต้ในการให้อิสระแก่อนาคินหากอนาคินชนะการแข่งขัน (เพียงอนาคินเท่านั้น เนื่องจากไควกอนไม่สามารถต่อรองขอแลกอิสรภาพของทั้งอนาคินและแม่ได้) พร้อมกับไควกอนจะได้อะไหล่ยานที่ต้องการ อนาคินชนะการแข่งขันและได้ร่วมเดินทางสู่คอรัสซานท์ซึ่งไควกอนตั้งใจจะขออนุญาตจากสภาเจไดในการฝึกฝนอนาคินให้เป็นเจได แต่ในขณะเดียวกันนั้นดาร์ธ มอล (Darth Maul) ศิษย์ของซีเดียสได้ถูกส่งมายังทาทูอีนเพื่อกำจัดเจไดทั้งสองและจับตัวควีนอมิดาล่า โดยดาร์ธ มอลปรากฏตัวขึ้นในขณะที่พวกไควกอนกำลังจะขึ้นยานเพื่อเดินทางออกจากทาทูอีน ดาร์ธ มอลได้ต่อสู้กับไควกอน แต่ไควกอนก็สามารถขึ้นยานและเดินทางออกจากทาทูอีนได้สำเร็จ

บนคอรัสซานท์ ไควกอนได้แจ้งแก่สภาเจไดถึงบุคคลลึกลับที่เขาต่อสู้ด้วยบนทาทูอีน และเนื่องจากบุคคลผู้นั้นมีศิลปะการต่อสู้แบบเจได ทำให้สภาเป็นกังวลว่านี่อาจจะเป็นสัญญาณการกลับมาของซิธ (Sith) ผู้อยู่ในด้านมืดของพลังที่ได้หายสาบสูญไปนานแล้ว จากนั้นไควกอนได้แจ้งแก่สภาถึงเรื่องอนาคินและหวังว่าเขาจะได้รับอนุญาตให้ฝึกฝนอนาคินเป็นเจได แต่หลังจากได้รับการทดสอบแล้ว สภาเจไดได้ทำการปฏิเสธที่จะฝึกฝนอนาคินให้เป็นเจไดเนื่องจากเขาวัยมากกว่าตามที่กฎของเจไดกำหนดไว้ และพวกเขายังกังวลถึงอนาคตที่มืดมัวและความกลัวอย่างรุนแรงที่พวกเขาสัมผัสได้ในตัวอนาคิน

ขณะเดียวกันวุฒิสมาชิกพัลพาทีน (จากดาวนาบู) ก็ได้ใช้สถานการณ์ของควีนอมิดาล่าให้เป็นประโยชน์ โดยโน้มน้าวให้เธอยื่นไม่ไว้วางใจสมุหนายกวาโลรัม เพื่อที่ตนเองจะได้รับการเสนอชื่อให้เป็นสมุหนายกคนใหม่ หลังจากนั้นควีนอมิดาล่าได้ตัดสินใจเดินทางกลับไปยังนาบู เพื่อต่อสู้กับการรุกรานเนื่องจากเห็นว่าสภาไม่ให้ความช่วยเหลือใดๆ และกว่าที่พัลพาทีนจะได้รับเลือกให้เป็นสมุหนายกคนใหม่ก็คงสายเกินไป โดยที่เจไดทั้งสองนาย ไควกอนและโอบีวันได้ร่วมเดินทางไปยังนาบูกับราชินีอมิดาล่าด้วย

เมื่อถึงดาวนาบู ควีนอมิดาล่าได้เข้าพบชาวกันแกนและขอความช่วยเหลือ ในการต่อสู้กับกองทัพสหพันธ์ฯ หลังจากต่อสู้กับกองทัพดรอย์ของสหพันธ์ฯ ไปได้ระยะหนึ่ง กองทัพกันแกนก็จวนเจียนจะพ่ายแพ้ แต่ก็กลับมาเป็นฝ่ายชนะ เมื่ออนาคินขับเครื่องบินรบและสามารถทำลายยานบัญชาการกองทัพดรอย์ของสหพันธ์ฯ ซึ่งทำให้กองทัพดรอย์หยุดการทำงานได้สำเร็จ ขณะเดียวกัน ทางด้านราชินีอมิดาล่าก็ได้พากำลังทหารของเธอกลับไปที่พระราชวัง เพื่อจับตัวอุปราชของสหพันธ์ฯ และในเวลาเดียวกันดาร์ธ มอลก็กำลังต่อสู้กับเจไดทั้งสอง เขาสังหารไควกอนได้สำเร็จ แต่ดาร์ธ มอลก็กลับถูกโอบีวันฆ่าตาย ก่อนที่ไควกอนจะสิ้นใจ เขาได้สั่งเสียโอบีวันให้ฝึกฝนอนาคินเป็นเจได ซึ่งโอบีวันก็รับปากตามที่ไควกอนขอ

หลังการสู้รบจบสิ้น สภาเจไดแต่งตั้งให้โอบีวันเป็นอัศวินเจได โอบีวันเอ่ยถึงความตั้งใจของไควกอนที่ต้องการฝึกฝนให้อนาคินเป็นเจไดกับโยดา (Yoda) โยดาอนุญาตให้โอบีวันรับอนาคินเป็นศิษย์อย่างไม่เต็มใจ ในพิธีเผาศพของไควกอน เมซ วินดู (Mace Windu) และโยดาเห็นต้องกันว่าการตายของไควกอนนั้นเป็นฝีมือของซิธ และเนื่องจากซิธจะต้องมีสองคนเสมอ (อาจารย์และศิษย์) วินดูและโยดาจึงเชื่อว่ายังมีซิธอีกคนเหลืออยู่ที่ไหนสักแห่ง

ภาพยนตร์ปิดฉากลงด้วยการเฉลิมฉลองอิสรภาพจากสหพันธ์ฯ บนดาวนาบู ราชินีอมิดาล่าได้มอบของขวัญให้แก่แนซเพื่อเป็นการยกย่องและเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพ

ตัวละครหลัก[แก้]

การตอบรับ[แก้]

สตาร์ วอร์ส เอพพิโซด 1: ภัยซ่อนเร้น ได้รับคำวิจารณ์หลายแบบจากนักวิจารณ์ รวมถึงเหล่าผู้ชมในต่างประเทศ ภาพยนตร์ชุดนี้ได้รับการตอบรับที่เรต 61% จากเว็บไซต์รอทเทนโตเมโต้ ด้วยคะแนนเฉลี่ยที่ 5.9/10 [3] ซึ่งถือเป็นอันดับต่ำสุดของภาพยนตร์ชุด สตาร์วอร์ส การเขียนสคริปต์บางส่วนได้รับการวิจารณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จาร์ จาร์ บิงคส์ ที่ได้รับการสรุปโดยผู้ชมรุ่นเก่าหลายคนว่า เหมาะสำหรับจัดทำในรูปแบบเมอร์แชนไดส์มากกว่าตัวละครแบบจริงจังในภาพยนตร์[4][5][6]

บ็อกซ์ออฟฟิศ[แก้]

แม้จะได้รับคำวิจารณ์ที่หลากหลาย แต่ สตาร์ วอร์ส เอพพิโซด 1: ภัยซ่อนเร้น ก็ประสบความสำเร็จในแง่ของรายรับ ด้วยการทำลายสถิติบ็อกซ์ออฟฟิศจากการเปิดตัว ภาพยนตร์ชุดนี้ได้ทำลายสถิติ เดอะ ลอสต์ เวิลด์ จูราสสิค พาร์ค ด้วยรายรับภายในวันเดียวกว่า 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐของวันเปิดตัว (ก่อนที่ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ จะทำลายสถิติลงใน ค.ศ. 2001) และสามารถสร้างรายรับรวมได้ที่ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในช่วงระยะเวลาห้าวัน (ก่อนที่ สไปเดอร์แมน จะทำลายสถิติลงใน ค.ศ. 2002)[7] ภาพยนตร์ชุดนี้ยังเป็นภาพยนตร์ที่สามารถทำรายได้ที่ 200 ล้าน และ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำลายสถิติของ ไอดี 4 : สงครามวันดับโลก และ ไททานิก[8] โดย สตาร์ วอร์ส เอพพิโซด 1: ภัยซ่อนเร้น จัดเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดใน ค.ศ. 1999 ที่สามารถทำรายได้กว่า 431 ล้านดอลลาร์สหรัฐในอเมริกาเหนือ และ 493 ล้านเหรียญสหรัฐในต่างแดน[8]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ

  1. ในดีวีดีของภาพยนตร์ที่วางจำหน่ายในปี ค.ศ. 2001 นั้นเพิ่มความยาวภาพยนตร์อีกประมาณ 3 นาที
  2. ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น สตาร์ วอร์ส เอพพิโซด 4 ความหวังใหม่

อ้างอิง

  1. "Star Wars Episode I: The Phantom Menace". British Board of Film Classification. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 12, 2016. สืบค้นเมื่อ February 26, 2015.
  2. 2.0 2.1 "Star Wars: Episode I - The Phantom Menace (1999)". Box Office Mojo. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 19, 2011. สืบค้นเมื่อ August 14, 2007.
  3. "Star Wars Episode I: The Phantom Menace (1999)". Rotten Tomatoes. 1999. สืบค้นเมื่อ 2006-06-29.
  4. Michael Okwu (1999-06-14). "Jar Jar jars viewers, spawns criticism". CNN. สืบค้นเมื่อ 2006-12-25.
  5. Steve Wilson (1999-06-08). "I was a Jar Jar jackass". Salon Technology. Salon. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-18. สืบค้นเมื่อ 2006-12-25.
  6. "The First Star Wars Prequel". The Sith Order. 2006-07-25. สืบค้นเมื่อ 2006-12-25.
  7. Josh Wolk (1999-05-24). "Flip the Record : 'The Phantom Menace' topples two of three box office records". Entertainment Weekly. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-20. สืบค้นเมื่อ 2009-03-12.
  8. 8.0 8.1 "Star Wars: The Phantom Menace". The Numbers. 2001-12-01. สืบค้นเมื่อ 2006-07-25.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]