พิธีสวนสนามวันชาติจีน

พิกัด: 39°54′26.4″N 116°23′27.9″E / 39.907333°N 116.391083°E / 39.907333; 116.391083
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พิธีสวนสนาม
วันชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน
中华人民共和国国庆阅兵
จงหฺวาเหรินหมินก้งเหอกั๋วกั๋วชิ่งยฺเว่ปิง
ประเภทสวนสนามทางทหาร, ขบวนแห่พลเรือน, งานเลี้ยงดนตรีและเต้นรำ
วันที่1 ตุลาคม
ความถี่เลือกปี[A]
ที่ตั้งถนนฉางอาน จัตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง
พิกัดภูมิศาสตร์39°54′26.4″N 116°23′27.9″E / 39.907333°N 116.391083°E / 39.907333; 116.391083
ช่วงปี74
ประเดิม1 ตุลาคม พ.ศ. 2492; 74 ปีก่อน
ผู้เข้าร่วมผู้นำระดับชาติ, ผู้นำองค์กรระหว่างประเทศ, กองทัพปลดปล่อยประชาชน, ตำรวจติดอาวุธประชาชน, กองทหารอาสาสมัคร, หน่วยทหารอื่น ๆ และประชาชน
เว็บไซต์70prc.cn (ภาษาอังกฤษ)
หงฉี-9 ในพิธีสวนสนามครบรอบ 60 ปี

พิธีสวนสนามวันชาติ (จีน: 国庆阅兵) มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า พิธีสวนสนามวันชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน: 中华人民共和国国庆阅兵) เป็นงานเฉลิมฉลองทางทหารและพลเรือนที่จัดขึ้น ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่ง จัดขึ้นในวันชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งตรงกับวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี ดำเนินการโดยกองทัพปลดปล่อยประชาชน ตำรวจติดอาวุธประชาชน และกองทหารอาสาสมัคร รวมถึงกลุ่มพลเรือนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน จัดขึ้นทุก 10 ปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 แต่เดิมจัดขึ้นทุกปีระหว่างปี พ.ศ. 2492–2502 และถ่ายทอดสดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2527 ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน[2]

การสวนสนามวันชาติครั้งล่าสุดจัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ในวาระครบรอบ 70 ปีการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน

ภาพรวม[แก้]

จอมพลหลิน เปียว ตรวจพลสวนสนามในพิธีสวนสนามครบรอบ 10 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2502

ตั้งแต่พิธีสวนสนามในปี พ.ศ. 2493 เป็นต้นมา การจัดพิธีสวนสนามที่จัตุรัสเทียนอันเหมินของกรุงปักกิ่งเพื่อเฉลิมฉลองวันครบรอบการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการก็ได้กลายเป็นประเพณี

โดยในปัจจุบันจะจัดขึ้นทุก 10 ปี ซึ่งรูปแบบนี้เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2542 เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 50 ปีของการก่อตั้งประเทศ ก่อนหน้านี้มีการจัดการสวนสนามทุกปีจนถึงปี พ.ศ. 2502 เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนตัดสินใจว่าจะจัดงานเฉลิมฉลองวันหยุด "อย่างประหยัด"[3] การสวนสนามยังจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2507, 2509, 2512, 2513 และ 2527[4]

พิธีสวนสนามวันชาติได้รับการนำโดยผู้นำสูงสุดของประเทศ ในฐานะเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนตามหน้าที่ทางการเมือง และในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพปลดปล่อยประชาชน และประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลางตามหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 นอกจากนี้ ผู้นำสูงสุดยังได้ตรวจพลสวนสนามด้วยตนเอง

ผู้บัญชาการพิธีสวนสนามเป็นนายพลระดับพลโทหรือพลตรีของกองทัพปลดปล่อยประชาชน โดยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองบัญชาการยุทธบริเวณภาคกลาง หรือเป็นสมาชิกระดับสูงในคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง

ก่อนปี พ.ศ. 2502 เป็นช่วงที่การสวนสนามยังได้รับอิทธิพลจากรูปแบบโซเวียต ผู้ตรวจพลสวนสนามคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นตำแหน่งระดับสูงที่ดำรงตำแหน่งโดยพลเอกหรือจอมพล

พิธีกรของงานคือ เลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำกรุงปักกิ่ง หรือสมาชิกระดับสูงของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน

พิธีการ[แก้]

เริ่มพิธี[แก้]

เวลา 10:00 นาฬิกา วงดุริยางค์ทหารสามเหล่าทัพจากกองทัพปลดปล่อยประชาชนให้สัญญาณการเริ่มต้นพิธีอย่างเป็นทางการด้วยการบรรเลงเพลง "มาร์ชต้อนรับ" (欢迎进行曲) เมื่อผู้นำสูงสุดเดินทางมาถึงพลับพลาเทียนอันเหมินพร้อมด้วยบุคคลสำคัญดังต่อไปนี้:

ในพิธีสวนสนามปี พ.ศ. 2527, 2542 และ 2552 เคยมีการแสดงแปรอักษรบนพื้นที่จัตุรัส โดยใช้นักเรียนมัธยมนับพันคนในกรุงปักกิ่งและทั่วประเทศ (ยกเลิกในปี 2558) ส่วนกลุ่มนักเรียนทหารจากองค์การผู้บุกเบิกรุ่นเยาว์แห่งประเทศจีนจะประจำตำแหน่งขนาบข้างวงดุริยางค์ทหารสามเหล่าทัพ

หลังจากแขกผู้มีเกียรติเดินทางมาถึง พิธีกรประกาศเริ่มพิธี จากนั้นจึงเริ่มพิธีเชิญธงชาติ หน่วยพิทักษ์ธงเดินลงจากอนุสาวรีย์วีรชนและย่ำเท้าข้ามจัตุรัส ระหว่างนั้นมีการยิงสลุตตามปีครบรอบ (เช่น ครบรอบ 70 ปีก็ยิงสลุต 70 นัด) โดยกองทหารปืนใหญ่เกียรติยศของกองบัญชาการทหารกรุงปักกิ่ง เมื่อมาถึงเสาธงชาติ หน่วยพิทักษ์ธงจะเข้าแถวและยืนประจำตำแหน่งตรงกลางลานใกล้กับเสาธง เจ้าหน้าพิทักษ์ธงรับธงชาติจากผู้ถือธง (พิธีการส่วนนี้เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2542 เพื่อเป็นการจำลองพิธีเชิญธงชาติในจัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี พ.ศ. 2492)

เมื่อการเชิญธงและผู้แปรอักษรประจำตำแหน่งเสร็จสิ้น พิธีกรจะประกาศผ่านไมโครโฟนว่า "ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน โปรดยืนตรงเคารพธงชาติและร่วมร้องเพลงชาติ!" จากนั้นเจ้าหน้าพิทักษ์ธงสั่งให้ทหารวันทยาวุธ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงชาติ (มาร์ชทหารอาสา) เมื่อธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาแล้ว เจ้าหน้าพิทักษ์ธงสั่งให้ทหารเรียบอาวุธและยืนพักตามสบาย

ตรวจพลสวนสนาม[แก้]

หลังจากทหารหน่วยรักษาการณ์กรุงปักกิ่งประจำจุดบนถนนฉางอานเรียบร้อย ผู้นำสูงสุดจะลงมายังลานจัตุรัสเทียนอันเหมิน แล้วขึ้นรถเปิดประทุนหงฉี เพื่อทำการตรวจแถวทหารประมาณ 4,000–16,000 นาย จากกองทัพปลดปล่อยประชาชน ตำรวจติดอาวุธประชาชน และกองกำลังทหารอาสาสมัคร (กองหนุน) รวมหลายกองพัน พร้อมด้วยขบวนยานยนต์ทหารขนาดใหญ่ประมาณ 400–900 คันที่มีทหารประมาณ 9,000 นาย

เมื่อเดินทางมาถึงด้านหน้าประตูเทียนอันเหมิน ณ ถนนฉางอาน และผู้บัญชาการสวนสนาม (ก่อนปี 2560 เป็นผู้บัญชาการมณฑลทหารปักกิ่ง และตั้งแต่ปี 2560 เป็นผู้บัญชาการกองยุทธบริเวณภาคกลาง) จะมาถึงในรถลีมูซีนที่คล้ายกัน เพื่อกล่าวรายงานผู้นำสูงสุด

หลังจากได้รับรายงาน พร้อมกับเสียงบรรเลงเพลงจากวงดุริยางค์ ผู้นำสูงสุดจะเริ่มตรวจแถวทหาร ผู้บัญชาการแต่ละกองพันจะสั่งให้ทหารทำความเคารพขณะที่รถแล่นผ่าน และทหารแต่ละกองพันจะชูอาวุธขึ้น (แลขวาสำหรับกองพันที่ไม่ใช้อาวุธ และพาดปืนสำหรับกองพันที่ใช้อาวุธ) จากนั้นจึงยืนตรงประจำตำแหน่ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 กองพันทหารรักษาการณ์เกียรติยศกรุงปักกิ่ง พร้อมกับหน่วยพิทักษ์ธงชาติจะเป็นกองพันแรกที่ได้รับการตรวจแถว

ขณะที่รถผู้นำสูงสุดแล่นผ่าน ทหารแต่ละกองพันจะทำความเคารพ และผู้นำสูงสุดจะทักทายด้วยการกล่าวว่า "สวัสดี สหาย!" (同志们好!) หรือ "ขอบคุณสำหรับความทุ่มเท สหาย!" (同志们辛苦了!) และทหารจะตอบกลับด้วยการกล่าวว่า "สวัสดีท่านประธาน!" (主席好!) หรือ "[พวกเรา] รับใช้ประชาชน!" (为人民服务!)

หลังจากตรวจแถวเสร็จสิ้น ผู้นำสูงสุดจะกลับมายังพลับพลาเทียนอันเหมิน เพื่อกล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวันหยุดประจำชาติ ในขณะเดียวกัน ผู้บัญชาการสวนสนามก็จะเข้าประจำตำแหน่งบนประตูเทียนอันเหมินเช่นกัน และกองพันทหารและขบวนยานยนต์ทหารต่าง ๆ จะปรับรูปแถวเพื่อเข้าขบวนสวนสนาม

ในพิธีสวนสนามปี พ.ศ. 2562 ลำดับพิธีการถูกเปลี่ยนแปลง ผู้นำสูงสุดจะกล่าวสุนทรพจน์ก่อนลงจากพลับพลาเทียนอันเหมินเพื่อตรวจพลสวนสนาม

สวนสนาม[แก้]

เมื่อผู้บัญชาการสวนสนามเปล่งคำสั่ง "เริ่มสวนสนาม!" (分列式开始!) จากบนพลับพลาเทียนอันเหมิน นั่นเป็นสัญญาณให้กองพันทหารเริ่มเดินสวนสนามผ่านพลับพลา โดยบุคคลสำคัญต่าง ๆ จะยืนบนพลับพลา และประชาชนจะเข้าชมการสวนสนามบนอัฒจันทร์หน้าพลับพลา ซึ่งรวมถึงทหารผ่านศึก ตัวแทนภาคธุรกิจรัฐบาลและเอกชน บุคคลสำคัญของประเทศ ข้าราชการ คณะทูต และสื่อมวลชนต่างประเทศ

วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสวนสนาม (分列式进行曲) ซึ่งเป็นเพลงพิเศษสำหรับการสวนสนามที่ดัดแปลงมาจากเพลง 'มาร์ชกองทัพปลดปล่อยประชาชน' (中国人民解放军进行曲) หลังจากการบินผ่านของธงชาติ ธงพรรค และธงกองทัพ พร้อมด้วยขบวนเฮลิคอปเตอร์ในบางปีที่พิเศษ เพื่อเป็นเกียรติแก่จำนวนปีแห่งเอกราชของประเทศ ขบวนทหารกองทัพบกจะเดินสวนสนามเป็นขบวนแรก ขณะเดียวกัน เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนและผู้นำพรรค รัฐบาล และทหารระดับสูงอื่น ๆ จะรับความเคารพจากแต่ละกองพันที่เดินผ่านพลับพลา

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 กองพันทหารรักษาการณ์เกียรติยศประจำกรุงปักกิ่ง จะเป็นกองพันแรกแรกที่เดินสวนสนามผ่านคณะบุคคลสำคัญ นำหน้าโดยหน่วยพิทักษ์ธงถือธงกองทัพปลดปล่อยประชาชน ซึ่งทำหน้าที่เป็นธงชาติโดยพฤตินัย เคียงข้างกับธงชาติและธงพรรคที่นำหน้าไปก่อน แต่ละกองพันที่เดินสวนสนามประกอบด้วย:

ก่อนปี พ.ศ. 2502 กองทัพปลดปล่อยประชาชน ตำรวจติดอาวุธประชาชน และกองทหารอาสาสมัคร จะเดินสวนสนามแยกกันในส่วนหลักของขบวนสวนสนาม (กองกำลังอาสาสมัครจะเดินเป็นส่วนหนึ่งของขบวนพลเรือน) แต่ละกองพันประกอบด้วยทหาร 350 นาย (14 แถว ๆ ละ 25 นาย) นำโดยผู้บังคับกองพันและหัวหน้าคณะกรรมการการเมืองประจำกองพัน ซึ่งจะเดินนำหน้ากองพัน[ต้องการอ้างอิง]

หลังจากขบวนทหารหลัก จะต่อด้วยขบวนยานยนต์ทหารซึ่งจัดเป็นกองพันเช่นเดียวกัน แต่ผู้บัญชาการจะยืนประจำตำแหน่งบนยานพาหนะของตนขณะทำความเคารพ ขบวนรถเคลื่อนที่นี้ประกอบด้วยยานยนต์และอุปกรณ์ทางทหารที่ผลิตในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งประจำการและเตรียมนำเข้าประจำการเพื่อสนองความต้องการของกองทัพปลดปล่อยประชาชนยุคใหม่ หน่วยที่น่าสังเกตหนึ่งคือ กองพันทหารหญิงจากวิทยาลัยแพทย์เบธูเน่ ซึ่งเริ่มเข้าร่วมขบวนพาเหรดในปี พ.ศ. 2527[5] หลังจากขบวนยานยนต์ทหารสิ้นสุดลง จะเป็นการบินผ่านของอากาศยานจากกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ

การสวนสนามแต่ละปี[แก้]

พิธีสวนสนามต่อไปนี้จัดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492:[6][7][8][9]

ปี (พ.ศ.) ครบรอบ (ปี) ผู้นำสูงสูด ผู้บัญชาการสวนสนาม ผู้ตรวจพลสวนสนาม กำลังพล หมายเหตุ
2492 เหมา เจ๋อตง จอมพล เนี่ย หรงเจิน (ผู้บัญชาากรมณฑลทหารภาคเหนือ) จอมพล จู เต๋อ (ผู้บัญชาการกองทัพปลดปล่อยประชาชน) 16,000 การประกาศสถาปนาประเทศเกิดขึ้นก่อนหน้าพิธีสวนสนามไม่กี่นาที[10]
2493 1 24,200
2494 2 13,350
2495 3 11,300
2496 4 10,050
2497 5 พลเอก หยาง เฉิงอู่ (ผู้บัญชาการมณฑลทหารปักกิ่ง) จอมพล เผิง เต๋อหวย (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม) 10,400 มีผู้นำโซเวียต นิกิตา ครุชชอฟ และผู้นำเกาหลีเหนือ คิม อิล-ซ็อง เข้าร่วม นอกจากนี้ ยังเป็นครั้งสุดท้ายที่กองทัพทหารม้าจีน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม "คอสแซ็กแห่งจีน" ได้ปรากฏต่อสาธารณะ[ต้องการอ้างอิง]
2498 6 10,300 เป็นพิธีสวนสนามที่สั้นที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยใช้เวลาเพียง 50 นาทีเท่านั้น
2499 7 12,000
2500 8 7,100 มีประธานาธิบดีซูการ์โนของอินโดนีเซีย และนายกรัฐมนตรีเนปาล ทันกา ปราสาท อาจารยา เข้าร่วมด้วย
2501 9 10,000
2502 10 พลเอก หยาง หย่ง (ผู้บัญชาการมณฑลทหารปักกิ่ง) จอมพล หลิน เปียว (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม) 11,000
2527 35 เติ้ง เสี่ยวผิง พลเอก ฉิน จีเหว่ย์ (ผู้บัญชาการมณฑลทหารปักกิ่ง) เติ้ง เสี่ยวผิง (ประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง) 10,400 เป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์
2542 50 เจียง เจ๋อหมิน พลเอก หลี่ ซินเหลียง (ผู้บัญชาการมณฑลทหารปักกิ่ง) เจียง เจ๋อหมิน (ประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง) 11,000
2552 60 หู จิ่นเทา พลเอก ฝาง เฟิงฮุย (ผู้บัญชาการมณฑลทหารปักกิ่ง) หู จิ่นเทา (ประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง) 11,000
2562 70 สี จิ้นผิง พลอากาศเอก อี๋ เสี่ยวกวง (ผู้บัญชาการยุทธเวณภาคกลาง) สี จิ้นผิง (ประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง) 19,000 [11]

พิธีสวนสนามที่ถูกยกเลิก[แก้]

แกลเลอรี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 新中国历次大阅兵 [New China's previous grand military parades]. Chinese government web. Xinhua News Agency. 21 August 2009. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 December 2009. สืบค้นเมื่อ 26 September 2019.
  2. "The history of the People's Republic of China – through 70 years of mass parades".
  3. "1960年至1983年为什么没有国庆阅兵".
  4. Hung, Chang-tai (2007). "Mao's Parades: State Spectacles in China in the 1950s" (PDF). The China Quarterly. 190 (190): 411–431. doi:10.1017/S0305741007001269. JSTOR 20192777. S2CID 154319855.
  5. "Единственный женский парадный строй - "Генри Норман Бетьюн"".
  6. "Parading the People's Republic". 2015-09-02.
  7. "China's Military Parades: A Look Back". 2015-09-02.
  8. Fuller, Linda K. (2004). National Days/National Ways: Historical, Political, and Religious Celebrations Around the World. ISBN 9780275972707.
  9. "China's Military Parade Celebrates World War II Victory". The New York Times. 2015-09-04.
  10. "Reds Proclaim a Republic in China; Chou is Premier; CHINESE REPUBLIC LAUNCHED BY REDS".
  11. "China says National Day parade 'won't disappoint' in scale or weapons". 24 September 2019.


อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref> สำหรับกลุ่มชื่อ "upper-alpha" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="upper-alpha"/> ที่สอดคล้องกัน