วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระธาตุพนม)
วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร
องค์พระธาตุพนม
แผนที่
ชื่อสามัญพระธาตุพนมบรมเจดีย์
ที่ตั้ง183/13 ถนนชยางกูร ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม 48110
ประเภทพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร
นิกายเถรวาท (มหานิกาย)
พระประธานหลวงพ่อองค์แสนศาสดา (พระอุโบสถ)
พระพุทธรูปสำคัญหลวงพ่อมารวิชัยศาสดา (หอพระแก้ว)
เจ้าอาวาสพระธรรมวชิรโสภณ (สำลี ปัญญาวโร ป.ธ.๕)
ความพิเศษ- ประดิษฐานพระอุรังธาตุ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เวลาทำการ05.00-21.00 น.
จุดสนใจพระธาตุพนม พิพิธภัณฑ์ บ่อนำพระอินทร์ หอระฆัง ฆ้องใหญ่ หอพระนอน กลองใหญ่ รัตนศาลา ต้นพระศรีมหาโพธิ์
กิจกรรมงานนมัสการพระธาตุพนม สวดมนต์ข้ามปี มอบทุนบาลี วันบุรพาจารย์รำลึก วันสัตตนาคารำลึก
การถ่ายภาพพระธาตุพนม พิพิธภัณฑ์ บ่อนำพระอินทร์ หอระฆัง ฆ้องใหญ่ หอพระนอน กลองใหญ่ รัตนศาลา ต้นพระศรีมหาโพธิ์
เว็บไซต์http://www.วัดพระธาตุพนม.com
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดพระธาตุพนม วรมหาวิหาร เป็นวัดพระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ปัจจุบันมี พระเทพวรมุนี เป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2549 - ปัจจุบัน ประดิษฐาน ณ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ถนนชยางกูร บ้านธาตุพนม ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม มีลักษณะเป็นเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมจตุรัสก่อด้วยอิฐ กว้างด้านละ 12.33 เมตร สูง 53.6 เมตร มีกำแพงล้อมองค์พระธาตุ 4 ชั้น องค์พระธาตุตั้งอยู่บนภูกำพร้า (เนินดินสูงจากพื้นธรรมดาประมาณ 3 เมตร) ภายในบริเวณมีบึงขนาดใหญ่เรียกว่าบึงธาตุพนม ในวันเพ็ญเดือน 3 ถึง แรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปีจะมีงานประจำปีเพื่อเป็นการนมัสการพระธาตุพนม

ลำดับเจ้าอาวาส วัดพระธาตุพนม (เท่าที่มีบันทึก)[แก้]

ลำดับ นาม-ฉายา ดำรงตำแหน่ง (พ.ศ.) หมายเหตุ
1. เจ้าสังฆวิชชา
2. เจ้ามหาปาสาทะ หรือ จุลปาสาทะ
3. เจ้ามหารัตนะ
4. สมเด็จพระเจ้าสังฆราชาสัทธรรมโชตนาญาณวิเศษ (เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก) 2233 - 2235
5. พระครูพรหมา 2390 - 2410
6. พระครูพรหม 2410 - 2425
7. พระครูก่ำ 2425 - 2430
8. พระครูฮุบ 2430 - 2438
9. พระอุปัชฌาย์ทา 2438 - 2458
10. พระครูศิลาภิรัต (หมี) 2458 -2479
11. พระธรรมราชานุวัตร (แก้ว กนฺโตภาโส) ป.ธ. 6 2480 - 2532 สกุลเดิม: อุทุมมาลา
อดีตรองเจ้าคณะภาค 4
12. พระธรรมปริยัติมุนี (นวน เขมจารี) ป.ธ. 6 2533 - 2546 อดีตเจ้าคณะจังหวัดหนองคาย
13. พระโสภณเจติยาภิบาล (สม สุมโน) ป.ธ. 3 2547
14. พระธรรมวชิรโสภณ (สำลี ปญฺญาวโร ป.ธ. 5) 2549 - ปัจจุบัน ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10

ภาพถ่ายและภาพวาดเจ้าอาวาส เก็บถาวร 2015-04-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร[แก้]

  1. พระครูสุตเจติยานุรักษ์ (สง่า โชติวณฺโณ ปธ.๓) เจ้าคณะตำบลธาตุพนม
  2. พระครูพนมปรีชากร เลขานุการเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม
  3. พระครูพนมเจติยานุรักษ์
  4. พระมหาเลอเดช วรวํโส ป.ธ.๙ (ผจล.)
  5. พระศรีวิสุทธิเมธี (พนมพร ปุตฺตวโร ป.ธ.๙) เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดนครพนม
  6. พระครูสิริเจติยานุกิจ ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์นครพนม
  7. พระมหาเสรี พุทฺธิวํโส ป.ธ.๔ เจ้าคณะตำบลพระกลางทุ่ง
  8. พระครูสุธรรมเจติยาภรณ์ (จำรัส ชวนปญฺโญ)
  9. พระมหาวิเชียร วชิรเมธี ป.ธ.๙

งานนมัสการพระธาตุพนม[แก้]

งานนมัสการพระธาตุพนม ตรงกับวันขึ้น 8 ค่ำเดือน 3 ถึง แรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี โดยปี พ.ศ. 2567 ตรงกับวันที่ 17 กุมภาพันธ์ - 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 รวม 9 วัน 9 คืน

โดยก่อนเริ่มจะมีพิธีนมัสการพระธาตุ โดยจะมีการอัญเชิญพระอุปคุตขึ้นจากแม่น้ำโขงเวลา 8-9 นาฬิกา แห่จากท่าน้ำไปยังวัดพระธาตุพนม มีการฟ้อนรำถวาย

ประวัติ[แก้]

ภาพวาดพระธาตุพนมองค์เดิม รูปแบบศิลปกรรมที่บูรณะโดยเจ้าราชครูหลวงโพนเสม็ดเมื่อ พ.ศ. 2233 บันทึกโดยคณะสำรวจแม่น้ำโขงภายใต้การนำของฟรานซิส การ์นิเยร์ นายทหารเรือชาวฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2411

ตามตำนานพระธาตุพนม ในอุรังคนิทานกล่าวว่า สมัยหนึ่งในปัจฉิมโพธิกาล พระพุทธเจ้า พร้อมทั้งพระอานนท์ ได้เสด็จมาทางทิศตะวันออก โดยทางอากาศ ได้มาลงที่ดอนกอนเนา แล้วเสด็จไปหนองคันแทเสื้อน้ำ (เวียงจันทน์) ได้พยากรณ์ไว้ว่า ในอนาคตจะเกิดบ้านเมืองใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนา จากนั้นได้เสด็จไปตามลำดับ ได้ทรงประทานรอยพระพุทธบาทไว้ที่ โพนฉัน (พระบาทโพนฉัน) อยู่ตรงข้ามอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย แล้วเสด็จมาที่ พระบาทเวินปลา ซึ่งอยู่เหนือเมืองนครพนมปัจจุบัน ได้ทรงพยากรณ์ที่ตั้งเมืองมรุกขนคร (นครพนม) และได้ประทับพักแรมที่ภูกำพร้าหนึ่งคืน วันรุ่งขึ้นเสด็จข้ามแม่น้ำโขง ไปบิณฑบาตที่เมืองศรีโคตรบูรณ์ พักอยู่ที่ร่มต้นรังต้นหนึ่ง (พระธาตุอิงฮังเมืองสุวรรณเขต) แล้วกลับมาทำภัตกิจ (ฉันอาหาร) ที่ภูกำพร้าโดยทางอากาศ

พญาอินทร์ได้เสด็จมาเฝ้าและทูลถามพระพุทธองค์ ถึงเหตุที่มาประทับที่ภูกำพร้า พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า เป็นประเพณีของพระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ ในภัททกัลป์ที่นิพพานไปแล้ว บรรดาสาวกจะนำพระบรมสารีริกธาตุ มาบรรจุไว้ที่ภูกำพร้า พระพุทธองค์เมื่อนิพพานแล้ว พระมหากัสสปะ ผู้เป็นสาวก ก็จะนำเอาพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ ณ ที่นี้เช่นกัน จากนั้นพระพุทธองค์ก็ได้ทรงปรารภถึงเมืองศรีโคตบูร และมรุกขนคร แล้วเสด็จไปหนองหารหลวง ได้ทรงเทศนาโปรดพญาสุวรรณพิงคาระ และพระเทวี ประทานรอยพระพุทธบาทไว้ ณ ที่นั้น แล้วเสด็จกลับพระเชตวัน หลังจากนั้นก็เสด็จปรินิพพานที่เมืองกุสินารา

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว มัลลกษัตริย์ทั้งหลายได้ถวายพระเพลิงพระสรีระ แต่ไม่สำเร็จ จนเมื่อพระมหากัสสปะมาถึงได้อธิษฐานว่า พระธาตุองค์ใดที่จะอัญเชิญไปประดิษฐานที่ภูกำพร้า ขอพระธาตุองค์นั้นเสด็จมาอยู่บนฝ่ามือ ดังนี้แล้ว พระอุรังคธาตุ ก็เสด็จมาอยู่บนฝ่ามือขวาของพระมหากัสสปะ ขณะนั้นไฟธาตุก็ลุกขึ้นโชติช่วง เผาพระสรีระได้เองเป็นอัศจรรย์ เมื่อถวายพระเพลิงและแจกพระบรมสารีริกธาตุเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระมหากัสสปะพร้อมด้วยพระอรหันต์ 500 องค์ ก็ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุ มาทางอากาศ แล้วมาลงที่ดอยแท่น (ภูเพ็กในปัจจุบัน) จากนั้นได้ไปบิณฑบาตที่เมืองหนองหารหลวง เพื่อบอกกล่าวแก่พญาสุวรรณพิงคาระ ตำนานตอนนี้ตรงกับตำนานพระธาตุเชิงชุม และพระธาตุนารายณ์เจงเวง ซึ่งมีรายละเอียดอยู่แล้ว

เมื่อพญาทั้ง 5 ซึ่งอยู่ ณ เมืองต่าง ๆ อันได้แก่ พญานันทเสน แห่งเมืองศรีโคตบูร พญาจุลณีพรหมทัต พญาอินทปัตถนคร พญาคำแดง แห่งเมืองหนองหารน้อย และพญาสุวรรณพิงคาระ แห่งเมืองหนองหารหลวง ได้พากันปั้นดินดิบก่อแล้วเผาไฟ ตามคำแนะนำของพระมหากัสสปะ แบบพิมพ์ดินกว้างยาวเท่ากับฝ่ามือพระมหากัสสปะ

ครั้นปั้นดินเสร็จแล้วก็พากันขุดหลุมกว้าง 2 วา ลึก 2 ศอก เท่ากันทั้ง 4 ด้าน เมื่อก่อดินขึ้นเป็นรูปเตา 4 เหลี่ยม สูง 1 วา โดยพญาทั้ง 4 แล้ว พญาสุวรรณภิงคาระก็ได้ก่อส่วนบน โดยรวมยอดเข้าเป็นรูปฝาปารมีสูง 1 วา รวมความสูงทั้งสิ้น 2 วา แล้วทำประตูเตาไฟทั้ง 4 ด้าน เอาไม้จวง จันทน์ กฤษณา กระลำพัก คันธรส ชมพู นิโครธ และไม้รัง มาเป็นพื้น ทำการเผาอยู่ 3 วัน 3 คืน เมื่อสุกแล้วจึงเอาหินหมากคอยกลางโคก มาถมหลุม เมื่อสร้างอุโมงค์ดังกล่าวเสร็จแล้ว พญาทั้ง 5 ก็ได้บริจาคของมีค่าบรรจุไว้ในอุโมงค์เป็นพุทธบูชา

จากนั้น พระมหากัสสปะ ก็ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุ เข้าบรรจุภายในที่อันสมควร แล้วให้ปิดประตูอุโมงค์ไว้ทั้ง 4 ด้าน โดยสร้างประตูด้วยไม้ประดู่ ใส่ดาลปิดไว้ทั้ง 4 ด้าน แล้วให้คนไปนำเอาเสาศิลาจากเมืองกุสินารา 1 ต้น มาฝังไว้ที่มุมเหนือตะวันออก แปลงรูปอัศมุขี (ยักษิณีหน้าเป็นม้า) ไว้โคนต้นเพื่อเป็นหลักชัยมงคลแก่บ้านเมืองในชมพูทวีป นำเอาเสาศิลาจากเมืองพาราณสี 1 ต้น ฝังไว้มุมใต้ตะวันออก แปลงรูปอัศมุขีไว้โคนต้น เพื่อหมายมงคลแก่โลก นำเอาเสาศิลาจากเมืองตักศิลา 1 ต้น ฝังไว้มุมเหนือตะวันตก พญาสุวรรณพิงคาระให้สร้างรูปม้าอาชาไนยไว้ตัวหนึ่ง หันหน้าไปทางทิศเหนือ เพื่อแสดงว่าพระบรมธาตุเสด็จออกมาทางทิศทางนั้น และพระพุทธศาสนาจักเจริญรุ่งเรืองจากเหนือเจือมาใต้ พระมหากัสสปะให้สร้างม้าพลาหกไว้ตัวหนึ่ง คู่กัน หันหน้าไปทางทิศเหนือ เพื่อเป็นปริศนาว่า พญาศรีโคตบูรจักได้สถาปนาพระอุรังคธาตุไว้ตราบเท่า 5,000 พระวัสสา เกิดทางใต้และขึ้นไปทางเหนือ เสาอินทขีล ศิลาทั้ง 4 ต้น ยังปรากฏอยู่ 2 ต้น ทางทิศตะวันออก ส่วนอีก 2 ต้น ได้ก่อหอระฆังหุ้มไว้ ส่วนม้าศิลาทั้ง 2 ตัว ก็ยังปรากฏอยู่ถึงปัจจุบัน

พระธาตุพนมได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาตามลำดับ การบูรณะครั้งแรกและครั้งที่สอง ไม่ได้บันทึกปีที่บูรณะไว้ การบูรณะครั้งที่สามเมื่อปี พ.ศ. 2157

เมื่อปี พ.ศ. 2485 วัดพระธาตุพนมฯ ได้รับการยกฐานะเป็น พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร

ในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2518 เวลา 19.38 น. ด้วยเหตุที่มีฝนตกพายุพัดแรงติดต่อมาหลายวันและความเก่าแก่ขององค์พระธาตุ พระธาตุพนมจึงได้ล้มทลายลงมาทั้งองค์ ประชาชนทั้งประเทศได้ร่วมบริจาคทุนทรัพย์และรัฐบาลได้ก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นใหม่ตามแบบเดิม การก่อสร้างนี้เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2522 นอกจากจะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในองค์พระธาตุดั่งเดิมแล้ว ยังมีของมีค่ามากมายนับหมื่นชิ้นบรรจุและประดับไว้ในองค์พระธาตุอีกด้วย โดยเฉพาะฉัตรทองคำบนยอดพระธาตุ ซึ่งมีน้ำหนักมากถึง 110 กิโลกรัม

โบราณวัตถุรอบ ๆ องค์พระธาตุพนมเป็นของที่มีมาแต่ครั้งสมัยศรีโคตบูรถึงล้านช้างและสมัยอยุธยา โดยเฉพาะสมัยศรีโคตบูรนั้นได้แก่ หลักศิลาและเสมาหินซึ่งปักอยู่ตามทิศต่าง ๆ ที่เรียกกันว่า เสาอิทขีลซึ่งจะมีสัตว์ชื่อ อัสมุขี อัสมุขี แปลว่า อัสส = ยักษ์ มุข = หน้า สัตว์ที่รูปร่างเป็นม้ามีหน้าเป็นยักษ์

ลูกพระธาตุพนม[แก้]

อาจหมายถึง ผู้ที่เกิดในพื้นที่จังหวัดนครพนม หรือมีภูมิลำเนาในจังหวัดนครพนม หรือว่ากันว่า ถ้าใครได้มานมัสการพระธาตุครบ 7 ครั้ง จะถือว่าเป็น “ลูกพระธาตุ”

หมายถึงผู้คนที่มีส่วนร่วมในการก่อสร้างพระธาตุพนม

บ่อน้ำวัดพระธาตุพนม[แก้]

น้ำบ่อวัดพระธาตุพนม ตั้งอยู่ทางทิศเหนือขององค์พระธาตุ บริเวณกำแพงชั้นนอก ห่างจากพระธาตุพนมประมาณ 30 วา (60 เมตร) บ่อ กว้าง 1.50 เมตร ลึก 10 เมตร กรุข้างบ่อด้วยไม้แดง บ่อน้ำเก่าแก่ น้ำใส รสจืดสนิท และมีน้ำอยู่ตลอดปี ราษฎรส่วนมากใช้น้ำในบ่อนี้เป็นน้ำดื่ม และใช้เป็นน้ำอภิเษกของจังหวัดนครพนมมีอยู่เพียงแห่งเดียว สถานที่ประกอบพิธีน้ำอภิเษก คือ บ่อน้ำพระอินทร์บริเวณพระธาตุพนม

ปฏิทินงานวัดพระธาตุพนม[แก้]

  • งานนมัสการพระธาตุพนม ตรงกับขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 ถึง แรม 1 ค่ำ เดือน 3 รวม 9 วัน 9 คืน
  • งานพระธาตุพนมรำลึกและมอบทุนการศึกษาแก่ผู้สอบได้บาลี ตรงกับวันที่ 11 สิงหาคม ของทุกปี
  • งานสัตตนาคารำลึก งานรำลึกถึงพญานาคทั้ง 7 ตน ที่ดูแลพระธาตุพนม ตรงกับขึ้น 5 ค่ำ เดือน 11 (งานเริ่ม 4 ค่ำ เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป ถึง 5 ค่ำ ตอนเช้า)
  • งานบูรพาจารย์รำลึก ทำบุญอุทิศให้อดีตเจ้าอาวาส และบูรพาจารย์ของวัดพระธาตุพนม ตรงกับขึ้น 8 ค่ำ เดือน 11
  • วันมหาปวารณาออกพรรษา รำบูชาพระธาตุพนม ตรงกับวันออกพรรษาของทุกปี
  • สวดมนต์ข้ามปี เริ่มต้นดี ชีวิตดี ส่งท้ายปีเก่าวิถีไทย ต้อนรับปีใหม่วิถีพุทธ ณ ลานหน้าวัดพระธาตุพนม เริ่มลงทะเบียนรับหนังสือสวดมนต์ เวลา 18.00 น. ถึงเช้า

ศิลปกรรมตกแต่งบนองค์พระธาตุ[แก้]

รูปภาพ[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

พิกัดภูมิศาสตร์: 16°56′34″N 104°43′27″E / 16.942645°N 104.724054°E / 16.942645; 104.724054