ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า
ชั้นปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ
มอบโดย พระมหากษัตริย์ไทย
อักษรย่อป.จ.ว.
ประเภทสายสะพายมีดารา มีสายสร้อย
วันสถาปนาพ.ศ. 2443
ประเทศไทย ราชอาณาจักรไทย
ภาษิตเราจะบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญ
จำนวนสำรับไม่จำกัดจำนวน
แพรแถบ
ผู้สมควรได้รับพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้า
(พระราชทานตามพระราชอัธยาศัย)
มอบเพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงอิสริยยศและระลึกถึงความดีความชอบของบุคคลซึ่งได้รักษาแผ่นดินมาแต่ก่อนถึงปัจจุบัน
สถานะยังพระราชทานอยู่
ผู้สถาปนาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประธานพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
สถิติการมอบ
รายแรกพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
21 กันยายน พ.ศ. 2443
รายล่าสุดพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
5 พฤษภาคม พ.ศ. 2519
ทั้งหมด30 ราย
ลำดับเกียรติ
สูงกว่านพรัตนราชวราภรณ์
รองมารัตนวราภรณ์
ปฐมจุลจอมเกล้า
หมายเหตุพระราชทานสืบตระกูลจนกว่าจะหาทายาทที่เป็นชายมิได้

ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ มีอักษรย่อว่า ป.จ.ว. เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในตระกูลเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 1 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานเฉพาะฝ่ายหน้า (บุรุษ) เท่านั้น โดยไม่จำกัดจำนวน ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษจัดเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มีลำดับเกียรติอันดับที่ 4 และถือเป็นชั้นสูงสุดของเครื่องอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า

ประวัติ[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2416 โดยการสถาปนาในคราวแรกนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชั้น ได้แก่ ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้า (ปฐมจุลจอมเกล้า) ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้า (ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ, ทุติยจุลจอมเกล้า) และชั้นที่ 3 ตติยาจุลจอมเกล้า (ตติยจุลจอมเกล้า , ตติยานุจุลจอมเกล้า) [1] หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2443 พระองค์มีพระราชดำริเห็นสมควรเพิ่มชั้นพิเศษสำหรับชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้าอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้เป็นเกียรติยศและประโยชน์แก่ผู้รับราชการยิ่งขึ้น เรียกว่า "ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ" โดยทรงเพิ่มดวงตราตติยานุจุลจอมเกล้าเป็นเครื่องหมายเพิ่มเติมสำหรับชั้นปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษนี้[2]

องค์ประกอบ[แก้]

แพรแถบ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ จัดเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชนิดมีสายสะพายและดารา มีลำดับเกียรติอันดับที่ 4[3] และถือเป็นชั้นสูงสุดของเครื่องอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า โดย 1 สำรับ ประกอบด้วย[4]

  • ดวงตรา ใช้สำหรับห้อยกับสายสะพายสีชมพู กว้าง 10 เซนติเมตร สำหรับสะพายบ่าซ้ายเฉียงลงทางขวา หรือห้อยกับสายสร้อยจุลจอมเกล้า โดยมีลักษณะ ดังนี้
    • ด้านหน้า มีลักษณะเป็นรัศมี 8 แฉก ลงยาสีชมพู มีรัศมีทองแทรกตามระหว่างแฉก มีใบชัยพฤกษ์สองข้าง ลงยาสีเขียว กลางดวงตรามีพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอบลงยาสีขาบ มีอักษรทองว่า "เราจะบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญ" เบื้องบนมี พระจุลมงกุฎเปล่งรัศมีลงยาสีเขียว สีแดง สีขาบ สีขาว
    • ด้านหลัง มีลักษณะเหมือนด้านหน้า แต่ที่กลางดวงตราเป็นรูปช้างไอราพต ลงยาสีขาว บนหลังช้างเป็นรูปตรีศูล ลงยาสีขาว ที่ขอบมีอักษรทองว่า "ปีระกา เบญจศก ศักราช ๑๒๓๕" รอบขอบเป็นรูปจักร ลงยาสีขาวพื้นแดง
  • ดารา มีลักษณะเป็นรัศมีทอง 8 แฉก รัศมีเงิน 8 แฉก กลางดารา พื้นสีชมพู มีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ "จ.จ.จ." (จุฬาลงกรณ์จุลจอมเกล้า) ทองประดับเพชร ขอบลงยาสีขาบ และมีอักษรทองว่า "เราจะบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญ" รอบขอบเป็นเพชรสร่งเงิน ใช้สำหรับประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย

หมายเหตุ: สำหรับพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ที่ได้รับพระราชทานเป็นกรณีพิเศษ ดาราจะประดับเพชรทั้งดวง

  • สายสร้อยลงยา หรือ สายสร้อยทอง จะได้รับพระราชทานอย่างใดอย่างหนึ่ง สำหรับชาวต่างประเทศนั้น พระราชทานหรือไม่ก็สุดแต่ทรงพระราชดำริเห็นสมควร โดยสายสร้อยมีลักษณะเป็นรูปอักษรพระปรมาภิไธยย่อ "จ.ป.ร." (จุฬาลงกรณ์ปรมราชาธิราช) ไขว้ 16 องค์ ดอกบัว 17 ดอก สลับกันไปตลอดสาย กลางสายสร้อยเป็นรูปช้างไอราพต มีพระจุลมงกุฎเปล่งรัศมี มีเครื่องสูง 2 ข้าง มีราชสีห์ คชสีห์เชิญฉัตร สำหรับห้อยดวงตราสวมแทนสายสะพาย กับมีแพรจีบสีขาวกลัดทับสายสร้อยเหนือบ่าทั้ง 2 ข้าง
  • ดวงตราตติยานุจุลจอมเกล้า สำหรับประดับที่อกเสื้อด้านซ้าย

สำหรับการประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษนั้น ให้สวมสายสร้อยพร้อมดวงตราหรือสายสะพายพร้อมดวงตราอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่หมายกำหนดการระบุไว้ ถ้าหากสวมสายสร้อยจุลจอมเกล้าร่วมกับการสวมสายสะพาย ให้สวมสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลอื่นที่ได้รับพระราชทาน[5]

เครื่องยศ[แก้]

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษนั้นจะได้รับพระราชทานเครื่องประกอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ได้แก่ พานหมากทองคำลายสลัก เครื่องพร้อม คนโทน้ำลายสลักพร้อมพานรอง กาน้ำทองคำลายสลักพร้อมโต๊ะทองคำ กระโถนทองลายสลัก อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีระเบียบกำหนดเครื่องยศประกอบ แต่ก็มิได้พระราชทานให้ครอบครองอย่างประเพณีเดิม คงเชิญเครื่องยศมาตั้งประกอบในพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าเท่านั้น[6]

การสืบตระกูลเครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

ดูบทความหลัก การสืบตระกูลเครื่องราชอิสริยาภรณ์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษนั้นสามารถสืบตระกูลเครื่องราชอิสริยาภรณ์ได้และมีความพิเศษกว่าเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าชั้นอื่น ๆ เนื่องจากผู้สืบตระกูลของผู้ได้รับพระราชทานปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษจะได้รับพระราชทานตราตติยจุลจอมเกล้าตั้งแต่บิดายังมีชีวิตอยู่ เมื่อบุตรชายใหญ่ผู้ได้รับตราสืบตระกูลแล้วล่วงลับไป จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตราตติยานุจุลจอมเกล้าแก่หลานเหลนใหญ่โดยตรงและให้รับสืบตลอดไปจนหาตัวผู้สืบสายโลหิตเป็นชายมิได้[4][2]

การพระราชทาน[แก้]

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษเฉพาะฝ่ายหน้า (บุรุษ) สามารถพระราชทานโดยไม่จำกัดจำนวน ผู้ได้รับพระราชทานปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ ตั้งแต่สถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นนี้ เช่น[7]

  ผู้ได้รับพระราชทาน ป.จ.ว. ที่ยังทรงพระชนม์

พระราชวงศ์ไทย[แก้]

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
วันที่ พระนาม อ้างอิง
21 กันยายน พ.ศ. 2443 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร [8]
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมขุนมไหยสุริยสงขลา
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมขุนนครราชสีมา
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ
พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์
พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์
พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์
พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช
พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์
16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2443 พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม
19 กันยายน พ.ศ. 2446 พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ [9]
16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2448 พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร [10]
16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์ [11]
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเกล้าเจ้าอยู่หัว
วันที่ พระนาม อ้างอิง
11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ [12]
11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2455 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ [13]
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสรรควิไสยนรบดี
11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ [14]
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา
15 ธันวาคม พ.ศ. 2461 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ (ดาราประดับเพชร) [1]
31 ธันวาคม พ.ศ. 2461 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย
11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2462 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร [2]
11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2465 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ [3]
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
วันที่ พระนาม อ้างอิง
5 พฤษภาคม พ.ศ. 2519 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร [15]

ชาวต่างประเทศ[แก้]

วันที่ ประเทศ พระนาม อ้างอิง
19 พฤษภาคม พ.ศ. 2501  เดนมาร์ก สมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 9 แห่งเดนมาร์ก [16]
4 ตุลาคม พ.ศ. 2503  เบลเยียม สมเด็จพระราชาธิบดีโบดวง

อ้างอิง[แก้]

  1. พระราชบัญญัติเครื่องราชอิศริยยศจุลจอมเกล้าสำหรับตระกูล ปีระกาเบญจศก จุลศักราช ๑๒๓๕
  2. 2.0 2.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับตระกูลจุลจอมเกล้าเพิ่มเติม รัตนโกสินทร ศก ๑๑๙, เล่ม ๑๗, ตอน ๓๑, ๒๘ ตุลาคม ร.ศ. ๑๑๙, หน้า ๔๐๑
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ลำดับเกียรติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย เก็บถาวร 2011-11-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๐, ตอน ๒๙ง ฉบับพิเศษ, ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๖, หน้า ๑
  4. 4.0 4.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า พุทธศักราช ๒๔๘๔, เล่ม ๕๘, ตอน ๐ ก, ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔, หน้า ๑๕๕๓
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๑, เล่ม ๑๑๕, ตอนพิเศษ ๑๑๘ ง เล่มที่ ๒, ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๑, หน้า ๑๒-๑๓
  6. ปถพีรดี, เครื่องยศ เก็บถาวร 2011-07-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2502, ปีที่ 48, ประจำวันอังคารที่ 1 ตุลาคม 2545
  7. สมเด็จกรมพระยาดำรงเดชานุภาพ, ตำนานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า, โรงพิมพ์พระจันทร์, พ.ศ. 2512
  8. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้า ฝ่ายน่า แลฝ่านใน, เล่ม ๑๗, ตอน ๓๕, ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๓, หน้า ๕๐๐
  9. ราชกิจจานุเบกษา,พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๒๐, ตอน ๒๗, ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๖, หน้า ๔๔๔
  10. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้าฝ่ายหน้า , เล่ม ๒๒, ตอน ๓๕, ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๘, หน้า ๗๖๒
  11. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้าฝ่ายหน้า, เล่ม ๒๖, ตอน ๐ ง, ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๒, หน้า ๑๘๔๗
  12. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-10-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๒๘, ตอน ๐ ง, ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๔, หน้า ๑๗๘๓
  13. ราชกิจจานุเบกษา, รายพระนามและนามผู้ที่จะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในงานพระราชพิธีฉัตรมงคล, เล่ม ๒๙, ตอน ๐ ง, ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๕, หน้า ๑๘๒๙
  14. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๓๒, ตอน ๐ ง, ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๘, หน้า ๑๘๙๑
  15. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๙๓, ตอน ๘๐ ง, ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๙, หน้า ๑๓๕๑
  16. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๕, ตอน ๔๖ ง, ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๑, หน้า ๑๗๙๔

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ เก็บถาวร 2007-12-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
  • สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, สำนักนายกรัฐมนตรี. เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย. กรุงเทพฯ : จัดพิมพ์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ วันที่ 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2535, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2546. 411 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-7771-17-9