คุณหญิง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คุณหญิง ในอดีตใช้เป็นคำนำหน้าชื่อภรรยาเอกของขุนนางชั้น พระยา ปัจจุบันเป็นคำนำหน้าชื่อสตรีสามัญชนทุกคนที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ตั้งแต่ชั้นจตุถจุลจอมเกล้าขึ้นไปถึงทุติยจุลจอมเกล้า ถือเป็นเกียรติที่พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่สตรีผู้นั้นเป็นกรณีพิเศษ มิได้ขอพระราชทานโดยรัฐบาล

ประวัติ[แก้]

การใช้คำนำหน้าชื่อสตรีในอดีตนั้นมีการระบุเกี่ยวพันกับบรรดาศักดิ์ของสามีที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ แม้ปัจจุบันจะไม่มีการขอพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ข้าราชการแล้ว แต่สตรีผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ก็ยังสมควรได้รับคำยกย่องอยู่ โดยอนุโลมไม่ต้องยึดถือบรรดาศักดิ์ของสามีเป็นเกณฑ์[1]

สตรีสามัญชนที่สมรสหรือเคยสมรส หากได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าตั้งแต่ชั้นจตุถจุลจอมเกล้าขึ้นไปถึงทุติยจุลจอมเกล้า มีคำนำหน้าชื่อว่า "คุณหญิง" ยกเว้นพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในและสตรีที่เป็นหม่อมห้ามพระราชวงศ์ หากได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าชั้นใดก็ตาม ไม่ต้องเปลี่ยนคำนำหน้าพระนามหรือชื่อ[2] สำหรับสตรีที่เป็นราชนิกูล ชั้นหม่อมหลวง หม่อมราชวงศ์ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าตั้งแต่ชั้นจตุถจุลจอมเกล้าถึงทุติยจุลจอมเกล้า ไม่ต้องเปลี่ยนคำนำชื่อ ส่วนสตรีสามัญชนที่มิได้สมรส หากได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าชั้นใดก็ตาม ก็จะมีคำหน้านามว่า "คุณ"[3]

ต่อมาในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2565 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สตรีทุกคนที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ตั้งแต่ชั้นจตุถจุลจอมเกล้าถึงทุติยจุลจอมเกล้า ใช้คำนำหน้าชื่อว่า "คุณหญิง" ทั้งหมด แม้ไม่เคยสมรส[4]

นอกจากนี้ คำว่า คุณหญิง ยังใช้เป็นนามลำลองของ หม่อมราชวงศ์หญิง อีกด้วย เช่น หม่อมราชวงศ์ศรีคำรุ้ง ยุคล มีนามลำลองว่า คุณหญิงแมงมุม เป็นต้น

เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2416 เนื่องในวโรกาสฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 90 ปี ให้ใช้แพรแถบสีชมพูอันเป็นสีของวันอังคาร ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพ โดยเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายใน ชั้นจตุตถจุลจอมเกล้า มีจำนวน 150 ดวง ตติยจุลจอมเกล้า จำนวน 250 ดวง และทุติยจุลจอมเกล้า จำนวน 100 สำรับ ดังนั้นจำนวนคุณหญิง จะมีได้ไม่เกิน 500 คน

อ้างอิง[แก้]

  1. หนังสือเวียนที่กล่าวถึงการใช้คำนำนามสตรีที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2010-01-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก สำนักเลขธิการคณะรัฐมนตรี ดูฉบับพิมพ์เผยแพร่ทั่วไปได้ใน สตรีสาร ปีที่ 15 ฉบับที่ 333 (พฤษภาคม 2504), น. 113.
  2. หอจดหมายเหตุแห่งชาติ (หจช.), เอกสารสำนักงานเลขานุการกรม กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ ศธ.0701.9/897 การใช้คำนำนามสตรี (พ.ศ. 2505)
  3. "สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-29. สืบค้นเมื่อ 2023-02-16.
  4. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ การใช้คำนำหน้านามสตรีผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า เก็บถาวร 2023-02-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 4 มีนาคม 2565, เล่ม 139 ตอนพิเศษ 53 ง หน้า 1.

ดูเพิ่ม[แก้]