ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

"ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก" เป็นชื่อคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในสมัยของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ แต่งตั้งขึ้นตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 84/2531 และเนื่องจากได้ใช้ "บ้านพิษณุโลก" ที่ปกติเป็นบ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไทย มาปรับเปลี่ยนเป็นสำนักงานของคณะที่ปรึกษา โดยคณะทำงานส่วนใหญ่ ใช้ห้องชั้นล่างด้านซ้ายเป็นห้องทำงาน และใช้พื้นที่ด้านขวาเป็นห้องรับแขก และประชุมร่วมกับ พล.อ.ชาติชาย ส่วนชั้นบนของบ้านใช้เป็นห้องทำงานของ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ทำให้เป็นที่มาของชื่อ "ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก" หรือเรียกย่อๆ ว่า "ที่ปรึกษาบ้านพิษฯ"

องค์ประกอบ[แก้]

ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก ประกอบด้วยคณะทำงานหลักดังนี้

  1. พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานคณะที่ปรึกษา
  2. หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศ
  3. ณรงค์ชัย อัครเศรณี ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ
  4. ชวนชัย อัชนันท์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ
  5. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
  6. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ที่ปรึกษาด้านกฎหมายระหว่างประเทศ
  7. ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ นักวิจัยประจำคณะที่ปรึกษา

เมื่อแต่งตั้งคณะทำงานหลักของคณะที่ปรึกษาพิษณุโลก แล้วได้มีการเชิญนักวิชาการเข้าร่วมเป็นคณะทำงานอีกจำนวนมาก เช่น ชัยอนันต์ สมุทวณิช วิษณุ เครืองาม สังศิต พิริยะรังสรรค์ นิคม จันทรวิทุร โดยมีการแบ่งงานกันทำ เช่น นายไกรศักดิ์ ดูเรื่องสิทธิเสรีภาพประชาชน สิทธิมนุษยชน การเจรจาสันติภาพในกัมพูชากับเขมร 3 ฝ่าย การยกเลิก ปร.42 ดร.บวรศักดิ์ ดูเรื่องระเบียบข้อกฎหมาย การร่างวาระ ครม. และระบบการบริหารงานต่างๆ ของนายกรัฐมนตรี ดร.สุรเกียรติ์ ดูด้านกฎหมายระหว่างประเทศ การเจรจาการค้าและท่าทีต่างๆ ของรัฐบาลในระดับสากล ดร.ชัยอนันต์ ดูเรื่องการปฏิรูปการเมือง ดร.สังศิต และ ดร.นิคม ดูด้านสังคมและแรงงาน เป็นต้น

คณะที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก อยู่เบื้องหลังนโยบายสำคัญของรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย คือ "นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า"

บทบาทของคณะที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก ต้องยุติลงในเหตุการณ์รัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เมื่อปี พ.ศ. 2534 โดย รสช. ได้แจ้งในเหตุผลข้อ 3 จากทั้งหมด 5 ข้อ ว่าคณะที่ปรึกษาฯ ได้ร่วมกับนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี หลอกลวงประชาชนว่าปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ทั้งที่เป็นเผด็จการรัฐสภา[1]

อดีตสมาชิกคณะที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกส่วนใหญ่ กลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งโดยร่วมคณะทำงาน และคณะที่ปรึกษาของรัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร อาทิ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ที่ปรึกษานายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และสมาชิกอีกสองที่ยังมีบทบาทคือ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์และหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

อ้างอิง[แก้]

  1. "แถลงการณ์คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 1" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2012-02-24.