ทำโดยคนไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทำโดยคนไทย
คอนเสิร์ตคอนเสิร์ตใหญ่โดยคาราบาว
สถานที่จัดสนามจักรยานเวโลโดรม หัวหมาก
อัลบั้มเมด อิน ไทยแลนด์
วันเริ่มต้นการแสดง9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528
จำนวนรอบแสดง1
โปรดิวเซอร์กลุ่มนินจารีเทิร์น (ชนินทร์ โปสาภิวัฒน์ , สมชาย ชีวสุทธานนท์)
ลำดับคอนเสิร์ตของคาราบาว

ทำโดยคนไทย[1] เป็นคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกของวงคาราบาว เมื่อวันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ณ สนามจักรยานเวโลโดรม ในศูนย์กีฬาหัวหมาก แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ

กรุงเทพมหาน ครซึ่งเป็นครั้งแรกของศิลปินไทยที่มีการจัดคอนเสิร์ตในสนามกีฬา และมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 อีกด้วย คอนเสิร์ตครั้งนี้มีผู้ชมประมาณ 60,000 คน [2]

การแสดง[แก้]

ทำโดยคนไทย อำนวยการสร้างโดยกลุ่มนินจารีเทิร์น ซึ่งมีชนินทร์ โปสาภิวัฒน์ และสมชาย ชีวสุทธานนท์ เป็นผู้จัดการแสดง ปรุงแต่งเสียงโดย เจษฎา พัฒนถาบุตร โดยมีเครื่องดื่มโค้กเป็นผู้สนับสนุน คอนเสิร์ตครั้งนี้ได้รับเกียรติจากศิลปินคนอื่น ๆ ได้แก่ สุรสีห์ อิทธิกุล และ พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ มาร่วมแสดงด้วย การตั้งเวทีเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2528 ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน การซ้อมใหญ่เกิดขึ้นในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ หรือก่อนการแสดงจริงเพียง 1 วัน

คอนเสิร์ตเปิดให้ผู้ชมเข้าในเวลา 15.00 น. แต่จำนวนผู้ชมแออัดตั้งแต่ยังไม่เปิดประตู จนทำให้การจราจรติดขัดจนถึงหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง การแสดงเริ่มต้นในเวลา 18.00 น. ด้วยการโซโลกลองของ เป้า - อำนาจ ลูกจันทร์ ในเพลง ท.ทหารอดทน และเปิดตัวด้วยเพลง มนต์เพลงคาราบาว โดยสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ได้ทำการถ่ายทอดการแสดงด้วย โดยใช้ชื่อว่า คาราบาว อินคอนเสิร์ต

เนื่องจากอัฒจันทร์ทางด้านซ้ายของเวทีนั้น เป็นอัฒจันทร์เก่าที่เลิกใช้งานแล้ว ซึ่งทางผู้จัดได้นำเอาผ้าสีขาวกับลังโค้กซึ่งเป็นผู้สนับสนุนของทางวงขึ้นไปไว้เพื่อมิให้มีใครปีนขึ้นไป กระนั้น ด้วยจำนวนผู้ชมที่มีจำนวนมากถึงกว่า 60,000 คน ทำให้ต้องมีผู้ปีนขึ้นไปนั่งบนนั้น ทำให้อัฒจันทร์ไม่สามารถรับน้ำหนักคนจำนวนมากได้จนมีทีท่าว่าจะถล่มลงมา แอ๊ด - ยืนยง โอภากุล จึงเตือนผู้ชมเป็นระยะ ๆ ให้ระวังเรื่องความปลอดภัยของอัฒจันทร์ อีกทั้งยังมีเหตุวิวาทกันเองเป็นระยะ ๆ ของผู้ชม ด้วยการขว้างปาก้อนหิน และ ขวดน้ำทางด้านบนอัฒจันทร์กันไปมา ในที่สุดก่อนการแสดงจบลงราวครึ่งชั่วโมง และเหลือเพลงที่ยังไม่ได้เล่นอีก 3 เพลง อัฒจันทร์ก็ได้ถล่มลงมา มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ทำให้ทางคณะผู้จัดระงับการแสดงและขอให้ผู้ชมคอนเสิร์ตออกนอกบริเวณในทันที โดยแอ๊ดได้ร้องเพลง รอยไถแปร โดยไม่มีดนตรีซึ่งไม่มีในคิวคอนเสิร์ตระหว่างผู้ชมทะยอยออกจากเวโลโดรมจนหมด ในระหว่างที่แอ๊ดกำลังร้องเพลงรอยไถแปรอยู่นั้น สมาชิกวงคาราบาวทุกคนอยู่ในอาการซึมเศร้า เล็ก - ปรีชา ชนะภัย มือกีตาร์ ถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ อีกทั้งยังได้ขอความร่วมมือจากตำรวจและสารวัตรทหารให้กันตัวสมาชิกออกจากบริเวณแสดงด้วย วงคาราบาวรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ครั้งนี้มาก แอ๊ด นักร้องนำ ถึงกับก้มหน้าและไม่พูดอะไรเมื่อนักข่าวสัมภาษณ์หลังจบคอนเสิร์ต [3]

ทำโดยคนไทย เป็นต้นแบบของอีกหลายคอนเสิร์ตในภายหลัง จนกระทั่งวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 วงคาราบาวก็ได้จัดคอนเสิร์ตครั้งใหญ่ในชื่อว่า คอนเสิร์ต เมด อิน ไทยแลนด์ ภาค 2546 สังคายนาอิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี เสมือนการแก้ตัวจากคอนเสิร์ตครั้งนี้ด้วย ซึ่งโปสเตอร์และบัตรคอนเสิร์ตก็เป็นรูปจากการแสดงทำโดยคนไทยด้วย และการแสดงก็ได้จบลงด้วยดี[4]

ในปี พ.ศ. 2554 วอร์นเนอร์ มิวสิก ไทยแลนด์ ต้นสังกัดปัจจุบันของวงได้นำวิดีโอบันทึกการแสดงสดครั้งนี้มาจัดจำหน่ายใหม่อีกครั้งในรูปแบบดีวีดี โดยได้ตัดการโซโล่กลองก่อนเริ่มการแสดงของเป้า - อำนาจ ลูกจันทร์ ออก และเซ็นเซอร์การสูบบุหรี่ขณะเล่นกีตาร์ของเล็ก - ปรีชา ชนะภัย

และในวันที่ 19 - 20 มีนาคม ปีเดียวกัน วงคาราบาวได้จัดทำโดยคนไทยครั้งที่ 2 หรือคาราบาว เวโลโดม รีเทิร์น คอนเสิร์ต อย่างอลังการ ณ สถานที่จัดเดิม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมดนตรี 30 ปี คาราบาว และได้ออกบันทึกการแสดงในครั้งนั้นในรูปแบบวีซีดีและดีวีดีออกมาจำหน่ายด้วย และยังได้มีสมาชิกวงคาราบาวยุคคลาสสิกขึ้นคอนเสิร์ตด้วย ขาดเพียงเป้า - อำนาจ ลูกจันทร์ ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ คอนเสิร์ตครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนการแก้ตัวจากทำโดยคนไทยอีกครั้งหนึ่ง และการแสดงก็ได้จบลงด้วยดี[4]

สมาชิกที่ขึ้นเล่นคอนเสิร์ต[แก้]

ศิลปินรับเชิญ[แก้]

ลำดับการแสดง[แก้]

  1. มนต์เพลงคาราบาว
  2. ทินเนอร์
  3. มหาลัย
  4. คนเก็บฟืน
  5. ลุงขี้เมา
  6. นางงามตู้กระจก
  7. บัวลอย
  8. ราชาเงินผ่อน
  9. (กรึ๊บ) คนชอบเมา : พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ
  10. โคราช : พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ
  11. สองเฒ่าผู้ยิ่งใหญ่
  12. ลาวเดินดิน
  13. กัญชา
  14. ปลาใหญ่ ปลาน้อย
  15. ลูกหิน
  16. ลูกแก้ว
  17. เฉย : พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ
  18. จับกัง
  19. เดือนเพ็ญ
  20. หำเทียม
  21. รอยไถแปร (ร้องสด)[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. The Standard Team (2565-02-09). The Standard https://thestandard.co/onthisday0922528/. สืบค้นเมื่อ 2565-05-13. {{cite web}}: |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 บันทึกการแสดงสดทำโดยคนไทย
  3. นิตยสาร สตาร์ ออฟ แปซิฟิค ฉบับที่ 77 พ.ศ. 2528 หน้า 91
  4. 4.0 4.1 [1]เก็บถาวร 2012-04-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ย้อนยุคคาราบาวอะนาล็อกกับจลาจลที่คอนเสิร์ตเวลโลโดรม/ต่อพงษ์ จากผู้จัดการออนไลน์

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]