ข้ามไปเนื้อหา

ดิเรกสิน รัตนสิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ดิเรกสิน รัตนสิน
ดิเรกสิน สมัยเป็นนักเรียนนายร้อย
เกิด24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528
วชิรพยาบาล กรุงเทพมหานคร
เสียชีวิต3 มกราคม พ.ศ. 2555 (26 ปี)
ถนนสายบ้านคลองช้าง-บ้านเขาวัง หมู่ที่ 3 ตำบลตรัง อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี
สัญชาติไทย
อาชีพทหาร
มีชื่อเสียงจากวีรบุรุษผู้เสียชีวิตจากความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย
บิดามารดาผศ. น.สพ.ชนินทร์ รัตนสิน
ผศ.รัชดา รัตนสิน

พันตรี ดิเรกสิน รัตนสิน[1] (24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 – 3 มกราคม พ.ศ. 2555) เป็นนายทหารชาวไทยผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้[1][2]

ประวัติ

[แก้]

ชีวิตส่วนตัว

[แก้]

ดิเรกสิน รัตนสิน มีชื่อเล่นว่า เอก เกิดเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 ที่วชิรพยาบาล เป็นบุตรของผศ. น.สพ.ชนินทร์ รัตนสิน และผศ.รัชดา รัตนสิน เป็นหลานปู่ของพล.ต.อ. โอภาส รัตนสิน อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ[3] หลานย่านางรัชนี รัตนสิน ผู้อำนวยการกองพยาบาลวชิรพยาบาล และเป็นหลานตาของม.ล.ประยูร อิศรเสนา อดีตข้าราชการสำนักพระราชวัง หลานยาย นางสุดา อิศรเสนา ณ อยุธยา

ดิเรกสิน มีน้องสาว คือ ว่าที่พ.ต.หญิง ชนิศ รัตนสิน

ดิเรกสิน เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

อุปนิสัยส่วนตัว

[แก้]

พ.ต. ดิเรกสิน รัตนสิน พื้นฐานเป็นคนมีจิตใจดี บริสุทธิ์ ยุติธรรม เป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่นเสมอ ที่สำคัญมีความซื่อสัตย์สุจริต ตรงไปตรงมา รักความมีเหตุผล มีจิตใจอ่อนโยน มีเมตตา และไม่ค่อยปฏิเสธคำร้องขอความช่วยเหลือ ชอบเป็นอาสาสมัครทำงานเพื่อส่วนรวมตั้งแต่ยังเด็ก ปกติเป็นคนร่าเริง ยิ้มง่าย พูดคุยเก่ง สนุกสนาน เป็นที่พึ่งของผู้อื่นได้เสมอ เคารพรักรุ่นพี่ รักเพื่อน รักน้อง เสียสละเพื่อส่วนรวมเสมอ ชอบทำบุญ และบริจาคทรัพย์ให้กับวัดในพุทธศาสนา และศาสนาอื่นอยู่เป็นประจำ ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ไม่ชอบฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เล่นการพนัน นอกจากนี้ยังมีความจงรักภักดีต่อประเทศชาติ และพระมหากษัตริย์อย่างมั่นคง และปฏิบัติงานทุกอย่างด้วยความภาคภูมิใจเสมอมาโดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก จึงไม่แปลกใจว่าพี่เอกจึงเป็นที่รักใคร่ของผู้บังคับบัญชา และผู้ใต้บังคับบัญชารวมทั้งผู้ที่รู้จักคุ้นเคยตลอดจนชาวบ้านในพื้นที่

การศึกษา

[แก้]

ขณะศึกษาที่โรงเรียนเตรียมทหาร

[แก้]

เมื่อครั้งอยู่ที่โรงเรียนเตรียมทหารคุณพ่อคุณแม่เฝ้ารอการกลับบ้านครั้งแรกของลูกอย่างใจจดใจจ่อด้วยความคิดถึงมาก เพราะไม่เคยให้จากไปอยู่ที่อื่นมาก่อนในชีวิต เมื่อลูกกลับมาเห็นหน้าลูกก็ดีใจ แต่เห็นลูกผิวดำคล้ำไปมากและท่าทางลูกเปลี่ยนไปมาก ตอนนั้นคุณพ่อคุณแม่ลังเลใจมากว่า ตัดสินใจให้ลูกเรียนที่นี่จะดีแน่หรือไม่ เพราะเห็นว่าลูกต้องฝึกหนักมากและทางบ้านก็ไม่เคยเลี้ยงลูกมาแบบนี้เลย อยู่บ้านลูกมีพร้อมทุกอย่างมีชีวิตที่สุขสบาย ทุกเรื่องไม่เคยต้องเจอกับความยากลำบากพ่อแม่จึงเพียรถามลูกว่าจะลาออกไหม เพราะพ่อแม่ไม่เสียใจที่ลูกจะออก และอันที่จริงพ่อแม่เองก็บอกจะไปลาออกที่โรงเรียนหลายครั้ง จนลูกร้องไห้ขอร้องว่าลูกจะไม่ลาออกขอเรียนต่อที่นี่ไม่ออกไปไหน พ่อแม่ก็บอกว่าเมื่อลูกตัดสินใจแบบนั้นพ่อแม่ก็ต้องยอม พ่อแม่ก็เห็นใจในความมานะอดทนของลูก จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร และไปศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

ขณะศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

[แก้]

ก่อนที่จะมาอยู่โรงเรียนนายร้อยพ่อแม่เคยบอกพี่เอกว่าจบเตรียมทหารแล้วมาสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็ได้ แต่พี่เอกไม่สอบโดยกล่าวว่ามีเพื่อนรุ่นเดียวกันมาสอบแล้วก็สอบได้คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่พี่เอกจะเรียนนายร้อยถ้าพี่เอกมาสอบแล้วสอบได้กลัวว่าพ่อแม่จะบังคับให้เรียนมหาวิทยาลัย เมื่อเรียนในชั้นปีที่ 1 พี่เอกฝึกหนักมาก จนพ่อแม่บอกว่าถ้าจะลาออกพ่อแม่ก็ยินดี และหาที่เรียนใหม่ได้ แต่พี่เอกกลับบอกว่า

ถึงจะโดนหนักยิ่งกว่านี้ก็ไม่มีวันลาออก และถ้านักเรียนคนไหนคิดจะลาออกก็คงต้องอายพี่เอกเพราะพี่เอกโดนหนักสุดๆยังไม่คิดจะออก ขนาดพี่เอกมีพ่อแม่เลี้ยงมาขนาดนี้แทบจะเป็นคุณหนูอยู่แล้วยังอดทนได้เลย คนอื่นก็ต้องอดทนได้

เมื่อลูกพูดเช่นนี้พ่อแม่และญาติพี่น้องก็ยอมรับว่าลูกนั้นกล้าหาญและอดทนมากตลอดจนยอมเสียสละความสุขสบายส่วนตัวเพื่ออุดมการณ์ที่แน่วแน่พี่เอกปฏิบัติหน้าที่หลายอย่างในสมัยเป็นนักเรียนนายร้อย บางครั้งเป็นงานทางด้านพัฒนาชุมชน ช่วยเหลือชาวบ้าน หาตลาดส่งผลิตภัณฑ์มาจำหน่าย เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า นอกจากนี้พี่เอกยังมีความรู้ดีทางด้านภาษาอังกฤษมีความเชี่ยวชาญดีกว่าเด็กผู้ชายคนอื่น ๆ ทั่วไป และเคยพูดอย่างภูมิใจว่า “พี่เอกเป็นลูกแม่” พี่เอกต้องการรักษาชื่อเสียง เพราะพี่เอกภูมิใจว่าแม่จบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงต้องพยายามรักษาความสามารถทางภาษาอังกฤษนี้ไว้ ในเวลาต่อมาพี่เอกเป็นประธานชมรมตรีเพชรและพี่เอกได้จัดทำเอกสารประกอบภาพการฝึกการใช้อาวุธพร้อมคำอธิบาย โดยมีจุดประสงค์ว่าจะทำไว้เพื่อให้นักเรียนรุ่นหลัง ๆ ได้ใช้เป็นตำราและยังหาซื้ออุปกรณ์ข้าวของต่าง ๆ มาใช้เพื่อให้การฝึกมีประสิทธิภาพ ครอบครัวเห็นว่าพี่เอกทุ่มเททั้งกายทั้งใจทำหน้าที่ให้ดีในทุกๆเรื่องเมื่อครั้งเป็นนักเรียนนายร้อยทำงานทุกอย่างโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยเสมอมา

ลำดับการศึกษา

[แก้]

หลักสูตรทหาร

[แก้]

ดิเรกสิน รัตนสิน ได้ผ่านหลักสูตรทหาร คือ

  • หลักสูตรส่งทางอากาศ รุ่นที่ 249/49
  • หลักสูตรปฐมนิเทศนายทหารใหม่ รุ่นที่ 30
  • หลักสูตรจู่โจม รุ่นที่ 91/51

การทำงาน

[แก้]

ดิเรกสิน รัตนสิน เคยดำรงตำแหน่ง ดังนี้

  • พ.ศ. 2552 : ผู้บังคับหมวดปืนเล็ก กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 153 ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี (ว่าที่ร้อยตรี)
  • พ.ศ. 2552 : ผู้บังคับการหมวดปืนเล็กสังกัดหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 24 ที่อำเภอโคกโพธิ์ (ตำแหน่งในสนาม)
  • พ.ศ. 2553 : รองผู้บังคับกองร้อยอาวุธเบาที่ 3 กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 153 ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี (ร้อยโท)
  • พ.ศ. 2553 : รองผู้บังคับกองร้อย ฐานปฏิบัติการทหารราบที่ 15312 หน่วยเฉพาะกิจปัตตานีที่ 25 (ตำแหน่งในสนาม)

การเสียชีวิต

[แก้]

พ.ต. ดิเรกสิน รัตนสิน เสียชีวิตจากเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดแสวงเครื่องใต้พื้นถนนสายบ้านคลองช้าง-บ้านเขาวัง หมู่ที่ 3 ตำบลตรัง อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี พร้อมกับส.อ. ยุธยา จำปามี เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2555 ก่อนวันครบรอบ 8 ปี เหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส 1 วัน[4] โดยหลังเกิดเหตุได้มีการเคลื่อนศพของทั้งสองมายังค่ายอิงคยุทธบริหาร และกองทัพบกได้ส่งร่างของ

พ..ดิเรกสินมาบำเพ็ญกุศล ณ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร[5] ในการนี้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2555 ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร[1][6]

เหตุการณ์หลังเสียชีวิต

[แก้]

หลังการเสียชีวิตของพ.ต. ดิเรกสิน รัตนสิน กลุ่มชุมชนในเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้มีการสร้างเพจในเฟซบุ๊ก เพื่อระลึกถึง พร้อมทั้งตั้งคำถามถึงการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้แสดงความไว้อาลัยทั้งในเพจดังกล่าวและหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัวของพ.ต. ดิเรกสินจำนวนมาก นอกจากนี้ในหน้าเพจเพื่อระลึกถึงดังกล่าวยังมีข้อความแสดงความอาลัยจากเพื่อนร่วมรุ่น และข้อความที่โพสต์โดยตัวพ.ต. ดิเรกสินเอง หนึ่งในนั้นมีความที่โพสต์ไว้เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ความว่า[7]

บางคนถามผมว่าผมอยู่เพื่ออะไรผมเองก็ตอบไม่ค่อยถูก แต่ถ้าถามว่าผมตายเพื่ออะไร คำตอบของผมคงเหมือนกันกับทหารทุกคน คือตายเพื่อรักษาอธิปไตยของชาติ และเพื่อปกป้องราชวงศ์พงศ์จักรี

รางวัลที่ได้รับ

[แก้]
  • รางวัลจักรดาวสดุดีประจำปี พ.ศ. 2555[8]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 หมายรับสั่ง ที่ 6820 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2555
  2. ราชกิจจานุเบกษา ฉบับทะเบียนฐานันดร ฯ เล่ม ๑๒๙ ตอน ๓๗ ข (หน้า ๑๘ ลำดับที่ ๑๐๓)
  3. รดน้ำศพ 2 ทหารกล้าเหยื่อโจรใต้[ลิงก์เสีย] โพสต์ทูเดย์ เรียกดูข้อมูล 8 มกราคม 2555
  4. โจรใต้บึ้มดับ “ส.อ.-ร.ท.” อนาคตไกลขณะไปมอบกระเช้าปีใหม่ เก็บถาวร 2012-01-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ผู้จัดการออนไลน์ เรียกดูข้อมูล 4 มกราคม 2555
  5. รดน้ำศพ “ร.ท.ดิเรกสิน”-“ส.อ.ยุธยา” 2 ทหารกล้าก่อนส่งศพกลับภูมิลำเนาเที่ยงวันนี้ เก็บถาวร 2012-01-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ผู้จัดการออนไลน์ เรียกดูข้อมูล 5 มกราคม 2555
  6. หนังสือสำนักราชเลขาธิการ ที่ รล 0010/785 ลงวันที่ 24 มกราคม 2555
  7. กลุ่มเฟสบุ๊คไว้อาลัยวีรบุรุษ 'ร.ท.ดิเรกสิน' เก็บถาวร 2013-02-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ เรียกดูข้อมูล 5 มกราคม 2555
  8. "นักเรียนเตรียมทหาร - มูลนิธิศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมทหาร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-10-25. สืบค้นเมื่อ 2019-04-11.
  9. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชการชายแดน, เล่ม ๑๒๙ ตอนที่ ๑๔ ข หน้า ๑, ๒๕ เมษายน ๒๕๕๕