จินเจอร์เอล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จินเจอร์เอล
จินเจอร์เอลแบบดั้งเดิม
ประเภทเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์
ภูมิภาคต้นกำเนิดไอร์แลนด์เหนือ และแคนาดา
เปิดตัว1851 (ดั้งเดิม) and 1904 (ดราย)
สีทอง
รสชาติขิง

จินเจอร์เอล (อังกฤษ: ginger ale) เป็นเครื่องดื่มอัดลมรสขิง ใช้ดื่มโดยตรงหรือใช้ผสมร่วมกับเครื่องดื่มซึ่งส่วนมากมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบหลัก จินเจอร์เอลมีสองประเภทหลักคือ แบบดั้งเดิมมีสีเข้ม (ทอง) ซึ่งคิดค้นโดยโทมัส โจเซฟ แคนเทรล แพทย์ชาวไอริช และแบบดราย (เรียกอีกอย่างว่าแบบ เพล) ที่มีสีซีดกว่าและมีรสขิงอ่อนกว่ามาก คิดค้นโดยจอห์น แมคลาฟกลิน ชาวแคนาดา

ประวัติ[แก้]

โทมัส โจเซฟ แคนเทรล (Thomas Joseph Cantrell) เภสัชกรและศัลยแพทย์ชาวไอริชได้ผลิตจินเจอร์เอลแห่งแรกในเมืองเบลฟาสต์ ประเทศไอร์แลนด์ในช่วงทศวรรษที่ 1850 เป็นจินเจอร์เอลแบบดั้งเดิมที่มีสีเหลืองเข้มหรือสีทองจากการหมักขิง โดยทั่วไปมักมีรสออกหวานและกลิ่นขิงที่เข้มข้น ซึ่งแคนเทรลทำการตลาดและจำหน่ายผ่านแกรททันแอนด์คัมพะนี[1] ผู้ผลิตเครื่องดื่มในท้องถิ่น โดยสลักสโลแกน "ผู้ผลิตดั้งเดิมของจินเจอร์เอล" ("The Original Makers of Ginger Ale") ไว้บนขวด[2]

จินเจอร์เอลแบบดรายคิดค้นโดยจอห์น แมคลาฟลิน (John J. McLaughlin) นักเคมีและเภสัชกรชาวแคนาดา[3] หลังจากก่อตั้งโรงงานผลิตน้ำโซดาบรรจุขวดในปี 1890 แมคลาฟลินเริ่มพัฒนาสารหอมสกัดเพื่อเติมลงในน้ำในปี 1904 ในปีนั้นเขาจัดจำหน่ายเครื่องดื่มชนิดใหม่ "เพลดรายจินเจอร์เอล" (Pale Dry Ginger Ale) เครื่องดื่มอัดลมที่จดสิทธิบัตรต่อมาในปี 1907 ในชื่อ "แคนาดาดรายจินเจอร์เอล" (Canada Dry Ginger Ale) จากความสำเร็จของผลิตภัณฑ์ของแคนาดาดรายได้รับการยอมรับจากการตั้งให้เป็นเครื่องดื่มประจำเรือนรับรองของผู้สำเร็จราชการแคนาดา จินเจอร์เอลแบบดรายยังได้รับความนิยมในสหรัฐอเมริกาในช่วงยุคห้ามการจำหน่ายสุรา โดยใช้เป็นส่วนผสมแทนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์[ต้องการอ้างอิง]

ชนิดและการผลิต[แก้]

แบบหมัก[แก้]

จินเจอร์เอลแบบหมักหรือแบบดั้งเดิม (หมักลอยผิว) หมักจากการเพาะจุลินทรีย์ต้นเชื้อ ซึ่งได้แก่ ยีสต์ (หัวเชื้อ หรือเรียก ลูกแป้ง) หรือจินเจอร์บั๊ก (ขิงที่หมักก่อนหน้า) เข้ากับเหง้าขิงสด และเติมน้ำ น้ำตาล โดยอาจแต่งรสชาติอื่น ๆ

จินเจอร์บั๊กคือ ส่วนผสมของขิงสับและน้ำตาลที่ใช้ในการขยายพันธุ์ยีสต์และแบคทีเรียที่พบในผิวของขิง อาจใช้แทนยีสต์เชิงพาณิชย์ได้[4] น้ำตาลไม่ได้เติมเพียงเพื่อความหวาน แต่เติมเพื่อให้เกิดการหมักอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากปริมาณน้ำตาลธรรมชาติของขิงที่ต่ำ (มีน้ำตาล 1.7 กรัม ต่อขิง 100 กรัม) ไม่เพียงพอต่อการหมัก[5] เช่นเดียวกับเครื่องดื่มหมักอื่น ๆ น้ำตาลที่หมักด้วยยีสต์จะถูกเปลี่ยนให้เป็นเอทานอลและคาร์บอนไดออกไซด์[6] ทั้งสองอย่างนี้จะถูกกักเก็บไว้ระหว่างการหมักภายในภาชนะที่ปิดสนิท

แบบเติมคาร์บอนไดออกไซด์[แก้]

นอกจากการหมักแล้ว โดยทั่วไปผู้ผลิตจินเจอร์เอลส่วนใหญ่มักเติมคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปเช่น เติมน้ำโซดา แล้วนำไปแช่เย็นเพื่อให้คาร์บอนไดออกไซด์ดูดซึมเข้าไปในเอลมากขึ้น[7] จากนั้นอาจเติมสารสประกอบที่เป็นด่าง (อัลคาไลน์) ได้แก่ โซเดียมไบคาร์บอเนต เพื่อปรับพีเอช (ลดความเป้นกรด) สุดท้ายอัดคาร์บอนไดออกไซด์อีกครั้งในปริมาณที่เกินกว่าต้องการเล็กน้อย เพื่อเผื่อในการะเหยออกขณะบรรจุลงถังเก็บและเมื่อผ่านเครื่องบรรจุขวด[7]

พ.ศ. 2459 โฆษณาโทรอนโตสตาร์สำหรับเบียร์ขิงแห้งของแคนาดา 1916 Toronto Star ad for Canada Dry ginger ale

จินเจอร์เอลที่ขายโดยทั่วไปมักผสมด้วยน้ำอัดลม น้ำตาลหรือน้ำเชื่อมข้าวโพดฟรักโทสสูง และรสขิงเทียมหรือขิงธรรมชาติ ส่วนผสมของขิงหรือรสขิงที่เติมลงไปมักได้รับการระบุบนฉลากว่า "กลิ่นธรรมชาติ" หรือ "แต่งกลิ่นธรรมชาติ" เพื่อรักษาความลับของส่วนผสมซึ่งมักเป็นส่วนผสมที่ซับซ้อนของเครื่องเทศ ผลไม้ และรสชาติอื่น ๆ[ต้องการอ้างอิง]

การใช้ประโยชน์[แก้]

เป็นเครื่องดื่ม[แก้]

จินเจอร์เอลได้รับความนิยมในเป็นดื่มเป็นน้ำอัดลม และการใช้ผสมเป็นมิกเซอร์ในค็อกเทลและพั้นช์ บางครั้งใช้เป็นเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์แทนการดื่มแชมเปญหรือเบียร์สำหรับผู้ไม่ดื่มเหล้าหรือใช้ประกอบการแสดงเนื่องมีสีและฟองที่คล้าย ๆ กัน

เป็นเครื่องบรรเทาอาการอาหารไม่ย่อย[แก้]

ในประเทศทางตะวันตก มักใช้จินเจอร์เอลเป็นยาประจำบ้านสําหรับบรรเทาอาการอาหารไม่ย่อย[8] และอาการเมารถ[9] เฉกเช่นผลิตภัณฑ์จากขิงอื่น ๆ รวมทั้งเครื่องดื่มอัดลมอื่นที่ไม่ได้ปรุงแต่งด้วยขิง นอกจากนี้ยังใช้จินเจอร์เอลเพื่อบรรเทาอาการไอและเจ็บคอ[10]

จินเจอร์เอลและจินเจอร์เบียร์[แก้]

จินเจอร์เอลและจินเจอร์เบียร์เป็นเครื่องดื่มที่คล้ายกัน แต่ต่างกันอย่างชัดเจนในขั้นตอนการผลิต จินเจอร์เบียร์ได้รับการผลิตในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ในประเทศอังกฤษ ประมาณ 50 ปีก่อนหน้าการผลิตจินเจอร์เอลที่เริ่มในประเทศไอร์แลนด์

จินเจอร์เอลนั้นโปร่งใส ในขณะที่จินเจอร์เบียร์ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่มีรสชาติเข้มข้นกว่านั้นมักค่อนข้างขุ่นทึบจากสิ่งตกค้างจากการต้มเบียร์ จินเจอร์เบียร์แบบดั้งเดิมมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบร้อยละ 11 และจินเจอร์เบียร์ในปัจจุบันมีแอลกอฮอล์ร้อยละ 0.5 ในขณะที่จินเจอร์เอลในปัจจุบันไม่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่เลย[11]

จินเจอร์เบียร์ทำจากขิง น้ำมะนาว และน้ำตาล แล้วหมักด้วยเชื้อหมัก โดยมากคือแลกโตบาซิลลัส ซึ่งผลของการหมักที่ได้มักเป็นของเหลวที่ขุ่น ทึบ รสที่กระด้างกว่าและเผ็ดกว่า เทียบกับจินเจอร์เอลซึ่งมีรสบางเบาออกหวาน[12]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "THE SPARKLING HISTORY OF CANTRELL & COCHRANE". Let's Look Again. November 2016. สืบค้นเมื่อ October 19, 2018.
  2. "Federation of Historical Bottle Collectors" (PDF). FOHBC. สืบค้นเมื่อ 2013-10-03.
  3. "Canadian food firsts". Canadian Geographic. มกราคม–กุมภาพันธ์ 2002. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ มิถุนายน 24, 2013. สืบค้นเมื่อ ตุลาคม 31, 2012.
  4. Graham, Colleen. "Make a Ginger Bug for Healthy Homemade Sodas". The Spruce Eats. Dotdash. สืบค้นเมื่อ 29 July 2020.
  5. "Food Composition Databases Show Foods -- Ginger root, raw". ndb.nal.usda.gov (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2018-08-09.
  6. "How to Make Alcoholic Ginger Ale". Homebrewing Learn Center (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2016-06-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-08-09. สืบค้นเมื่อ 2018-08-09.
  7. 7.0 7.1 "How soft drink is made - production process, making, history, used, product, industry, machine". www.madehow.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2018-08-09.
  8. Geographic, National (2014). National Geographic Complete Guide to Natural Home Remedies: 1,025 Easy Ways to Live Longer, Feel Better, and Enrich Your Life (ภาษาอังกฤษ). National Geographic Books. p. 28. ISBN 9781426212604.
  9. Naranjo, Ralph (2014-09-12). The Art of Seamanship: Evolving Skills, Exploring Oceans, and Handling Wind, Waves, and Weather (ภาษาอังกฤษ). McGraw Hill Professional. pp. 66–67. ISBN 9780071791588.
  10. "Ginger for Sore Throat: Benefits, Uses, and Recipe". Healthline (ภาษาอังกฤษ). August 10, 2018. สืบค้นเมื่อ 2019-08-18.
  11. "What's the Difference Between Ginger Beer and Ginger Ale?". Town & Country (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2018-02-13. สืบค้นเมื่อ 2018-08-09.
  12. "Ginger Beer vs Ginger Ale: Which One Should You Use?". Advanced Mixology. สืบค้นเมื่อ 2019-08-18.