คูนิอูมิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ในประมวลเรื่องปรัมปราญี่ปุ่น คูนิอูมิ (ญี่ปุ่น: 国生み, การกำเนิดประเทศ) เป็นความเชื่อและตำนานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการอุบัติขึ้นของหมู่เกาะญี่ปุ่น ดังที่ถูกบรรยายไว้ในโคจิกิและนิฮงโชกิ อ้างตามตำนานดังกล่าว หลังการกำเนิดสวรรค์และโลก เทพอิซานางิและอิซานามิถูกมอบหมายภารกิจให้สร้างหมู่เกาะที่ที่จะกลายเป็นญี่ปุ่นในเวลาต่อมา ในประมวลเรื่องปรัมปราญี่ปุ่น หมู่เกาะนี้คือโลกที่เรารู้จัก การกำเนิดเทพเจ้า (คามิอูมิ) เกิดตามมาหลังการกำเนิดญี่ปุ่น

เรื่องราวการสร้าง[แก้]

อ้างอิงตามโคจิกิ[แก้]

อิซานางิ (ขวา) และ อิซานามิ (ซ้าย) ขณะรวมโลกเป็นหนึ่งด้วยหอกอาเมะ-โนะ-นูโบโกะ ภาพวาดโดยเอตาคุ โคบายาชิ (ยุคเมจิ)

หลังการก่อเกิด ได้มีสวรรค์อยู่บนเหนือโลก ในขณะที่โลกยังเป็นก้อนเหลวนุ่มฟุ้ง ปฐมเทพทั้งห้า ซึ่งถูกเรียกขานว่า โคโตอมัตสึคามิ (別天津神, "เทพต่างสวรรค์") อันเป็นเอกเทพ ไร้เพศ[1] และไม่สืบพันธุ์ หลังจากนั้น คามิโยะนานาโยะ (神世七代, "รุ่นศักดิ์สิทธิ์ทั้งเจ็ด") ซึ่งประกอบด้วย เอกเทพสององค์ ตามด้วยเทพอีกห้าคู่ ได้ถือกำเนิดขึ้น ต่อมา เทพโบราณได้มอบหมายเทพสามีภรรยาที่เยาว์วัยที่สุด อิซานางิ และ อิซานามิ ให้ดำเนินอาณัติอันทรงเกียรติ นั่นคือ ให้ลงมาจากสวรรค์และประทานรูปร่างอันมั่นคงบนผืนแผ่นดิน

ในการดำเนินการ เทพโบราณได้มอบหอกอันประดับด้วยหินล้ำค่านาม อาเมะ-โนะ-นูโบโกะ (天沼矛, "หอกประดับอัญมณีสวรรค์") เมื่อนั้น พวกเขาจึงขึ้นไปยืนอยู่เหนือสะพานอาเมะ-โนะ-อูกิฮาชิ (天浮橋, "สะพานลอยแห่งสวรรค์") และปั่นมวลอันไร้ระเบียบด้วยหอก จนหยดน้ำเค็มหยดลงจากปลายหอก ได้ก่อเกิดเป็นเกาะ ๆ แรกนาม โอโนโกโระชิมะ ต่อมา เทพทั้งสองได้ลงจากสวรรค์มาบนเกาะนั้น แล้วก่อเสาเอก[2] เรียกว่า อาเมะ-โนะ-มิฮาชิระ (天御柱, "เสาสวรรค์") เพื่อรองรับ "โถงขนาดแปดฟาทอม" ที่เป็นเหตุให้เทพปรากฏตัวในภายหลัง[1][3][4][5]

จากนั้นพวกเขาเริ่มสนทนาไต่ถามเกี่ยวกับร่างกายของแต่ละฝ่าย นำไปสู่การยิมยอมในการสืบพันธุ์[4]

อิซานางิ:

ร่างกายของเจ้าถูกสร้างมาได้เช่นไร[nb 1]

อิซานามิ:

ร่างกายของฉันเป็นรูปร่างแล้ว เว้นแต่ส่วนหนึ่งอันมิได้เจริญนัก[nb 2]

อิซานางิ:

ร่างกายของข้าเป็นรูปร่างแล้ว เว้นแต่ส่วนหนึ่งอันเจริญเกินไปนัก หากข้านำส่วนที่เจริญของข้า เสียบไปยังส่วนที่ยังมิได้เจริญของเจ้า เราจักสร้างผืนแผ่นดินและบ้านเมืองขึ้นมาได้ เจ้ามีความเห็นเช่นไร[nb 3]

อิซานามิยอมรับข้อเสนอ และอิซานางิได้เสนอต่อว่าทั้งคู่ควรวนรอบเสา อาเมะ-โนะ-มิฮาชิระ ในทิศทางตรงกันข้าม โดยให้อิซานามิไปทางขวาและอิซานางิไปทางซ้าย เมื่อต่างฝ่ายต่างพบกันแล้วก็จะมีเพศสัมพันธ์กัน (ญี่ปุ่น: 麻具波比โรมาจิmaguwai) อย่างไรก็ตาม เมื่อพวกเขาพบกันที่อีกด้านหนึ่งของเสา อิซานามิเป็นคนแรกที่พูด กล่าวว่า "โอ ท่านเป็นหนุ่มรูปงามและใจดีโดยแท้!" และอิซานางิตอบกลับมาว่า "โอ้ ช่างเป็นสาวที่งดงามและอ่อนโยนเสียนี่กระไร!" อย่างไรเสีย อิซานางิได้ตำหนิอิซานามิที่อิซานามิในฐานะภรรยา เป็นฝ่ายพูดก่อนเขา

แต่พวกเขาก็มีเพศสัมพันธ์กันอยู่ดี และได้กำเนิดบุตรนาม ฮิรูโกะ (แปลตรงตัว "เด็กปลิง") แต่ด้วยความที่เกิดมาอ่อนแอ จึงถูกปล่อยลงบนแพที่ทำจากหญ้าแห้ง และให้กระแสน้ำทะเลพัดไป[nb 4] หลังจากนั้นพวกเขาได้มีลูกนาม "อาวะชิมะ" (淡島, ตรงตัว. "เกาะฟอง") โดยทั้ง ฮิรูโกะ และ อาวะชิมะ ไม่ถูกนับว่าเป็นบุตรโดยชอบธรรมของอิซานางิและอิซานามิ

อิซานางิและอิซานามิตัดสินใจขึ้นไปบนสวรรค์และปรึกษาเทพดั้งเดิม ณ ทาคามากาฮาระ ถึงการกำเนิดบุตรที่ไม่ได้แข็งแรงนัก เทพเจ้าทั้งหลายได้ยืนยันจากการทำนายว่า การที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายพูดก่อนเป็นต้นเหตุ เมื่อได้ความฉะนั้น ทั้งคู่จึงกลับไปยังโอโนโกโระชิมะและทำพิธีกรรมเช่นเดิม แตกต่างเพียงคราวนี้อิซานางิเป็นฝ่ายพูดก่อน เมื่อเสร็จสิ้นพิธี พื้นดินได้อุบัติขึ้น ถือเป็นอันประสบความสำเร็จ[6]

กำเนิดเกาะ[แก้]

อ้างอิงตามตำนาน การกำเนิดประเทศญี่ปุ่นเริ่มต้นจากเกาะใหญ่ 8 เกาะโดยอิซานางิและอิซานามิ สามารถเรียงตามลำดับการเกิดได้ดังนี้[6]

  1. อาวาจิ-โนะ-โฮะ-โนะ-สาวาเกะ-โนะ-ชิมะ (淡道之穂之狭別島, Awaji-no-ho-no-sawake-no-shima) ปัจจุบันคือ เกาะอาวาจิ
  2. อิโยะ-โนะ-ฟูตานะ-โนะ-ชิมะ (伊予之二名島, Iyo-no-futana-no-shima) ปัจจุบันคือ เกาะชิโกกุ โดยเกาะนี้สามารถแบ่งเป็นอีกสี่ส่วนได้แก่
  3. โอกิ-โนะ-มิสึโกะ-โนะ-ชิมะ (隠伎之三子島, Oki-no-mitsugo-no-shima) ปัจจุบันคือ หมู่เกาะโอกิ
  4. สึคูชิ-โนะ-ชิมะ (筑紫島, Tsukushi-no-shima) ปัจจุบันคือ เกาะคีวชู โดยเกาะนี้สามารถแบ่งเป็นอีกสี่ส่วนได้แก่
  5. อิกิ-โนะ-ชิมะ (伊伎島, Iki-no-shima) ปัจจุบันคือ เกาะอิกิ
  6. สึ-ชิมะ (津島, Tsu-shima) ปัจจุบันคือ เกาะสึชิมะ
  7. ซาโดะ-โนะ-ชิมะ (佐度島, Sado-no-shima) ปัจจุบันคือ เกาะซาโดะ
  8. โอโยยามาโตโตโยอากิสึ-ชิมะ (大倭豊秋津島, Ohoyamatotoyoakitsu-shima) ปัจจุบันคือ เกาะฮนชู

ตามเนื้อผ้าแล้วนั้น เกาะเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันในนาม โอยาชิมะ (ตรงตัว. "แปดเกาะใหญ่") และนับรวมทั้งหมดว่าเป็นประเทศญี่ปุ่นที่เรารู้จักในปัจจุบัน ในตำนานจะไม่กล่าวถึงฮกไกโดหรือหมู่เกาะรีวกีวเลยแม้แต่น้อย เพราะในขณะรวบรวมโคจิกิ ชาวญี่ปุ่นยังไม่รู้ถึงการมีอยู่ของเกาะเหล่านั้นเลยด้วยซ้ำ[6]

นอกเหนือจากเกาะข้างต้น อิซานางิและอิซานามิยังให้กำเนิดเกาะอีก 6 เกาะ ดังนี้[6][7]

  1. คิบิ-โนะ-โคจิมะ (吉備児島, Kibi-no-kojima) คาบสมุทรโคจิมะ [ja] แห่งแคว้นคิบิ (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดโอกายามะ)
  2. อาซูกิ-จิมะ (小豆島, Azuki-jima) ปัจจุบันคือ เกาะโชโดชิมะ
  3. โอโฮ-ชิมะ (大島, Oho-shima) ปัจจุบันคือ เกาะซุโอ-โอชิมะ
  4. ฮิเมะ-จิมะ (女島, Hime-jima) ปัจจุบันคือ เกาะฮิเมะชิมะ
  5. ชิกะ-โนะ-ชิมะ (知訶島, Chika-no-shima) ปัจจุบันคือ หมู่เกาะโกโต
  6. ฟูตาโกะ-โนะ-ชิมะ (両児島, Futago-no-shima) ปัจจุบันคือ หมู่เกาะดันโจะ

อ้างอิงตามนิฮงโชกิ[แก้]

เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้จะแตกต่างตรงที่ อิซานางิและอิซานามิอาสาไปรวมผืนแผ่นดินเอง ยิ่งไปกว่านั้น เทพทั้งสองถูกอธิบายเอาไว้ว่าเป็น "เทพแห่งหยาง" (陽神 youshin, เทพบุตร) และ "เทพแห่งหยิน" (陰神 inshin, เทวธิดา) ซึ่งมาจากอิทธิพลของทฤษฎีหยิน-หยาง เรื่องราวนอกเหนือจากนี้ เหมือนกันแทบทุกประการ ยกเว้นเสียแต่เรื่องที่เทพสวรรค์องค์อื่น (โคโตอมัตสึคามิ) ไม่ปรากฏตัวและเรื่องของการกำเนิดเกาะเล็กอีกหกเกาะที่กำเนิดโดยอิซานางิและอิซานามิ

หมายเหตุ[แก้]

  1. 「汝身者如何成也」 (ในภาษาญี่ปุ่นเก่า); 「あなたの体はどのようにできていますか」 (ถอดความใน ภาษาญี่ปุ่นปัจจุบัน). โคจิกิ.
  2. 「妾身層層鑄成 然未成處有一處在」 (ในภาษาญี่ปุ่นเก่า); 「私の体には、成長して、成長していないところが1ヶ所あります」 (ถอดความในภาษาญี่ปุ่นปัจจุบัน). โคจิกิ.
  3. 「吾身亦層層鑄也 尚有凸餘處一 故以此吾身之餘處 刺塞汝身之未成處 為完美態而生國土 奈何」 (ในภาษาญี่ปุ่นเก่า); 「私の体には、成長して、成長し過ぎたところが1ヶ所あります。そこで、この私の成長し過ぎたところで、あなたの成長していないところを刺して塞いで、国土を生みたいと思います。生むのはどうですか。」 (ถอดความในภาษาญี่ปุ่นปัจจุบัน). โคจิกิ.
  4. ตำนานในเวลาต่อมากล่าวถึงการกลายเป็นพระเจ้าของเขานาม เอบิซุ ซึ่งเรื่องราวนี้ไม่ได้ถูกกล่าวถึงในโคจิกิ

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 小向, 正司 (1992). 神道の本. Books Esoterica. Vol. 2. 学研. p. 27.(zasshi code 66951-07; kyōtsu zasshi code T10-66951-07-1000)
  2. Takeda (武田 1996, p. 22 n6)
  3. Chamberlain 2008, p. 73
  4. 4.0 4.1 Chamberlain 2008, p. 74
  5. 武田, 祐吉 (Yūkichi Takeda) (1996) [1977]. 中村啓信 (บ.ก.). 新訂古事記. 講談社. pp. 21–25. ISBN 4-04-400101-4.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 Chamberlain 2008, p. 75
  7. Chamberlain 2008, p. 76

บรรณานุกรม[แก้]