ขุนการัญสิขภาร (ทุเรียน ทัพภะพยัคฆ์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ขุนการัญสิกขภาร)

ขุนการัญสิขภาร (ทุเรียน ทัพภะพยัคฆ์) เป็นบุคคลสำคัญของจังหวัดนนทบุรี จากประวัติการรับราชการอันยาวนานและคุณงามความดีที่ท่านทำไว้ ท่านเป็นบุคคลสำคัญด้านการศึกษาที่ได้วางรากฐานให้กับการศึกษาของจังหวัดนนทบุรี

กำเนิด[แก้]

ขุนการัญสิขภาร เป็นราชทินนามของ นาย ทุเรียน ทัพภะพยัคฆ์ เกิดเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2431 ที่ตำบลบ้านปลายนา อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรคนที่ 2 ของนายดิศ ทัพภะพยัคฆ์ และนางมุ่ย ทัพภะพยัคฆ์

อุปสมบท ณ วัดกระโดงทอง อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2452 โดยมีพระพรหมมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ อุปสมบทอยู่เต็ม 1 พรรษา ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมตามสมควร แล้วลาสิกาบท เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452 สมรสกับนางสาวบุญมา เดชสาท บุตรีนายปลื้ม นางบุญมี เดชสาท คหบดีชาวสวนทุเรียน ณ บ้านตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี

การศึกษา[แก้]

เมื่อมีอายุอยู่ในวัยที่เล่าเรียนได้ บิดา-มารดาส่งเข้าเรียนวิชาภาษาไทยที่โรงเรียนกระโดงทอง อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ครั้นอายุได้ 9 ขวบ บิดา-มารดาจึงส่งเข้ามาศึกษาเล่าเรียนในกรุงเทพฯ ที่โรงเรียนกล่อมพิทยากร จังหวัดพระนคร เรียนอยู่ 4 ปี สอบไล่ได้ประโยค 2 ชั้น 1 จึงไปศึกษา ต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร โดยมีเลขประจำตัว 458 สอบไล่ได้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 แล้วย้ายไปเรียนที่โรงเรียนมัธยมวัดราชบูรณะ กรุงเทพมหานคร จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 2447 อายุ 17 ปี ด้วยใจรักการเป็นครู จึงสมัครไปศึกษาวิชาครู ณ โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ มีเลขประจำตัว 346 ใน พ.ศ. 2448-2449 สอบไล่ได้ประกาศนียบัตรประโยคครูมูลสามัญ พร้อมกับนักเรียนฝึกหัดอาจารย์ที่ได้ประกาศนียบัตรเช่นเดียวกัน 17 คน ต่อจากนั้นก็ฝึกฝนตนเองจนได้ประกาศนียบัตรครูประถมสามัญ (ป.ป) เมื่อ พ.ศ. 2450

รับราชการ[แก้]

เริ่มเข้ารับราชการเป็นครูโรงเรียนประถมวัดสุทัศน์ จังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450 โดยได้รับเงินเดือน 30 บาท แล้วย้ายไปรับราชการครูโรงเรียนมัธยมราชบูรณะ จังหวัดพระนคร เงินเดือน 35 บาท ต่อมาอีก 1 ปี ก็ย้ายมาดำรงตำแหน่งครูโรงเรียนกล่อมพิทยากร เงินเดือน 40 บาท แล้วในปีเดียวกันนั้นเองก็ย้ายมาดำรงตำแหน่งครูโรงเรียนวัดราชบพิธ จังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2452 เงินเดือน 45 บาท

หลังจากได้ลาสิกขาบทแล้วจึงย้ายมารับราชการครูที่จังหวัดนนทบุรี ได้รับการเลื่อนตำแหน่งหน้าที่ราชการ คือ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2453 ดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม รับเงินเดือน 50 บาท

พนักงานจัดการประจำเมืองนนทบุรี[แก้]

ใน พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดตั้งองค์การลูกเสือขึ้นในประเทศไทย ครูทุเรียนซึ่งขณะนั้นมียศเป็นราชบุตรแล้วก็ได้ไปรับการอบรมเป็นผู้กำกับและรองผู้กำกับลูกเสือแผนกลักษณะปกครองลูกเสือ ได้สอบไล่เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2454 ในจำนวนผู้สอบ 200 คน จังหวัดนนทบุรีจึงได้จัดตั้งกองลูกเสือขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2454 กองลูกเสือโรงเรียนเขมาภิรตารามเป็นลูกเสือมณฑลกรุงเทพฯ กองที่ 54 มีลูกเสือสำรอง 31 คน ความชอบของครูทุเรียนคือได้เลื่อนเงินเดือนเป็น 55 บาท

ครั้น พ.ศ. 2455 ทางราชการกระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งตำแหน่งเกี่ยวกับการศึกษา เพิ่มในหัวเมืองต่างๆ อีกตำแหน่งหนึ่งเรียกว่า “พนักงานจัดการประจำเมือง” โดยในครั้งนี้ครูทุเรียนได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานจัดการประจำเมืองนนทบุรี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ร.ศ.131 พ.ศ. 24555 และให้คงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนวัดเขมาภิรตารามไปด้วย เมื่อครูทุเรียนได้รับหน้าที่เพิ่มขึ้นอีก จึงจำเป็นต้องเดินทางไปปฏิบัติราชการเป็น 2 แห่ง ณ ที่ตั้งที่ว่าการเมืองนนทบุรี ซึ่งขณะนั้นตั้งอยู่ที่ปากคลองบางซื่อ (บน) ฝั่งใต้ที่เป็นท่าเรือบ้านตลาดขวัญในเวลาต่อมา มีวัดท้ายเมืองอยู่ทิศเหนือ สุดของที่ว่าการอำเภอ การเดินทางไปมาระหว่างโรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม กับที่ว่าการเมืองต้องใช้เรือยนต์เป็นพาหนะ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 45 นาที

ต่อมาทางราชการได้ยุบเลิกตำแหน่งพนักงานจัดการประจำเมืองนนทบุรีเสีย ครูทุเรียนจึงพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ธุรการฝ่ายบ้านเมืองแล้ว ก็ได้บริหารงานโรงเรียนวัดเขมาภิรตารามได้เต็มที่ ขณะนั้นได้ยุบชั้นมูลลงแล้วคงเหลือเปิดสอนแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงประถมปีที่ 3 มี 3 ห้องเรียน จำนวนนักเรียนชาย 44 คน นักเรียนหญิงยังไม่มี มีครู 3 คน และใน พ.ศ. 2456 ทางราชการเห็นว่าการทำมาหากินของราษฎรในตำบลสวนใหญ่ แขวงเมืองนนทบุรียังอัตคัดอยู่ จึงประกาศลดค่าเล่าเรียนของนักเรียนโรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม ส่วนโรงเรียนวัดท้ายเมืองนั้นก็งดเก็บค่าเล่าเรียน โดยให้เหตุผลว่า เป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในทำเลที่การทำมาหากินไม่สมบูรณ์ เด็กมักไม่ใคร่เข้าเล่าเรียนทั่งถึงกัน ด้วยไม่มีทุนทรัพย์จะใช้จ่ายในการเล่าเรียนเพียงพอ

ต่อมาทางราชการได้ย้ายให้ไปดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนรัตนาธิเบศร์ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2459 ดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนรัตนาธิเบศร์ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2460 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “ขุนการัญสิกขาภาร” นับเป็นครูใหญ่โรงเรียนรัฐบาลสังกัดกระทรวงธรรมการคนแรกในจังหวัดนนทบุรีที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ และได้เลื่อนเงินเดือนขึ้นเป็น 75 บาท ขณะดำรงตำแหน่งพนักงานจัดการประจำเมืองนนทบุรี ได้ส่งงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนครั้งที่ 1 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จังหวัดพระนคร ได้รับรางวัลชนะเลิศถึง 7 รางวัล ทำให้ชื่อเสียงของนนทบุรีเป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับของวงการศึกษา

ผู้รักษาการแทนศึกษาธิการจังหวัดนนทบุรี[แก้]

ต่อมาใน พ.ศ. 2462 ขุนการัญสิกขภาร ครูใหญ่โรงเรียนรัตนาธิเบศร์ ซึ่งขณะนั้นอายุ 31 ปี ได้รับหน้าที่ราชการเพิ่มขึ้นอีก ตำแหน่งหนึ่งคือ “ผู้รักษาการแทนศึกษาธิการจังหวัดนนทบุรี” ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2462 สถานที่ทำงานของท่านจึงเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง คือ ที่แผนกศึกษาธิการจังหวัดนนทบุรี ในศาลากลางจังหวัดนนทบุรี ณ ตำบลตลาดขวัญซึ่งไกลกัน และมีการไปมาได้สะดวกอยู่แต่ทางน้ำทางเดียว ขุนการัญสิกขภารต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการ 2 ตำแหน่งเป็นเวลา 1 ปีเศษ จนถึงวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2463 จึงพ้นจากตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนรัตนาธิเบศร์ คงได้ดำรงตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดนนทบุรีตำแหน่งเดียว เป็นเวลา 23 ปี ในศกนั้นท่านได้รบพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เบญจมาภรณ์มงกุฎสยาม และได้เงินเดือนขึ้นเป็น 80 บาท

ขณะดำรงตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดนนทบุรี ได้เปิดสถานศึกษาเพื่อให้การศึกษาแก่เยาวชนจังหวัดนนทบุรี ดังนี้

  • พ.ศ. 2467 ตั้งโรงเรียนประจำจังหวัดนนทบุรี โดยยกฐานะโรงเรียนวัดท้ายเมือง ขึ้นเป็นโรงเรียนประจำจังหวัด ในขณะนั้นมีชั้นประถมปีที่ 1 ถึง ชั้นประถมปีที่ 5 และต่อมามีชั้นมัธยมปีที่ 6 เมื่อประมาณ พ.ศ. 2470 ซึ่งเป็นโรงเรียนแรกในจังหวัดนนทบุรี ปัจจุบันคือ โรงเรียนศรีบุณยานนท์
  • พ.ศ. 2475 ตั้งโรงเรียนสตรีประจำจังหวัด อยู่ด้านหลังศาลากลางจังหวัดหลังเก่า พ.ศ. 2476 ย้ายไปใช้หอประชุมจังหวัดนนทบุรีหลังเก่าเป็นสถานที่เรียนแทน จนถึง พ.ศ. 2478 ได้ย้ายไปอยู่ที่ถนนพิบูลสงคราม ใกล้วัดพลับพลาและวัดปากน้ำ (พิบูลสงคราม) ปัจจุบันคือ โรงเรียนสตรีนนทบุรี
  • พ.ศ. 2476 ตั้งโรงเรียนสอนหัตถกรรมทอเสื่อกก และสอนวิชาช่างเหล็ก ที่โรงเรียน วัดทินกรนิมิตร
  • พ.ศ. 2484 ตั้งโรงเรียนช่างไม้นนทบุรี ที่วัดลานนาบุญ ต่อมาเป็นโรงเรียนการช่างนนทบุรี ปัจจุบันคือ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตนนทบุรี

หัวหน้าเก็บกองกลาง[แก้]

ครั้นมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองท้องที่ของจังหวัดนนทบุรีถูกรวมเข้าไว้ในการปกครองของจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี ตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดนนทบุรีจึงถูกเลิกไปด้วยตามกฎหมาย กระทรวงศึกษาจึงย้ายขุนการัญสิกขภารมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าเก็บกองกลาง สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2486

ต่อมาได้เข้าทำงานในกระทรวงอุตสาหกรรม 2 ปี จึงลาออกเพราะสุขภาพไม่สมบูรณ์ หันมาประกอบอาชีพกสิกรรม ทำสวนทุเรียน ขุนการัญสิกขภารสนใจการเมืองท้องถิ่น ได้เป็นสมาชิกสภาจังหวัดนนทบุรี และเทศมนตรีเทศบาลเมืองนนทบุรี

ถึงแก่กรรม[แก้]

พ.ศ. 2493 ขุนการัญสิกขภาร เริ่มมีโรคภัยเบียดเบียน ป่วยกระเสาะกระแสะด้วยโรคหัวใจ ไตพิการ และความดันโลหิตสูงเนื่องด้วยได้รับการรักษาพยาบาลอย่างดีจากนายแพทย์ และครอบครัว อาการก็ทุเลาขึ้นเล็กน้อย ครั้นใน พ.ศ. 2494 อาการโรคกำเริบขึ้นอีกถึงกับต้องมารักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช อาการก็ดีขึ้น อยู่โรงพยาบาลประมาณ 20 วันก็กลับบ้านได้ ต่อมาอีก 2 ปี โรคกำเริบขึ้นอีก จนถึงแก่กรรมด้วยอาการอันสงบที่โรงพยาบาลมิชชั่น จังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2499 เวลา 13.30 น. รวมอายุได้ 67 ปี 11 เดือน 3 วัน