การเห็นด้วยตาเดียว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การเห็นด้วยตาเดียว (อังกฤษ: Monocular vision) เป็นการมองเห็นที่ใช้ตาแต่ละข้างต่างคนต่างมอง การใช้ตาเช่นนี้ เทียบกับการเห็นเป็นภาพเดียวด้วยสองตา ขอบเขตภาพจะใหญ่ยิ่งขึ้น ในขณะที่การรับรู้ความใกล้ไกลจะจำกัด ตาของสัตว์ที่เห็นด้วยตาเดียวปกติจะอยู่ที่ด้านข้างของศีรษะ ทำให้สามารถเห็นภาพจากข้างทั้งสองพร้อม ๆ กัน คำภาษาอังกฤษว่า monocular มาจากคำภาษากรีกว่า mono ซึ่งแปลว่า หนึ่ง และคำภาษาละตินว่า oculus ซึ่งแปลว่า ตา

โรคที่เกี่ยวข้อง[แก้]

Monocular vision impairment เป็นภาวะที่ไม่เห็นด้วยตาหนึ่ง และเห็นพอได้ด้วยตาอีกข้างหนึ่ง[1]

Monopsia เป็นภาวะที่ไม่สามารถเห็นเป็น 3 มิติ แม้ตาทั้งสองจะปกติ มีสุขภาพดี และห่างกันเป็นปกติ เพราะการเห็นเป็นภาพ 3 มิติจะต้องมีปัจจัยอื่น ๆ นอกเหนือไปจากปรากฏการณ์พารัลแลกซ์ นอกจากนั้น การประมวลภาพที่ต่างกันสองภาพแม้จะคล้ายกันมาก (ให้เห็นเป็นภาพเดียวเป็น 3 มิติ) จะต้องเกิดขึ้นอย่างทันควัน โดยใต้สำนึก และอย่างสมบูรณ์ แพทย์จะสามารถตรวจหาภาวะนี้ได้ในมนุษย์

ปัญหาและความเสี่ยง[แก้]

คนที่เห็นด้วยตาเดียวจะมีปัญหาเพิ่มขึ้นในการขับรถ เป็นปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้ความใกล้ไกลและการมองเห็นรอบ ๆ โดยในสหรัฐอเมริกา "ทั่วประเทศ คนที่มีตาพิการข้างหนึ่งจะประสบอุบัติเหตุ 7 เท่ามากกว่าคนทั่วไปที่เปรียบเทียบ" มีนักวิชาการที่แนะนำไม่อนุญาตให้ใบขับขี่เชิงพาณิชย์หรือเพื่อขนส่งผู้โดยสารแก่คนไข้ และแนะนำให้หมอบอกคนไข้ว่า จะเสี่ยงประสบอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น

ตัวช่วยสำหรับการเห็นด้วยตาเดียว[แก้]

ลักษณะต่าง ๆ รวมทั้งทัศนมิติแบบต่าง ๆ ขนาดโดยเปรียบเทียบ วัตถุที่บังกัน และอื่น ๆ ล้วนมีส่วนทำให้เห็นภาพถ่ายสองมิตินี้เป็น 3 มิติได้

ตัวช่วยที่ให้ข้อมูลความใกล้ไกลของวัตถุที่มองด้วยตาเดียวรวมทั้ง

  • พารัลแลกซ์เนื่องจากการเคลื่อนที่ (Motion parallax)[2]
  • ความใกล้ไกลเนื่องจากการเคลื่อนไหว คือเมื่อเคลื่อนไหว วัตถุที่อยู่ใกล้ไกลดูจะเคลื่อนไปตามสายตาด้วยความเร็วที่ไม่เท่ากัน
  • ทัศนมิติ คือคุณสมบัติของเส้นขนานที่เข้าบรรจบกันในระยะไกล ๆ หรือระยะอนันต์ จะทำให้สามารถประมาณระยะห่างของส่วนต่าง ๆ ในภาพหรือในทัศนียภาพได้
  • ขนาดโดยเปรียบเทียบ ถ้าวัตถุต่าง ๆ มีขนาดเท่ากัน สิ่งที่ดูใหญ่กว่าก็จะใกล้กว่า
  • ขนาดที่คุ้นเคย การรู้ขนาดโดยเฉลี่ยทำให้สามารถประมาณความใกล้ไกลของวัตถุได้
  • ทัศนมิติเนื่องจากอากาศ ที่ทำให้วัตถุที่ใกล้ไกลไม่เท่ากันมีความพร่ามัวไม่เท่ากัน
  • การปรับตาดูใกล้ไกล (Accommodation) - นี่เป็นการปรับตัวทางกล้ามเนื้อ-สายตาเพื่อให้เห็นใกล้ไกล ซึ่งให้ข้อมูลแก่สมองเกี่ยวกับความใกล้ไกลด้วย
  • การบัง (Occultation) - นี่เกิดเมื่อภาพที่อยู่ใกล้กว่าบังภาพที่อยู่ไกลกว่า[3]
  • รายละเอียด - รายละเอียดของวัตถุที่อยู่ใกล้ ๆ สามารถมองเห็นได้ชัด เทียบกับมองไม่เห็นสำหรับวัตถุที่อยู่ไกล ๆ

การเห็นด้วยตาเดียวกับการทรงตัว[แก้]

การเห็นมีบทบาทสำคัญในการทรงตัวและการคุมอิริยาบถของมนุษย์ โดยทำงานร่วมกับการรับรู้อากัปกิริยาและการทำงานของ Vestibular system การมองด้วยตาเดียวจะมีผลต่อการเห็นสิ่งแวดล้อมของสมองโดยลดขนาดลานสายตาที่ควรจะมี ลดการเห็นรอบ ๆ ด้านหนึ่งของร่างกาย และลดการเห็นความใกล้ไกล ซึ่งสมรรถภาพทั้งสามล้วนเป็นบทบาทสำคัญของระบบการเห็นต่อการทรงตัว[4][5]

มีงานศึกษาที่เปรียบเทียบการเห็นด้วยตาเดียวกับการเห็นด้วยสองตาในคนไข้ต้อกระจก (ก่อนและหลังการผ่าตัด)[6] ในคนไข้ต้อหิน (เทียบกับกลุ่มควบคุมที่มีอายุเดียวกันแต่ตาปกติ)[7] และในผู้ใหญ่และเด็กที่มีสุขภาพปกติ (ซึ่งเทียบเมื่อใช้ตาเดียวกับเมื่อใช้สองตา)[4] งานทั้งหมดล้วนแต่แสดงว่า การเห็นด้วยตาเดียวมีผลลบต่อการทรงตัวและการควบคุมอิริยาบถเทียบกับเมื่อเห็นด้วยสองตา ถึงกระนั้น กลุ่มประชากรที่ทดสอบทั้งหมดก็ยังทรงตัวได้ดีกว่าเมื่อเห็นด้วยตาเดียว เทียบกับเมื่อปิดตาทั้งสอง

อ้างอิง[แก้]

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-12-08. สืบค้นเมื่อ 2017-12-15.
  2. Ferris, SH (1972). "Motion parallax and absolute distance". Journal of experimental psychology. 95 (2): 258–63.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  3. Johnston, Alan. "Depth Perception". UCL Division of Psychology and Language Sciences. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-27. สืบค้นเมื่อ 2013-09-22.
  4. 4.0 4.1 Berela, J และคณะ (2011). "Use of monocular and binocular visual cues for postural control in children". Journal of Vision. 11 (12): 10, 1–8.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  5. Wade, M; Jones, G (1997). "The role of vision and spatial orientation in the maintenance of posture". Physical Therapy. 77: 619–628.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  6. Schwartz, S และคณะ (2005). "The effect of cataract surgery on postural control". Investigative Ophthalmology and Visual Science. 46 (3): 920–924.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  7. Shabana, N และคณะ (2005). "Postural Stability in primary open angle glaucoma". Clinical and Experimental Ophthalmology. 33: 264–273.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]