การอภิปรายไม่ไว้วางใจในประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นกระบวนการตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาลวิธีหนึ่ง โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้บัญญัติวิธีการตรวจสอบด้วยวิธีนี้เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ แต่ได้เพิ่มหลักการสำคัญซึ่งแตกต่างไปจากฉบับอื่น เรียกว่า "การเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล" ซึ่งถูกนำมาใช้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ด้วย

ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 การอภิปรายไม่ไว้วางใจจำแนกได้เป็น:

  1. การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล
  2. การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในสภา (โดยทั่วไปคือ 100 คน) มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ โดยเมื่อได้มีการเสนอญัตติแล้ว นายกรัฐมนตรีจะยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐมนตรีหลีกหนีการถูกอภิปราย

การออกเสียงลงมติไม่ไว้วางใจ ห้ามมิให้กระทำในวันเดียวกันกับที่การอภิปรายสิ้นสุด ทั้งนี้เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มีเวลาไตร่ตรอง มติไม่ไว้วางใจจะต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (โดยทั่วไปคือเท่ากับหรือเกินกว่า 251 เสียง) หากสภาลงมติไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีผู้นั้นจะต้องพ้นจากตำแหน่งทันทีตามมาตรา 170

นายกรัฐมนตรีมีสถานภาพเป็นรัฐมนตรีคนหนึ่งที่อาจถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ หากนายกรัฐมนตรีถูกลงมติไม่ไว้วางใจ คณะรัฐมนตรีทั้งคณะก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167

ประวัติศาสตร์[แก้]

มหกรรม 7 วัน[แก้]

การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่นับได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 ถึง 26 พฤษภาคม ปีเดียวกัน โดย พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะฝ่ายค้าน เปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ทั้งคณะ อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองอย่างรุนแรง ข้าวปลาอาหารราคาแพง การทุจริตประพฤติมิชอบของรัฐบาล รวมไปถึงกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ที่ก่อให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติอย่างกว้างขวาง เพราะรัฐบาลไม่สามารถให้ความกระจ่างได้แม้จะผ่านมาแล้วถึงหนึ่งปี

การอภิปรายครั้งนี้ดำเนินอย่างยาวนานต่อเนื่องถึง 8 วัน 7 คืน ด้วยกัน จนถูกเรียกว่า "มหกรรม 7 วัน" ผู้นำการอภิปรายคือ นายควง อภัยวงศ์ และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าและรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นการอภิปรายครั้งแรกที่ถ่ายทอดเสียงทางวิทยุกระจายเสียง แม้ผลการอภิปราย รัฐบาลจะได้รับเสียงไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร ด้วยมติ 86 ต่อ 55 จากสมาชิกทั้งหมด 178 คน แต่หลังจากนั้นเพียงสองวัน คือ ในวันที่ 28 พฤษภาคม ปีเดียวกัน รัฐบาลก็ต้องลาออกเพื่อลดแรงกดดันและปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี


การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย[แก้]

รัฐมนตรี
(เฉพาะบุคคลหลัก)
วันที่ลงมติ หัวข้อ เนื้อหาหลัก ผลการลงมติไว้วางใจ
(เฉพาะบุคคลหลัก)
สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี 17 มิถุนายน พ.ศ. 2551 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2551 เห็นชอบการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา 280-162
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี 21 มีนาคม พ.ศ. 2552 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2552 เงินสนับสนุนนักการเมือง 246-176 & 27
2 มิถุนายน พ.ศ. 2553 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2553 การสลายการชุมนุม พฤษภาคม พ.ศ. 2553 246-186 & 32
19 มีนาคม พ.ศ. 2554 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย มีนาคม พ.ศ. 2554 249-184 & 34
ประชา พรหมนอก รมต.กระทรวงยุติธรรม 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 การแก้ไขปัญหาอุทกภัย 273-188 & 20
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2555 จำนำข้าว 308-159 & 13
25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2556 297-134 & 2
ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2563 ล้มล้างรัฐธรรมนูญ 272-49 & 2
20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 การเปิดเผยเอกสารตำรวจ "ตั๋วช้าง" 272-206 & 3
4 กันยายน พ.ศ. 2564 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย สิงหาคม–กันยายน พ.ศ. 2564 พฤติการณ์โอหังคลั่งอำนาจ 264-208 & 3
23 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2565 ศึกซักฟอก 256-206 & 9

อ้างอิง[แก้]

  • มานิตย์ จุมปา. สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. ๒๕๔๐) หมวดองค์กรทางการเมือง เรื่อง ๖. การอภิปรายไม่ไว้วางใจ. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2544. 75 หน้า. ISBN 974-00-8336-6
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550, หมวด 6 ส่วนที่ 9 การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน
  • สยามาธิปไตย (17), คอลัมน์ ส่วนร่วมสังคมไทย โดย นรนิติ เศรษฐบุตร หน้า 8: เดลินิวส์ฉบับที่ 23,059 ประจำวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 แรม 2 ค่ำ เดือน 12 ปีมะโรง