การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2552

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไฟล์:Pradit Pat.jpg
นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ ขณะชี้แจงข้อกล่าวหาจากผู้อภิปราย

การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2552 เป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลอีก 5 คน โดยการอภิปรายไม่ไว้วางใจจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 มีนาคม และ 20 มีนาคม พ.ศ. 2552 ส่วนการลงมติจัดขึ้นในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2552

ผู้อภิปรายจากพรรคเพื่อไทย[แก้]

ลำดับ รายนาม ตำแหน่ง
1 ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน
2 นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน
3 นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน
4 ร.ต.ท.เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ ส.ส.สัดส่วน
5 นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ส.ส.สัดส่วน
6 นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่
7 นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง ส.ส.ฉะเชิงเทรา
8 นางฐิติมา ฉายแสง ส.ส.ฉะเชิงเทรา
9 น.ส.วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย
10 นายสุชาติ ลายน้ำเงิน ส.ส.ลพบุรี
11 นายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ
12 นายธเนศ เครือรัตน์ ส.ส.ศรีสะเกษ
13 นายสมคิด บาลไธสง ส.ส.หนองคาย
14 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา
15 นายสถาพร มณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน
16 น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กรุงเทพมหานคร
17 นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม
18 นายคมเดช ไชยศิวามงคล ส.ส.กาฬสินธุ์
19 นายประเสริฐ ชัยกิจเด่นนภาลัย ส.ส.สมุทรปราการ
20 นายสันติ พร้อมพัฒน์ ส.ส.สัดส่วน
21 นายสมพล เกยุราพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน
22 นายนิคม เชาว์กิตติโสภณ ส.ส.สัดส่วน
23 นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.แพร่
24 นายประเกียรติ นาสิมมา ส.ส.สัดส่วน

รัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย[แก้]

ลำดับ รายนาม ตำแหน่ง
1 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
2 นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
3 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
4 นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
5 นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
6 นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

[1]

การยื่นญัตติขอเปิดการอภิปราย[แก้]

การอภิปราย[แก้]

19 มีนาคม[แก้]

ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย เป็นผู้ขึ้นเปิดอภิปรายเป็นคนแรก โดยอภิปรายไม่ไว้วางใจนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในกรณีการปกปิด ซ่อนเร้น ไม่เปิดเผยการรับเงินสนับสนุนพรรคการเมือง ในการรายงานงบดุลต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเส้นทางของเงินดังกล่าวเป็นเงินที่รับจากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) แล้วทำนิติกรรมอำพรางผ่านบริษัท เมซไซอะ ซึ่งถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง[2]

ทั้งนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงว่าขณะนั้นตนดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และหลังได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค ตนก็มีหน้าที่ 2 อย่างคือ การแจ้งเงินบริจาคเข้าสู่พรรคการเมืองให้ กกต.รับทราบ และการรับรองงบดุล 2547 ที่ต้องเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ของพรรคและได้ส่งรายงานงบดุลอย่างครบถ้วน

ต่อมา นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงในเรื่องนี้ว่าการว่าจ้างบริษัท เมซไซอะนั้น มีเอกสารงบดุลและใบเสร็จหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นหลักฐาน ทั้งนี้ กกต.ได้ตรวจสอบและอนุมัติรายการงบดุลดังกล่าวแล้ว

ซึ่งในช่วงท้ายนายประดิษฐ์ประกาศว่าหากตนเข้าไปเกี่ยวข้องกับความไม่โปร่งใสดังที่ผู้อภิปรายนำมากล่าวจริง จะขอเอาตำแหน่งเป็นประกันและจะเลิกเล่นการเมืองโดยไม่ต้องให้ถึงชั้นศาลฎีกา

ต่อมา นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย กล่าวหานายอภิสิทธิ์ว่าไม่ได้รับการเกณฑ์ทหาร แต่กลับสามารถสมัครรับราชการที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าได้ โดยอาจมีการสร้างหลักฐานเท็จขึ้นว่าได้เป็นทหารกองเกิน

นายอภิสิทธิ์ได้ชี้แจงในประเด็นนี้ว่าตนได้รับการผ่อนผันตามระเบียบ อีกทั้งยังได้แสดงหลักฐานเป็นใบ สด.9 ที่ระบุวันที่บรรจุเป็นทหารกองเกิน[3]

ต่อมา นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ได้อภิปราย นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในประเด็นส่งเอสเอ็มเอส เพื่อขอบคุณประชาชน หลังนายอภิสิทธิ์เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยฝ่ายค้านเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล อีกทั้งเป็นการใช้อำนาจหน้าที่เพื่อประโยชน์แก่ตัวเอง

ทั้งนี้ทั้งนายกรณ์ และนายอภิสิทธิ์ได้ขึ้นชี้แจงในประเด็นดังกล่าวไปในทางเดียวกันว่า การส่งเอสเอ็มเอส ดังกล่าวนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ อีกทั้งรัฐไม่ได้เสียงบประมาณใดๆ เนื่องจากเป็นการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการเอกชน ส่วนที่ว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลนั้น นายกรณ์กล่าวว่าเป็นการส่งเฉพาะเบอร์โทรศัพท์ในเครือข่าย ไม่ได้มีข้อมูลส่วนบุคคลว่าเป็นเบอร์ของใคร[4]

นอกจากนี้ ส.ส.ฝ่ายค้านยังได้อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรณ์ในประเด็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เช่น การกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ นโยบายเช็คช่วยชาติ ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น อีกทั้งการการเปิดให้ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นธนาคารเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบการเบิกจ่ายเช็ค 2 พันบาทแทนที่จะเป็นธนาคารของรัฐนั้น ฝ่ายค้านเห็นว่า อาจมีการเอื้อประโยชน์ให้แก่พวกพ้องของรัฐบาล

นายกรณ์กล่าวชี้แจงว่าสาเหตุที่เลือกธนาคารกรุงเทพให้เป็นผู้ออกเช็ค เนื่องจากเสนอราคาต่ำสุดคือ 2 บาทต่อฉบับ นอกจากนี้ ยืนยันว่าธนาคารกรุงเทพคงไม่สามารถนำเม็ดเงินไปลงทุนล่วงหน้าตามที่ฝ่ายค้านเข้าใจได้ เนื่องจากเงินที่กรมบัญชีกลางจะโอนเข้าไปให้กับธนาคารกรุงเทพ จำนวน 19,400 ล้านบาท จะอยู่ถึงประมาณเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2552 เท่านั้น

ทางด้านนายอภิสิทธิ์ก็ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่ารัฐบาลต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ จำเป็นต้องใช้เงิน ซึ่งวิธีหาเงินได้แก่ เก็บภาษี และการกู้ ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้การกู้เงินถือเป็นเรื่องปกติที่ทุกประเทศทำกัน

ส่วนมาตรการเรื่องเงิน 2,000 บาทนั้น ก็เป็นการนำเงินไปช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่มีเงินเดือนประจำ ส่วนการช่วยเหลือภาคอื่นๆนั้นรัฐบาลก็ได้ดำเนินการช่วยเหลือเช่นกัน เช่น การแทรกแซงราคาพืชผลการเกษตร การรับจำนำพืชหลัก โครงการชุมชนพอเพียง รวมถึงการแก้ไขหนี้กองทุนฟื้นฟู

20 มีนาคม[แก้]

นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถูกฝ่ายค้านอภิปรายในเรื่องพฤติกรรมส่วนตัวในอดีต โดยเฉพาะในประเด็นการร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ[5] และการปิดการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวมถึงการทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและกัมพูชา ด้วยการใช้คำพูดไม่เหมาะสมต่อนายกรัฐมนตรีกัมพูชา อีกทั้งยังปล่อยให้กัมพูชาสร้างถนนในพื้นที่ซับซ้อน ซึ่งขัดต่อบันทึกความร่วมมือและข้อตกลงร่วมไทย-กัมพูชา พ.ศ. 2543 โดยฝ่ายค้านเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีปลดนายกษิตออกจากตำแหน่ง

ต่อมานายกษิตได้ขึ้นชี้แจงว่าไม่ได้เป็นแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯและไม่เคยไปร่วมประชุมวางแผนใดๆ เพียงแต่ได้เคลื่อนไหวต่อต้านระบอบทักษิณทั้งในทางลับและทางแจ้งเท่านั้น[6]

นายกษิตยังได้กล่าวถึงกรณีที่เคยประณามสมเด็จ ฮุน เซนว่า ทำไปด้วยความรักชาติ และต้องการปกป้องอธิปไตยของประเทศ ซึ่งในช่วงแรกสมเด็จ ฮุน เซนอาจได้รับข้อมูลที่ผิดพลาด ทำให้การตัดสินใจผิดพลาด

นอกจากนี้นายอภิสิทธิ์ยังได้ชี้แจงในส่วนที่เกี่ยวกับปราสาทพระวิหารว่าตามคำตัดสินของศาลโลกนั้นปราสาทพระวิหารเป็นดินแดนของกัมพูชา แต่ไม่ได้ครอบคลุมดินแดนรอบๆปราสาท ตอนนี้มีการละเมิดข้อตกลง มีการเข้าไปปรับเปลี่ยนสภาพพื้นที่ การสร้างถนน ฝ่ายไทยได้ประท้วงและได้ดำเนินการในหลายระดับ ซึ่งเห็นว่าการใช้วิธีเจรจาไปเรื่อยๆ ดีกว่าล้มโต๊ะเจรจาแล้วปะทะกัน

ส่วนเรื่องที่นายกษิตไปขึ้นเวทีพันธมิตรฯนั้น นายอภิสิทธิ์เห็นว่านายกษิตเป็นเพียงวิทยากรรับเชิญเท่านั้น และเหตุผลที่ให้นายกษิตมาดำรง รมว.ต่างประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมานายกษิตทำงานกับพรรคและงานด้านต่างประเทศจริง เมื่อมาดำรงตำแหน่งตรงนี้ต้องปฏิบัติตามแนวทางของรัฐบาล และเมื่อเวลาผ่านมาก็ยึดตามนโยบายของรัฐ

นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถูกอภิปรายในกรณีในการแต่งตั้งบุคคลสู่ตำแหน่งโดยเอื้อต่อพวกพ้องคนใกล้ชิด เช่น การโยกย้ายปลัดกระทรวงมหาดไทยและข้าราชการผู้ว่าอีก 28 ตำแหน่ง รวมถึงการแต่งตั้งบอร์ดรัฐวิสาหกิจในกระทรวงมหาดไทย คกก.บอร์ดการประปานครหลวง

รวมถึงยังปรากฏพฤติกรรมส่อไปในการทุจริต กรณีการจัดซื้อผ้าห่มให้กับผู้ประสบภัยหนาว เช่น มีการเพิ่มเพดานจัดซื้อผ้าห่มจังหวัดละ และมีการกำหนดสเปกผ้าห่ม

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงกางเต็นท์รับสมัครสมาชิกพรรคการเมืองและแจกเสื้อที่มีสัญลักษณ์พรรคภูมิใจไทย เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ที่ อำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งถือเป็นการทำ ผิด พ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 22

หลังจากฝ่ายค้านอภิปรายจบ นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลุกขึ้นชี้แจงการบริหารงานในกระทรวงมหาดไทยทั้งของตนเองและของนายชวรัตน์อย่างรวดเร็ว เนื่องจากเวลากระชั้นชิด โดยกล่าวว่าการโยกย้ายข้าราชการระดับปลัดกระทรวงและผู้ว่าฯ สามารถทำได้โดยไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญเนื่องจากเป็นการบริหารราชการแผ่นดิน และได้ปฏิเสธว่าไม่มีการตั้งโต๊ะรับสมัครสมาชิกพรรคที่อำเภอวังสามหมอแต่อย่างใด ส่วนการแจกเสื้อนั้นก็เป็นเสื้อสีน้ำเงินที่ทำขึ้นเพื่อปลุกจิตสำนึกให้คนไทยยุติความแตกแยกและร่วมกันปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น[7]

หลังจากนั้น ร.ต.อ.ดร.เฉลิมได้ขึ้นกล่าวสรุปการอภิปรายเป็นเวลา 2 วันที่ผ่านมา

ผลการลงมติ[แก้]

รายนามรัฐมนตรี ไว้วางใจ ไม่ไว้วางใจ งดออกเสียง ไม่ลงคะแนน ผู้เข้าร่วมประชุม
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 246 176 12 15 449
นายกรณ์ จาติกวณิช 246 174 12 15 447
นายกษิต ภิรมย์ 237 184 12 13 447
นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล 246 167 20 14 446
นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ 246 174 12 15 447
นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ 246 168 18 15 447

[8]

อ้างอิง[แก้]

  1. พท.สรุปซักฟอกอภิสิทธิ์-กรณ์- กษิต -ประดิษฐ์-บุญจง-ชวรัตน์[ลิงก์เสีย]
  2. ""เฉลิม"โชว์หลักฐาน"เมซไซอะ"อัด "มาร์ค-ประดิษฐ์" แฉเช็ค27ฉบับจ่าย23ล้าน บริจาคเข้าปชป. ผิดถึงยุบพรรค". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-24. สืบค้นเมื่อ 2009-05-02.
  3. นายกฯ-จตุพรโต้หนีทหาร-หลักฐานสมัครจปร.[ลิงก์เสีย]
  4. สุรพงษ์ กล่าวหา มาร์ค-กรณ์ โต้ส่งเอสเอ็มเอสรับตำแหน่งนายกฯ
  5. ""วิสาระดี"อภิปราย"กษิต" กล่าวหาได้ตำแหน่งเพราะพันธมิตรฯ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-12-12. สืบค้นเมื่อ 2009-05-02.
  6. กษิตโต้ข้อหาแกนนำพันธมิตรฯ แค่ร่วมต้านระบอบทักษิณในอุดมการณ์ตรงกัน
  7. อีสานพัฒนาดาหน้าถล่มชวรัตน์-บุญจง[ลิงก์เสีย]
  8. ลงมติไม่ไว้วางใจ รัฐบาลผ่านฉลุย “กษิต” สะดุดเสียงไว้วางใจน้อยที่สุด ทางด้าน พท. งูเห่าโผล่อีก
ก่อนหน้า การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2552 ถัดไป
การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2551
การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย
การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2553