โยเกิร์ตกรอง
โยเกิร์ตกรองกับน้ำมันมะกอก รับประทานเป็นเครื่องจิ้มขนมปังชนิดต่าง ๆ ในตะวันออกกลาง | |
ชื่ออื่น | ชักกา (เอเชียกลาง), ซุซมา (เอเชียกลาง), ซึซเม (ตุรกี), ลับนะฮ์ (ตะวันออกกลาง), โยเกิร์ตกรีก, โยเกิร์ตแบบอย่างกรีก |
---|---|
ประเภท | นมเปรี้ยว |
แหล่งกำเนิด | ตะวันออกกลางหรือเอเชียกลาง |
ภูมิภาค | เอเชียตะวันตก, เอเชียกลาง, เอเชียใต้, ยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ |
ส่วนผสมหลัก | นมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ต |
457 กิโลจูล (109 กิโลแคลอรี) ต่อ 100 กรัม[1] กิโลแคลอรี | |
โยเกิร์ตกรอง (อังกฤษ: strained yogurt), โยเกิร์ตกรีก (Greek yogurt)[2] หรือ ลับนะฮ์ (อาหรับ: لبنة) คือนมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ตที่ถูกกรองเพื่อแยกเอาหางนมออกไป เหลือแต่เนื้อโยเกิร์ตที่เป็นครีมข้นเสมอกัน โดยมีความข้นอยู่ระหว่างโยเกิร์ตทั่วไปกับเนยแข็ง และยังคงลักษณะเด่นคือรสเปรี้ยวไว้ โยเกิร์ตกรองมักทำจากนมที่ได้รับการเสริมคุณค่าด้วยการต้มจนน้ำบางส่วนระเหยไป และ/หรือด้วยการเติมไขมันเนยและนมผงเพิ่มเข้าไป (เช่นเดียวกับนมเปรี้ยวและโยเกิร์ตอีกหลายชนิด) โปรตีนในโยเกิร์ตกรองโดยหลัก ๆ จะเป็นโปรตีนประเภทเคซีน 100% เนื่องจากโปรตีนหางนมถูกกำจัดออกไปกับหางนมแล้ว[3][4][5][6] และเนื่องจากแล็กโทสบางส่วนจะถูกดึงออกไประหว่างกระบวนการกรองด้วย โยเกิร์ตชนิดนี้จึงมีปริมาณน้ำตาลน้อยกว่านมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ตทั่วไป[7]
ในยุโรปและอเมริกาเหนือ โยเกิร์ตกรองมักทำจากโยเกิร์ตพร่องมันเนยหรือขาดมันเนย โดยบ่อยครั้งได้รับการทำตลาดในอเมริกาเหนือในชื่อ "โยเกิร์ตกรีก" แต่ที่จริงแล้ว โยเกิร์ตที่ผลิตในกรีซไม่ใช่โยเกิร์ตกรองเสียทั้งหมด และโยเกิร์ตกรองทั้งหมดก็ไม่ได้ผลิตขึ้นในกรีซเพียงประเทศเดียว ยังมีการผลิตและรับประทานโยเกิร์ตในลักษณะเหมือนหรือคล้ายกันอย่างแพร่หลายในภูมิภาคลิแวนต์, เมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก, ตะวันออกกลาง, เอเชียกลาง และเอเชียใต้ซึ่งมักจะนำโยเกิร์ตกรองมาเป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหาร (เนื่องจากโยเกิร์ตชนิดนี้มีปริมาณไขมันมากพอที่จะกันไม่ให้โปรตีนในโยเกิร์ตจับตัวเป็นลิ่มที่อุณหภูมิสูง ๆ) อาหารที่ผสมโยเกิร์ตกรองเหล่านั้นอาจปรุงสุกหรือดิบ และอาจมีรสกลมกล่อมหรือรสหวานก็ได้
ในยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกา โยเกิร์ตกรองเป็นที่นิยมมากขึ้นเมื่อเทียบกับโยเกิร์ตหรือนมเปรี้ยวทั่วไป มีรายงานในปี พ.ศ. 2555 ว่า มูลค่าการเติบโตของอุตสาหกรรมนมเปรี้ยวในสหรัฐที่ 4.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น โดยมากมาจากส่วนตลาดย่อยของโยเกิร์ตชนิดนี้[8][9] ปัจจุบันในสหรัฐอเมริกายังไม่มีบทนิยามตามกฎหมายสำหรับโยเกิร์ตกรีก และนมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ตที่ถูกทำให้ข้นด้วยการเติมสารเพิ่มความข้นหนืดก็อาจวางจำหน่ายโดยเรียกว่า "โยเกิร์ตกรีก" ได้เช่นกัน[10] ส่วนในสหราชอาณาจักรนั้น บริษัทนมเปรี้ยวจะจำหน่ายโยเกิร์ตกรองในชื่อ "โยเกิร์ตกรีก" ได้ก็ต่อเมื่อโยเกิร์ตนั้นผลิตในกรีซเท่านั้น ดังนั้น โยเกิร์ตกรองที่ไม่ได้ผลิตในกรีซโดยทั่วไปจึงถูกเรียกว่า "โยเกิร์ตแบบอย่างกรีก" (Greek-style yoghurt)[11] หรือ "สูตรกรีก" (Greek recipe) ด้วยเหตุผลทางการตลาด โดยมีราคาถูกกว่าโยเกิร์ตที่ผลิตในกรีซ และในบรรดา "โยเกิร์ตแบบอย่างกรีก" นั้น ก็ไม่มีการจำแนกความต่างระหว่างโยเกิร์ตที่ข้นเพราะการกรองกับโยเกิร์ตที่ข้นเพราะการเติมสารแต่อย่างใด[12]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Sütlü Besinler Kalori Cetveli เก็บถาวร 2014-08-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Sütaş Dairy Products (in Turkish)
- ↑ Davidson, Alan (2014). The Oxford Companion to Food. Oxford University Press. p. 239. ISBN 9780191040726.
It should also be noted that sheep's or goat's milk yoghurt, or strained yoghurt often called 'Greek', are more stable than plain yoghurt.
- ↑ "Whey vs. casein protein - Nutrition Express Articles". Nutrition Express.
- ↑ Bart Pennings. "Whey protein stimulates postprandial muscle protein accretion more effectively than do casein and casein hydrolysate in older men". nutrition.org.
- ↑ "Ingestion of whey hydrolysate, casein, or soy protein isolate: effects on mixed muscle protein synthesis at rest and following resistance exercise in young men". physiology.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-10-16. สืบค้นเมื่อ 2015-11-24.
- ↑ "Bovine milk in human nutrition – a review". nih.gov.
- ↑ "Is Greek Yogurt Better Than Regular?". Mother Jones. สืบค้นเมื่อ 2010-11-07.
- ↑ Associated Press (January 22, 2012). "Greek yogurt on a marathon-like growth spur". Wall Street Journal.
- ↑ Neuman, William (January 12, 2012). "Greek Yogurt a Boon for New York State". The New York Times.
- ↑ "Greek Yogurt Wars: The High-Tech Shortcuts vs. The Purists". theKitchn. สืบค้นเมื่อ January 24, 2013.
- ↑ BBC:'Greek' yoghurt Chobani firm loses legal battle, 29 January 2014. In Britain the name "Greek" may only be applied to yoghurt made in Greece
- ↑ "Fage UK Ltd & Anor v Chobani UK Ltd & Anor [2013] EWHC 630 (Ch) (26 March 2013)". bailii.org §7.