โทรทัศน์รัฐสภา ไอพีทีวี 1

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สถานีโทรทัศน์รัฐสภา ไอพีทีวี 1
รูปแบบเผยแพร่ความรู้ ข้อมูลข่าวสารด้านนิติบัญญัติที่มีความน่าเชื่อถือไปสู่สาธารณชน
ประเทศไทย ไทย
พื้นที่แพร่ภาพไทย ประเทศไทย
เครือข่ายช่องรายการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่: CAT IPTV, Internet TV
คำขวัญโทรทัศน์นิติบัญญัติ สิทธิการรับรู้ของประชาชน
สำนักงานใหญ่สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เลขที่ 499 อาคารสุขประพฤติ ชั้น 13 ถนนประชาชื่น
แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร
แบบรายการ
ภาษาไทย
ระบบภาพ576ไอ (16:9 คมชัดมาตรฐาน)
ความเป็นเจ้าของ
เจ้าของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
บุคลากรหลักนายนัฑ ผาสุข
(เลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ)
ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงนายพงศ์กิตติ์ อรุณภักดีสกุล
(ที่ปรึกษาด้านการเมือง การปกครอง และการบริหารจัดการ)
ผู้อำนวยการสถานี
นายนรมิตร คุณโลกยะ
(ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร)
ช่องรองสถานีโทรทัศน์รัฐสภา
ประวัติ
เริ่มออกอากาศพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ:
7 เมษายน พ.ศ. 2559 (8 ปี)[1]
ทดลองออกอากาศ (ได้รับใบอนุญาต):
26 ตุลาคม พ.ศ. 2558 (8 ปี)
พิธีเปิด Senate Channel:
23 มกราคม พ.ศ. 2555 (12 ปี)
ชื่อเดิมโทรทัศน์วุฒิสภา, NLA Channel
ลิงก์
เว็บไซต์http://iptv1.senate.go.th
ออกอากาศ
เคเบิลทีวี
ความร่วมมือสมาคมการค้าผู้ประกอบการเคเบิลทีวี
สื่อสตรีมมิง
Mobile ApplicationSenate Channel
  • ระบบปฏิบัติการ iOS[1]
  • ระบบปฏิบัติการ Android[2]
เว็บไซต์http://iptv1.senate.go.th

โทรทัศน์รัฐสภา ไอพีทีวี 1 (อังกฤษ: Parliament IPTV 1 - IPTV 1; ชื่อเดิม: โทรทัศน์วุฒิสภา (Senate TV), Senate Channel, NLA Channel) เริ่มต้นจากการถ่ายทอดสดการประชุมวุฒิสภาด้วยระบบอินเทอร์เน็ต ผ่านเว็บไซต์วุฒิสภา www.senate.go.th ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ด้วยตระหนักถึงความสำคัญในประเด็นสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารสาธารณะตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ในมาตรา 58 และมาตรา 59 นับว่าเป็นจุดเร่มต้นในการแพร่ภาพและเสียงที่ดำเนินการภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา

ประวัติ[แก้]

ปี พ.ศ. 2555 สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้มีการพัฒนา “Senate TV” Mobile Application เพื่อเพิ่มช่องทางการถ่ายทอดสดการประชุมผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งนับเป็นการปรับตัวเพื่อให้ทันกับพัฒนาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่เข้าสู่เทคโนโลยีการสื่อสารในยุคที่ 3 หรือ 3G รวมถึงเพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบและพฤติกรรมการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจัดให้มีพิธีเปิดการถ่ายทอดสดการประชุมวุฒิสภาผ่านโทรศัพท์มือถือ พร้อมกับการเปิดตัว Mobile Application ดังกล่าว เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2555 ณ บริเวณโถงหน้าห้องประชุมรัฐสภา ชั้น 2 อาคารรัฐสภา 1 ซึ่งมีให้บริการดาวน์โหลดฟรีสำหรับระบบปฏิบัติการ iOS และ Android นอกจากนั้นยังสามารถรับชมผ่าน Web Browser ที่จัดเตรียมไว้เพื่อรองรับผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนในระบบซิมเบียน, ริม (แบล็กเบอร์รี) และวินโดวส์โมบาย ให้สามารถรับชมได้เช่นเดียวกัน[3]

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2555 ภายหลังการเปิดตัว Senate TV ได้เพียง 4 เดือน ก็ได้มีการเปิดตัว Mobile Application ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในชื่อ "Senate Channel" ซึ่งเป็นการปรับปรุงคุณสมบัติต่าง ๆ ของ "Senate TV" Mobile Application พร้อมทั้งได้เพิ่มประเภทเนื้อหาที่เป็นข่าวสารและกิจกรรมที่สำคัญอีก 3 ส่วน ได้แก่ วุฒิสภา คณะกรรมาธิการ และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อให้เป็นช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านนิติบัญญัติที่น่าเชื่อถือ มีความครบถ้วน และยังเตรียมการพัฒนาเพื่อรองรับการเข้าถึงสื่อดิจิทัลในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Books) คลิปวีดิโอ (VDO Clips) โดยในปลายปีเดียวกันนั้นเอง คณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของวุฒิสภา ได้มีมติให้ดำเนินการถ่ายทอดสดกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ ในวงงานวุฒิสภา ผ่าน “Senate Channel” Mobile Application เพิ่มเติมจากเดิมจากการถ่ายทอดการประชุมวุฒิสภา[4]

ปี พ.ศ. 2557 คณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของวุฒิสภา ได้มีคำสั่ง ที่ 2/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดตั้งอินเทอร์เน็ตทีวีของวุฒิสภา (Senate Channel IPTV) เพื่อให้สามารถสนองต่อความจำเป็นในอนาคตเมื่อต้องถ่ายทอดสดการประชุมวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎรในเวลาเดียวกัน ณ “สัปปายะสภาสถาน” อาคารรัฐสภาแห่งใหม่

เดือนพฤษภาคมในปีเดียวกัน กรณีวิกฤตการณ์การเมืองไทย เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2557 โดยสถานการณ์ในขณะนั้นประชาชนมีความเห็นที่แตกต่าง และมีการชุมนุมประท้วงของหลายกลุ่ม ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ และสถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ได้ โดยหากปล่อยให้ปัญหาคงอยู่ต่อไป อาจจะสุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรง จึงมีการนัดประชุมนอกรอบของสมาชิกวุฒิสภาเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาบ้านเมือง โดยมุ่งหมายนำความสงบสุขมาสู่ประเทศชาติโดยเร็ว จึงได้ขอให้สถานีโทรทัศน์รัฐสภาถ่ายทอดสดการประชุมดังกล่าวแต่ได้รับการปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า ได้มีการถ่ายทอดผ่านกล้องวงจรปิด ทั้งยังให้สื่อมวลชนเข้าทำข่าวและรายงานข่าวได้ตามปกติ ขณะที่ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา ได้เสนอข่าวในการประชุมทุกต้นชั่วโมงแทนการถ่ายทอดสด ตามมติของคณะกรรมการบริหารสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภาที่มีความเห็นร่วมกันว่า การประชุมดังกล่าวไม่ใช่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร การประชุมวุฒิสภา และการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ซึ่งเป็นเรื่องนอกเหนือจากบทบัญญัติข้อบังคับการประชุมเพื่อคุ้มครองเอกสิทธิ์ทางกฎหมาย จึงผิดเงื่อนไขได้หากให้มีการขอถ่ายทอดสด ขณะที่การประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญก็ปิดสมัยลงแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2557 จึงส่งผลให้ประชาชนไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารในการระดมความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา เพื่อการแก้วิกฤติดังกล่าว

เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา โดยในเดือนตุลาคม 2557 ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อให้มีแนวทางการดำเนินงานที่ต่อเนื่องชัดเจนประสานประโยชน์ในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า สามารถรองรับภารกิจของสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ต่อมาคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบและจัดทำช่องรายการ NLA Channel เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2558 โดยให้คณะกรรมการดังกล่าวดำเนินการเสนอแนวทางการขับเคลื่อน ติดตามผลการดำเนินงาน รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนา เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้อกำหนดทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้องครบถ้วน ซึ่งยังคงดำเนินการโดยใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณ และอัตรากำลังบุคลากรที่ยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนการดำเนินการ จนกระทั่งสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์แบบไม่ใช้คลื่นความถี่ จาก กสทช. ในปี พ.ศ. 2558 โดยใช้ชื่อช่องรายการ โทรทัศน์รัฐสภา ไอพีทีวี 1 (Parliament IPTV 1) ตามมติคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 ณ บริเวณโถงชั้น 1 อาคารรัฐสภา 1

เหตุผลความจำเป็นในการดำเนินการสถานีโทรทัศน์รัฐสภา ไอพีทีวี 1[แก้]

ด้วยอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย กอปรกับปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินการเผยแพร่ภาพและเสียงโดยสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา คณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีการพิจารณาและเห็นชอบให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ในขณะนั้น) ดำเนินการให้บริการโทรทัศน์แบบไม่ใช้คลื่นความถี่ โดยใช้เทคโนโลยี IPTV ด้วยเหตุผลที่สำคัญ ดังนี้

  1. สนองต่อความจำเป็นในอนาคต เมื่อมีการย้ายสถานที่ทำการ และสถานที่ประชุมของรัฐสภาไปยังอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ (สัปปายะสภาสถาน) อาจเกิดกรณีที่มีการประชุมของวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎรในเวลาเดียวกัน ซึ่งจำเป็นต้องมีการถ่ายทอดสดการประชุมของสภาทั้งสอง ดังนั้นจึงต้องมีสื่อของรัฐสภาเพื่อเป็นช่องทางในการรองรับเมื่อเกิดกรณีดังกล่าว นอกจากนั้นยังสามารถใช้เป็นช่องทางเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร สร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง และมีความน่าเชื่อถือ
  2. ความคุ้มค่าด้านการใช้จ่ายงบประมาณ จากจุดเริ่มต้นในการพัฒนาสถานีโทรทัศน์รัฐสภา ไอพีทีวี 1 คือการถ่ายทอดสดการประชุมวุฒิสภาผ่านเว็บไซต์ โดยเป็นการใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่ใช้งบประมาณไม่สูงในการดำเนินการ ซึ่งต่อมาเมื่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภามีแนวคิดในการจัดทำช่องรายการโทรทัศน์ จึงได้พิจารณาเลือกรูปแบบการดำเนินการโดยใช้เทคโนโลยี IPTV (Internet Protocol Television) อันเป็นการนำเทคโนโลยีโทรทัศน์มาประยุกต์ใช้ในการเผยแพร่สัญญาณภาพและเสียงด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านเครือข่ายบรอดแบนด์ที่ครอบคลุมอยู่ทั่วประเทศ โดยในระยะเริ่มต้นของการดำเนินการนั้น ยังสามารถนำอุปกรณ์ของสำนักงานฯ ที่มีอยู่บางส่วนมาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งนับว่าเทคโนโลยี IPTV เป็นรูปแบบที่มีความคุ้มค่าและเหมาะสมในการดำเนินการภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณ
  3. ความสอดคล้องกับพฤติกรรมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง ด้วยพฤติกรรมในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งปัจจุบันความนิยมในการบริโภคสื่อในรูปแบบใหม่ (New Media) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ความนิยมต่อสื่อในรูปแบบเดิมกำลังลดลง โดยเมื่อปี 2555 สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้เริ่มพัฒนา Mobile Application เพื่อเป็นช่องทางการรับชมการถ่ายทอดสดการประชุมวุฒิสภาผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ (Mobile Device) และยังได้มีการพัฒนา ปรับปรุงประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับวิทยาการความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อีกทั้งพฤติกรรมการใช้ ICT ที่เปลี่ยนแปลงไป

ความร่วมมือด้านการดำเนินการของสถานีโทรทัศน์รัฐสภา ไอพีทีวี 1 (ระหว่างสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภากับหน่วยงานภายนอก)[แก้]

เนื่องจากข้อจำกัด และปัจจัยความพร้อมหลายประการ ในการดำเนินการของสถานีโทรทัศน์รัฐสภา ไอพีทีวี 1 ระยะแรก ภายหลังได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ จาก กสทช. คณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการข้างต้นเสนอ โดยให้ดำเนินการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านโทรทัศน์ ที่มีศักยภาพ ประสบการณ์ และความพร้อมในการให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ของสถานีโทรทัศน์รัฐสภา ไอพีทีวี 1 ดังนั้น สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จึงจัดให้มีพิธีลงนาม พร้อมทั้งได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับหน่วยงานภายนอก ดังนี้

ความร่วมมือ หน่วยงาน วันที่ลงนาม
พัฒนาระบบและจัดทำช่องรายการโทรทัศน์รัฐสภา ไอพีทีวี 1 (Parliament IPTV 1)[5] - มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
- มหาวิทยาลัยรังสิต
19 กันยายน พ.ศ. 2558
สนับสนุนการดำเนินงานของสถานีโทรทัศน์รัฐสภา ไอพีทีวี 1 (Parliament IPTV 1) สมาคมการค้าผู้ประกอบการเคเบิลทีวี 15 มีนาคม พ.ศ. 2559
สนับสนุนและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารด้านนิติบัญญัติผ่านศูนย์ดิจิตอลชุมชน[6] สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.)
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559
ความร่วมมือทางวิชาการเพื่อจัดทำสื่อดิจิทัล[7] มหาวิทยาลัยศรีปทุม (โดยคณะดิจิทัลมีเดีย) 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560
  1. http://news.senate.go.th/news-legislative.php?y=2559&m=4#4681
  2. http://www.cateentertainment.com/main/index.php?option=com_content&view=article&id=11
  3. http://news.senate.go.th/news-senate.php?y=2555&m=1#14[ลิงก์เสีย]
  4. http://news.senate.go.th/news-senate.php?y=2555&m=5#1590[ลิงก์เสีย]
  5. http://www.radioparliament.net/parliament/viewNews.php?nId=4934[ลิงก์เสีย]
  6. http://www.radioparliament.net/parliament/viewNews.php?nId=6617[ลิงก์เสีย]
  7. http://www.radioparliament.net/parliament/viewNews.php?nId=6893[ลิงก์เสีย]