เอธิโอเปียนแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 702

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เอธิโอเปียนแอร์ไลน์ เที่ยวบิน 702
เครื่องบินลำที่เกิดเหตุใน ค.ศ. 2011
สรุปการจี้เครื่องบิน
วันที่17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2014 (2014-02-17)
สรุปนักบินผู้ช่วยก่อเหตุจี้เครื่องบิน
จุดเกิดเหตุน่านฟ้าประเทศซูดาน ลงจอดที่เจนีวา
อากาศยานลำที่เกิดเหตุ
ประเภทอากาศยานโบอิง 767-3บีจีอีอาร์
ดําเนินการโดยเอธิโอเปียนแอร์ไลน์
หมายเลขเที่ยวบิน IATAET702
หมายเลขเที่ยวบิน ICAOETH702
รหัสเรียกETHIOPIAN 702
ทะเบียนET-AMF
ต้นทางท่าอากาศยานนานาชาติโบเล
อาดดิสอาบาบา ประเทศเอธิโอเปีย
จุดพักท่าอากาศยานเลโอนาร์โด ดา วินชี-ฟีอูมีชีโน
โรม ประเทศอิตาลี
ปลายทางท่าอากาศยานมิลาโนมัลเปนซา
มิลาน ประเทศอิตาลี
จำนวนคน202
ผู้โดยสาร193
ลูกเรือ9
เสียชีวิต0
บาดเจ็บ0
รอดชีวิต202 (ทั้งหมด)

เอธิโอเปียนแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 702 เป็นเที่ยวบินโดยสารระหว่างประเทศจากอาดดิสอาบาบาไปยังมิลานโดยจอดพักที่โรมซึ่งถูกจี้โดยนักบินผู้ช่วยเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2014[1][2] ระหว่างบินจากอาดดิสอาบาบาไปยังโรม และลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติเจนีวา ผู้โดยสารและลูกเรือทั้ง 202 คนปลอดภัย

เหตุการณ์[แก้]

เที่ยวบินที่ 702 มีกำหนดการออกจากท่าอากาศยานนานาชาติโบเล กรุงอาดดิสอาบาบา ประเทศเอธิโอเปียเวลา 00:30 น. ตามเวลาท้องถิ่นแอฟริกาตะวันออก (UTC+3 ช้ากว่าประเทศไทย 4 ชั่วโมง) ของวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2014[3] ขณะบินเหนือน่านฟ้าประเทศซูดาน อุปกรณ์ส่งสัญญาณ (transponder) บนเครื่องเริ่มส่งสัญญาณรหัส squawk 7500 ซึ่งเป็นรหัสสากลเตือนว่าเครื่องบินถูกจี้[4] นักบินผู้ช่วยฉวยโอกาสขณะที่กัปตันออกไปเข้าห้องน้ำและล็อกห้องนักบิน[5]

เที่ยวบินที่ 702 มีกำหนดลงจอดที่ท่าอากาศยานเลโอนาร์โด ดา วินชี-ฟีอูมีชีโน กรุงโรม ประเทศอิตาลี เวลา 04:40 น. ตามเวลาท้องถิ่นยุโรปกลาง (UTC+1 ช้ากว่าประเทศไทย 6 ชั่วโมง) ก่อนจะเดินทางต่อไปยังท่าอากาศยานมิลาโนมัลเปนซา นครมิลาน ประเทศอิตาลี[3] อย่างไรก็ตาม นักบินผู้ช่วยผู้ก่อเหตุบังคับเครื่องไปยังนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นักบินคนดังกล่าวนำเครื่องวนหลายรอบขณะเจรจากับเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศที่ท่าอากาศยานนานาชาติเจนีวาเพื่อขอลี้ภัยทางการเมืองและขอความคุ้มครองไม่ให้ส่งตัวกลับไปประเทศเอธิโอเปีย[4][5][6][7] เที่ยวบินที่ 702 ลงจอดเมื่อเวลา 06:02 น. ตามเวลาท้องถิ่นยุโรปกลางโดยมีเชื้อเพลิงเหลือให้บินต่อได้ประมาณ 10 นาทีและเครื่องยนต์ดับหนึ่งตัว[4][5] นักบินผู้ช่วยหลบหนีออกจากเครื่องบินโดยโยนเชือกออกมาทางหน้าต่างแล้วไต่ลงมา และเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งควบคุมตัวไปทันที[5] ท่าอากาศยานถูกสั่งปิดเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ไม่มีผู้โดยสารหรือลูกเรือได้รับบาดเจ็บบนเที่ยวบินที่ 702[8]

ขณะที่เที่ยวบินที่ 702 บินเข้าน่านฟ้าประเทศอิตาลีและฝรั่งเศส เครื่องบินถูกเครื่องบินรบยูโรไฟเตอร์ของกองทัพอากาศอิตาลี (น่านฟ้าประเทศอิตาลี) และเครื่องบินรบมีราฌของกองทัพอากาศฝรั่งเศส (น่านฟ้าประเทศฝรั่งเศส) บินประกบ อย่างไรก็ตาม กองทัพอากาศสวิตเซอร์แลนด์ไม่ได้ตอบสนองเนื่องจากเหตุการณ์เกิดขึ้นนอกเวลาทำการปกติ ได้แก่ 08:00 – 12:00 น. และ 13:30 – 17:00 น. วันธรรมดา โฆษกของกองทัพอากาศสวิตเซอร์แลนด์ให้สัมภาษณ์ว่า "สวิตเซอร์แลนด์ไม่สามารถเข้าแทรกแซงได้เนื่องจากฐานทัพอากาศปิดทำการนอกเวลาราชการและวันหยุดสุดสัปดาห์ มันเป็นประเด็นเรื่องงบประมาณและเจ้าหน้าที่"[9][10] ในช่วงนอกเวลาทำการสวิตเซอร์แลนด์ขอให้กองทัพอากาศของประเทศเพื่อนบ้านดูแลน่านฟ้า โดยอนุญาตให้กองทัพอากาศฝรั่งเศสและอิตาลีบินประกบเครื่องบินต้องสงสัยได้ แต่ไม่มีอำนาจยิงเครื่องบินในน่านฟ้าประเทศสวิตเซอร์แลนด์[10]

ผลสืบเนื่อง[แก้]

ผู้ก่อเหตุ[แก้]

นักบินผู้ช่วยผู้ก่อเหตุจี้เครื่องบินเที่ยวบินที่ 702 คือนายไฮเลเมดิน อาเบรา เตเกญ (Hailemedhin Abera Tegegn) อายุ 31 ปี[11]

เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2014 รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ปฏิเสธคำขอจากรัฐบาลเอธิโอเปียให้ส่งตัวไฮเลเมดิน[note 1]กลับไปรับโทษในประเทศเอธิโอเปีย[5] เจ้าหน้าที่ของสวิตเซอร์แลนด์แต่เดิมกล่าวว่าไฮเลเมดินจะต้องเข้ารับการพิจารณาคดีในประเทศสวิตเซอร์แลนด์[5] ไฮเลเมดินถูกควบคุมตัวในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในระหว่างรอพิจารณาคดี อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2015 คณะผู้พิพากษาในสวิตเซอร์แลนด์ตัดสินให้ไฮเลเมดินไม่ต้องรับโทษหลังจากที่คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณา "ลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า [ไฮเลเมดิน] อยู่ในสภาวะหวาดระแวง" ระหว่างก่อเหตุและไม่สามารถคิดไตร่ตรองอย่างมีเหตุผลได้[12] ไฮเลเมดินถูกนำส่งไปยังศาลกลางของสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งตัดสินให้เข้ารับการบำบัดทางจิตเวช[12]

เดือนมีนาคม ค.ศ. 2015 ศาลสูงสุดของเอธิโอเปียพิจารณาคดีลับหลัง (in absentia) ตัดสินให้จำคุกไฮเลเมดิน 19 ปี 6 เดือน[13]

กองทัพอากาศสวิตเซอร์แลนด์[แก้]

เหตุการณ์นี้เผยให้เห็นจุดอ่อนด้านการป้องกันภัยทางอากาศของกองทัพอากาศสวิตเซอร์แลนด์ และทำให้กองทัพอากาศสวิตเซอร์แลนด์เตรียมพร้อมป้องกันให้รัดกุมตลอดเวลา โดยตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 2016 กองทัพอากาศได้เตรียมเครื่องบินเอฟ/เอ-18 ฮอร์เนตให้พร้อมปฏิบัติการภายใน 15 นาทีระหว่างเวลา 08:00 – 18:00 น. วันธรรมดา ก่อนจะขยายเป็นทุกวันตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 2017[14] ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2020 กองทัพอากาศสวิตเซอร์แลนต์เตรียมเครื่องบินให้พร้อมตลอดเวลาสำหรับบินประกบภายใน 15 นาที[15][16][17][18]

ดูเพิ่ม[แก้]

หมายเหตุ[แก้]

  1. ชื่อบุคคลชาวเอธิโอเปียและเอริเทรียจะใช้ชื่อบิดาต่อท้ายชื่อตัว (แทนชื่อสกุล) และนิยมระบุตัวบุคคลด้วยชื่อตัว ในกรณีนี้ชื่อตัวคือไฮเลเมดิน และชื่อบิดาคืออาเบรา เตเกญ

อ้างอิง[แก้]

  1. "Swiss confirm Ethiopian plane hijack". 17 กุมภาพันธ์ 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 February 2014. สืบค้นเมื่อ 17 February 2014.
  2. Lynch, Dennis. "VIDEO: Inside The Plane That Was Hijacked By Its Own Co-Pilot". Business Insider. สืบค้นเมื่อ 19 February 2014.
  3. 3.0 3.1 "Ethiopian Airlines flight ET-702 of 17 February 2014". 17 February 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 February 2014. สืบค้นเมื่อ 17 February 2014.
  4. 4.0 4.1 4.2 "Hijacked Ethiopian plane probably flown to Switzerland for asylum". Focus Information Agency. 17 February 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-22. สืบค้นเมื่อ 17 February 2014.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 "Ethiopian Airline pilot gets 19 years for hijacking plane". Agence France-Presse. 20 March 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-18. สืบค้นเมื่อ 2021-12-31.
  6. "Ethiopian Airlines hijack: Co-pilot took control of plane". BBC News. 17 กุมภาพันธ์ 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 February 2014. สืบค้นเมื่อ 17 February 2014.
  7. "Hijacker arrested after Ethiopian Airlines flight forced to land in Geneva". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 17 February 2014.
  8. Larry Register, Co-pilot hijacks Ethiopian Airlines plane, flies to Geneva, seeks asylum, CNN (18 February 2014).
  9. Emine Saner. "The Swiss air force: armed and dangerous, but only in office hours". The Guardian.
  10. 10.0 10.1 "Swiss Airforce Grounded During Hijacking Because It Was Outside Office Hours". Agence France-Presse. 17 February 2014.
  11. Swiss confirm Ethiopian plane hijack เก็บถาวร 2014-02-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, BBC News, 17 February 2014 Last updated at 01:44 ET.
  12. 12.0 12.1 Caroline Bishop, 'Paranoid' hijack pilot faces no Swiss charges, The Local (13 November 2015).
  13. "Ethiopian pilot who hijacked plane sentenced to 20 years in jail". Reuters. 20 March 2015.
  14. "Businessjet ohne Funk löste «Hot Mission» aus" (ภาษาเยอรมัน). 20 Minutes. 24 April 2017. สืบค้นเมื่อ 2 May 2020.
  15. Praesentation Aufbau Luftpolizeidienst 24h
  16. http://www.20min.ch/schweiz/news/story/Kampfjets-fliegen-naechstes-Jahr-bis-18-Uhr-20057467
  17. "—". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-04-02. สืบค้นเมื่อ 2021-12-31.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  18. Luftpolizeidienst jetzt rund um die Uhr