ข้ามไปเนื้อหา

เวย์น วีลเลอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เวย์น บี. วีลเลอร์
ภาพถ่ายของเวย์น วีลเลอร์ ถ่ายโดยสตูดิโอถ่ายภาพแฮร์ริสแอนด์อีวิง หอสมุดรัฐสภา
เกิด10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1869(1869-11-10)
บรูกฟิลด์ทาวน์ชิป เทศมณฑลทรัมบูล รัฐโอไฮโอ
เสียชีวิต5 กันยายน ค.ศ. 1927(1927-09-05) (57 ปี)
แบทเทิลครีก รัฐมิชิแกน
การศึกษาวิทยาลัยโอเบอร์ลิน
มหาวิทยาลัยเวสต์เทิร์นรีเซอฟ์
อาชีพครู
ทนายความ
นักเคลื่อนไหวทางการเมือง
นักวิ่งเต้น
มีชื่อเสียงจากผู้สนับสนุนการห้ามสุรา
พรรคการเมืองริพับลิกัน[1][2][3][4]
คู่สมรสเอลลา เบลล์ แคนดี้ (สมรส ค.ศ. 1901-1927 ภรรยาเสียชีวิต)
บุตร3 คน

เวย์น บิดเวลล์ วีลเลอร์ (อังกฤษ: Wayne Bidwell Wheeler; 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1869–5 กันยายน ค.ศ. 1927) เป็นอัยการชาวอเมริกัน และผู้นำของสันนิบาตต่อต้านการขายสุรา ขบวนการสนับสนุนการห้ามสุรา ในช่วงปลายคริสต์คศวรรษที่ 19 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เขามีบทบาทสำคัญในการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐครั้งที่สิบแปด ซึ่งส่งผลให้การผลิต แจกจ่าย และจำหน่ายสุราเป็นสิ่งมิชอบด้วยกฎหมาย[5]

วีลเลอร์เกิดที่เมืองบรูกฟิลด์ทาวน์ชิป ในเทศมณฑลทรัมบูล รัฐโอไฮโอ โดยเติบโตมาในฟาร์มของครอบครัว อุบัติเหตุในวัยเด็กอันมีสาเหตุมาจากผู้รับจ้างซึ่งเมาสุราทำให้เขาหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มมึนเมาไปตลอดชีวิต ในภายหลังเขาได้ใช้เรื่องราวดังกล่าวเพื่อดึงดูดผู้คนให้มาเข้าร่วมขบวนการห้ามสุราและเพื่อส่งเสริมให้มีการบัญญัติห้ามสุราในรัฐธรรมนูญสหรัฐ วีลเลอร์จบการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในรัฐโอไฮโอ จากนั้นจึงได้รับใบประกอบวิชาชีพครู และสอนอยู่สองปีก่อนที่จะเข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยโอเบอร์ลิน หลังจากสำเร็จการศึกษาใน ค.ศ. 1894 เขาได้กลายมาเป็นนักเคลื่อนไหว (Organizer) ให้กับสันนิบาตต่อต้านการขายสุรา วีลเลอร์ได้รับปริญญานิติศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเวสต์เทิร์นรีเซอฟ์ ใน ค.ศ. 1898 ต่อมาใน ค.ศ. 1902 เขาได้ขึ้นเป็นผู้นำของสันนิบาตต่อต้านการขายสุรา และดำเนินกลยุทธ์ผลักดันนโยบายบายเดียว (Single issue pressure politics) ซึ่งรวมไปถึงการณรงค์ด้วยสื่อและการเดินขบวนสาธารณะ เพื่อให้มีการตรากฎหมายลดหรือห้ามขายและดื่มสุรา

หน้าที่การงานของวีลเลอร์ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดเมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่สิบแปดและรัฐบัญญัติโวลสตีด มีผลบังคับใช้ใน ค.ศ. 1920 เมื่อการบังคับห้ามสุราเริ่มยุ่งยากขึ้น เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางก็หันไปใช้วิธีรุนแรง ซึ่งรวมไปถึงการวางยาพิษในสุราเพื่อปราบปรามไม่ให้ประชาชนดื่มเครื่องดื่มมึนเมา การที่วีลเลอร์ปฏิเสธที่จะประนีประนอม เช่น ปรับแก้มาตราการห้ามสุราให้มีการอนุญาตบริโภคเบียร์และเอล ทำให้เขาถูกมองว่าเป็นคนไร้เหตุผลมากขึ้นเรื่อย ๆ อิทธิพลของเขาเริ่มลดลง และสุดท้ายเขาก็ลาออกใน ค.ศ. 1927

วีลเลอร์ประสบกับเหตุร้ายหลายประการหลังจากเขาลาออกได้ไม่นาน เป็นต้นว่า ภรรยาของเขาเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเพลิงไหม้ในห้องครัว และพ่อตาของเขาก็เสียชีวิตตามไปด้วยโรคหัวใจหลังจากที่พยายามช่วยเธอแต่ไม่สำเร็จ วีลเลอร์ป่วยด้วยโรคไต และเสียชีวิตลงที่สถานพักฟื้น ในเมืองแบทเทิลครีก รัฐมิชิแกน เมือวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1927

แนวคิดแบบวีลเลอร์ (Wheelerism)

[แก้]

ในฐานะผู้นำของสันนิบาตต่อต้านการขายสุรา วีลเลอร์ได้พัฒนารูปแบบการเคลื่อนไหวที่ต่อมาเรียกกันว่า "แนวคิดแบบวีลเลอร์" หรือ "วีลเลอร์นิยม" ("Wheelerism") ซึ่งมุ่งเป้าหมายไปยังประเด็นเพียงข้อเดียว และพึ่งพาสื่อมวลชนในการชักจูงนักการเมืองให้เชื่อว่าแนวคิดของสันนิบาตต่อต้านการขายสุราได้รับการสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมาก[6][7] แนวคิดแบบวีลเลอร์ยังรวมไปถึงการชักจูงผู้มีอำนาจโดยตรงด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ข่มขู่ว่าจะถอนการสนับสนุนการรณรงค์หาเสียง สนับสนุนและให้เงินทุนแก่คู่แข่ง และเปิดเผยข้อมูลอื้อฉาวเพื่อให้ได้มาซึ่งการสนับสนุนในการจำกัดการขายสุรา[6][7]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Slavicek, Louise C. (2009). The Prohibition Era. Infobase Publishing. ISBN 9781438104379.
  2. Gold, David M. (2009). Democracy in Session: A History of the Ohio General Assembly. Ohio University Press. ISBN 9780821418444.
  3. Murray, Robert K. (1976). The 103rd Ballot: Democrats and the Disaster in Madison Square Garden. Harper & Row. ISBN 9780060131241. although professing political neutrality.
  4. The Wine and Spirit Bulletin, Volume 29. Bulletin Publishing Company. 1915.
  5. "Wayne Wheeler". American National Biography.
  6. 6.0 6.1 Funderburg, J. Anne (2014). Bootleggers and Beer Barons of the Prohibition Era. Jefferson, NC: McFarland & Company. p. 332. ISBN 978-0-7864-7961-0.
  7. 7.0 7.1 Johanneck, Elizabeth (2011). Twin Cities Prohibition: Minnesota Blind Pigs & Bootleggers. Charleston, SC: The History Press. pp. 29–30. ISBN 978-1-61423-354-1.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]