ข้ามไปเนื้อหา

เจ้าหญิงชิกาโกะ คาซุโนะมิยะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าหญิงชิกาโกะ
มิไดโดโกโระ
ก่อนหน้าเท็นโชอิง
ถัดไปอิชิโจ มิคาโกะ
ประสูติ3 กรกฎาคม ค.ศ. 1846(1846-07-03)
เกียวโต โชกุนโทกูงาวะ
สวรรคต2 กันยายน ค.ศ. 1877(1877-09-02) (31 ปี)
ฮาโกเนะ, จักรวรรดิญี่ปุ่น
พระสวามีโทกูงาวะ อิเอโมจิ
ราชวงศ์ราชวงศ์ญี่ปุ่น
พระราชบิดาจักรพรรดินินโก
พระราชมารดาสึเนโกะ ฮาชิโมโตะ

เจ้าหญิงจิคาโกะ คาซุโนะมิยะ (ญี่ปุ่น: 和宮 親子内親王โรมาจิKazu-no-miya Chikako naishinnō; 3 กรกฎาคม ค.ศ. 1846 - ค.ศ. 1877) หรือ เจ้าหญิงเซกันอิง (ญี่ปุ่น: 静寛院宮โรมาจิSeikan'in-no-miya) ทรงเป็นพระราชธิดาในพระจักรพรรดินินโก พระขนิษฐาในพระจักรพรรดิโคเม พระปิตุจฉาในพระจักรพรรดิเมจิ และทรงเป็นภริยาของโชกุน โทกูงาวะ อิเอโมจิ (ญี่ปุ่น: 徳川慶茂โรมาจิTokugawa Iemochi) โชกุนลำดับที่ 14 แห่ง รัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ

เจ้าหญิงคาซุประสูติเมื่อค.ศ. 1846 ที่นครหลวงเกียวโต ทรงเป็นพระธิดาของพระจักรพรรดินินโก กับพระสนมคือนางฮาชิโมโตะ สึเนโกะ (ญี่ปุ่น: 橋本経子โรมาจิHashimoto Tsuneko) พระบิดาคือพระจักรพรรดินินโกเสด็จสวรรคตก่อนที่เจ้าหญิงจิคาโกะจะประสูติเพียงหนึ่งเดือน หลังจากที่ให้กำเนิดเจ้าหญิงจิคาโกะแล้วพระสนมฮาชิโมโตะ สึเนโกะ พระมารดาจึงได้ปลงผมบวชเป็นชีได้รับชื่อว่า คังเงียว-อิง (ญี่ปุ่น: 観行院โรมาจิKangyō-in) เมื่อเจ้าหญิงมีพระชนมายุได้ห้าวัน พระเชษฐาคือพระจักรพรรดิโคเมโปรดฯให้เจ้าหญิงขึ้นทรงกรม พระนามกรมว่า คาซูโนะมิยะ (ญี่ปุ่น: 和宮โรมาจิKazu-no-miya) ในค.ศ. 1851 เมื่อพระชนมายุได้ห้าพรรษา เจ้าหญิงคาซูโนะมิยะทรงได้รับการหมั้นหมายกับเจ้าชายอาริซูกาวะ ทารูฮิโตะ (ญี่ปุ่น: 有栖川宮熾仁親王โรมาจิArisugawa Taruhito-shinnō)

เสกสมรส

[แก้]

ในค.ศ. 1860 รัฐบาลเอโดะในสมัยของโชกุนโทกูงาวะ อิเอโมจิ ออกนโยบายสานความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลโชกุนที่เมืองเอโดะและราชสำนักของพระจักรพรรดิที่เมืองเกียวโต เรียกว่า นโยบายโคบุกัตไต (ญี่ปุ่น: 公武合体โรมาจิKōbu-gattai) รัฐบาลโชกุนต้องการให้โชกุนอิเอโมจิสมรสกับเจ้าหญิงจากพระราชวงศ์ญี่ปุ่น ซากาอิ ทาดาอากิ (ญี่ปุ่น: 酒井忠義โรมาจิSakai Tadaaki) ผู้ปกครองเมืองเกียวโตฝ่ายรัฐบาลโชกุนนำความขึ้นทูลพระจักรพรรดิโคเม พระจักรพรรดิโคเมทรงไม่มีพระธิดา มีเพียงพระขนิษฐาเท่านั้นคือเจ้าหญิงเจ้าคาซุ อิวากูระ โทโมมิ (ญี่ปุ่น: 岩倉具視โรมาจิIwakura Tomomi) ขุนนางในราชสำนักเกียวโตให้การสนับสนุนนโยบายโคบูกัตไตหรือการเชื่อมสัมพันธ์ไมตรี แม้ว่าเจ้าหญิงเจ้าคาซุจะทรงมีพระคู่หมั้นอยู่ก่อนแล้ว แต่ด้วยพระประสงค์ของพระจักรพรรดิโคเม เจ้าหญิงคาซุจึงทรงยินยอมที่จะอภิเษกสมรสกับโชกุนโทกูงาวะ อิเอโมจิ การหมั้นระหว่างเจ้าหญิงคาซุกับเจ้าชายอาริซูกาวะ ทารูฮิโตะจึงถูกยกเลิกไป

แม้ว่าในสมัยก่อนหน้าในสมัยเอโดะเคยมีเจ้าหญิงที่เป็นพระอนุวงศ์ในพระราชวงศ์ญี่ปุ่นอภิเษกสมรสเป็นภรรยาเอกของโชกุนโทกูงาวะ เจ้าหญิงคาซุทรงเป็นเจ้าหญิงองค์แรกจากพระราชวงศ์โดยตรงที่ได้อภิเษกสมรสกับโชกุน อย่างไรก็ตามทางราชสำนักเมืองเกียวโตได้ตั้งเงื่อนไขไว้หลายประการในการอภิเษกสมรสของเจ้าหญิงเจ้าคาซุ ได้แก่ รัฐบาลโชกุนต้องดำเนินนโยบายขับไล่ชาวตะวันตกให้ออกจากประเทศญี่ปุ่นให้หมดสิ้นภายในห้าปี เจ้าหญิงคาซุจะต้องเสด็จกลับมายังเมืองเกียวโตปีละครั้งเพื่อสักการะดวงพระวิญญาณของพระบิดาคือพระจักรพรรดินินโก และเจ้าหญิงคาซุจะทรงปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีของราชสำนักเมืองเกียวโตแม้ว่าจะเสด็จไปประทับที่เมืองเอโดะแล้ว พระจักรพรรดิโคเมมีพระราชโองการแต่งตั้งให้เจ้าหญิงเจ้าคาซุเป็นไนชินโน (ญี่ปุ่น: 内親王โรมาจิnaishinnō) มีฐานะเทียบเท่าพระธิดาในพระจักรพรรดิที่ประสูติแต่พระจักรพรรดินี พระราชทานนามให้แก่เจ้าหญิงเจ้าคาซุว่า จิคาโกะ (ญี่ปุ่น: 親子โรมาจิChikako)

เจ้าหญิงจิคาโกะเจ้าคาซุเสด็จออกจากนครเกียวโตในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1861 พร้อมกับพระมารดานางคังเงียวอิงและคนสนิทคือนิวาตะ ซึงูโกะ (ญี่ปุ่น: 庭田嗣子โรมาจิNiwata Tsuguko) เจ้าหญิงคาซุเสด็จถึงเมืองเอโดะในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน และเสด็จเข้าปราสาทเอโดะเข้าประทับในโอโอกุ (ญี่ปุ่น: 大奥โรมาจิŌoku) หรือฝ่ายในของโชกุนในเดือนธันวาคม เจ้าหญิงคาซุได้พบกับนางเท็นโชอิง (ญี่ปุ่น: 天璋院โรมาจิTenshō-in) มารดาบุญธรรมของโชกุนอิเอโมจิ และนางจึตสึโจอิง (ญี่ปุ่น: 実成院โรมาจิJitsujō-in) มารดาโดยกำเนิดของโชกุนอิเอโมจิ เจ้าหญิงคาซุเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับโชกุนอิเอโมจิในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1862 เจ้าหญิงชิกาโกะเจ้าคาซุทรงมีฐานะเป็นไนชินโนซึ่งสูงว่าตำแหน่งเซอิไทโชกุนทำให้ทรงมีฐานะเหนือกว่าพระสวามี เจ้าหญิงคาซุทรงปฏิเสธที่จะถูกเรียกว่ามิไดโดโกโระ (ญี่ปุ่น: 御台所โรมาจิMidaidokoro) อันเป็นคำเรียกตำแหน่งหมายถึงภรรยาเอกของโชกุน แต่โปรดที่จะให้เรียกพระองค์ว่ามิยะหรือเจ้าหญิง เมื่อเข้าประทับในโอโอกุแล้วเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างเจ้าหญิงคาซุกับนางเท็นโชอิง แม้ว่าเจ้าหญิงเจ้าคาซุจะทรงมีชาติกำเนิดสูง แต่นางเท็นโชอิงก็ยังมีฐานะเป็นพระสัสสุของเจ้าหญิงคาซุและดำรงตำแหน่งเป็นโอมิไดโดโกโระ (ญี่ปุ่น: 大御台所โรมาจิŌmidaidokoro) หรือภรรยาเอกของโชกุนผู้ล่วงลับซึ่งมีอำนาจสูงสุดภายในโอโอกุ มีการจัดที่นั่งให้ที่นั่งของเท็นโชอิงอยู่สูงกว่าและใหญ่กว่าพระอาสน์ของเจ้าหญิงคาซุ อีกทั้งเจ้าหญิงคาซุยังทรงยึดมั่นในขนมธรรมเนียมของราชสำนักเมืองเกียวโตแม้ว่าจะทรงอภิเษกเข้ามาในตระกูลของซามูไรแล้วก็ตาม ท้ายที่สุดทั้งเท็นโชอิงและเจ้าหญิงคาซุต่างปรองดองและเคารพซึ่งกันและกัน

ในเดือนสิงหาคมปีค.ศ. 1864 โชกุนโทกูงาวะ อิเอโมจิ ยกทัพของรัฐบาลโชกุนเข้าปราบปรามแคว้นโจชู (จังหวัดยามางูจิในปัจจุบัน) ปีต่อมาค.ศ. 1865 พระมารดานางคังเงียวอิงล้มป่วยถึงแก่กรรมภายในโอโอกุ ในระหว่างสงครามโชกุนอิเอโมจิล้มป่วยจนถึงแก่อสัญกรรมที่ปราสาทโอซากะในเดือนกรกฎาคมปีค.ศ. 1866 โดยที่มิได้มีโอรสธิดาด้วยกัน เจ้าหญิงคาซุโนมิยะทรงปลงพระเกศาบวชเป็นชีได้รับพระราชทานนามจากพระจักรพรรดิโคเมว่า เซกันอิง (ญี่ปุ่น: 静寛院โรมาจิSeikan-in) ในเดือนธันวาคมพระจักรพรรดิโคเมเสด็จสวรรคต

สมัยการฟื้นฟูเมจิ

[แก้]

หลังจากที่โชกุนอิเอโมจิถึงแก่กรรมโดยที่ไม่มีทายาทสืบทอดตำแหน่งโชกุน ทั้งพระนางเซกันอิงและนางเท็นโชอิงและต่างต้องการให้ตำแหน่งโชกุนตกเป็นของโทกูงาวะ คาเมโนซูเกะ (ญี่ปุ่น: 徳川亀之助โรมาจิTokugawa Kamenosuke) ซึ่งมีอายุเพียงสามปีตามคำสั่งเสียของโชกุนอิเอโมจิ แต่รัฐบาลโชกุนมีความเห็นว่าในภาวะวิกฤตการณ์ทางการเมืองไม่ควรที่จะมีโชกุนอายุน้อยเป็นผู้นำ รัฐบาลโชกุนจึงผลักดันให้โทกูงาวะ โยชิโนบุ (ญี่ปุ่น: 徳川慶喜โรมาจิTokugawa Yoshinobu) ขึ้นดำรงตำแหน่งโชกุนเป็นโชกุนคนสุดท้ายของรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ หลังจากที่พ่ายแพ้ต่อกองทัพของซัตสึมะและโจชูในการรบที่โทบะ-ฟูชิมิ (Battle of Toba-Fushimi) ในค.ศ. 1868 อดีตโชกุนโยชิโนบุหลบหนีกลับมายังเมืองเอโดะ กองทัพฝ่ายพระจักรพรรดิซึ่งนำโดยเจ้าชายอาริซูกาวะ ทารูฮิโตะ อดีตพระคู่หมั้นของเจ้าหญิงคาซุ และไซโง ทากาโมริ (ญี่ปุ่น: 西郷隆盛โรมาจิSaigō Takamori) ยกทัพของฝ่ายพระจักรพรรดิเข้าติดตามอดีตโชกุนโยชิโนบุเข้าประชิดเมืองเอโดะ พระนางเซกันอิงทรงร่วมมือกับนางเท็นโชอิงและคัตสึ ไคชู (ญี่ปุ่น: 勝海舟โรมาจิKatsu Kaishū) ในการเจรจาสงบศึกกับทัพฝ่ายพระจักรพรรดิ โดยพระนางเซกันอิงมีสาส์นถึงกองทัพของพระจักรพรรดิทรงร้องขอให้ระงับการใช้กองกำลังทหารเข้ายึดครองเมืองเอโดะ และยอมจำนนยินยอมที่จะยกปราสาทเอโดะแก่ฝ่ายพระจักรพรรดิแต่โดยดี กองทัพฝ่ายพระจักรพรรดิจึงเข้ายึดปราสาทเอโดะได้อย่างสันติปราศจากการเสียเลือดเนื้อ (ญี่ปุ่น: 無血開城โรมาจิMuketsu kaijō)

ในปี ค.ศ. 1874 ท่านเซกันอิงได้ย้ายมาพักอยู่ที่บ้านของ คัตสึ ไคชู อดีตซะมูไร ที่โตเกียว จวบจนท่านเซกันอิงถึงแก่กรรมเมื่อปี ค.ศ. 1877 ขณะอายุได้เพียง 31 ปี ปัจจุบันศพของท่านถูกฝังอยู่ที่สุสานประจำตระกูลโทะกุงะวะที่ วัดโซโจ