อุณาโลม
อุณาโลม เป็นสัญลักษณ์คล้ายเลขหนึ่งไทย เลขเก้าไทย หรือหอยสังข์มีทั้งเวียนซ้ายและเวียนขวา พบในเครื่องรางของขลังต่าง ๆ ของไทย ในศาสนสถานพุทธและฮินดู มีความหมายทางมงคล เช่น นำไปใช้เจิมบ้านหรือเจิมรถ
ประวัติ
[แก้]สัญลักษณ์อุณาโลมมีปรากฏอยู่ในเทวรูปในศาสนาฮินดู ประเทศอินเดีย มาตั้งแต่ยุคอินเดียโบราณ โดยการเป็นสัญลักษณ์มาจาก อักขระ โอม โดยมีการลดทอนสัญลักษณ์มาเรื่อย ๆ จนคล้ายเลขหนึ่งหรือเลขเก้าไทย ตามคติฮินดู คำว่า "อุณาโลม" มาจากคำว่า "โอม" ซึ่งเกิดจากการผสมคำระหว่าง อุ อะ มะ อันหมายถึงเทพเจ้าทั้งสาม
สัญลักษณ์อุณาโลมที่พบในศาสนาพุทธพบในเศียรพระพุทธรูปลังกา สมัยโปโลนารุวะ พุทธศตวรรษที่ 16 ในประเทศเนปาล โดยพบคู่กับพระเนตรของพระพุทธเจ้าที่เจดีย์พุทธนาถ ในประเทศไทยสันนิษฐานว่า สัญลักษณ์อุณาโลมที่พบเก่าแก่ที่สุด ที่ปรากฏอยู่บนเศียรพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 14–15[1] ที่จังหวัดบุรีรัมย์ สัญลักษณ์อุณาโลมมีปรากฏขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่สมัยทวารวดีซึ่งอาจได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียเหนือ ลังกา ขอม คงทำหน้าที่ตรงไปตรงมาคือเป็นขนระหว่างคิ้วของพระพุทธเจ้า[2]
การนำไปใช้
[แก้]พบสัญลักษณ์อุณาโลมนบ่อยครั้งในอักขระยันต์ต่าง ๆ ปรากฏอยู่ในตำราพิชัยสงครามหลายครั้งพบเสื้อยันต์ของทหาร ลงอักขระยันต์เอาไว้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงใช้ตราอุณาโลมเป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์ เริ่มใช้คราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อ พ.ศ. 2328
สัญลักษณ์อุณาโลมปรากฏอยู่ที่หน้าหมวกทหาร เพื่อให้เห็นแตกต่างจากรูปไม้กางเขนอันเป็นตราของพระเยซูศาสดาของศาสนาคริสต์ สภากาชาดเมื่อแรกตั้งในเมืองไทยนั้น ได้ทำเครื่องหมายเป็นรูปอุณาโลมสีแดง และเรียกว่า สภาอุณาโลมแดง
-
พระราชลัญจกรประจำพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช -
สัญลักษณ์อุณาโลมหน้าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ก่อนปิดปรับปรุงในปี พ.ศ. 2562 -
ตรากองทัพบกไทย -
เศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ความหมาย
[แก้]อุณาโลม มีความหมายว่า พระโลมา (ขน) ระหว่างพระขนง (คิ้ว) ปรากฏในพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 3 ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ลักขณสูตร กล่าวว่า พระอุณาโลมเป็นลักษณะมหาบุรุษ 1 ใน 32 ประการ กล่าวคือ บังเกิด ณ ระหว่างพระขนง มีสีขาวอ่อน เปรียบด้วยนุ่น (อุณฺณา ภมุกนฺตเร ชาตา โหติ โอทาตา มุทุตูลสนฺนิภา)[3]
ในสมัยรัตนโกสินทร์สัญลักษณ์อุณาโลมทำหน้าที่เป็นเครื่องรางของขลังเป็นตัวสร้างความเชื่อมั่น เป็นสิ่งอันเป็นมงคลและศรัทธาให้เกิดขึ้น[4] ภายหลังสัญลักษณ์อุณาโลมทำหน้าที่คล้ายจุด คือ นำไปใช้ปิดประโยค อาจเพื่อทำให้ประโยคนั้นหรือข้อความภายในเกิดสิริมงคล เช่น การเจิมบ้าน รถยนต์หรือเจิมหน้าผาก เป็นต้น เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ได้รับการเจิม คติความเชื่อในปัจจุบันของผู้สักยันต์ เวียนซ้ายเชื่อว่าคงกระพันชาตรี เวียนขวาเชื่อว่าเมตตามหานิยม
จำนวนขดหยักหรือหาง มีความหมายแตกต่างกัน อุณาโลมมียอดหยัก 5 ชั้น เรียกว่า อุณาโลมพระเจ้า 5 พระองค์
อ้างอิง
[แก้]- ↑ พิริยะ ไกรฤกษ์. ประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีในประเทศไทย. อมรินทร์พริ้นติ้ง กรุ๊พ.กรุงเทพฯ. 2533. หน้า 117.
- ↑ กิตติธัช ศรีฟ้า. "สัญลักษณ์อุณาโลม การสื่อความความหมายของสัญลักษณ์จากอดีตสู่ปัจจุบัน" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-10-06. สืบค้นเมื่อ 2021-10-06.
- ↑ ทองแถม นาถจำนง. "อุณาโลมหน้าหมวกทหาร". สยามรัฐออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-06. สืบค้นเมื่อ 2021-10-06.
- ↑ ตำราพิไชยสงคราม ฉบับรัชกาลที่ 1 : กรมศิลปากร, 2545.