ข้ามไปเนื้อหา

อีเห็นเครือ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อีเห็นเครือ
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Carnivora
วงศ์: Viverridae
วงศ์ย่อย: Paradoxurinae
สกุล: Paguma
Gray, 1831
สปีชีส์: P.  larvata
ชื่อทวินาม
Paguma larvata
(C. E. H. Smith, 1837)
ชนิดย่อย
  • P. l. wroughtoni
  • P. l. grayi
  • P. l. neglecta
  • P. l. tytlerii
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์

อีเห็นเครือ (อังกฤษ: Masked palm civet) สัตว์จำพวกชะมดและอีเห็นชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Paguma larvata จัดเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ในสัตว์จำพวกนี้ ขนตามลำตัวสีน้ำตาลเข้ม ไม่มีจุดหรือลวดลายใด ๆ บริเวณท้องมีสีอ่อนกว่าส่วนหลัง หลังหูและหลังคอมีสีเข้ม ม่านตามีสีน้ำตาลแดง มีหนวดเป็นเส้นยาวบริเวณจมูกและแก้ม ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมียเล็กน้อย ตัวเมียมีเต้านม 2 คู่

ขนาดลำตัวและหัวยาว 50.8-76.2 เซนติเมตร ความยาวหาง 50.8-63.6 เซนติเมตร น้ำหนัก 3-5 กิโลกรัม

มีการกระจายพันธุ์ที่กว้างขวาง พบตั้งแต่ภาคเหนือของอินเดีย, ปากีสถาน, ตะวันออกของอัฟกานิสถาน, ตะวันออกของจีนรวมทั้งเกาะไต้หวัน, ไทย, ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม, มาเลเซีย, เกาะสุมาตรา, เกาะบอร์เนียว, ตะวันตกของพม่า, สิกขิม, ภูฐาน, เนปาล มีชนิดย่อยทั้งหมด 4 ชนิด (ดูในตาราง)

สามารถปรับตัวให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลายได้ ตั้งแต่ป่าเบญจพรรณ, ป่าดิบแล้ง ไปจนถึงชายป่าที่ติดกับพื้นที่ทำการเกษตรกรรม สามารถปีนต้นไม้ได้คล่องแคล่ว และจะใช้เวลาส่วนใหญ่บนต้นไม้ โดยจะกินทั้งพืชและสัตว์ แต่ในบางครั้งอาจมาหากินบนพื้นดินด้วย จากการศึกษาในเนปาลพบว่า มีการผสมพันธุ์กันในฤดูร้อน โดยในช่วงปลายฤดูฝนอีเห็นเครือตัวเมียจะสร้างรังในโพรงไม้ เพื่อใช้เลี้ยงดูลูกอ่อน ใช้เวลาตั้งท้องนาน 2 เดือน ออกลูกครั้งละ 2-4 ตัว

อีเห็นเครือถูกสันนิษฐานว่าเป็นสัตว์ที่เป็นต้นตอแพร่เชื้อของโรคซาร์สที่ระบาดในฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ ในช่วงปี พ.ศ. 2546 เพราะชาวจีนนิยมกินเนื้ออีเห็นเครือและสัตว์ในตระกูลนี้[ต้องการอ้างอิง]

ถูกจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535[1][2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. สัตว์ป่าคุ้มครอง[ลิงก์เสีย]
  2. "อีเห็นเครือ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-08. สืบค้นเมื่อ 2009-03-14.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Paguma larvata ที่วิกิสปีชีส์