ข้ามไปเนื้อหา

อะโบมาซัม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ระบบย่อยอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้อง – กระเพาะอะโบมาซัมอยู่ล่างสุด

อะโบมาซัม หรือ กระเพาะแท้ (อังกฤษ: abomasum หรือ maw, rennet-bag, reed tripe[1]) เป็นกระเพาะอาหารลำดับที่ 4 และเป็นกระเพาะอาหารที่แท้จริงของสัตว์เคี้ยวเอื้อง ซึ่งสัตว์เคี้ยวเอื้องเป็นสัตว์ที่มีกระเพาะขนาดใหญ่มีความจุของกระเพาะมากเนื่องมาจากอาหารที่กินส่วนใหญ่เป็นพืช อาหารสัตว์หรืออาหารที่มีลักษณะหยาบ เช่น หญ้า ใบไม้ กิ่งไม้เล็ก ๆ รำหยาบ ฟาง เมล็ดธัญพืชทั้งเปลือก เป็นต้น[2]

คำว่า "อะโบมาซัม" มาจากภาษาละตินใหม่ (ab- "ห่างจาก" + omasum "ลำไส้ของวัว") ถูกนำมาใช้ในภาษาอังกฤษครั้งแรกใน ค.ศ. 1706

ลักษณะโครงสร้าง[แก้]

อะโบมาซัม เป็นส่วนของกระเพาะที่มีต่อมสร้างน้ำย่อยที่ชั้นเยื่อเมือกเหมือนกันกับกระเพาะของสัตว์กระเพาะเดี่ยวทั่วไป มีลักษณะเหมือนลูกแพร์ (pear-shaped) มีความจุประมาณ 8% ของความจุกระเพาะทั้งหมด[3] อะโบมาซัมจะมีขนาดเล็กลงเมื่อเปรียบเทียบกับกระเพาะรูเมนเมื่อสัตว์มีการเจริญเติบโตขึ้น กระเพาะแท้ในสัตว์เคี้ยวเอื้องแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ fundic region มีชั้นเยื่อเมือกลักษณะเป็นกลีบ (fold) ประมาณ 12 กลีบ ทำหน้าที่ขับกรดเกลือ (HCl) และเอนไซม์ชนิดต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่เป็นกรด และส่วนที่สองคือ pyloric region ผนังส่วนนี้จะคล้ายกับผนังกระเพาะของสัตว์กระเพาะเดี่ยวทั่วไป เป็นที่รวมของอาหารก่อนที่จะถูกบีบให้เป็นก้อน (bolus) โดยการรัดตัวของกล้ามเนื้อให้ผ่านกล้ามเนื้อหูรูด เข้าสู่ลำไส้เล็กส่วนต้น (ดูโอดินัม) ต่อไป สำหรับแพะ แกะ จะสามารถพบส่วน cardiac region ได้

ตำแหน่ง[แก้]

อะโบมาซัม อยู่ด้านขวาของกระเพาะรูเมน และติดกับพื้นล่างของช่องท้อง[3]

หน้าที่[แก้]

อะโบมาซัม จะมีต่อมที่สร้างเอนไซม์ และปล่อยออกมาย่อยอาหารพวกโปรตีน รวมทั้งจุลินทรีย์ที่ติดอยู่ในอาหารเป็นจำนวนมาก สัตว์จึงได้รับกรดอะมิโนจากเซลล์จุลินทรีย์ และวิตามินต่างๆ ที่จุลินทรีย์สังเคราะห์ขึ้นมา[4]ทำให้สัตว์ได้รับสารอาหารมากกว่าที่จะได้รับจากหญ้าเพียงอย่างเดียว เมื่ออาหารผ่านกระเพาะส่วนนี้แล้ว จะเข้าสู่ลำไส้เล็กส่วนต้นที่มีอวัยวะช่วยย่อยอาหาร จะมีการย่อยอาหารและดูดซึมสารอาหารเช่นเดียวกับสัตว์กินพืชอื่น ๆ โดยอาศัยเอนไซม์จากตับอ่อนและน้ำดีจากตับ โดยตับทำหน้าที่สร้างน้ำดีเพื่อทำให้ไขมันที่อยู่ในลำไส้เล็กเกิดการแตกตัว ตับอ่อนทำหน้าที่สร้างเอนไซม์ช่วยย่อยพวกโปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตที่อยู่ในลำไส้เล็ก เมื่ออาหารถูกย่อยเป็นโมเลกุลขนาดเล็กแล้วจะถูกส่งต่อไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายต่อไป อาหารที่ยังย่อยไม่หมดและกากอาหารจะเคลื่อนที่เข้าสู่ลำไส้ใหญ่ และขับกากอาหารออกทางทวารหนักในที่สุด

พยาธิวิทยา[แก้]

วัวที่ได้รับอาหารสูตรสำหรับช่วงผลผลิตสูงมีความไวรับต่อพยาธิสภาพหลายประการ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นหลังจากตกลูก อะโบมาซัมที่เต็มไปด้วยแก๊สสามารถเคลื่อนไปอยู่ในตำแหน่งที่ผิดปกติและกลายเป็นโรคกระเพาะพลิกได้ หากว่าอะโบมาซัมเคลื่อนไปทางขวาก็มีความเสี่ยงที่จะบิดหมุน อะโบมาซัมที่เคลื่อนผิดตำแหน่งจะทำให้วัวแสดงอาการทั้งหมดหรือบางอาการต่อไปนี้: ไม่อยากอาหาร การบีบตัวของกระเพาะหมักลดลง การเคี้ยวเอื้องลดลง และการผลิตน้ำนมลดลง แม้ว่าอะโบมาซัมเคลื่อนผิดตำแหน่งจะไม่ใช่โรคที่อันตรายถึงชีวิตในฉับพลัน ก็ยังจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขจากสัตวแพทย์ กรณีที่อาการไม่รุนแรงสามารถแก้ไขได้ด้วยการพลิกกลิ้งตัววัวหรือบังคับให้วัววิ่งขึ้นเนินชัน[5] อะโมมาซัมอักเสบพบได้ไม่บ่อยแต่เป็นโรคที่รุนแรง สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด

การใช้เป็นอาหาร[แก้]

อะโบมาซัมใช้สำหรับปรุงแลมเปรดอตโต (lampredotto) ซึ่งเป็นอาหารพื้นถิ่นของฟลอเรนซ์ ในเกาหลีมีการนำไปทอดและทานคู่กับหัวหอมเป็นส่วนหนึ่งของอาหารที่เรียกว่ามักชังกุย (막창구이)

อ้างอิง[แก้]