ข้ามไปเนื้อหา

สะพานเจริญรัช 31

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สะพานเจริญรัช 31
เส้นทางถนนมหาราช และถนนจักรเพชร
ข้ามคลองคูเมืองเดิม
ที่ตั้งแขวงพระบรมมหาราชวัง และแขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ผู้ดูแลกรุงเทพมหานคร
สถานะเปิดใช้งาน
เหนือน้ำสะพานคนเดิน
ท้ายน้ำสถานีสูบน้ำปากคลองตลาด
ข้อมูลจำเพาะ
ประเภทสะพานแบบโค้ง
วัสดุคอนกรีตเสริมเหล็ก
ทางเดิน2
ประวัติ
วันเปิด30 ธันวาคม พ.ศ. 2454
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนสะพานเจริญรัช 31
ขึ้นเมื่อ18 มีนาคม พ.ศ. 2518
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0000036
ที่ตั้ง
แผนที่

สะพานเจริญรัช 31 เป็นสะพานข้ามคลองคูเมืองเดิม ด้านใต้ติดกับปากคลองตลาด เชื่อมถนนมหาราชกับถนนจักรเพชร แขวงพระบรมมหาราชวังและแขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ประวัติ

[แก้]

พ.ศ. 2453 เป็นปีแรกที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงโยธาธิการจัดทำแบบเฉลิมสะพานสุดท้ายตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระราชบิดา พร้อมกันนั้นก็มีพระราชบัญชาให้เลือกที่ตั้งและออกแบบสะพาน ซึ่งจะสร้างเป็นการเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบพระชนมพรรษา 31 พรรษา สำหรับ ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2454) ในคราวเดียวกันด้วย เจ้าพระยายมราชได้ทูลเกล้าฯ เสนอแบบสะพานเจริญรัช 31 ซึ่งกำหนดสร้าง ณ ปากคลองตลาด และได้รับพระบรมราชานุญาตให้ดำเนินการได้ การก่อสร้างได้ดำเนินและเสร็จสิ้นจนกระทั่งมีพระราชพิธีเสด็จเปิดสะพานนี้ในวันที่ 30 ธันวาคม ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2454) พระราชทานนามว่า สะพานเจริญรัช 31 เป็นสะพานแรกในสะพานชุดที่ขึ้นต้นด้วยเจริญ

สะพานชุดเจริญมีอีก 5 สะพาน คือ สะพานเจริญราษฎร์ 32 ข้ามคลองมหานาค สะพานเจริญพาศน์ 33 ข้ามคลองบางกอกใหญ่ สะพานเจริญศรี 34 ข้ามคลองคูเมืองเดิมตรงวัดบุรณศิริมาตยาราม และสะพานเจริญสวัสดิ์ 35 ข้ามคลองผดุงกรุงเกษมตรงหัวลำโพง โดยตัวเลขบอกพระชนมายุในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว[1]

กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนสะพานเจริญรัช 31 เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 92 ตอนที่ 61 วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2518[2]

ประติมากรรมเสือป่าประคองพระขรรค์

สถาปัตยกรรม

[แก้]

สะพานสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก แผนผังสะพานมีขอบสะพานทั้งสองข้างเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลม ลูกกรงสะพานทั้งสองข้างประดิษฐ์เป็นลูกกรงปูนปั้นรูปเสือป่ายืนหันข้างประคองพระขรรค์ด้วยเท้าคู่หน้าทั้งคู่ โดยหันหน้าเข้าหากันที่บริเวณกึ่งกลางราวสะพาน ที่กึ่งกลางราวสะพานเป็นที่ประดิษฐานพระนามภิไธยย่อ ว.ป.ร. และชื่อสะพาน ที่ปลายราวสะพานทั้งสี่ด้านมีแป้นกลมประจุตัวเลข 31 อันเป็นจำนวนปีพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปีนั้น[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. วราห์ โรจนวิภาต. "สะพานเจริญพาศน์กับหลุมหลบภัย". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-02-08. สืบค้นเมื่อ 2022-02-08.
  2. "สะพานเจริญรัช 31 (The Charoen Ruj 31 Bridge)". หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร.
  3. "สะพาน เจริญรัช 31". สนุก.คอม.