สภาเซมสกี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สภาเซมสกี
Земский собор
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้งค.ศ. 1549
หน่วยงานก่อนหน้า
ยุบเลิกค.ศ. 1684
หน่วยงานสืบทอด
สำนักงานใหญ่เครมลินแห่งมอสโก
หน่วยงานแม่สภาดูมาโบยาร์
"สภาเซมสกี" โดยเซอร์เกย์ อีวานอฟ (ค.ศ. 1908)

สภาเซมสกี (รัสเซีย: зе́мский собо́р, สัทอักษรสากล: [ˈzʲemskʲɪj sɐˈbor], แปลตรงตัว: 'สภาปรึกษาราชการแผ่นดิน') เป็นรัฐสภาของอาณาจักรซาร์รัสเซีย โดยแบ่งประเภทสมาชิกตามหลักฐานันดรแห่งราชอาณาจักร ดำรงอยู่ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16 และ 17

สมาชิกสภาเซมสกีแบ่งออกเป็นสามชนชั้นในสังคมศักดินา ได้แก่ ขุนนางและข้าราชการระดับสูง สมัชชาศักดิ์สิทธิ์ ของบาทหลวงนิกายออร์ทอดอกซ์ และผู้แทนของ "สามัญชน" ประกอบด้วยเหล่าพ่อค้าและชาวเมือง[1] สภาเซมสกีอาจถูกจัดขึ้นโดยพระเจ้าซาร์ อัครบิดร หรือสภาดูมาโบยาร์ ก็ได้ เพื่อตัดสินปัญหาขัดแย้งหรือผ่านข้อกฎหมายสำคัญ[2]

ซาร์อีวานผู้โหดเหี้ยมเรียกประชุมสภาเซมสกีเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1549 การเรียกประชุมหลาย ๆ ครั้งมีจุดประสงค์เพื่อเป็นตรายาง แต่ในอีกทางหนึ่งก็เป็นไปเพื่อรับฟังแนวคิดจากขุนนางชั้นผู้น้อยและชาวเมืองเช่นกัน หลังจากการสิ้นสุดราชวงศ์รูลิค ซึ่งก่อให้เกิดวิกฤตการการสืบราชสมบัติ สภาเซมสกีได้ลงมติเลือกโบริส โกดูนอฟ ขึ้นเป็นพระเจ้าซาร์พระองค์ใหม่ในปี ค.ศ. 1598 เป็นสาเหตุหนึ่งซึ่งนำไปสู่ช่วงเวลาแห่งความวุ่นวาย ภายหลังจากการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าซาร์มีไฮล์ที่ 1 ในปี ค.ศ. 1613 สภาเซมสกีก็เริ่มประชุมกันปีละครั้ง แต่เมื่อราชวงศ์โรมานอฟเริ่มมีความมั่นคงขึ้น สภาเซมสกีก็เริ่มสูญเสียอำนาจ โดยหลังจากการประชุมเพื่อลงนามในสนธิสัญญาเพเรยาสลาฟ เมื่อปี ค.ศ. 1654 ก็ไม่มีการเรียกประชุมอีกเลยเป็นเวลาสามสิบปี สภาเซมสกีครั้งสุดท้ายถูกจัดขึ้นในคริสต์ทศวรรษที่ 1680 เพื่อยกเลิกระบบ มานิสชิสเตโว (mestnichestvo) และลงนามในสนธิสัญญา"สันติภาพตลอดกาล" กับโปแลนด์

สภาเซมสกีแห่งปี ค.ศ. 1922[แก้]

สภาเซมสกีแห่งแคว้นอาร์มูร์ (Приамурский Земский Собор) ของรัฐบาลเฉพาะกาลปรีอาร์มูรีเย (Provisional Priamurye Government) ได้รับการจัดตั้งขึ้นในเมืองวลาดีวอสตอค ในวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 1922 โดยมิฮาอิล ดิเทอร์คิน (Mikhail Diterikhs) ระหว่างสงครามกลางเมืองรัสเซีย ดิเทอร์คินเป็นนายทหารของกองทัพขาว ในภูมิภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย (Russian Far East) เขาได้เรียกประชุมสภาดังกล่าวหลังจากการประหารชีวิตราชวงศ์โรมานอฟผ่านมาแล้วสี่ปี เพื่อฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ขึ้นใหม่ โดยประกาศให้แกรนด์ดยุกนิโคไล นิโคเลวิช (Grand Duke Nicholas Nikolaevich) เป็นจักรพรรดิแห่งรัสเซีย และอัครบิดรทริคอน (Patriarch Tikhon) เป็นประธานสภากิตติมศักดิ์ ทั้งแกรนด์ดยุกนิโคไลและอัครบิดรทริคอนไม่อยู่ในที่ประชุมดังกล่าว และแผนนี้ก็มีอันต้องยกเลิกไปหลังจากแคว้นดังกล่าวเสียแก่พวกบอลเชวิกในอีกสองเดือนให้หลัง

อ่านเพิ่ม[แก้]

  • S.L. Avaliani, "Литературная история земских соборов" [Literary History of the Zemsky Sabors]. Odessa: 1916.
  • John Keep, "The Decline of the Zemsky Sobor," in Power and the People: Essays on Russian History. Boulder, CO: East European Monographs, 1995; pp. 51-72.

อ้างอิง[แก้]

  1. Acton, Edward (2014-09-19). Russia. doi:10.4324/9781315844770. ISBN 9781315844770.
  2. Krebs, H. (1905-03-11). "Zémstvo and Zemsky-Sobór". Notes and Queries. s10-III (63): 185. doi:10.1093/nq/s10-iii.63.185c. ISSN 1471-6941.