ข้ามไปเนื้อหา

สถานีทวนสัญญาณวิทยุสมัครเล่น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การทำงานของสถานีทวนสัญญาณ

สถานีทวนสัญญาณวิทยุสมัครเล่น (อังกฤษ: Amateur radio repeater) คือสถานีวิทยุสมัครเล่นที่ติดตั้งเครื่องวิทยุสำหรับรับสัญญาณจากคลื่นความถี่หนึ่ง แล้วส่งออกไปยังอีกคลื่นความถี่เดียวกัน หรือต่างคลื่นความถี่[1] ภายใต้กฎระเบียบและกติกาของประเทศหรือภูมิภาคนั้น ๆ ได้กำหนด เพื่อเพิ่มระยะการส่งสัญญาณวิทยุจากอุปกรณ์ที่มีกำลังส่งต่ำให้สามารถติดต่อสื่อสารได้ไกลมากขึ้น แนวคิดดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับสถานีทวนสัญญาณที่ใช้โดยหน่วยงานภาครัฐ[2]และเอกชน ซึ่งมีหลักการทำงานเช่นเดียวกัน

สำหรับสถานีทวนสัญญาณวิทยุสมัครเล่นนั้น มักจะอยู่ภายใต้การดูแลของกลุ่มนักวิทยุสมัครเล่นในท้องที่นั้น ๆ โดยเปิดให้ใช้งานได้สำหรับนักวิทยุสมัครเล่นทุกคน ในบางครั้งอาจมีการเชื่อมโยงสถานีทวนสัญญาณวิทยุสมัครเล่นหลายแห่งเข้าด้วยกัน รวมถึงเชื่อมต่อกับโครงข่ายอื่นภายนอก เพื่อให้การสื่อสารมีความครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างยิ่งขึ้น[3] ซึ่งในประเทศไทยได้มีการทดลองเชื่อมโยงระบบสถานีทวนสัญญาณในเขต 7 ของ กสทช. และระบบเอ็กโค่ลิงก์ในวันวิทยุสมัครเล่นโลก พ.ศ. 2565 ทำให้มีพื้นที่ครอบคลุมในการสื่อสารถึง 5 จังหวัด[4]

ความถี่

[แก้]

ความถี่ที่ใช้งานในการทวนสัญญาณวิทยุสมัครเล่นนั้นส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงของวีเอชเอฟ ย่านความถี่ 6 เมตร (50-54 MHz)[5] ย่านความถี่ 2 เมตร (144-148 MHz)[6] ย่านความถี่ 1.25 เมตร (222-225 MHz)[7] และช่วงยูเอชเอฟ ย่านความถี่ 70 เซนติเมตร (430-440 MHz)[6] และสามารถใช้งานได้กับทุกคู่ความถี่ที่สูงกว่า 28 MHz และในบางพื้นที่ใช้ย่านความถี่ 33 เซนติเมตร (902-928 MHz)[7] และย่านความถี่ 23 เซนติเมตร (1.24-1.3 GHz)[6] ในการทวนสัญญาณ โดยในแต่ละประเทศนั้น มีกฎหมายและระเบียบในการใช้งานคลื่นความถี่ที่แตกต่างกันไป เช่น ในสหรัฐอเมริกา ย่านความถี่ 2 เมตรคือ 144-148 MHz[7] ในประเทศอังกฤษและส่วนใหญ่ของสหภาพยุโรปใช้งานความถี่ 144-146 MHz[8] ในขณะที่ประเทศไทยใช้ความถี่ 144-147 MHz[9]

สำหรับความถี่ที่ใช้ในการทวนสัญญาณนั้นจะเรียกว่า ความถี่รับ และความถี่ส่ง โดยในทางปฏิบัตินั้นจะมีระยะห่างกันคงที่ ในสหรัฐอเมริกานั้นย่านความถี่ 2 เมตร ค่าระยะห่างมาตรฐานคือ 600 kHz (0.6 MHz) ส่วนในประเทศไทยจะใช้ในรูปแบบของดูเพล็กซ์ -600 kHz คือเมื่อเราออกอากาศ เครื่องส่งวิทยุของเราจะส่งไปที่ความถี่ที่ต่ำกว่าช่องที่ตั้งไว้รับฟัง 600 kHz เมื่อไปถึงสถานีทวนสัญญาณ ระบบจะนำไปออกอากาศอีกครั้งในความถี่ที่สูงกว่าภาคส่งจากเราคือ 600 kHz ซึ่งเป็นช่องของสถานีทวนสัญญาณซึ่งมีบุคคลอื่นหรือบุคคลที่เราต้องการจะติดต่อสื่อสารด้วยรับฟังอยู่[10]

ในอดีตสมัยที่วิทยุสื่อสารถูกควบคุมด้วยแร่บังคับความถี่[11] คู่ความถี่สถานีทวนสัญญาณถูกตั้งค่าไว้ที่ช่วงท้ายของความถี่ส่ง ตามด้วยความถี่รับ โดย (34/94) หมายความว่า สัญญาณจะถูกส่งผ่านความถี่ 146.34 MHz และรับฟังได้ที่ความถี่ 146.94 MHz ในขณะที่สถานีทวนสัญญาณจะถูกตั้งค่าในทิศทางที่ตรงกันข้ามกัน คือความถี่รับ 146.34 MHz และความถี่ส่ง 146.94 MHz

ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา (พ.ศ. 2513) ได้มีการใช้งานวิทยุสื่อสารแบบสังเคราะห์ความถี่ที่ถูกควบคุมการทำงานโดยไมโครโปรเซสเซอร์ ทำให้สามารถใช้งานและแยกความถี่โดยกำหนดให้เป็นค่ามาตรฐาน อาทิ การบอกทิศทางของการเปลี่ยนแปลงความถี่ในรูปแบบของ "+" เป็นการเพิ่มความถี่ในการส่ง และ "-" ในการลดความถี่ในการส่ง โดยกำหนดตามค่ามาตรฐานในการใช้งานความถี่นั้น ๆ เช่น 145.625 ค่าความถี่ลบ หมายความว่า ความถี่ส่งคือ 145.6250 MHz ความถี่รับคือ 145.0250 MHz ซึ่งมีความถี่ต่ำกว่า 600 kHz ส่วนในไทยนิยมแจ้งด้วยความถี่ และลงท้ายด้วย ดูเพล็กซ์ -600 ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานของประเทศไทย[10]

การใช้งาน

[แก้]

ในต่างประเทศนั้น สถานีทวนสัญญาณสามารถเชื่อต่ออัตโนมัติกับสายโทรศัพท์พื้นฐานและเครือข่ายโทรศัพท์พื้นฐานเพื่อโทรศัพท์ออกจากวิทยุสื่อสารที่มีปุ่มกด โดยให้บริการกับสมาชิกของกลุ่มหรือชมรมเฉพาะกลุ่ม[12] นอกจากนี้สถานีทวนสัญญาณวิทยุส่วนใหญ่มีการป้องกันการเข้าถึงด้วยรหัสควบคุม CTCSS[13] (หรือที่คนไทยเรียกว่า โทน)[14] เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกรบกวนโดยสัญญาณวิทยุอื่น ๆ และสถานีข้างเคียงที่มีความถี่ใกล้หรือตรงกัน นักวิทยุบางคนใช้ระบบการเข้ารหัสดิจิทัลอื่น ๆ ที่เรียกว่า DCS, DCG หรือ DPL (เครื่องหมายการค้าของโมโตโรลา)

ในชุมชนนักวิทยุสมัครเล่นหลายแห่ง สถานีทวนสัญญาณนั้นกลายเป็นเหมือนสถานที่นัดหมายหลักในการออกอากาศในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงเวลาของการขับรถ (ในช่วงเช้าและช่วงบ่าย) ในช่วงเย็นอาจจะีการรายงานสภาพอากาศ หรือข่าวสารสาธารณะต่าง ๆ ในกรณีฉุกเฉินหรือภัยพิบัติต่าง ๆ สถานีทวนสัญญาณนั้นช่วยเชื่อมต่อการสื่อสารที่จำเป็นในพื้นที่ที่ห่างไกลและระบบสื่อสารหลักไม่สามารถใช้การได้

อุปกรณ์ในการทวนสัญญาณ

[แก้]
ระบบทวนสัญญาณวิทยุสมัครเล่นที่ประกอบด้วย ระบบทวนสัญญาณย่านความถี่ 70 เซนติเมตร ระบบทวนสัญญาณดิจิทัลย่านความถี่ 2 เมตรและอินเตอร์เน็ตเกตเวย์ (iGate)

อุปกรณ์พื้นฐานในการทวนสัญญาณประกอบไปด้วยเครื่องรับวิทยุย่านเอฟเอ็มที่ใช้งานในความถี่หนึ่ง และเครื่องส่งวิทยุย่านเอฟเอ็มในช่วงความถี่เดียวกัน และเชื่อมต่อเครื่องวิทยุทังสองตัวเข้าด้วยกัน เมื่อเครื่องรับวิทยุได้รับข้อความเข้ามา ก็จะถ่ายทอดเสียงนั้นก็จะถูกกดคีย์และถ่ายทอดสัญญาณเสียงนั้นอีกครั้งออกอากาศออกไปให้ได้ยิน[15]

ในการทวนสัญญาณนั้น จำเป็นจะต้องมีอุปกรณ์ในการควบคุมการทวนสัญญาณ สามารถเป็นได้ทั้งอุปกรณ์แบบฮาร์ดแวร์ หรือใช้งานผ่านซอฟต์แวร์ก็ได้[16]

อุปกรณ์ควบคุมในการทวนสัญญาณนั้นมักจะมีอุปกรณ์ในการจับเวลาในการออกอากาศ เพื่อตัดการเชื่อมต่อของสัญญาณที่ส่งมาออกอากาศนานเกินไป โดยเฉพาะในกลุ่มที่ใช้ในการสื่อสารในสถานการณ์ฉุกเฉิน มักจะตั้งค่าให้สามารถออกอากาศได้ครั้งละไม่เกิน 30 วินาทีในการถ่ายทอดข้อมูล โดยในกลุ่มอื่น ๆ อาจใช้เวลา 3 นาทีหรือนานกว่านั้น อุปกรณ์ในการจับเวลาจะมีการเริ่มต้นใหม่หลักจากการหยุดพักช่วงสั้น ๆ หลังการส่งสัญญาณออกอากาศแต่ละครั้ง และในหลาย ๆ ระบบจะมีการส่งเสียงบี๊บเตือนเพื่อแจ้งว่าระบบได้เริ่มต้นใหม่และให้บริการอีกครั้ง

ประเภทสถานีทวนสัญญาณ

[แก้]

สถานีทวนสัญญาณแบบทั่วไป

[แก้]

สถานีทวนสัญญาณแบบทั่วไป เป็นการทวนสัญญาณภายในย่านความถี่เดียวกัน หรือย่านความถี่ใกล้เคียงกัน โดยทวนสัญญาณทุกอย่างที่ถูกส่งมาทั้งสัญญาณเสียงแบบเอฟเอ็มผสมมากับคลื่นความถี่ โดยใช้สายอากาศ 2 อัน[17] อันแรกสำหรับภาครับ อันที่สองสำหรับภาคส่ง หรือการแยกภาคส่งและภาครับในสายอากาศต้นเดียวแบบดูเพล็กซ์[18]

การใช้งานแบบดูเพล็กซ์เป็นการใช้งานอุปกรณ์ที่ป้องกันไม่ให้กำลังส่งที่สูงของภาคส่งกลบสัญญาณจากภาครับของสถานีทวนสัญญาณ ช่วยให้ใช้เครื่องรับส่ง 2 เครื่องสามารถใช้สายอากาศในต้นเดียวกันได้ นิยมติดตั้งในการทวนสัญญาณย่านความถี่ 2 เมตรกับความถี่ที่สองบนย่าน 440 MHz ในการแบ่งปันการใช้งานบนเสาอากาศที่ติดตั้งสายอากาศเพียงต้นเดียว

สถานีทวนสัญญาณส่วนใหญ่จะใช้การควบคุมระยะไกลผ่านการใช้โทนเสียงบนช่องความถี่สำหรับควบคุมระบบ

สถานีทวนสัญญาณแบบข้ามย่านความถี่

[แก้]

สถานีทวนสัญญาณแบบข้ามย่านความถี่ (Cross-band repeaters) เป็นการทวนสัญญาณโหมดเฉพาะบนย่านความถี่หนึ่งไปยังโหมดเฉพาะบนอีกย่านความถี่หนึ่งที่แตกต่างจากภาคส่ง[19] วิธีดังกล่าวทำให้ระบบมีความซับซ้อนที่น้อยลง การทวนสัญญาณแบบนี้ทำให้สามารถรับและส่งข้อมูลในเวลาเดียวกันด้วยสายอากาศต้นเดียว เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาและความซับซ้อนในการทวนสัญญาณย่านความถี่เดียวกัน[20]

ในเครื่องรับส่งวิทยุแบบหลายย่านความถี่บางเครื่องสามารถใช้งานเพื่อทวนสัญญาณแบบข้ามย่านความถี่ได้[21][22]

สถานีทวนสัญญาณวิทยุสมัครเล่นโทรทัศน์

[แก้]

สถานีทวนสัญญาณโทรทัศน์วิทยุสมัครเล่น (Amateur television: ATV) ใช้ในการส่งสัญญาณวีดีโอแบบเคลื่อนไหวเต็มรูปแบบซึ่งช่วงความถี่ที่ใช้งานนั้นจะแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศกำหนด

ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นกำหนดในรูปแบบของการทวนสัญญาณข้ามความถี่ โดยมีภาครับในย่านความถี่ 33 หรือ 23 เซนติเมตร และความถี่ส่งในความถี่ 421.25 MHz หรือในบางครั้งที่ 426.25 MHz (ในย่านความถี่ 70 เซนติเมตร)[23] ความถี่ในภาคส่งเหล่านี้ตรงกันกับความถี่เคเบิลทีวีมาตรฐาน[24] ช่องที่ 57 และ 58 ทำให้ใครที่มีโทรทัศน์อนาล็อกแบบเอ็นทีเอสซี สามารถรับชมได้โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะในการรับ

นอกจากนี้ยังมียังมีการทวนสัญญาณวิทยุสมัครเล่นโทรทัศน์แบบดิจิทัล[25] (digital amateur TV) ที่ส่งสัญญาณวีดีโอในรูปแบบดิจิทัลตามมาตรฐานการแพร่สัญญาณภาพดิจิทัลผ่านดาวเทียมด้วยการกล้ำสัญญาณ เนื่องจากใช้ช่วงความถี่ที่แคบและการสูญเสียสัญญาณที่สูง โดยวิทยุสมัครเล่นโทรทัศน์แบบดิจิทัลเป็นที่นิยมในยุโรป[26] อันเนื่องมาจากความพร้อมของอุปกรณ์ในการแพร่สัญญาณภาพดิจิทัลผ่านดาวเทียม

ดาวเทียมทวนสัญญาณ

[แก้]

ดาวเทียมวิทยุสมัครเล่น มีจุดประสงค์เพื่อเป็นสถานีทวนสัญญาณบนอวกาศ โดย AMSAT ได้ออกแบบและสร้างดาวเทียมวิทยุสมัครเล่น โดยมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า OSCARs ซึ่งย่อมาจาก Orbiting Satellite Carrying Amateur Radio ดาวเทียมวิทยุสมัครเล่นหลายดวงที่อยู่บนอวกาศได้รับการออกแบบและสร้างโดยมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีดาวเทียมวิทยุสมัครเล่นหลายดวงสร้างขึ้นเพื่อการทดลอง ซึ่งดาวเทียมวิทยุสมัครเล่นของประเทศไทยดวงแรกชื่อว่า JAISAT-1[27]

ดาวเทียมทวนสัญญาณนั้น มีความแตกต่างจากสถานีทวนสัญญาณอื่น ๆ คือการที่มันโคจรอยู่รอบโลกซึ่งโดยปกติสถานีทวนสัญญาณจะตั้งอยู่บนภาคพื้นดินบนผิวโลก โดยประเภทที่เยอะที่สุดประกอบด้วย ลิเนียร์ทรานสปอนเดอร์[28] สถานีทวนสัญญาณแบบข้ามย่านความถี่ และรูปแบบดิจิพิเตอร์ (Digipeater)

ลิเนียร์ทรานสปอนเดอร์

[แก้]

ลิเนียร์ทรานสปอนเดอร์ (Linear transponders) เป็นการทวนสัญญาณที่มักจะถูกใช้งานกับดาวเทียมวิทยุสมัครเล่น โดยปกติจะใช้ช่วงกว้างระหว่าง 20 ถึง 800 kHz ซ้ำจากย่านความถี่หนึ่ง ไปสู่อีกย่านความถี่หนึ่งแบบเชิงเส้น[28] ซึ่งในเชิงเทคนิคการทวนสัญญาณรูปแบบนี้เหมาะกับการสื่อสารแบบ SSB และแบบ คลื่นต่อเนื่อง (CW)

ระบบการจัดเก็บและส่งต่อ

[แก้]

ระบบการจัดเก็บและส่งต่อ (Store-and-forward systems) เป็นระบบทวนสัญญาณอีกประเภทหนึ่ง ที่ไม่ได้รับและทวนสัญญาณข้อมูลส่งต่อในทันที แต่เป็นการรับสัญญาณและส่งสัญญาณซ้ำออกไปในความถี่เดียวกัน ข้อความเดียวกันหลังจากการหน่วงเวลาสั้น ๆ อาจไม่ถูกนิยามว่าเป็นสถานีทวนสัญญาณตามกฎหมายบางประเทศ ซึ่งมีกฎหมายเฉพาะในการกำกับดูแลสถานีประเภทนี้

  • การทวนสัญญาณแบบซิมเพล็กซ์ (Simplex repeater) รู้จักกันในชื่อ รีพีทเตอร์นกแก้ว[29] เป็นรูปแบบการใช้รับส่งสัญญาณตัวเดียว และเครื่องบันทึกเสียง โดยจะบันทึกทุกอย่างที่ส่งมาตามระยะเวลาที่กำหนด (ประมาณ 30 ปีหรือน้อยกว่า) หลังจากนั้นจึงเล่นเครื่องบันทึกเสียงข้อมูลที่ได้รับมาดังกล่าวออกไปในความถี่เดียวกัน
  • ดิจิพิเตอร์ (Digipeater) เป็นการทวนสัญญาณแบบวิทยุแพ็คเก็ตซึ่งเป็นข้อมูลการสื่อสารระหว่าคอมพิวเตอร์ด้วยกันเอง (สำหรับ DIGItal rePEATER) มักจะใช้ในกิจกรรมและโหมดต่าง ๆ เช่น วิทยุแพ็คเก็ต ระบบรายงานแพ็คเก็จอัตโนมัติ[30] (APRS), โหมดข้อมูลดีจิทัลของ D-STAR โหมดดิจิทัลเชิงพาณิชย์ อาทิ มาตรฐานวิทยุเคลื่อนที่ดิจิทัล (DMR) มาตรฐาน P25 และ NXDN ซึ่งบางโหมดเป็นการสื่อสารแบบฟูลดูเพล็กซ์ และมีการเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต
  • สถานีทวนสัญญาณ SSTV เป็นสถานีที่ใช้ในการทวนสัญญาณของ SSTV (slow-scan television) ซึ่งจะมาพร้อมกับตัวรับสัญญาณเฮชเอฟหรือวีเอชเอฟ[31] และคอมพิวเตอร์ที่มีการ์ดเสียง ใช้ในการทำหน้าที่เป็นตัวถอดรหัสของ SSTV โดยนักวิทยุสมัครเล่นสามารถใช้การทวนสัญญาณ SSTV ในการและเปลี่ยนรูปภาพกัน หากทั้งสองสถานีไม่สามารถแลกเปลี่ยนรูปภาพกัน สถานีทวนสัญญาณ SSTV จะช่วยในการทวนสัญญาณอีกครั้ง

เครือข่ายการทวนสัญญาณ

[แก้]

สถานีทวนสัญญาณอาจจะเชื่อมโยงเข้าด้วยกันเพื่อสร้างระบบเครือข่ายของสถานีทวนสัญญาณ เมื่อสถานีทวนสัญญาณสถานีหนึ่งถูกเข้ารหัสโดยได้รับสัญญาณที่กำหนด สถานีทวนสัญญาณอื่น ๆ ก็จะทำงานและถ่ายทอดสัญญาณเดียวกัน โดยเชื่อมต่อผ่านวิทยุ ซึ่งมักจะแตกต่างจากความถี่ในการส่งสัญญาณ บางระบบสามารถเปิดการใช้งานได้โดยตัวผู้ใช้เอง ผ่านการเข้ารหัส DTMF (Dual-tone multi-frequency signaling) เพื่อใช้งานคุณสมบัติต่าง ๆ ของระบบเครือข่าย โดยระบบดังกล่าวช่วยให้ระบบการทวนสัญญาณมีขนาดที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ทำให้สามารถสื่อสารถึงกันได้แม้จะอยู่ห่างกันหลายร้อยกิโลเมตร มักใช้ในการสื่อสารระดับภูมิภาค อาทิ เครือข่าย Skywarn[32] ที่ใช้ในการรายงานสภาพอากาศที่เลวร้ายผ่านเครือข่ายการทวนสัญญาณ ซึ่งผู้ใช้งานจะทราบดีกว่าช่องความถี่ใด ใช้ในการรับฟังและรายงานพื้นที่ใด

การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต

[แก้]

สถานีทวนสัญญาณสามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้โดยใช้วอยซ์โอเวอร์ไอพี (VoIP) เป็นวิธีในการเชื่อมต่อกับสถานีทวนสัญญาณที่อยู่ห่างไกล ที่ไม่สามารถติดต่อได้ผ่านสัญญาณวิทยุวีเอชเอฟและยูเอชเอฟ สำหรับโปรโตคอลที่เป็นที่นิยมในการใช้งานในปัจจุบันประกอบไปด้วย D-STAR, เอ็กโคลิงก์, IRLP, WIRES และ eQSO. โดยโปรตอคอลเหล่านี้ยังสามารถส่งและรับหมายเลขผู้ใช้ และข้อมูลการติดต่อ ทำให้สามารถเลือกที่จะพูดคุยกับนักวิทยุเฉพาะคน หรือเฉพาะกลุ่มได้

สถานีทวนสัญญาณวิทยุสมัครเล่นในประเทศไทย

[แก้]
เสาโทรคมนาคมที่ติดตั้งสายอากาศของสถานีทวนสัญญาณวิทยุสมัครเล่นกรุงเทพมหานคร บริเวณที่ทำการ กสทช. (ศูนย์สายลม HS0AB)

สถานีทวนสัญญาณวิทยุสมัครเล่นในประเทศไทย อยู่ภายใต้การกำหนดหลักเกฑณ์และมาตรฐานโดย กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานในการกำกับดูแลการใช้ความถี่[1]

ความถี่สถานีทวนสัญญาณทั้งหมดของวิทยุสมัครเล่นในประเทศไทย ประกอบไปด้วย 26 ช่องสัญญาณ[33][9] โดยแบ่งใช้งานตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ จังหวัดละ 1 ความถี่ ยกเว้นบางจังหวัดที่มีภูมิประเทศที่เป็นอุปสรรค์ต่อการติดต่อสื่อสาร อาจจะพิจารณาตั้งสถานีเพิ่ม[34] โดยจังหวัดที่อยู่ติดกันจะใช้ช่องสัญญาณที่ต่างกันเพื่อป้องกันการรบกวนระหว่างสถานีทวนสัญญาณ[33] รวมถึงมีการเข้ารหัส CTCSS (เข้ารหัสโทน) เพื่อป้องกันการรบกวนกันระหว่างคู่ช่องสัญญาณเดียวกัน[13]

นอกจากนี้ยังมีใช้งานทั้งระบบอนาล็อก[33] และระบบดิจิทัล[35] อาทิ ระบบ D-Star ระบบ DMR

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตและกำกับดูแลกิจการวิทยุสมัครเล่น. เล่มที่ 131 ตอนพิเศษ 137 ง หน้า 20. วันที่ 23 กรกฎาคม 2557. (www.ratchakitcha.soc.go.th)
  2. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคของเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์ สำหรับเครื่องวิทยุคมนาคมสถานีฐาน และสถานีทวนสัญญาณ. เล่ม 139 ตอนพิเศษ 38 ง หน้า 13. วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565.
  3. "W8IRA/R" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  4. "นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างของ "ความพร้อม ในการติดต่อสื่อสาร" - Amateur Radio Emergency Communications/AREC". Facebook.
  5. "VHF & up Bandplanning | International Amateur Radio Union (IARU)" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  6. 6.0 6.1 6.2 "Region 3 Band Plan | International Amateur Radio Union (IARU)" (PDF) (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  7. 7.0 7.1 7.2 "Band Plan". www.arrl.org (ภาษาอังกฤษ).
  8. "RSGB 2022 Band Plans". rsgb.services. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 มีนาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 23 เมษายน 2022.
  9. 9.0 9.1 ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตและกำกับดูแลกิจการวิทยุสมัครเล่น (ฉบับที่ 2). เล่มที่ 134 ตอนพิเศษ 185 ง หน้า 35. วันที่ 19 กรกฎาคม 2560. (www.nbtc.go.th).
  10. 10.0 10.1 E20ae (2016-11-20). "ชมรมวิทยุสมัครเล่น E20AE Clubstation: ความถี่สถานีทวนสัญญาณและโทนในแต่ละพื้นที่". ชมรมวิทยุสมัครเล่น E20AE Clubstation.
  11. "ถามเรื่องแร่บังคับความถี่ครับ". www.hamsiam.com.
  12. "How to Use Autopatch on Your Ham Radio Repeater". dummies (ภาษาอังกฤษ).
  13. 13.0 13.1 "RAST - CTCSS Tone". www.rast.or.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 23 เมษายน 2022.
  14. Hs2jfw (27 ธันวาคม 2015). "HS2JFW HAM Radio Blog: เข้าใจ CTCSS หรือ โทนสเควแบบง่าย ๆ". HS2JFW HAM Radio Blog.
  15. "Repeater ระบบ vox วิธีการทำงาน และ วิธีการดัดแปลงเพื่อไปใช้งานภายในบ้าน(UPDATE)". www.hamsiam.com.
  16. "SvxLink". SourceForge (ภาษาอังกฤษ).
  17. "ติดตั้งสายอากาศรีพีทเตอร์ยังไงครับ". www.hamsiam.com.
  18. "รีพิตเตอร์สายอากาศต้นเดียว". www.ubmthai.com.
  19. "ครอสแบนด์รีพีทเตอร์คืออะไร". www.hamsiam.com.
  20. "SCARCS". scarcs.ca.
  21. "Top 10 Best Cross Band Repeater Radio in 2022 Buying Guide" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  22. "10 Best Cross Band Repeater Radios Reviewed & Rated 2022". Hamtronics (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 1 เมษายน 2022.
  23. "Ham TV - Amateur Television". www.hamtv.com.
  24. "Brookdale Amateur Television Repeater System Home Page". www.qsl.net.
  25. "VK3RTV ATV Repeater Pictures". www.vk3rtv.com.
  26. "Amateur television - Radio Society of Great Britain - Main Site : Radio Society of Great Britain – Main Site". rsgb.org.
  27. E20ae (9 กรกฎาคม 2562). "ชมรมวิทยุสมัครเล่น E20AE Clubstation: ดาวเทียมวิทยุสมัครเล่น JAISAT-1 ขึ้นสู่อวกาศ". ชมรมวิทยุสมัครเล่น E20AE Clubstation.
  28. 28.0 28.1 E20ae (29 สิงหาคม 2017). "ชมรมวิทยุสมัครเล่น E20AE Clubstation: ลิเนียร์ทรานสปอนเดอร์คืออะไร". ชมรมวิทยุสมัครเล่น E20AE Clubstation.
  29. "วงจรรีพีทเตอร์นกแก้ว Simplex Repeate". www.electcircuitz.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-05-24. สืบค้นเมื่อ 2022-04-23.
  30. "E20EHQ/AB3NB :: The Radio Amateur Radio". pioneer.netserv.chula.ac.th.
  31. "SSTV & FSTV info". www.martellotowergroup.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-18. สืบค้นเมื่อ 2022-04-23.
  32. US Department of Commerce, NOAA. "SKYWARN". www.weather.gov (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  33. 33.0 33.1 33.2 "RAST - Repeater". www.rast.or.th.
  34. "ความถี่รีพีทเตอร์แต่ละจังหวัดทั้ง 9 เขต – ชมรมนักวิทยุสมัครเล่นและอาสาบรรเทาภัย".
  35. "RAST - Digital voice". www.rast.or.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 23 เมษายน 2022.