ข้ามไปเนื้อหา

สงครามฝรั่งเศสและอินเดีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สงครามฝรั่งเศสและอินเดีย
ส่วนหนึ่งของ สงครามเจ็ดปี

แผนที่แสดงถึงเขตการรบของสงคราม
วันที่ค.ศ. 1754–1763
สถานที่
ทวีปอเมริกาเหนือ
ผล

บริเตนใหญ่ชนะ

ดินแดน
เปลี่ยนแปลง
ฝรั่งเศสยกนูแวลฟร็องส์ ทางตะวันออกของแม่น้ำมิสซิสซิปปีให้บริเตนใหญ่ โดยยังคงแซ็งปีแยร์และมีเกอลงไว้ และส่งมอบ ลุยเซียนา ให้สเปน
คู่สงคราม
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
กำลัง
ทหารประจำการและทหารอาสา 42,000 นาย (กำลังสูงสุด ณ ค.ศ. 1758)[1] ทหารประจำการ 10,000 นาย (นับรวม ทรูปเดอลาเทอร์รา และ ทรูปเดอลามารีนกำลังสูงสุด ณ ค.ศ. 1757)[2]
ความสูญเสีย
  • เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ 1,512 นาย
  • เสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บ 1,500 นาย
  • เสียชีวิตจากโรค 10,400 นาย[3]
ไม่ทราบ

สงครามฝรั่งเศสและอินเดีย (อังกฤษ: French and Indian War; ค.ศ. 1754–1763) เป็นสงครามระหว่างอาณานิคมบริติชอเมริกาฝ่ายหนึ่ง และอาณานิคมนูแวลฟร็องส์อีกฝ่ายหนึ่ง โดยที่อาณานิคมทั้งสองต่างก็ได้รับการสนับสนุนทางทหารจากประเทศแม่และพันธมิตรชาวพื้นเมือง ในช่วงต้นสงครามนั้นอาณานิคมฝรั่งเศสมีประชากรประมาณ 60,000 คน ในขณะที่ประชากรในอาณานิคมของบริเตนใหญ่มีจำนวนกว่า 2 ล้านคน[4] ฝรั่งเศสผู้มีจำนวนน้อยกว่าจึงต้องหันไปพึ่งชาวพื้นเมือง

บรรดาชาติยุโรปประกาศสงครามต่อกันใน ค.ศ. 1756 เป็นเวลาสองปีหลังจากสงครามฝรั่งเศสและอินเดียได้เริ่มขึ้น และหลายฝ่ายต่างมองว่าสงครามดังกล่าวเป็นแค่เขตการรบหนึ่งของ สงครามเจ็ดปี ที่ดำเนินไปทั่วโลกระหว่าง ค.ศ. 1756–63 ในขณะที่สงครามฝรั่งเศสและอินเดียกลับถูกมองว่าเป็นสงครามแยกต่างหากในสหรัฐ โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในยุโรปแต่ประการใด[5] ชาวแคนนาดาเชื้อสายฝรั่งเศสเรียกสงครามครั้งนี้ว่า สงครามแห่งการพิชิต (Guerre de la Conquête)[6][7]

ชาวอาณานิคมบริเตนได้รับการสนับสนุนหลายครั้งจากชนเผ่าอิโรคว็อยซ์ คาทอว์บาและเชอโรคี ส่วนฝรั่งเศสได้รับการสนับสนุนจากชนเผ่าที่เป็นสมาชิกของสมาพันธรัฐวาบานาคี ชาวอเบนาคี ชาวมิกแมก ชาวอัลกอนควิน ชาวเลนาเป ชาวโอจิบวา ชาวโอดาวา ชาวชอว์นี และชาวไวยดอต[8] การปะทะเกิดขึ้นตามแนวพรมแดนแดนของอาณานิคมนูแวลฟร็องส์และอาณานิคมของบริเตนเป็นหลัก ตั้งแต่อาณานิคมเวอร์จิเนียทางใต้ ไปจนจรดเกาะนิวฟันด์แลนด์ทางเหนือ สงครามมีสาเหตุมาจากปัญหาทางพรมแดนที่จุดบรรจบ (Confluence) ระหว่างแม่น้ำแอลลิเกนีและแม่น้ำโมนังกาฮีลา เรียกว่าสามง่ามโอไฮโอ และเป็นที่ตั้งป้อมดูว์แคนเนอร์ของฝรั่งเศส ซึ่งในภายหลังจะกลายเป็นที่ตั้งของเมืองพิตต์สเบิร์ก ปัญหาดังกล่าวนำไปสู่การใช้กำลัง คือ ยุทธการจูมอนวิลล์เกลน ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1754 ซึ่งเหล่าทหารอาสาเวอร์จิเนียภายใต้การบังคับบัญชาของจอร์จ วอชิงตัน ในวัย 22 ปี ซุ่มโจมตีหน่วยลาดตระเวนฝรั่งเศส[9]

ใน ค.ศ. 1755 ผู้ว่าการอาณานิคมหกรัฐได้เข้าพบกับพลเอกเอ็ดเวิร์ด แบรดด็อก ผู้บังคับบัญชาของกองทัพบริเตนที่พึ่งมาถึงทวีปอเมริกาได้ไม่นาน เพื่อวางแผนโจมตีฝ่ายฝรั่งเศสจากสี่ทิศทาง ไม่มีครั้งใดเลยที่ประสบความสำเร็จ และความพยายามครั้งสำคัญ โดยแบรดด็อกกลายเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ แบรดด็อกพ่ายแพ้ในยุทธการที่แม่น้ำโมนังกาฮีลา ในวันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ. 1755 และเสียชีวิตลงในอีกไมกี่วันให้หลัง ปฏิบัติการทางทหารของบริเตนตามแนวชายแดนของอาณานิคมเพนซิลเวเนียและอาณานิคมนิวยอร์ก ระหว่าง ค.ศ. 1755–57 ไม่ประสบความสำเร็จ อันเนื่องมาจากหลายสาเหตุรวมกัน เช่น การบริหารจัดการที่ย่ำแย่ การแตกแยกจากภายใน หน่วยลาดตระเวนแคนนาดาที่มีประสิทธิภาพ การโจมตีจากทหารกองประจำการของฝรั่งเศสและพันธมิตรชาวพื้นเมือง ใน ค.ศ. 1755 ฝ่ายบริเตนสามารถเข้ายึดครองป้อมบัวร์จูร์ ที่ตั้งอยู่บนชายแดนซึ่งแยกโนวาสโกเชียออกจากอะคาดี และได้ทำการขับไล่ชาวอะคาดี (ค.ศ. 1755–64) หลังจากนั้นไม่นาน ผู้บังคับบัญชาทหารสูงสุดฝ่ายบริเตน วิลเลียม เชอร์ลีย์ ออกคำสั่งให้เนรเทศชาวอะคาดี โดยไม่รอแนวทางจากประเทศแม่ ชาวอะคาดีทั้งที่เป็นเชลยศึกและประกาศสวามิภักดิ์ต่อพระมหากษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่ต่างถูกขับไล่ ชาวพื้นเมืองก็ถูกขับไล่เช่นกัน เพื่อเป็นการเปิดทางให้ผู้ตั้งถิ่นฐานจากนิวอิงแลนด์[10]

รัฐบาลอาณานิคมบริติชในโนวาสโกเชียล่มสลายลงหลังจากการทัพที่ล้มเหลวติดต่อกันหลายครั้งใน ค.ศ. 1757 ซึ่งรวมไปถึง การทัพหลุยส์บวรก์และการล้อมป้อมวิลเลียมเฮนรี ซึ่งภายหลังจากศึกครั้งหลังนี้ยังมีการทรมานและสังหารหมู่ชาวอาณานิคมโดยชนพื้นเมืองด้วย หลังจากที่วิลเลียม พิตต์ ผู้พ่อ ขึ้นสู่อำนาจ เขาได้ทำการเพิ่มทรัพยากรทางทหารของบริเตนใหญ่ในอาณานิคม ในขณะที่ฝรั่งเศสไม่ต้องการเสี่ยงส่งขบวนยุทธภัณฑ์ขนาดใหญ่ไปช่วยสนับสนุนกองกำลังในนูแวลฟร็องส์ที่มีจำนวนจำกัด โดยหันไปรวบรวมกำลังเพื่อต่อกรกับปรัสเซีย และพันธมิตรซึ่งเข้าร่วมสงครามเจ็ดปีในยุโรป การสู้รบในโอไฮโอยุติลงใน ค.ศ. 1758 ด้วยชัยชนะของฝ่ายบริติช–อเมริกันในโอไฮโอคันทรี ระหว่าง ค.ศ. 1758 และ 1760 กองทัพบริติชดำเนินการทัพเพื่อเข้ายึดครองแคนาดาของฝรั่งเศส พวกเขาสามารถเข้ายึดครองอาณานิคมโดยรอบได้สำเร็จ และท้ายที่สุดก็สามารถเข้ายึดครองเมืองคิวเบกได้ใน ค.ศ. 1759 ในปีถัดมาฝ่ายบริติชก็ได้รับชัยชนะในการทัพมอนทรีออล โดยที่ฝรั่งเศสยินยอมมอบแคนาดาให้บริเตนใหญ่ตามเงื่อนไขในสนธิสัญญาปารีส (ค.ศ. 1763)

ฝรั่งเศสยังส่งมอบดินแดนของตนทางตะวันออกของแม่น้ำมิสซิสซิปปีให้กับบริเตนใหญ่ ร่วมไปถึงถ่ายโอนลุยเซียนา ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำมิสซิสซิปปี ให้กับสเปนผู้เป็นพันธมิตร เพื่อเป็นการชดเชยฟลอริดาที่สเปนเสียแก่บริเตนใหญ่ (สเปนจำต้องยกฟลอริดาให้กับบริเตนเพื่อแลกเอาฮาวานา กลับคืนมา) ทำให้ดินแดนอาณานิคมทางฝรั่งเศสทางตอนเหนือของทะเลแคริบเบียนเหลือเพียงเกาะแซ็งปีแยร์และมีเกอลงเท่านั้น สงครามครั้งนี้ยังช่วยยืนยันสถานะของบริเตนในฐานะเจ้าอาณานิคมรายใหญ่ในอเมริกาตอนเหนือ

อ้างอิง

[แก้]
  1. Brumwell, pp. 26–31, documents the starting sizes of the expeditions against Louisbourg, Carillon, Duquesne, and West Indies.
  2. Brumwell, pp. 24–25.
  3. Clodfelter, M. (2017). Warfare and Armed Conflicts: A Statistical Encyclopedia of Casualty and Other Figures, 1492–2015 (4th ed.). Jefferson, North Carolina: McFarland. ISBN 978-0786474707, p 122
  4. Gary Walton; History of the American Economy; page 27
  5. M. Brook Taylor, Canadian History: a Reader's Guide: Volume 1: Beginnings to Confederation (1994) pp 39–48, 72–74
  6. "Seven Years' War". เดอะแคนาเดียนเอนไซโคลพีเดีย. สืบค้นเมื่อ October 7, 2019.: 1756–1763
  7. "The Siege of Quebec: An episode of the Seven Years' War", Canadian National Battlefields Commission, Plains of Abraham website
  8. Hall, Richard (2016). "The Causes of the French and Indian War and the Origins of the 'Braddock Plan': Rival Colonies and Their Claims to the Disputed Ohio". Atlantic Politics, Military Strategy and the French and Indian War: 21–49. doi:10.1007/978-3-319-30665-0_2. ISBN 978-3-319-30664-3.
  9. Peyser. Jacques Legardeur de Saint-Pierre: Officer, Gentleman, Entrepreneur. Michigan State University Press. p. 221.
  10. Eccles, France in America, p. 185