ข้ามไปเนื้อหา

วิกิพีเดีย:การอนุญาโตตุลาการ/นโยบาย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นโยบายนี้ว่าด้วยคณะอนุญาโตตุลาการแห่งวิกิพีเดียภาษาไทย และวิธีพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว โดยประชาคมได้ให้สัตยาบัน ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2554

หมวด 1 บททั่วไป

ข้อ 1 บทวิเคราะห์ศัพท์

ในนโยบายนี้

  1. "คอต." หมายถึง คณะอนุญาโตตุลาการแห่งวิกิพีเดียภาษาไทย
  2. "ตุลาการ" หมายถึง สมาชิก คอต.
  3. "ผู้สมัคร" หมายถึง ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นตุลาการ
  4. "ผู้ใช้" หมายถึง ผู้ใช้ที่อยู่ในวิกิพีเดียภาษาไทยอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ทั้งนี้ เฉพาะที่เปิดบัญชีแล้วเท่านั้น ไม่ว่าจะเปิดบัญชีในโครงการใดของวิกิมีเดีย และไม่ว่าเป็นผู้ใช้ทั่วไป หรือปฏิบัติหน้าที่อื่นใด
  5. "ประชาคม" หมายถึง ประชาคมวิกิพีเดียภาษาไทย อันประกอบด้วยผู้ใช้ทั้งปวง
  6. "มูลนิธิ" หมายถึง มูลนิธิวิกิมีเดีย
  7. "สำนักทะเบียน" หมายถึง สำนักทะเบียน คอต.
  8. "ผู้มีส่วนได้เสีย" หมายถึง ผู้ใช้ที่มีส่วนได้เสียในคดี

หมวด 2 ตุลาการ

ส่วนที่ 1 การได้มาซึ่งตุลาการ

ข้อ 2 การเลือกตั้งตุลาการ

  1. ตุลาการแต่ละคน มาจากการเลือกตั้งประจำปีอันจัดขึ้นโดยประชาคม และลงคะแนนเสียงโดยสมาชิกประชาคม
  2. ในการเลือกตั้งประจำปี ผู้ใช้ซึ่งมีคุณสมบัติตามนโยบายนี้อาจเสนอตนเป็นผู้สมัคร หรือผู้ใช้คนอื่นอาจเสนอผู้ใช้ซึ่งมีคุณสมบัติดังกล่าวให้เป็นผู้สมัครก็ได้ ทั้งนี้ พึงเปิดให้เสนอชื่อเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วันก่อนวันเลือกตั้ง
  3. เมื่อมีพฤติการณ์อันมิอาจก้าวล่วงได้ เป็นต้นว่า ตุลาการลาออกหรือมิอาจปฏิบัติหน้าที่ได้กลางคัน และ คอต. เห็นเป็นการจำเป็นรีบด่วน คอต. อาจประกาศให้มีการเลือกตั้งพิเศษก็ได้ โดยให้ใช้วิธีเลือกตั้งประจำปีบังคับโดยอนุโลม แต่ไม่รวมถึงระยะเวลาการเสนอชื่อผู้สมัคร
  4. ตุลาการไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในการเลือกตั้งตุลาการด้วยกัน แต่ความข้อนี้ไม่ห้ามตุลาการในอันที่จะแสดงความคิดเห็นในการดังกล่าว

ข้อ 3 เงื่อนไขการเป็นผู้สมัคร

  1. ไม่ว่าในการเลือกตั้งประจำปีก็ดี หรือการเลือกตั้งพิเศษก็ดี ผู้สมัครต้อง
    1. เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของมูลนิธิว่าด้วยการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล (เป็นผู้บรรลุนิติภาวะ ณ ภูมิลำเนาตามกฎหมายของตน และอื่นๆ)
    2. ให้สัตยาบันโดยทำเป็นคำแถลงในการเลือกตั้งสมัยตน ว่า ตนจักปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของมูลนิธิว่าด้วยการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลโดยเคร่งครัด
    3. เปิดเผยบัญชีผู้ใช้อื่น ๆ ของตนขณะให้สัตยาบันด้วย แต่บัญชีผู้ใช้อันชอบตามระเบียบที่ได้แถลงต่อ คอต. ก่อนที่ตนได้รับการเสนอชื่อนั้น หาจำต้องเปิดเผยอีกไม่

ข้อ 4 การดำรงตำแหน่ง

วาระดำรงตำแหน่งของตุลาการคนหนึ่ง ๆ ย่อมเริ่มต้นทันทีที่ได้รับเลือกตั้ง ในกรณีเช่นนี้ เขาย่อมเข้าทำคดีได้โดยพลัน

ส่วนที่ 2 จริยธรรมของตุลาการ

ข้อ 5 จริยธรรมของตุลาการ

  1. ตุลาการต้อง
    1. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรมและโดยสุจริตเสมอต้นเสมอปลาย
    2. ตอบอย่างทันท่วงทีและตามสมควร ซึ่งปัญหาอันตุลาการคนอื่น ๆ หรือประชาคมตั้งขึ้นเกี่ยวกับความประพฤติของตนที่น่าจะขัดกับบทบาทอันได้รับมอบหมาย
    3. ร่วมกิจกรรมและร่วมทำคำวินิจฉัยกับ คอต. อย่างมีมโนธรรม
    4. แจ้งให้ คอต. ทราบถึงการที่ตนจะไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ถ้าการนั้นจักยาวนานกว่าเจ็ดวัน
    5. รักษาข้อมูลข่าวสารที่ส่งมาถึงหรือไปจาก คอต. รวมถึงที่เกี่ยวข้องกับการประชุมปรึกษาคดีของ คอต. ไว้เป็นความลับ

ส่วนที่ 3 การคัดค้านตุลาการ

ข้อ 6 เหตุคัดค้านตุลาการ

  1. เมื่อคดีถึง คอต. ตุลาการคนหนึ่งคนใดอาจถูกคัดค้านได้ ถ้าตุลาการนั้นมีผลประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องอยู่ในคดีนั้น
  2. การมีผลประโยชน์ได้เสีย รวมถึง
    1. กรณีที่ตุลาการได้ถูกอ้างเป็นพยานหรือเป็นผู้เชี่ยวชาญในคดีนั้น และ
    2. กรณีที่มีคดีอีกเรื่องหนึ่งอยู่ในระหว่างพิจารณาของ คอต. หรือมีข้อพิพาทอยู่ในประชาคม ซึ่งตุลาการนั้นเอง ฝ่ายหนึ่ง เป็นความกับ คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดีปัจจุบัน อีกฝ่ายหนึ่ง
  3. เหตุคัดค้านตามวรรค 1 ไม่รวมถึง กรณีที่ตุลาการนั้นปฏิบัติกิจวัตรของตนตามปรกติ ไม่ว่าในฐานะเป็นผู้ใช้ก็ดี เป็นผู้ดูแลระบบก็ดี หรือเป็นตุลาการก็ดี จึงเป็นเหตุให้เกี่ยวพันกับคดีหรือคู่ความในคดีนั้น

ข้อ 7 การคัดค้านตุลาการ

  1. ผู้ใช้ผู้ใดจะคัดค้านตุลาการก็ได้
  2. การคัดค้านตุลาการนั้น ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
    1. ให้ทำเป็นคำแถลงไว้ในหน้าพูดคุยของตุลาการผู้ถูกคัดค้านนั้นเอง โดยต้องแสดงเหตุที่คัดค้านไว้ด้วย
    2. ถ้าภายในเวลาอันสมควร ตุลาการผู้ถูกคัดค้านไม่ตอบคำแถลงก็ดี หรือไม่ยอมถอนตัวจากการทำคดีก็ดี ผู้คัดค้านชอบจะยื่นคำแถลงต่อไปยัง คอต. เพื่อวินิจฉัยได้
    3. เมื่อมีคำแถลงมาถึง คอต. ตามวรรคก่อน ให้ คอต. งดกระบวนพิจารณาทั้งปวงไว้ก่อน และให้ตุลาการผู้ถูกคัดค้านงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน จนกว่า คอต. จะได้วินิจฉัยคำแถลงนั้นแล้ว
    4. แต่ไม่ว่ากรณีใด ผู้ใช้จะแถลงคัดค้านมิได้ ถ้าคดีได้ดำเนินมาถึงคราวลงคะแนนเสียงเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดของ คอต. แล้ว
    5. การชี้ขาดคำแถลงตามข้อนี้ ให้ คอต. ถือตามคะแนนเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ถือตามคำแถลงนั้น
    6. คำวินิจฉัยของ คอต. ตามข้อนี้ ให้เป็นที่สุด

ข้อ 8 การถอนตัว

เมื่อมีเหตุคัดค้าน หรือเหตุประการอื่นอันมีสภาพร้ายแรง ซึ่งอาจทำให้การพิจารณาหรือวินิจฉัยคดีเสียความยุติธรรมไป ตุลาการผู้เกี่ยวข้องจะถอนตัวจากการทำคดีเอง แม้ไม่มีผู้คัดค้าน ก็ได้ ในการนี้ ให้ตุลาการผู้นั้นแถลงต่อ คอต. โดยต้องระบุเหตุผลด้วย แล้วถอนตัวเสีย

ส่วนที่ 4 การพ้นจากตำแหน่ง

ข้อ 9 เหตุพ้นจากตำแหน่ง

  1. ตุลาการคนหนึ่ง ๆ ย่อมพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
    1. ลาออก โดยให้แถลงต่อ คอต. และให้มีผลทันทีที่ได้แถลง
    2. คอต. โดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของตุลาการทั้งหมดที่มีอยู่ สั่งให้พ้นจากตำแหน่ง เพราะ
      1. ละเมิดจริยธรรมข้อหนึ่งข้อใดเป็นอาจิณ หรือเพียงครั้งเดียวแต่ร้ายแรง
      2. บกพร่องในหน้าที่
      3. ละหน้าที่เป็นเวลายาวนาน โดยไม่บอกกล่าวต่อ คอต. หรือไม่มีเหตุสมควร หรือ
      4. ไร้ความสามารถอย่างเห็นประจักษ์
    3. วาระดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปีสิ้นสุดลง[1] แต่อาจได้รับเลือกตั้งมาอีกได้

ข้อ 10 การพักหน้าที่

เมื่อมีเหตุตามข้อ 9 วรรค 1 อนุวรรค 3 คอต. โดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของตุลาการทั้งหมดที่มีอยู่ จะสั่งให้ตุลาการผู้นั้นพักหน้าที่แทนก็ได้

ข้อ 11 บทเบ็ดเตล็ด

  1. ตุลาการผู้ที่วาระดำรงแหน่งสิ้นสุดลงระหว่างพิจารณาคดี ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคดีถึงที่สุด
  2. ตุลาการที่ได้รับเลือกเข้ามาแทนผู้พ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ย่อมอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลือของผู้ที่ตนแทน และอาจได้รับเลือกตั้งมาอีกได้

หมวด 3 คอต.

ส่วนที่ 1 เขตอำนาจของ คอต.

ข้อ 12 เขตของ คอต.

  1. คอต. มีเขตเฉพาะแต่ในวิกิพีเดียภาษาไทย, วิกิซอร์ซภาษาไทย, วิกิพจนานุกรมภาษาไทย, วิกิคำคมภาษาไทย และวิกิตำราภาษาไทย
  2. ความข้อนี้ไม่ตัดอำนาจของ คอต. ในอันที่จะพิเคราะห์เรื่องราวทั้งหลายอันเกิดขึ้นภายนอกเขตของตน เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาและวินิจฉัยคดีในอำนาจของตนได้ แต่เรื่องราวเช่นว่านี้ ต้องมีหรือน่าจะมีผลกระทบต่อวิกิพีเดียภาษาไทย, วิกิซอร์ซภาษาไทย, วิกิพจนานุกรมภาษาไทย, วิกิคำคมภาษาไทย หรือวิกิตำราภาษาไทย หรือต่อผู้ใช้โดยรวมด้วย

ข้อ 13 อำนาจพิจารณาและวินิจฉัยของ คอต.

  1. คอต. มีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีดังต่อไปนี้
    1. ข้อพิพาททั้งหลายอันเกิดขึ้นในประชาคม และมีสภาพร้ายแรงถึงขนาดที่ประชาคมไม่สามารถระงับลงได้ด้วยตนเอง
    2. ข้อพิพาทต่าง ๆ อันไม่พึงอภิปรายกันในที่สาธารณะ เนื่องจากความเป็นส่วนตัว, เหตุผลทางกฎหมาย หรือปัจจัยอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
    3. การอุทธรณ์คำสั่งของผู้ดูแลระบบที่ห้าม, ปิดกั้น หรือจำกัดโดยประการอื่นต่อผู้ใช้คนใด
    4. การขอให้เพิกถอนเครื่องมือผู้ดูแลระบบ[2]
    5. การขออนุมัติให้
      1. ตรวจสอบผู้ใช้ (CheckUser) หรือ
      2. ให้ใช้รายการพัสดุทางการของ คอต. ร่วมกับ คอต. ด้วย
    6. การขอให้ยกเลิกคำอนุมัติตามความในอนุวรรค 5
    7. การอุทธรณ์คำวินิจฉัยหรือคำสั่งของ คอต.
  2. การปฏิบัติหน้าที่ทางการของมูลนิธิ หรือของเจ้าหน้าที่มูลนิธิ ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยของ คอต.
  3. คอต. ย่อมคงไว้ซึ่งเขตอำนาจเหนือคดีที่ตนได้วินิจฉัยไปแล้ว รวมถึงกระบวนพิจารณาที่ตามมา เช่น การบังคับคดี, การรื้อฟื้นคดี, การขอให้อธิบายคำวินิจฉัย ฯลฯ
  4. เมื่อ คอต. เห็นเอง หรือเมื่อคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ คอต. จะสั่งให้รื้อฟื้นคดีใหม่เสียเมื่อใดก็ได้

ส่วนที่ 2 การบริหาร คอต.

ข้อ 14 การบริหารคดี

  1. คอต. ไม่มีประธาน แต่จะเลือกตุลาการคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้ประสานงานของตนก็ได้
  2. คอต. จะแต่งตั้งให้ตุลาการคนหนึ่งหรือหลายคนรับผิดชอบสำนวนคดีเป็นรายคดีไป เพื่อประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐาน แถลงคดี หรืออื่น ๆ ก็ได้
  3. คอต. จะจัดตั้งแผนก, องค์คณะ, หรือคณะกรรมการ หรือให้ผู้ใช้คนหนึ่งคนใดซึ่งสมัครใจ ให้รับหน้าที่ใด ๆ เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาคดีก็ได้

ข้อ 15 สำนักทะเบียน

  1. คอต. มีสำนักทะเบียนสำนักหนึ่ง
  2. สำนักทะเบียนมีหน้าที่
    1. ช่วยเหลืองานธุรการของ คอต.
    2. บริหารจัดการคดี เช่น จัดให้คดีได้รับการพิจารณาไปตามลำดับที่ คอต. รับมา
    3. บำรุงรักษาหน้าและหน้าย่อยของ คอต.
    4. ประสานงานในการบังคับตามคำวินิจฉัยของ คอต.
    5. ทำให้วิธีพิจารณาของ คอต. เกิดผลเป็นรูปธรรม
    6. ควบคุมมรรยาทและความประพฤติอันดีในหน้าต่าง ๆ ของ คอต.
    7. หน้าที่อื่น ๆ ที่ คอต. มอบหมาย

หมวด 4 วิธีพิจารณา

ส่วนที่ 1 บททั่วไป

ข้อ 16 ระเบียบว่าด้วยวิธีพิจารณา

คอต. จะตรา และแก้ไขเพิ่มเติม ระเบียบว่าด้วยวิธีพิจารณา โดยไม่ขัดหรือแย้งกับนโยบายนี้ก็ได้

ส่วนที่ 2 การเสนอข้อหา

ข้อ 17 ผู้มีสิทธิเสนอข้อหา

  1. บุคคลดังต่อไปนี้มีสิทธิเสนอข้อหา หรือขอให้ คอต. มีคำบังคับใด ๆ ตามอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยได้ คือ
    1. คู่พิพาทเอง
    2. ผู้ดูแลระบบ
    3. ผู้มีส่วนได้เสีย แต่ต้องบรรยายส่วนได้เสียของตนมาด้วย
    4. บุคคลอื่น ๆ ตามที่ คอต. กำหนด

ข้อ 18 วิธีเสนอข้อหา

  1. การเสนอข้อหาหรือมีคำขอตามข้อ 17 นั้น ให้ทำเป็นคำร้อง โดยอย่างน้อยต้อง
    1. ระบุชื่อคู่พิพาท ถ้าเป็นคดีมีข้อพิพาท
    2. แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของผู้ร้อง พร้อมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้น
    3. บรรยายคำขอบังคับ
    4. ลงชื่อผู้ร้อง และวันที่ร้อง ตามวิธีการของวิกิพีเดีย
  2. คำร้อง รวมถึงคำคู่ความอื่น ๆ นั้น ให้ส่งไปยังตู้พัสดุ คอต.
  3. ก่อนสืบพยานหลักฐาน ผู้ร้องย่อมแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องได้เสมอ
  4. เมื่อคำร้องมาถึง คอต. คอต. ย่อมมีอำนาจเต็มที่จะใช้ดุลพินิจว่า จะรับ จะคืนไปแก้ไขปรับปรุงใหม่ หรือจะยกเสีย โดยจะฟังความเห็นของคู่ความหรือผู้มีส่วนได้เสียคนอื่น ๆ ก่อนก็ได้ แต่ คอต. หาผูกพันกับความเห็นเหล่านี้ไม่

ข้อ 19 การถอนคดี

ก่อนคดีดำเนินมาถึงคราววินิจฉัยชี้ขาดของ คอต. ผู้ร้องจะขอถอนคดีก็ได้ โดยให้แถลงอย่างชัดแจ้งต่อ คอต. แต่ถ้ามีผู้ร้องหลายคน และผู้ร้องบางคนมิได้ขอถอนคดีด้วย คดีนั้นคงดำเนินระหว่างผู้ร้องผู้นั้น กับผู้ถูกร้อง และผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ อยู่ต่อไป

ส่วนที่ 3 การพิจารณา

ข้อ 20 การพิจารณาโดยเปิดเผย

  1. กระบวนพิจารณาของ คอต. นั้น ต้องกระทำโดยเปิดเผย
  2. เมื่อมีพฤติการณ์อันไม่อาจก้าวล่วงได้ เช่น เกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนตัว, เป็นเรื่องน่าอดสู หรือมีประเด็นทางกฎหมาย ไม่ว่า คอต. เห็นเอง หรือคู่ความร้องขอมา คอต. จะสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นการลับก็ได้ แต่ต้องแจ้งให้คู่ความทุกฝ่ายทราบ และต้องให้คู่ความทุกฝ่ายมีโอกาสให้การในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนตามอย่างเต็มที่

ข้อ 21 การงดบางขั้นตอน

  1. เมื่อ คอต. เห็นว่า คดีใดมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ คอต. อาจประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณาและวินิจฉัยเลย โดยไม่ไต่สวน หรือโดยให้งดกระบวนพิจารณาบางขั้นตอน เช่น งดสืบพยานหลักฐาน ก็ได้
  2. เมื่อ คอต. เห็นว่า กระบวนพิจารณาขั้นตอนใดไม่เกี่ยวข้องกับหรือไม่จำเป็นแก่เรื่องพิจารณา หรือจะทำให้คดีล่าช้าโดยไม่สมควร คอต. จะให้งดกระบวนพิจารณาขั้นตอนนั้นเสียก็ได้

ข้อ 22 คำสั่งห้ามก่อนวินิจฉัย

ในเวลาใดตั้งแต่เปิดคดีไปจนถึงปิดคดี คอต. จะมีคำสั่งห้ามมิให้คู่ความ หรือผู้ใช้อื่น ๆ ทั่วไปดำเนินการใดก็ได้ ในการนี้ คอต. จะกำหนดให้ใช้วิธีการบังคับก็ได้โดยอนุโลม

ส่วนที่ 4 พยานหลักฐาน

ข้อ 23 การนำสืบ

  1. คู่ความชอบจะนำเสนอพยานหลักฐานทั้งปวงต่อ คอต. ได้
  2. คอต. จะเรียกพยานหลักฐานมาสืบเองตามที่เห็นจำเป็นก็ได้ ในการนี้ คอต. ย่อมมีอำนาจเรียกให้ผู้ใช้คนใดให้ถ้อยคำหรือส่งพยานหลักฐานในครอบครองมาได้

ข้อ 24 พยานหลักฐานที่รับฟังได้

  1. ในกระบวนพิจารณาทั้งปวง พยานหลักฐานที่รับฟังได้ ย่อมรวมถึงสิ่งดังต่อไปนี้ด้วย
    1. บรรดาการแก้ไขและปูมการแก้ไขของวิกิพีเดีย ซึ่งรวมถึงการลบ และการซ่อนด้วยประการอื่นด้วย
    2. บรรดาการแก้ไขและปูมการแก้ไขในโครงการอื่น ๆ ของวิกิมีเดีย นอกจากวิกิพีเดียภาษาไทย ตามที่ คอต. เห็นสมควร และ
    3. ข้อความอันมีมาในตู้พัสดุทางการของวิกิพีเดีย
  2. พยานหลักฐานจากการประนีประนอมนั้น จะรับฟังได้ ก็ต่อเมื่อคณะไกล่เกลี่ย (Mediation Committee) ยินยอมโดยชัดแจ้งแล้วเท่านั้น
  3. พยานหลักฐานอันอ้างอิงข้อความโต้ตอบส่วนตัว (รวมถึงในเว็บไซต์, แหล่งอภิปราย, ห้องสนทนา, หนังสือเวียนทางอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ อื่น ๆ ภายนอกวิกิพีเดีย) นั้น จะนำเสนอได้ ก็ต่อเมื่อ คอต. อนุญาต และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเท่านั้น

ส่วนที่ 5 การวินิจฉัยคดี

ข้อ 25 การปิดการพิจารณาคดี

เมื่อได้สืบพยานหลักฐานตามที่จำเป็น และให้คู่ความได้แถลงปิดคดี ถ้าคู่ความต้องการแล้ว การพิจารณาคดีเป็นอันสิ้นสุด

ข้อ 26 การประชุมปรึกษาคดี

  1. การประชุมปรึกษาคดีของ คอต. นั้นให้กระทำเป็นการลับ แต่คำวินิจฉัยของ คอต. รวมถึงความเห็นส่วนตนของตุลาการแต่ละคนนั้น ให้ประกาศแก่สาธารณชน
  2. ให้ตุลาการแต่ละคนทำความเห็นส่วนตนเป็นการลับ แล้วแถลงต่อที่ประชุม คอต. เพื่อให้ได้มาซึ่งมติกลาง มตินั้นย่อมได้มาด้วยเสียงข้างมากของตุลาการทั้งหมดที่มีอยู่
  3. ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ตุลาการตั้งบุคคลภายนอกเป็นประธานขึ้นคนหนึ่งเพื่อออกคะแนนเสียงชี้ขาด ถ้าตุลาการไม่อาจตกลงกันในการตั้งประธาน ก็ให้ประชาคมตั้งประธาน
  4. ห้ามมิให้วินิจฉัยหรือสั่งในสิ่งใด ๆ เกินไปกว่าที่ปรากฏในคำร้อง
  5. ตุลาการทุกคนชอบจะทำความเห็นแย้งได้

ข้อ 27 รูปแบบคำวินิจฉัย

  1. คำวินิจฉัยของ คอต. นั้น อย่างน้อยต้อง
    1. บรรยายข้อเท็จจริงที่ไต่สวนได้ความ
    2. บรรยายคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี พร้อมเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยนั้น
    3. ระบุข้อกำหนดในการบังคับคดี ถ้ามี
    4. ลงลายมือชื่อและวันที่ของตุลาการทุกคนที่ร่วมทำคำวินิจฉัย ตามวิธีการของวิกิพีเดีย

ข้อ 28 การขอให้อธิบายคำวินิจฉัย

เมื่อมีข้อสงสัยในส่วนใด ๆ ของคำวินิจฉัย ตุลาการก็ดี, คู่ความก็ดี หรือผู้มีส่วนได้เสียก็ดี จะร้องขอให้ คอต. อธิบายก็ได้

ข้อ 29 วิธีการบังคับ

  1. เพื่อประโยชน์แห่งการบังคับตามคำวินิจฉัย คอต. มีอำนาจกำหนดวิธีการบังคับต่าง ๆ ได้ตามสมควร
  2. วิธีการบังคับเช่นว่า รวมถึง
    1. สั่งให้ผู้ใช้ที่มีหลายบัญชี ใช้เพียงบัญชีเดียว
    2. ให้ทำทัณฑ์บนว่าจะไม่กระทำการใด ๆ อีก เมื่อละเมิดทัณฑ์บนนั้น ก็ให้สั่งปิดกั้นตามสมควรต่อไป
    3. สั่งให้ปิดกั้นบัญชีผู้ใช้ ไม่ว่าชั่วระยะหนึ่ง หรือโดยไม่มีกำหนด
    4. จำกัดการเข้าถึงโครงการที่อยู่ในเขตของ คอต. เช่น จำกัดการย้อนการแก้ไข, จำกัดการเข้าถึงหัวเรื่องบางประการ เป็นต้น

ส่วนที่ 6 การอุทธรณ์คำวินิจฉัย

ข้อ 30 การอุทธรณ์

  1. ผู้ใช้คนใด ๆ จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คอต. ในเรื่องใด ๆ ไปยัง คอต. เองก็ได้
  2. คำวินิจฉัยเกี่ยวด้วยการเยียวยานั้น อาจอุทธรณ์โดยตรงไปยัง และอาจได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมโดย ประธานมูลนิธิ หรือผู้ที่ประธานมูลนิธิมอบหมายได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่เขาเกี่ยวข้องในมูลพิพาทเสียเอง
  3. คอต. อาจกำหนดว่า ให้พ้นระยะเวลาหนึ่ง ๆ นับตั้งแต่มีคำวินิจฉัยเสียก่อน จึงจะอุทธรณ์คำวินิจฉัยนั้นได้ หรือให้พ้นระยะเวลาหนึ่ง ๆ นับตั้งแต่มีคำอุทธรณ์เสียก่อน จึงจะพิจารณาคดีอุทธรณ์นั้น

ส่วนที่ 7 ผลของคำวินิจฉัย

ข้อ 31 ขอบข่ายของกระบวนอนุญาโตตุลาการ

  1. กระบวนอนุญาโตตุลาการมิได้มีไว้สำหรับขับเคลื่อนนโยบายใหม่ ๆ แต่ความข้อนี้ไม่ตัดอำนาจ คอต. ในอันที่จะตีความนโยบายและแนวปฏิบัติซึ่งใช้บังคับอยู่ รวมตลอดถึงรับรองความประพฤติอันดีมีมาตรฐานของผู้ใช้, เตือนสติให้ผู้ใช้ดำรงอยู่ในความประพฤติดังว่า, และกำหนดมาตรการเพื่อบังคับใช้นโยบายและแนวปฏิบัติทั้งหลายได้ ในการนี้ คอต. ย่อมไม่อาจวินิจฉัยความถูกต้องชอบธรรมของเนื้อหาของนโยบายและแนวปฏิบัติ แต่อาจเสนอญัตติให้ประชาคมวินิจฉัยได้
  2. คำวินิจฉัยของ คอต. ไม่เป็นปทัฏฐานสำหรับจะให้คำวินิจฉัยในภายหลังต้องดำเนินตาม ทว่า ความข้อนี้ไม่ห้าม คอต. ในอันที่จะพิเคราะห์คำวินิจฉัยเดิมเมื่อพิจารณาคดีใหม่ ตราบที่คำวินิจฉัยเดิมนั้นเกี่ยวเนื้อกับเนื้อหาสาระของคดีใหม่

ข้อ 32 ผลของคำวินิจฉัย

คำวินิจฉัยของ คอต. นั้น ให้มีผลในวันประกาศ

หมวด 5 การให้สัตยาบันและการแก้ไขเพิ่มเติม

ข้อ 33 การเริ่มใช้นโยบายนี้

  1. นโยบายนี้ ให้เริ่มใช้บังคับได้ทันทีที่เสียงข้างมากในประชาคมให้สัตยาบัน

ข้อ 34 การแก้ไขเพิ่มเติมนโยบายนี้

  1. การแก้ไขเพิ่มเติมนโยบายนี้ ต้องได้รับสัตยาบันทำนองเดียวกัน
  2. ญัตติแก้ไขเพิ่มเติมนโยบายนี้ คอต. โดยคะแนนเสียงข้างมากของตุลาการทั้งหมดที่มีอยู่ก็ดี หรือผู้ใช้ ซึ่งเข้าชื่อกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 20 เสียงก็ดี[1] ย่อมเสนอไปยังประชาคมได้
  3. ระเบียบว่าด้วยกระบวนพิจารณา ซึ่งนโยบายนี้อนุญาตให้ คอต. ตราขึ้นและแก้ไขเพิ่มเติมเองได้นั้น หาจำต้องได้รับสัตยาบันจากประชาคมอีกไม่

เชิงอรรถ

  1. 1.0 1.1 อภิปรายแยกจากคราวให้สัตยาบันนโยบายฯ สรุปเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2554
  2. ในวิกิพีเดียอังกฤษเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 มีคำร้องขอความคิดเห็น และประชาคมได้ลงมติว่า บัญชีผู้ดูแลระบบที่มิได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นเวลามากกว่าหนึ่งปี (มีนิยามไว้ว่า มิได้ "แก้ไขหรือดำเนินการในฐานะผู้ดูแลระบบเป็นเวลาอย่างน้อยสิบสองเดือน") ประชาคมอาจให้พ้นจากความเป็นผู้ดูแลได้ เรียกว่า "เครื่องมือผู้ดูแลระบบ" (administrative tools)