วงศ์นกเค้าแมว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วงศ์นกเค้าแมว
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: สมัยอีโอซีนตอนต้น–ปัจจุบัน
นกเค้าจุด (Athene brama) เป็นนกเค้าแมวชนิดหนึ่งที่พบในประเทศไทย
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Strigiformes
Wagler, 1830
วงศ์: Strigidae
Vigors, 1825
สกุล
ชื่อพ้อง
  • Striginae sensu Sibley & Ahlquist

วงศ์นกเค้าแมว หรือ วงศ์นกเค้าแมวแท้ (อังกฤษ: true owl, typical owl, วงศ์: Strigidae) เป็นวงศ์ของนกล่าเหยื่อในอันดับ Strigiformes หรือนกเค้าแมว ใช้ชื่อวงศ์ว่า Strigidae ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 วงศ์ (อีกวงศ์หนึ่ง นั่นคือ Tytonidae ซึ่งเป็นวงศ์ของนกแสก)

มีลักษณะทั่วไปที่เป็นลักษณะเด่นชัด คือ มีตากลมสีเหลือง และมีตาอยู่ด้านหน้า ในบางสกุลหรือบางชนิด จะมีขนหูตั้งขึ้นต่อจากคิ้ว ตาสองข้างอยู่ด้านหน้า เหนือปาก เป็นเหมือนรูปจมูก มีเส้นสีที่แสดงเขตใบหน้าอย่างชัดเจน จะงอยปากงุ้มแหลมคม ปากงุ้มแหลม ปากและขาสีเนื้อ มีเล็บนิ้วยาวสำหรับฉีกเหยื่อที่จับได้

สีขนส่วนใหญ่ของหลัง-ปีก-อก และท้อง จะเป็นสีน้ำตาล-น้ำตาลเข้ม และมีลายน้ำตาลเข้ม-ดำ อก และท้องจะมีสีอ่อน กว่าหลังและปีก หางจะไม่ยาว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ลวดลายของอกและท้องรวมทั้งสีขนจะแตกต่างกันในแต่ละชนิด

นอกจากนี้แล้ว นกในวงศ์นี้ ยังสามารถหมุนคอได้เกือบรอบตัวได้ถึง 270 องศา เนื่องจากมีกระดูกสันหลังตรงคอ 14 ชิ้น ซึ่งมากกว่าสัตว์ชนิดใด ๆ ในโลก[1]

โดยมากแล้วเป็นนกที่หากินในเวลากลางคืน โดยอาหารหลักได้แก่ หนู และสัตว์ชนิดอื่น เช่น สัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก เป็นต้น มีพฤติกรรมการกินอาหารที่มักกลืนเหยื่อเข้าไปทั้งตัว และจะสำรอกส่วนที่ย่อยไม่ได้เช่น กระดูกหรือก้อนขน ออกมาเป็นก้อนทีหลัง อาจมีบางชนิดที่กินปลาเป็นอาหาร[2]

มีขนาดแตกต่างกันมาก ตั้งแต่ นกเค้าเอลฟ์ (Micrathene whitneyi) ที่มีน้ำหนักเพียง 40 กรัม ความยาวลำตัวเพียง 14 เซนติเมตร ความยาวปีก 20 เซนติเมตร จนถึง นกเค้าอินทรียูเรเชีย (Bubo bubo) ที่มีความยาวปีกยาวกว่า 75 เซนติเมตร น้ำหนัก 4.20 กิโลกรัม นับเป็นนกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์และอันดับนี้[3]

ปัจจุบัน พบทั้งหมดราว 200 ชนิด แบ่งได้เป็น 25 สกุล ซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้ว 4 (ดูในตาราง)[4] พบได้ทุกทวีปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่บริเวณขั้วโลกเหนือ[5] พบได้ในหลากหลายภูมิประเทศ ตั้งแต่ในป่าดิบที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 200 เมตร จนถึงชุมชนมนุษย์ในเมืองใหญ่ สำหรับในประเทศไทยพบได้ทั้งหมด 17 ชนิด [6] [7]

อ้างอิง[แก้]

  1. ["How can a owl turn its head all way around? (อังกฤษ)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-31. สืบค้นเมื่อ 2012-02-29. How can a owl turn its head all way around? (อังกฤษ)]
  2. Blakiston's Fish Owl Natural History Summary (อังกฤษ)
  3. ["10 อันดับสายพันธุ์นกฮูกที่ใหญ่ที่สุด (ไทย)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-17. สืบค้นเมื่อ 2012-02-29. 10 อันดับสายพันธุ์นกฮูกที่ใหญ่ที่สุด (ไทย)]
  4. จาก ITIS.gov (อังกฤษ)
  5. "ไบโอมทุนดรา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-07. สืบค้นเมื่อ 2012-02-29.
  6. บุญส่ง เลขะกุล น.พ., นกสามถิ่น นกสวน นกท้องนา นกป่าดง. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2537
  7. J. S. Marks, R. J. Cannings & H. Mikkola (1999) "Family Strigidae (Typical Owls)". In del Hoyo, J.; Elliot, A. & Sargatal, J. (editors). (1999). Handbook of the Birds of the World. Volume 5: Barn-Owls to Hummingbirds. Lynx Edicions. ISBN 8487334253

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]