นกแสก
นกแสก ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ยุคควอเทอร์นารี–ปัจจุบัน | |
---|---|
นกแสกชนิดย่อย T. a. alba ขนาดโตเต็มที่ | |
ขณะบิน | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Aves |
อันดับ: | Strigiformes |
วงศ์: | Tytonidae |
วงศ์ย่อย: | Tytoninae |
สกุล: | Tyto |
สปีชีส์: | T. alba |
ชื่อทวินาม | |
Tyto alba (Scopoli, 1769) | |
ชนิดย่อย[2] | |
| |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของนกแสก | |
ชื่อพ้อง | |
นกแสก นกแฝก หรือ นกเค้าหน้าลิง เป็นนกเค้าแมวชนิดหนึ่งในวงศ์นกแสก (Tytonidae) วงศ์ย่อย Tytoninae
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tyto alba จัดเป็น 1 ชนิดในจำนวน 19 ชนิดของนกในอันดับนกเค้าแมวที่พบได้ในประเทศไทย และนับเป็นนกแสกชนิดหนึ่งที่พบได้ในประเทศไทย (อีก 1 ชนิดนั้นคือ นกแสกแดง)
ลักษณะ
[แก้]นกแสก มีลักษณะใบหน้าเป็นรูปหัวใจ ตาใหญ่ ตั้งอยู่ทางด้านหน้าของหัว คอสั้น ปีกยาว หางค่อนข้างสั้น ขาและนิ้วแข็งแรง มีขนปกคลุมแข้งเกือบถึงนิ้ว ปลายนิ้วเป็นกรงเล็บ โดยกรงเล็บของนิ้วที่ 3 มีลักษณะหยักคล้ายซี่หวีทางด้านขอบด้านใน ทั้ง 2 เพศมีลักษณะเหมือนกัน แต่เพศเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย สีทางด้านล่างลำตัวและใต้ปีกเป็นสีน้ำตาลอ่อนเกือบเป็นสีขาว มีจุดลักษณะกลมรีสีน้ำตาล หรือสีเทากระจายอยู่ทั่วไป ทางด้านบนลำตัวและขนปกคลุมปีกสีเหลืองทอง มีจุดสีน้ำตาลเข้มกระจายอยู่ทั่วไปเช่นเดียวกัน บริเวณใบหน้ามีสีขาว ไม่มีจุดใด ๆ มีขนสีน้ำตาลเข้มเป็นขอบอยู่รอบนอก ม่านตาสีดำ ใบหน้าเป็นสีขาว ปากเรียว แหลม และจะงอยปากเป็นปากขอ
ขนาดโตเต็มที่สูงประมาณ 1 ฟุต
พฤติกรรมและการขยายพันธุ์
[แก้]นกแสกเป็นนกที่หากินในเวลากลางคืน โดยมากพบในถิ่นที่ใกล้กับชุมชนของมนุษย์ โดยจะอาศัยอยู่ตามสิ่งก่อสร้างที่มีความสงบ เช่น หลังคาโบสถ์ในวัดวาต่าง ๆ หรือบ้านร้าง, ซอกมุมตึกหรือโพรงไม้ จึงนับได้ว่าเป็นนกจำพวกนกเค้าแมวที่มีความใกล้ชิดกับมนุษย์มากที่สุด ในป่าพบตั้งแต่พื้นราบจนกระทั่งความสูง 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล มักพบอยู่โดดเดี่ยว เป็นคู่ หรือเป็นครอบครัว ไม่ค่อยที่อยู่เป็นฝูงใหญ่ ในตอนกลางวันหากมีสิ่งรบกวนจะพยายามหลบไปหามุมมืดของแต่ละแหล่งที่อยู่อาศัยนั้น ๆ บางครั้งก็บินไปยังที่อื่น ๆ ซึ่งก็ห่างไกลพอสมควรเมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงจะบินกลับมายังที่เดิม ในตอนพลบค่ำหรือตอนกลางคืน นกแสกจะมีความคล่องแคล่วว่องไวพอสมควร เมื่อเทียบกับตอนกลางวัน นกแสกออกหากินในตอนกลางคืน กลับเข้ามายังที่พักอาศัยในตอนรุ่งสาง นกแสกร้องเป็นเสียงดังกังวานโดยออกเป็นเสียง "แสก–แสก" อันเป็นที่มาของชื่อ จะได้ยินเสียงร้องเฉพาะในตอนกลางคืนเท่านั้น โดยจะร้องเพื่อเตือนนกตัวอื่นมิให้เข้ามาในอาณาเขตหาอาหารของตัว นกแสกโดยปกติจะมีอาณาเขตหาอาหารประมาณ 20 ตารางกิโลเมตร[3] แต่ตัวผู้บางตัวอาจจะมีอาณาเขตหาอาหารกว้างได้ถึง 40 ตารางกิโลเมตร
อาหารหลักโดยปกติจะเป็นหนู โดยนกแสกไม่ได้เป็นนกมีนิสัยก้าวร้าวดุร้ายแต่อย่างใด เมื่อโฉบเหยื่อจะบินด้วยความว่องไวและเงียบกริบ ตะครุบเหยื่อด้วยกรงเล็บที่แหลมคมและจะงอยปาก จะกลืนอาหารเข้าไปทั้งตัว แต่ไม่อาจย่อยในส่วนที่เป็นขนหรือกระดูกแข็ง ๆ ได้ ดังนั้นจึงจะสำรอกออกมาทางปากไว้ในรัง ลักษณะเป็นก้อนขน
นกแสกเริ่มขยายพันธุ์ได้เมื่อมีอายุได้ 4–5 ปี[3] มีฤดูผสมพันธุ์ในช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน โดยเดือนกันยายนเป็นช่วงที่จับคู่และเดือนตุลาคมจะเป็นช่วงของการวางไข่ ปรกติจะไม่มีการก่อสร้างรังใด ๆ แต่จะวางไข่ตามโพรงไม้ หรือตามชายคาโบสถ์, กุฏิ หรือบริเวณที่ใช้เป็นแหล่งอาศัยหลับนอนดังกล่าวแล้ว ไข่มีรูปร่างเป็นรูปไข่ค่อนข้างกลม ขนาดโดยเฉลี่ย 32.5 x 40.7 มิลลิเมตร ไข่สีขาว ไม่มีจุดหรือลาย รังมีไข่ 4–7 ฟอง โดยพบ 5 ฟองมากที่สุด ตัวเมียตัวเดียวที่ทำการฟักไข่ โดยเริ่มฟักตั้งแต่ออกไข่ฟองแรก ใช้ระยะเวลาฟักไข่ทั้งสิ้น 32–34 วัน ลูกนกแสกที่ออกจากไข่ใหม่ ๆ ยังไม่ลืมตา มีขนอุยสีขาวปกคลุมลำตัวห่าง ๆ ขาและนิ้วยังไม่แข็งแรง ทั้งพ่อและแม่นกช่วยกันกกลูก และหาอาหารมาป้อน ลูกนกจะออกจากไข่ไม่พร้อมกัน ทำให้มีขนาดแตกต่างกันเล็กน้อย ลูกจะเจริญเติบโตและพัฒนาขนปกคลุมร่างกายอย่างรวดเร็ว เมื่ออายุได้ 2 สัปดาห์ ขนาดจะโตขึ้นมาก มีขนอุยสีขาวปกคลุมทั่วร่างกาย อายุ 3 สัปดาห์ เริ่มแข็งแรงพอที่จะเดินภายในรังได้ อายุ 4 สัปดาห์ มีขนแข็งปกคลุมลำตัวแทนขนอุย และเริ่มหัดบิน อายุ 5 สัปดาห์ขึ้นไปจะบินได้แข็งแรงและหากินเองได้ ในขณะที่ลูก ๆ ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ พ่อแม่ช่วยกันหาอาหารมาป้อน อาหารที่นำมาป้อนนั้นพ่อแม่จะฉีกเป็นชิ้น ๆ เสียก่อน แต่เมื่อลูกนกโตพอประมาณและแข็งแรงบ้างแล้ว พ่อแม่จะนำเหยื่อทั้งตัวมาให้ ซึ่งบางครั้งเหยื่อยังมีชีวิตอยู่ ทั้งนี้ก็เพื่อฝึกให้ลูก ๆได้เรียนรู้ถึงวิธีการจับเหยื่อตั้งแต่ยังเล็กอยู่ [4] โดยปีหนึ่ง นกแสกสามารถมีลูกได้ 2 ครอก[3]
การกระจายพันธุ์
[แก้]นกแสกนับได้ว่าเป็นนกที่มีการกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวางมาก โดยพบได้แทบทุกมุมโลก ยกเว้นในทวีปอเมริกาเหนือในส่วนของรัฐอะแลสกาและประเทศแคนาดา บางส่วนของทวีปแอฟริกาทางตอนเหนือ และทวีปเอเชียในส่วนของภูมิภาคเอเชียเหนือ, เอเชียกลางและเอเชียตะวันออกเท่านั้น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ในทุกภาค จึงทำให้นกแสกมีชนิดย่อยมากมายถึง 32 ชนิดย่อยด้วยกัน[2] เช่น T. a. alba พบในทวีปยุโรปและทวีปแอฟริกาบริเวณลุ่มแม่น้ำไนล์, T. a. javanica พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น
ชนิดย่อย
[แก้]- Tyto alba affinis (Blyth, 1862)
- Tyto alba alba (Scopoli, 1769)–พบในทวีปยุโรปและทวีปแอฟริกาบริเวณลุ่มแม่น้ำไนล์
- Tyto alba bargei (Hartert, 1892)
- Tyto alba bondi Parkes & Phillips, 1978
- Tyto alba contempta (Hartert, 1898)
- Tyto alba crassirostris Mayr, 1935
- Tyto alba delicatula (Gould, 1837)
- Tyto alba deroepstorffi (Hume, 1875)
- Tyto alba detorta Hartert, 1913
- Tyto alba erlangeri Sclater, 1921
- Tyto alba ernesti (Kleinschmidt, 1901)
- Tyto alba furcata (Temminck, 1827)
- Tyto alba gracilirostris (Hartert, 1905)
- Tyto alba guatemalae (Ridgway, 1874)
- Tyto alba guttata (Brehm, 1831)–นกแสกยุโรป
- Tyto alba hellmayri Griscom & Greenway, 1937
- Tyto alba hypermetra Grote, 1928
- Tyto alba insularis (Pelzeln, 1872)
- Tyto alba javanica (Gmelin, 1788)–พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- Tyto alba lucayana Riley, 1913
- Tyto alba meeki (Rothschild & Hartert, 1907)
- Tyto alba nigrescens (Lawrence, 1878)
- Tyto alba niveicauda Parkes & Phillips, 1978
- Tyto alba poensis (Fraser, 1843)
- Tyto alba pratincola (Bonaparte, 1838)
- Tyto alba punctatissima (Gould & Gray, 1838)
- Tyto alba schmitzi (Hartert, 1900)
- Tyto alba stertens Hartert, 1929
- Tyto alba subandeana Kelso, 1938
- Tyto alba sumbaensis (Hartert, 1897)
- Tyto alba thomensis (Hartlaub, 1852)
- Tyto alba tuidara (Gray, 1829)
ความเชื่อและความสัมพันธ์กับมนุษย์
[แก้]นกแสกนับว่าเป็นนกจำพวกนกเค้าแมวที่อาจนับได้ว่าใกล้ชิดกับมนุษย์มากที่สุด ด้วยความที่มีถิ่นอาศัยใกล้หรืออยู่ในชุมชนของมนุษย์ จึงทำให้มีความเชื่อในบางวัฒนธรรมว่า เป็นนกที่ส่งสัญญาณเตือนถึงความตาย เช่น ในความเชื่อของไทย เชื่อว่า หากนกแสกบินข้ามหลังคาบ้านผู้ใดหรือไปเกาะที่หลังคาบ้านใคร หรือส่งเสียงร้องด้วย จะต้องมีบุคคลในที่แห่งนั้นถึงแก่ความตาย จึงทำให้เชื่อกันว่าเป็นนกผีหรือนกปีศาจ
ซึ่งในเรื่องนี้ ได้ปรากฏเป็นข่าวครึกโครมผ่านหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อกลางเดือนกันยายน พ.ศ. 2552 ว่าที่วัดแห่งหนึ่งที่อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชาวบ้านและพระที่จำวัด ณ วัดแห่งนั้น เชื่อว่าเมื่อใดที่นกแสกที่วัดส่งเสียงร้องดัง หรือเสียงแปลก ๆ จะมีคนตายส่งมาฌาปนกิจเสมอ โดยในช่วงเวลาที่เป็นข่าวก็มีคนตายไปแล้วถึง 6 คนด้วยกัน[5]
แต่สำหรับในบางที่เช่น คนอินเดียกลับเชื่อว่าแสกเป็นนกของพระลักษมีผู้เป็นเทวีแห่งโภคทรัพย์และความเจริญงอกงามทางการเกษตร ชาวฮินดูในแคว้นเบงกอลเชื่อว่าถ้านกแสกมาทำรังที่บ้านใคร จะนาโชคดีมาให้ เจ้าของบ้านจะได้รับทรัพย์สินเงินทอง[6] หรือในจังหวัดชุมพร เกษตรกรที่ปลูกปาล์มน้ำมันได้ใช้นกแสกในการกำจัดศัตรูพืช คือ หนู โดยเฉพาะหนูท้องขาว โดยจะปลูกรังให้นกแสกอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่สวน ปรากฏว่านกแสกสามารถกำจัดหนูท้องขาวได้ดีกว่าการใช้ยาเบื่อหรือวิธีการทางธรรมชาติใด ๆ ทั้งมวล[7]
รูปภาพ
[แก้]-
ลูกนกแสก
-
กะโหลกนกแสก
-
คลิปวิดีโอนกแสกชนิดย่อยออสเตรเลีย (T. a. delicatula)
-
ใบหน้านกแสกตัวเมีย
-
นกแสกขณะโผล่มาจากโพรงไม้ที่เป็นรัง ที่วุร์สเตอร์เชียร์ ในอังกฤษ
-
Tyto alba guttata
อ้างอิง
[แก้]- ↑ BirdLife International (2012). "Tyto alba". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2013.2. สืบค้นเมื่อ 26 November 2013.
- ↑ 2.0 2.1 จาก itis.gov (อังกฤษ)
- ↑ 3.0 3.1 3.2 สะ-เล-เต (June 30, 2016). "นกแสกเพิ่มผลผลิตปาล์ม". ไทยรัฐ. สืบค้นเมื่อ July 1, 2016.
- ↑ นกแสก
- ↑ ผวา! อาถรรพณ์นกแสกดับ100ศพ
- ↑ "นกแสกผู้น่าสงสารกับความเชื่อแบบไทยๆ". สารคดี (ภาษาอังกฤษ). 2018-09-10.
- ↑ "นกแสก มิติใหม่ของการปราบหนู ในสวนปาล์มน้ำมัน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-05-21. สืบค้นเมื่อ 2009-09-15.