ข้ามไปเนื้อหา

ลากูนบัวดา

พิกัด: 0°32′7″S 166°55′20″E / 0.53528°S 166.92222°E / -0.53528; 166.92222
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลากูนบัวดา
ลากูนบัวดา
ลากูนบัวดาตั้งอยู่ในประเทศนาอูรู
ลากูนบัวดา
ลากูนบัวดา
ที่ตั้งประเทศนาอูรู
พิกัด0°32′7″S 166°55′20″E / 0.53528°S 166.92222°E / -0.53528; 166.92222
ชนิดทะเลสาบ
พื้นที่พื้นน้ำ0.05 ตารางไมล์ (0.13 ตารางกิโลเมตร)

ลากูนบัวดา (อังกฤษ: Buada Lagoon) เป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ที่สุดและทะเลสาบที่แท้จริงเพียงแห่งเดียวของประเทศนาอูรู ซึ่งเป็นสาธารณรัฐอิสระขนาดเล็กตั้งอยู่ในเขตโอเชียเนีย ทะเลสาบตั้งอยู่ในเขตบัวดา ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ แม้จะเรียกว่าลากูน แต่หากพิจารณาอย่างเข้มงวดแล้ว ทะเลสาบแห่งนี้มิใช่ลากูน เนื่องจากไม่มีพื้นที่ส่วนใดเชื่อมต่อกับทะเล ทว่าน้ำในทะเลสาบมีลักษณะของน้ำกร่อยอยู่เล็กน้อย[1][2] ในอดีตชาวนาอูรูใช้ประโยชน์จากทะเลสาบในการทำประมง โดยใช้เป็นพื้นที่เลี้ยงปลาอีบีจาเพื่อนำมาใช้ในการบริโภค การทำประมงดังกล่าวดำเนินเรื่อยมาหลายศตวรรษ จนเลิกดำเนินการในช่วงทศวรรษ 1960 อย่างไรก็ตามมีความพยายามหลายครั้งในการฟื้นฟูกิจการประมง แม้ว่าจะเผชิญกับปัญหามลพิษทางน้ำก็ตาม

แหล่งน้ำจืดในนาอูรูมีจำกัด โดยมีเพียงแหล่งน้ำใต้ดินขนาดเล็ก, ทะเลสาบใต้ดิน (บ่อน้ำโมควา) และลากูนบัวดา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำจืดบนดินเพียงแห่งเดียวเท่านั้น นอกจากนี้นาอูรูยังเป็นประเทศที่ไม่มีแม่น้ำอีกด้วย[3][4]

พืช

[แก้]

ข้อมูลเกี่ยวกับพืชทะเลสาบบริเวณลากูนบัวดามีอยู่น้อยมาก[5][1] อย่างไรก็ตามมีการยืนยันว่าในทะเลสาบมีผักตบชวาอยู่เมื่อไม่นานมานี้[6]

พืชที่ขึ้นอยู่โดยรอบทะเลสาบเป็นส่วนที่เหลือของป่าฝนที่เคยครอบคลุมกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่เกาะก่อนที่จะเกิดการทำเหมืองฟอสเฟตอย่างเข้มข้นในคริสต์ศตวรรษที่ 20[7] ในพื้นที่ขนาด 40 เฮคตาร์ ที่มีสภาพน้ำขังใต้ผิวดินที่อุดมสมบูรณ์[8] พบพืชจำพวกกระทิง (Calophyllum inophyllum) รวมไปถึงพืชวงศ์เข็ม เช่น โกงกางหูช้าง เป็นต้น, Premna serratifolia, หูกวาง, มะกล่ำตาช้าง, นุ่น, ไมยราบ, มะม่วง, ตีนเป็ดทราย, มะพร้าว ส่วนพืชไม่พุ่มที่พบส่วนใหญ่ประกอบด้วยพืชสกุล Scaevola โดยเฉพาะอย่างยิ่งรักทะเล, ยอ, ตำเสาหนู, Physalis angulata และเฟิร์น เช่น Phymatosorus scolopendria และ Nephrolepis biserrata รวมไปถึงพืชกาฝากอย่างสังวาลย์พระอินทร์[9] บริเวณพื้นที่เปิดโล่งมีพืชจำพวก Glochidion societatis ส่วนบริเวณหนองน้ำมีพืชสกุลกก (Cyperus javanicus และ Cyperus compressus), คุณนายตื่นสายและผักบุ้ง โดยพื้นที่ในส่วนนี้ถูกทำลายลงไปมากในช่วงที่นาอูรูอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง[10] นอกจากนี้ยังพบพืชนำเข้าหลายชนิดเช่น ฝรั่ง, ผกากรอง, Grona triflora, Chamaesyce hirta ซึ่งการเข้ามาของพืชเหล่านี้นำไปสู่ปัญหาการรบกวนทางระบบนิเวศ[7]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "Protected Areas and World Heritage Programme - Buada Lagoon" (ภาษาอังกฤษ). UNEP. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-02-24. สืบค้นเมื่อ 22 February 2021.
  2. "Wetlands International - A Directory of Wetlands in Oceania". Wetlands International. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-05. สืบค้นเมื่อ 22 February 2021.
  3. "CLIMATE CHANGE - RESPONSE: REPUBLIC OF NAURU RESPONSE" (PDF). UNITED NATIONS FRAMEWORK CONVENTION ON CLIMATE CHANGE. สืบค้นเมื่อ 22 February 2021.
  4. "REPUBLIC OF NAURU: NATIONAL ENVIRONMENTAL MANAGEMENT STRATEGY AND NATIONAL ENVIRONMENTAL ACTION PLAN" (PDF). South Pacific Regional Environment Programme. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-02-17. สืบค้นเมื่อ 22 February 2021.
  5. "NAURU" (ภาษาอังกฤษ). UNEP-WCMC. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2003-04-20. สืบค้นเมื่อ 24 February 2021.
  6. Thaman, R.R.; Hassall, D.C.; Takeda, Shingo (2009). THE VEGETATION AND FLORA OF NAURU – 2007. Secretariat of the Pacific Community. p. 12.
  7. 7.0 7.1 Thaman, R.R.; Fosberg, F.R.; Manner, H.I.; Hassall, D.C. (1994). THE FLORA OF NAURU. National Museum of Natural, Smithsonian Institution. p. 10.
  8. "Directory of Wetland: REPUBLIC OF NAURU" (PDF). Pacific Regional Environment Programme. สืบค้นเมื่อ 22 February 2021.
  9. Thaman, R.R.; Fosberg, F.R.; Manner, H.I.; Hassall, D.C. (1994). THE FLORA OF NAURU. National Museum of Natural, Smithsonian Institution. p. 14.
  10. Thaman, R.R.; Fosberg, F.R.; Manner, H.I.; Hassall, D.C. (1994). THE FLORA OF NAURU. National Museum of Natural, Smithsonian Institution.