ผักตบชวา
ผักตบชวา | |
---|---|
![]() |
|
ผักตบชวา | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | พืช (Plantae) |
หมวด: | Liliopsida |
ชั้น: | Commelinidae |
อันดับ: | Commelinales |
วงศ์: | Pontederiaceae |
สกุล: | Eichhornia |
สปีชีส์: | E. crassipes |
ชื่อทวินาม | |
Eichhornia crassipes (Mart.) Solms |
ผักตบชวา เป็นพืชน้ำล้มลุกอายุหลายฤดู สามารถอยู่ได้ทุกสภาพน้ำ มีถิ่นกำเนิดในแถบลุ่มน้ำแอมะซอน ประเทศบราซิล ในทวีปอเมริกาใต้ มีดอก สีม่วงอ่อน คล้ายช่อดอกกล้วยไม้ และแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วจนกลายเป็นวัชพืชที่ร้ายแรงในแหล่งน้ำทั่วไป มีชื่อเรียกในแต่ละท้องถิ่นดังนี้: ผักปอด, สวะ, ผักโรค, ผักตบชวา, ผักยะวา, ผักอีโยก, ผักป่อง
เนื้อหา
ประวัติ[แก้]
ผักตบชวาถูกนำเข้ามาในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2444 ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยนำเข้ามาจากเกาะชวาในฐานะเป็นไม้ประดับสวยงาม โดยขณะเสด็จประพาสประเทศอินโดนีเซีย พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เมื่อปี พ.ศ. 2439 สมเด็จพระนางเจ้าฯ ได้ทอดพระเนตรเห็นนางกำนัล ตลอดจนเจ้านายฝ่ายในของสุลต่าลเกาะชวาได้ใช้ดอกของพืชชนิดนี้ทัดหู มีความสวยงามของสีม่วงอมฟ้าพร้อมกับมีดอกที่ใหญ่ จึงได้มีรับสั่งให้เก็บผักตบชวาจำนวน 3 เข่ง เพื่อนำมาปลูกไว้ในประเทศไทย พร้อมกับนำน้ำจากพื้นถิ่นกลับมาด้วยจำนวน 10 ปี๊บ เพื่อไม่ให้ผักตบชวาผิดน้ำ โดยขณะนั้นผักตบชวาก็เพิ่งถูกนำเข้าไปในเกาะชวาจากเจ้าอาณานิคมฮอลันดา โดยแรกเริ่มใส่อ่างดินเลี้ยงไว้หน้าสนามวังสระปทุม ผักตบชวาก็เจริญเติบโตงอกงามอย่างมากมาย ถึงแม้จะเปลี่ยนน้ำแล้วก็เติบโตได้ดีจนออกดอกเพียงระยะเวลาแค่ 1 เดือน และได้ทรงพระราชทานหน่อให้เจ้านายพระองค์อื่นและบรรดาข้าราชบริพารนำไปปลูกด้วย เพียงแค่ 6 เดือน ผักตบชวาก็แพร่กระจายพันธุ์จนเต็มวังสระปทุม ต้องนำไปปล่อยทิ้งไว้ที่คลองสามเสนหลังวัง พร้อมกับคลองอื่น ๆ เช่น คลองเปรมประชากร, คลองผดุงกรุงเกษม ในระยะแรกประชาชนชาวไทยก็ได้ใช้ดอกของผักตบชวามาทัดหูเพื่อความสวยงามบ้าง แต่หลังจากนั้นไม่นานก็เสื่อมความนิยมลง เหตุเพราะการแพร่กระจายพันธุ์อย่างรวดเร็วนั่นเอง[1]
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์[แก้]
ผักตบชวามีลำต้นสั้นแตกใบเป็นกอลอยไปตามน้ำ มีไหล ซึ่งเกิดตามซอกใบแล้วเจริญเป็นต้นอ่อนที่ปลายไหล ถ้าน้ำตื้นก็จะหยั่งรากลงดิน ใบเป็นใบเดี่ยวรูปไข่หรือเกือบกลม ก้านใบกลมอวบน้ำตรงกลางพองออกภายในเป็นช่องอากาศคล้ายฟองน้ำช่วยให้ลอยน้ำได้ ดอกเกิดเป็นช่อที่ปลายยอดมีดอกย่อย 3-25 ดอก สีม่วงอ่อน มีกลีบดอก 6 กลีบ กลีบบนสุดขนาดใหญ่กว่ากลีบอื่น ๆ และมีจุดเหลืองที่กลางกลีบ ขยายพันธุ์โดยการแยกต้นอ่อนที่ปลายไหลไปปลูก
ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น[แก้]
ผักตบชวาจัดเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามาแพร่ระบาดรุกรานจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศน์ในประเทศไทย มีการแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ใน 1 เดือนผักตบชวาเพียง 1 ต้นอาจขยายพันธุ์ได้มากถึง 1,000 ต้น ถึงแม้น้ำจะแห้งจนต้นตายแต่เมล็ดของมันก็ยังมีชีวิตต่อไปได้นานถึง 15 ปีและทันทีที่เมล็ดได้รับน้ำที่เพียงพอมันก็จะแตกหน่อเป็นต้นใหม่ต่อไป[2] จนกลายเป็นปัญหาทางน้ำและทวีความรุนแรงจนเป็นปัญหาระดับประเทศ ทำให้รัฐบาลต้องเสียงบประมาณในการกำจัดผักตบชวาจำนวนมาก ซึ่งไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น อีกกว่า 50 ประเทศทั่วโลกก็เจอปัญหาเช่นเดียวกัน เว้นแต่ประเทศในแถบยุโรปเท่านั้นที่ปลอดการรบกวน และบริเวณที่ถูกผักตบชวาคุกคามมากที่สุดคือ ทะเลสาบวิกตอเรีย
ประเทศไทยเริ่มมีการกำจัดผักตบชวามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 มีการออกพระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวา พ.ศ. 2456[3][4] ปัจจุบันมีหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ได้เข้ามาช่วยเหลือในการกำจัด เช่น นำไปผลิตเป็นของใช้ อาหารสัตว์ ทำปุ๋ย ฯลฯ และมีการนำแมลงมวนผักตบจากแหล่งกำเนิดที่ทวีปอเมริกาใต้ เข้ามาทดลองปล่อยในประเทศไทย เพื่อควบคุมจำนวนประชากรของผักตบชวา
ผักตบชวาเป็นพืชที่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะช่วงฤดูฝนจึงมีปริมาณมากในช่วงนั้นเกิดจากสารเคมีที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น ผงซักฟอก ปุ๋ย ซึ่งเป็นธาตุอาหารของพืชน้ำโดยเฉพาะกับผักตบชวาเป็นอย่างดี ทำให้ กีดขวางการเดินทางของน้ำ อัตราการไหลของน้ำจึงลดลง และกีดขวางการระบายน้ำของประตูน้ำ อีกทั้งยังทำให้ระบบนิเวศเสียหายซึ่งผักตบชวาสามารถดูดซึมธาตุอาหารที่เป็นตัวการทำให้น้ำเสียแต่เมื่อมีปริมาณมากเกินไปจะส่งผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ กล่าวคือ สัตว์ใต้น้ำจะขาดออกซิเจนและตายลง รวมถึงการบดบังแสงแดดที่เป็นส่วนหนึ่งของการสังเคราะห์แสงของพืชใต้น้ำจะทำให้พืชเหล่านั้นเน่าและตายไป ดังนั้นจึงเกิดน้ำเน่าเสียอย่างง่ายดายรวมทั้งทำลายระบบนิเวศ[5][6][7]
ประโยชน์[แก้]
- การบริโภค ดอกอ่อนและก้านใบอ่อนกินเป็นผักลวกจิ้มน้ำพริกหรือทำแกงส้ม
- ใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ เช่นหมู ใช้ทำปุ๋ยหมัก ก้านและใบอ่อนนำมารับประทานได้ เครื่องจักสานผักตบชวา
- ด้านสมุนไพร ใช้แก้พิษภายในร่างกาย และขับลม ใช้ทาหรือพอกแก้แผลอักเสบ[8]
บทบาทในการกำจัดน้ำเสีย[แก้]
ผักตบชวาสามารถช่วยในการบำบัดน้ำเสีย โดยการทำหน้าที่กรองน้ำที่ไหลผ่านกอผักตบชวาอย่างช้าๆ ทำให้ของแข็งแขวนลอยต่างๆ ที่ปนอยู่ในน้ำถูกสกัดกลั่นกรองออก นอกจากนั้น ระบบรากที่มีจำนวนมากจะช่วยกรองสารอินทรีย์ที่ละเอียด และจุลินทรีย์ที่อาศัยเกาะอยู่ที่ราก จะช่วยดูดสารอินทรีย์ไว้ด้วยอีกทางหนึ่ง รากผักตบชวาจะดูดสารอาหารที่อยู่ในน้ำ ทำให้ไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในน้ำเสียจึงถูกกำจัดไป อย่างไรก็ตามไนโตรเจนในน้ำเสียนั้น ส่วนมากจะอยู่ในรูปสารประกอบทางเคมี เช่น สารอินทรีย์ไนโตรเจน แอมโมเนียไนโตรเจน และไนเตรทไนโตรเจน พบว่า ผักตบชวาสามารถดูดไนโตรเจนได้ทั้ง 3 ชนิด แต่ในปริมาณที่แตกต่างกันคือ ผักตบชวาสามารถดูดอินทรีย์ไนโตรเจนได้สูงกว่าไนโตรเจนในรูปอื่นๆ คือ ประมาณ 95 % ขณะที่ไนเตรทไนโตรเจน และแอมโมเนียไนโตรเจน จะเป็นประมาณ 80 % และ 77 % ตามลำดับ[9] สถานที่แรกในประเทศไทยที่ใช้การบำบัดด้วยวิธีนี้คือ "บึงมักกะสัน" ซึ่งเป็นโครงการบึงมักกะสันอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยใช้หลักการบำบัดน้ำเสียตามแนวทฤษฎีการพัฒนาโดยการกรองน้ำเสียด้วยผักตบชวา (Filtration)[10]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ หน้า 3, ต้นทางผักตบชวา. "ชักธงรบ" โดย กิเลน ประลองเชิง. ไทยรัฐปีที่ 67 ฉบับที่ 21240: วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2559 ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 10 ปีวอก
- ↑ คุณและโทษผักตบชวา โรงเรียนสารภีพิทยาคม
- ↑ พระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวา พ.ศ. 2456 www.pub-law.net
- ↑ เว็บไซต์ไทยรัฐ (Th)วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2545
- ↑ "ปัญหาจากผักตบชวา !". สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2559.
- ↑ "ผักตบชวา...วัชพืชร้ายคู่สายน้ำ !". สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2559.
- ↑ "บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร ประจำวันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม 2537 เรื่อง ผักตบชวา !". สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2559.
- ↑ ผักตบชวา
- ↑ ชีววิทยาของผักตบชวา กรมชลประทาน
- ↑ การบำบัดน้ำเสียด้วยผักตบชวา www.panyathai.or.th
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]
![]() |
คอมมอนส์ มีภาพและสื่อเกี่ยวกับ: Eichhornia crassipes |
ข้อมูลเกี่ยวข้องกับ Eichhornia crassipes จากวิกิสปีชีส์