ข้ามไปเนื้อหา

ลอว์เรนซ์ คายน์ แสนพลออน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ลอว์เรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน ( ไทย: ลอว์เรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน, อักษรโรมัน: Most Rev. Lawrence Kai Sean-Phon-On , 17 สิงหาคม ค.ศ. 1928 – 24 กรกฎาคม ค.ศ. 2007 ) เป็น อัครมุขนายกกิตติคุณแห่งอัครมุขมณฑลท่าแร่-หนองแสง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2523 จนกระทั่งเกษียณอายุในปี 2547 (6 มีนาคม 2523 - 14 พฤษภาคม 2547)[1]

ลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน
อัครมุขนายกมิสซังโรมันคาทอลิกท่าแร่-หนองแสง
ดำรงตำแหน่ง
6 มีนาคม 2523 – 14 พฤษภาคม 2547
ก่อนหน้ามีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์
ถัดไปหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด14 สิงหาคม 2471 (79 ปี)
บ้านทุ่งมน จังหวัดสกลนคร ประเทศไทย
เสียชีวิต24 กรกฎาคม พ.ศ. 2550
ที่ไว้ศพศาลานักบุญทั้งหลาย สุสานวัดอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่
เชื้อชาติไทย
บุพการีนายคารและนางจันที แสนพลอ่อน
"ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยความพากเพียร ผ่านกางเขน สู่แสงสว่าง"

ประวัติส่วนตัว

[แก้]

พระอัครมุขนายกลอว์เรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน เกิดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1928 ที่บ้านทุ่งมน ตำบลเชียงเครือ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เป็นบุตรของนายคารและนางจันที แสนพลอ่อน เมื่ออายุได้ 5 ขวบ บิดาของพระคุณเจ้าเสียชีวิต สองปีต่อมามารดาก็เสียชีวิต ทิ้งให้พระคุณเจ้าและน้องสาวอยู่ในความอุปการะของคุณยาย

การศึกษาและชีวิตกระแสเรียก

[แก้]

พระอัครมุขนายกลอว์เรนซ์เริ่มการศึกษาที่บ้านเณรพระหฤทัยหนองแสง จังหวัดนครพนม ต่อมาศึกษาต่อที่บ้านเณรบางนกแขวก จังหวัดสมุทรสงคราม ภายใต้การอบรมของคณะซาเลเซียน และต่อที่เยเนรัล คอลเลจ บู เลาตีกุส ปีนัง (College General Pulau Tikus, Penang) ประเทศมาเลเซีย จนจบหลักสูตร ได้รับศีลบวชเป็นบาทหลวงเมื่อวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 1957 โดยท่านมุขนายกมีคาแอล มงคล (อ่อน) ประคองจิต

เมื่อวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1980 สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 แต่งตั้งท่านเป็นพระอัครมุขนายกแห่งอัครมุขมณฑลท่าแร่-หนองแสง และได้รับอภิเษกเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1980 ที่อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่

คติพจน์

[แก้]
  • “OMNIA POSSUM IN EO QUI ME CONFORTAT” (ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยความพากเพียร)
  • “Per Crucem Ad Lucem” (ผ่านกางเขน สู่แสงสว่าง)

ประวัติการทำงาน

[แก้]
  • ค.ศ. 1957-1958: ผู้ช่วยอธิการโบส์ถอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่
  • ค.ศ. 1959-1961: อาจารย์ภาษาอังกฤษโรงเรียนเซนต์ยอแซฟ ท่าแร่
  • ค.ศ. 1961-1962: ดูงานและช่วยงานอภิบาลที่สหรัฐอเมริกาและยุโรป
  • ค.ศ. 1962-1967: อธิการและผู้จัดการโรงเรียนเซนต์ยอแซฟท่าแร่
  • ค.ศ. 1967-1969: อธิการโรงเรียนวรสารพิทยา กรุงเทพฯ ผู้ช่วยอธิหารวัดนักบุญยอแซฟ ตรอกจันทน์และช่วยงานอภิบาลวัดแม่พระประจักษ์เมืองลูร์ด หัวตะเข้
  • ค.ศ. 1969-1976: อธิการบ้านเณรฟาติมาท่าแร่ ครูใหญ่ ผู้จัดการโรงเรียนยอแซฟ ท่าแร่
  • ค.ศ. 1976-2005: เจ้าอธิการวัดพระหฤทัยคู่ สกลนคร

ผลงานสำคัญ

[แก้]

ด้านศาสนา:

  • เป็นบุคคลสำคัญในการยื่นเรื่องขอแต่งตั้งบุญราศรีแห่งสองคอน

สังคมและวัฒนธรรม:

  • ผู้บุกเบิกเริ่มต้น เทศกาลแห่งดาวคริสต์มาส  จนกลายเป็น เทศกาลสำคัญประจำปีของจังหวัดสกลนคร

การศึกษาและเศรษฐกิจ:

  • ก่อตั้งโรงเรียนในเครือเซนต์ยอแซฟตามจังหวัดและอำเภอใหญ่หลายแห่ง
  • ลงทุนในด้านการเลี้ยงสัตว์และการเกษตร แม้ประสบภาวะขาดทุนบ้าง

การแพร่ธรรมทางสื่อวิทยุ:

  • เริ่มรายการ “ระฆังชีวิต” ทางสถานีวิทยุกระจายเสียง F.M. ความถี่ 101.75Mhz
  • เริ่มสถานีวิทยุชุมชนท่าแร่ เครือข่ายศูนย์สังคมพัฒนาอัครมุขมณฑลท่าแร่-หนองแสง ในความถี่ 104.50Mhz

พระอัครมุขนายกลอว์เรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน เป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลในด้านการศึกษาและการแพร่ธรรมผ่านสื่อวิทยุ ทำให้การพัฒนาของอัครมุขมณฑลท่าแร่-หนองแสง ก้าวหน้าและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการศาสนาและการศึกษา

วาระสุดท้ายแห่งชีวิต

[แก้]

บาทหลวงลอว์เรนซ์ คายน์ ได้รับการแต่งตั้งเป็น อัครมุขนายกแห่ง อัครมุขมณฑลท่าแร่-หนองแสง เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2523 (1980) และได้รับการอภิเสกเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2523,(1980) โดย อัครมุขนายก มิเชล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ พระอัครมุขนายก องค์ก่อน

ในฐานะอัครมุขนายก ท่านมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากในการขยายอัครมุขฆมณฑล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาการศึกษาและการสร้างโบสถ์ นอกจากนี้ท่านยังจัดสัมมนาบ่อยครั้งเพื่อกำหนดโครงร่างต้นแบบสำหรับวิสัยทัศน์และพันธกิจของอัครมุขมณฑล

พระอัครมุขนายกลอว์เรนซ์ คายน์ มีโรคประจำตัวคือโรคเบาหวาน เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 2002 นายแพทย์สมบูรณ์ จิระวัฒนาสมกุล พบเนื้อร้ายในตับและแนะนำให้เข้ารับการรักษา ท่านได้รับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ กรุงเทพฯ พบว่าเป็นมะเร็งในตับ แต่ท่านยังคงเดินทางไปสหรัฐอเมริกา หลังจากเดินทางกลับมา ท่านยังคงทำหน้าที่นายชุมพาบาลอย่างเข้มแข็ง

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2547, (2004) พระคุณเจ้าได้รับอนุญาตให้ลาออกจากตำแหน่ง [1]

วันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 2007 หลังเป็นประธานพิธีมิสซาขอบพระคุณหน้าศพมารดาของบาทหลวงทวีชัย ศรีวรกุล ท่านอาการอ่อนเพลีย และถูกส่งเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 2007 ท่านเดินทางกลับอัครมุขมณฑลเพื่อพักรักษาตัวที่บ้านริมหนองหาร แต่สุขภาพยังไม่ดีขึ้น และถูกส่งรักษาที่โรงพยาบาลสกลนคร และท่านเสียชีวิตด้วยผลของโรคเบาหวานเมื่อ วันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2550, (2007) สิริอายุ 79 ปี และมีพิธีมิสซาปลงศพในวันที่ 28 กรกฎาคม (2007) และฝังร่างของท่านไว้ ศาลานักบุญทั้งหลาย ณ สุสานวัดอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่

ประวัติที่น่าสนใจ

[แก้]

ที่บ้านทุ่งมน อำเภอเมืองสกลนคร (ราวๆ ค.ศ.1928) มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อท่านยังเป็นเด็ก ท่านป่วยหนักโดยแม่ของท่านเป็นชาวคริสต์คาทอลิก ได้ขอพรพระเจ้าให้พระคุณเจ้าหายป่วยและมีชีวิตอยู่ต่อไป โดยมีสัญญาว่าจะถวายลูกของท่านให้บวชเป็นบาทหลวงหากเขามีชีวิตอยู่

ในวัยที่เป็นนักเรียนคาทอลิกอายุ 12-15 ปี ช่วงสงครามอินโดจีน ท่านเรียนในโรงเรียนของรัฐ และโดนสั่งปิดโรงเรียนเนื่องจากเป็นโรงเรียนที่มีผู้นับถือคริสต์ศาสนา

ด้วยความเป็นผู้นำโดยธรรมชาติในความศรัทธาต่อพระเจ้าของท่าน พระคุณเจ้าลอว์เรนซ์คายน์ ต้องเผชิญกับการทรมานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่เบียดเบียนศาสนา จากความเข้าใจผิด และท่านต้องทนทุกข์ในบริเวณโรงเรียน ครูใหญ่ของโรงเรียนยังเคยพาท่านออกจากห้องเรียนและขังไว้ในห้องทำงาน ยังเคยได้รับบาดเจ็บจากการทุบตี ทุบหัวจากตำรวจซ้ำแล้วซ้ำ ซึ่งพยายามให้ท่านปฏิเสธความศรัทธาของพระคุณเจ้า

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจมาที่โรงเรียนและเรียกท่านไป และใช้ปืนเพื่อขู่ ในลักษณะที่ว่า ถ้าท่านไม่ยอมละทิ้งความเชื่อในพระเยซู เขาจะยิงท่านทิ้ง ต่อมาตำรวจยังคงกลั่นแกล้ง โดยเรียกรวมแถวนักเรียนคาทอลิกในโรงเรียนและขอให้พวกเขาข้ามเส้นแบ่งเขต ถ้าพวกเขาเชื่อในพระเยซู มีเพียง พระคุณเจ้าคายน์ ที่เดินข้ามเส้นนั้นไป ด้วยเหตุนี้ท่านจึงถูกทรมานสารพัด ทั้งถูกแขวนข้อเท้าและคว่ำหัวลงในบ่อน้ำ อีกครั้งหนึ่งพวกเขาบังคับให้ท่านจ้องมองดวงอาทิตย์ เพื่อบอกว่านั่นคือพระเจ้าของท่าน ราวๆปี ค.ศ. 1940 ชายหนุ่มและหญิงสาวเจ็ดคน รวมทั้งนักบวชหญิง และเด็ก ถูกสังหารเพราะศรัทธาของตน ที่บ้านสองคอน และถูกแต่งตั้งเป็น มรณสักขีแห่งสองคอน

พระคุณเจ้าคายน์ ได้รับศีลอนุกรมเป็นบาทหลวงของท่าแร่ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 1957 หลังจากนั้น ไม่นานครูใหญ่ของโรงเรียนที่ข่มเหงได้กลับมาขอการให้อภัยและได้รับแรงบันดาลใจจากพยานแห่งศรัทธาของท่าน และเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ คาทอลิก

พระคุณเจ้าคายน์ เคยได้พบกับ บุคคลที่เกือบจะได้เป็น มรณสักขี ที่อายุน้อยในบรรดาผู้พลีชีพทั้งเจ็ด ของมรณสักขีแห่งสองคอน ซึ่งเป็นเด็กหญิงอายุ 13 ปี เธอเดินไปยังสถานที่แห่ง การมรณสักขี พร้อมกับ นักบวชหญิง 2 ท่าน และคนอื่นๆ อีก 4 คน แต่พระเจ้าทรงไว้ชีวิตเธออย่างอัศจรรย์ และเธอเล่าอย่างละเอียดถึงเรื่องราวการมรณสักขีแก่พระอัครมุขนายก คายน์ ซึ่งกลายเป็น คำพยานยืนยัน (Postulator) เพื่อส่งเสริมสาเหตุแห่งความเป็นผู้พลีชีพเป็น มรณสักขีของพวกเขา

ความเป็นมาของการเบียดเบียนศาสนาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วง สงครามอินโดจีน[2]

เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2483 มีการเบียดเบียนศาสนาในประเทศไทย จนถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต มีชาวคาทอลิกเจ็ดคนถูกสังหาร ก่อนที่ ญี่ปุ่นจะบุกไทย ก็มีปฏิกิริยาต่อต้านสิ่งที่เป็นตะวันตกและต่างประเทศ รวมทั้งศาสนาคริสต์ด้วย สิ่งนี้นำไปสู่การพลีชีพของชาวคาทอลิกเจ็ดคนในหมู่บ้านสองคอน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นบุญราศีโดยสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ในปี พ.ศ. 2532 (1989)[3]

มิชชันนารีกลุ่มแรกที่มาประเทศไทยคือบาทหลวงคณะ โดมินิกัน ชาวโปรตุเกสซึ่งมาถึง "สยาม" ในปี พ.ศ. 2097 (1554) ดังที่ทราบกันในสมัยนั้น สยามเป็นอาณาจักรทางพุทธศาสนาที่ต้อนรับชาวคริสต์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ เมื่อถึงศตวรรษที่ 19 มิชชันนารีคาทอลิกส่วนใหญ่มาจากยุโรปโดย คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส Paris Foreign Missions Society ( Société des Missions Étrangères de Paris – MEP) อาศัยอยู่ในเขตปกครองพิเศษและได้รับยกเว้นจากเขตอำนาจศาลและการเก็บภาษีของประเทศ ในช่วงทศวรรษที่ 1930 เกิดความวิตกกังวลและวิกฤตมากขึ้นเมื่อ ญี่ปุ่นบุกจีน และคุกคามเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปลี่ยนชื่อจาก สยามเป็นประเทศไทยในปี พ.ศ. 2482 รัฐบาลนี้มีจุดยืนเรื่องชาตินิยมและต่อต้านตะวันตก และศาสนาคริสต์ถูกตราหน้าว่าเป็น "ศาสนาต่างชาติ " และคริสเตียนชาวไทยก็ถูกกดดันรัฐบาลวิชี ก่อตั้งขึ้นหลังจากการล่มสลายของฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2483 อนุญาตให้ญี่ปุ่นตั้งฐานทัพในเวียดนามตอนเหนือ และรัฐบาลไทยตอบโต้ด้วย การรุกรานอินโดจีนของฝรั่งเศส (ปัจจุบันคือลาวและกัมพูชา) ญี่ปุ่นบุกไทยในปี พ.ศ. 2484 เพื่อยึดฐานทัพเพื่อรุกเข้าสู่แหลมมลายูและสิงคโปร์ และรัฐบาลไทยลงนามเป็นพันธมิตรที่คงอยู่จนกระทั่งญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในปี พ.ศ. 2488 (1945)

ในบรรยากาศตึงเครียดก่อนการรุกรานของญี่ปุ่น คนไทยซึ่งปกติจะใจกว้างพบว่า “ศาสนาต่างชาติ” เป็นแพะรับบาปที่ง่ายดาย แม้ว่าศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกจะอยู่ในประเทศไทยมานานกว่า 350 แล้วก็ตาม

การสอบสวนและการแต่งตั้งเป็นบุญราศี มรณีสักขี, ผู้น่าเคารพ สองคอน

หลังจากการสืบสวนกรณีผู้รับใช้ของพระเจ้าทั้งเจ็ดนี้แล้ว รายงานการพิจารณาการแต่งตั้งให้เป็นบุญราศีและการแต่งตั้งให้เป็นมรณสักขีของพระศาสนจักรคาทอลิก ก็ถูกส่งไปยังที่ประชุมอันศักดิ์สิทธิ์เพื่อเหตุของวิสุทธิชนในกรุงโรม ในปีพ.ศ. 2529 (1986) ในพิธีบูชาขอบพระคุณ ณ วัดพระมหาไถ่สองคอน ร่างของทั้ง 7 คนได้ขุดขึ้นมาและถูกฝังอีกครั้งเพื่อการตรวจสอบ สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ทรงประกาศแต่งตั้งการเป็นบุญราศีมรสักขีของพวกท่านทั้ง 7 แห่งสองคอน ณ กรุงโรม ในวันอาทิตย์แพร่ธรรมสากล วันที่ 22 ตุลาคม 1989[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "Archbishop Lawrence Khai Saen-Phon-On of Thare and Nonseng resigns". Agenzia Fides. May 15, 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 30, 2007. สืบค้นเมื่อ July 30, 2007.
  2. "บุญราศรีสองคอน". Bing.
  3. Thailand, Seven Martyrs of, Bb. | Encyclopedia.com
  4. "Dec 16 - The Seven Thai Martyrs of Songkhon (d. 1940)". Catholicireland.net (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).


ก่อนหน้า ลอว์เรนซ์ คายน์ แสนพลออน ถัดไป


มีคาเอลเกี้ยน เสมอพิทักษ์ อัครมุขนายกมิสซังโรมันคาทอลิกท่าแร่-หนองแสง
(6 มีนาคม 2523 - 14 พฤษภาคม 2547)
หลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์