ระฆังมี่นกู้น
မင်းကွန်း ခေါင်းလောင်းတော်ကြီး | |
พิกัด | 22°03′11″N 96°01′04″E / 22.052972°N 96.017778°E |
---|---|
ที่ตั้ง | มี่นกู้น ภาคซะไกง์ ประเทศพม่า |
ประเภท | ระฆังวัด |
วัสดุ | สัมฤทธิ์ 90,718 กิโลกรัม |
เริ่มก่อสร้าง | พ.ศ. 2351 |
สร้างเสร็จ | พ.ศ. 2353 |
อุทิศแด่ | เจดีย์มี่นกู้น |
ระฆังมี่นกู้น (พม่า: မင်းကွန်းခေါင်းလောင်းတော်ကြီး, ออกเสียง: [mɪ́ɰ̃.ɡʊ́ɰ̃ kʰáʊ̯ɰ̃.láʊ̯ɰ̃ dɔ̀ d͡ʑí]) เป็นระฆังที่ตั้งอยู่ในเมืองมี่นกู้น ภาคซะไกง์ ประเทศพม่า ราว 11 กิโลเมตร (6.8 ไมล์) จากเหนือเมืองมัณฑะเลย์ บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำอิรวดี เป็นระฆังที่หนักที่สุดในโลกหลายครั้งในประวัติศาสตร์
ลักษณะ
[แก้]น้ำหนักของระฆังอยู่ที่ 55,555 viss (90,718 กิโลกรัม หรือ 199,999 ปอนด์) ตัวเลขนี้เป็นที่จำของชาวพม่าได้สะดวก โดยใช้วลีช่วยจำว่า "มี่น พยู มาน มาน ปยอ" (မင်းဖြူမှန်မှန်ပြော) โดยมีพยัญชนะแทนเลข 5 ในดาราศาสตร์และตัวเลขศาสตร์ของพม่า[1][2] น้ำหนักของระฆังและวลีช่วยจำเขียนไว้บนพื้นผิวของระฆังด้วยสีขาว
เส้นผ่านศูนย์กลางภายนอกขอบระฆังคือ 16 ฟุต 3 นิ้ว (4.95 เมตร) ความสูงด้านนอกของระฆังอยู่ที่ 12.0 ฟุต (3.66 เมตร) และด้านใน 11.5 ฟุต (3.51 เมตร) เส้นรอบวงขอบด้านนอกคือ 50.75 ฟุต (15.469 เมตร) ระฆังมีความหนา 6 ถึง 12 นิ้ว (15 ถึง 30 เซนติเมตร) สูงจากขอบถึงบนสุด 20.7 ฟุต (6.31 เมตร)[3] ระฆังไม่แตกและอยู่ในสภาพดี ระฆังไม่มีลูกตุ้ม แต่ตีที่ขอบด้านนอก[4]
ประวัติ
[แก้]การหล่อระฆังเริ่มต้นใน พ.ศ. 2351 และเสร็จสิ้นใน พ.ศ. 2353 พระเจ้าปดุงมีพระราชดำริให้หล่อระฆังมหึมานี้พร้อมกับเจดีย์มี่นกู้นของพระองค์ กล่าวกันว่าระฆังใบนี้หล่อไว้ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำและขนส่งโดยใช้เรือสองลำ เมื่อข้ามแม่น้ำแล้วจึงล่องไปตามคลองที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษสองคลอง จากนั้นจึงทำเขื่อนกั้นคลองและยกระฆังขึ้นโดยการเพิ่มระดับน้ำโดยการเติมดินเข้าไปในคลองที่ถูกปิดกั้น ด้วยวิธีนี้ระฆังจึงได้รับการแขวนไว้จุดที่กำหนด[4]
ระฆังมี่นกู้นพังลงเนื่องจากแผ่นดินไหวใหญ่เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2382 บริษัทกองเรืออิรวดีนำไปแขวนอีกครั้งในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2439 โดยใช้แม่แรงสกรูและคานงัดจากการระดมทุนสาธารณะ[4] เฟลีเช เบอาโต ถ่ายภาพระฆังก่อนการแขวนใหม่อีกครั้ง
สถานะปัจจุบัน
[แก้]ด้วยน้ำหนัก 90 ตัน ระฆังมี่นกู้นครองตำแหน่งระฆังที่ใหญ่ที่สุดในโลกจนถึง พ.ศ. 2543 เมื่อถูกแทนที่ด้วยระฆังแห่งความโชคดี หนัก 116 ตัน ที่วัดฟอเฉียน นครผิงติ่งชาน มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน[5]
คลังภาพ
[แก้]-
ระฆัง พ.ศ. 2416
-
ภาพระฆังถ่ายโดยเฟลีเช เบอาโต
-
ระฆังถูกแขวนอีกครั้ง พ.ศ. 2439
-
สถานที่แขวนระฆังใหม่
-
ป้ายหินด้านหน้าระฆัง
-
จุดแขวนระฆัง
-
ด้านในระฆัง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "The Mingun Bell". Myanmar's Net Inc. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-09. สืบค้นเมื่อ 2008-02-19.
- ↑ "Mingun". Myanmar's Net Inc. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-05-21. สืบค้นเมื่อ 2008-02-19.
- ↑ "The Mingun Bell". Ni Ni Myint, (www.myanmar.gov.mm). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-06. สืบค้นเมื่อ 2008-04-21.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 Bird, George W (1897). Wanderings in Burma, pages 318–319. London: Simpkin, Marshall, Hamilton, Kent & Co., Ltd.
- ↑ "Fodushan Scenic Area". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-09-30. สืบค้นเมื่อ 2010-01-01.