ยุทธการบนน้ำแข็ง

พิกัด: 58°41′N 27°29′E / 58.683°N 27.483°E / 58.683; 27.483
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ยุทธการบนน้ำแข็ง
ส่วนหนึ่งของ สงครามครูเสดตอนเหนือ

การพรรณาถึงยุทธการบนน้ำแข็ง ในเอกสารตัวเขียนสีวิจิตร Life of Alexander Nevsky ช่วงปลายศตวรรษที่ 16
วันที่5 เมษายน ค.ศ. 1242
สถานที่
ผล

นอฟโกรอดชนะ

  • อัศวินทิวทอนิกสละดินแดนที่ครอบครองในรัสเซียทั้งหมด
คู่สงคราม
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
แฮร์มันน์แห่งดอร์ปัต
กำลัง
15,000-17,000[1] 10,000-12,000[2]
ความสูญเสีย
ไม่แน่ชัด

บันทึกลิโวเนีย:

  • อัศวิน 20 คนถูกฆ่า
  • อัศวิน 6 คนถูกจับ

บันทึกนอฟโกรอด:

  • นักรบเยอรมัน 400 คนถูกฆ่า
  • นักรบเยอรมัน 50 คนถูกจับ
  • นักรบเอสโตเนียถูกฆ่า "นับไม่ถ้วน"[3]

ยุทธการบนน้ำแข็ง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 เมษายน ค.ศ. 1242 เป็นการสู้รบระหว่างสาธารณรัฐนอฟโกรอดกับนักรบครูเสดที่นำโดยภาคีลิโวเนีย ยุทธการครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของสงครามครูเสดตอนเหนือ และเป็นที่รู้จักจากการสู้รบบนทะเลสาบไปปัสที่เป็นน้ำแข็ง

สงครามครูเสดตอนเหนือเป็นการทัพของนักรบครูเสดต่อผู้นับถือลัทธินอกศาสนาในดินแดนบอลติก[4] ในปี ค.ศ. 1236 สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 9 ประกาศสงครามกับชาวสลาฟ โดยเฉพาะสาธารณรัฐปัสคอฟและสาธารณรัฐนอฟโกรอด แต่ในปีเดียวกัน อัศวินภราดรภาพลิโวเนียแห่งดาบพ่ายให้กับชาวสโมจิเทียในยุทธการที่ซัลเลอ ความพ่ายแพ้ดังกล่าวทำให้ภราดรภาพลิโวเนียกลายสภาพเป็นส่วนหนึ่งของอัศวินทิวทอนิกและกลายเป็นภาคีลิโวเนีย ในปี ค.ศ. 1240 อัศวินทิวทอนิกตีเมืองปัสคอฟ อิสบอสก์และโคปอรีย์ ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ใกล้กับนอฟโกรอด ด้านนอฟโกรอดเรียกตัวอเล็กซานเดอร์ เนฟสกีที่ถูกเนรเทศให้กลับมาปกป้องเมือง อเล็กซานเดอร์ยึดเมืองปัสคอฟและโคปอรีย์คืนได้ในปีต่อมา

ฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1242 อัศวินทิวทอนิกปะทะกับทัพอเล็กซานเดอร์ใกล้เมืองดอร์ปัต (เมืองตาร์ตูในปัจจุบัน) อเล็กซานเดอร์ตัดสินใจถอยทัพไปที่ฝั่งตะวันออกของทะเลสาบไปปัส โดยมีทัพลิโวเนียตามมา การประมาณการขั้นต่ำของทัพลิโวเนียอยู่ที่ 2,600 คน ส่วนใหญ่เป็นอัศวินเยอรมัน-เดนมาร์กและทหารราบเอสโตเนีย ในขณะที่ทัพอเล็กซานเดอร์อยู่ที่ 5,000 คน[5] การสู้รบเริ่มขึ้นเมื่อทัพลิโวเนียซึ่งมีอัศวินเป็นทัพหน้าเป็นฝ่ายบุกเข้าหา ในช่วงเวลาที่ทั้งสองฝ่ายสู้กันในระยะประชิด อเล็กซานเดอร์และอันเดรย์ ยาโรสลาวิช น้องชายที่ตั้งทัพอยู่ที่ปีกทั้งสองข้างเข้าล้อมทัพลิโวเนีย การสู้รบจบลงเมื่อทัพลิโวเนียบางส่วนฝ่าวงล้อมและหลบหนี ในขณะที่บางส่วนที่กำลังรบติดพันอยู่ถูกสังหาร

ผลของยุทธการครั้งนี้ทำให้การขยายดินแดนทางตะวันออกของอัศวินทิวทอนิกสิ้นสุดลง[6] และเกิดพรมแดนถาวรระหว่างดินแดนที่นับถือนิกายโรมันคาทอลิกกับอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์[7] ในปี ค.ศ. 1574 คริสตจักรรัสเซียออร์ทอดอกซ์ประกาศในอเล็กซานเดอร์เป็นนักบุญ[8] เหตุการณ์ยุทธการบนน้ำแข็งได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี ค.ศ. 1938 ในชื่อ อะเลคซันดร์ เนฟสกี กำกับโดยเซียร์เกย์ ไอเซนสไตน์

อ้างอิง[แก้]

  1. "Histoire Russe." Volume 33. University Center for International Studies, University of Pittsburgh, 2006. Page 300.
  2. "Histoire Russe." Volume 33. University Center for International Studies, University of Pittsburgh, 2006. Page 300.
  3. The Chronicle of Novgorod (PDF). London. 1914. p. 87.
  4. "Northern Crusades". Ancient History Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ December 19, 2018.
  5. Nicolle, David (1996). Lake Peipus 1242: Battle of the Ice. Osprey Publishing. p. 41. ISBN 9781855325531.
  6. Riley-Smith Jonathan Simon Christopher.The Crusades: a History, USA, 1987,ISBN 0-300-10128-7, p.198.
  7. Hosking, Geoffrey A..Russia and the Russians: a history, USA, 2001, ISBN 0-674-00473-6, p.65.
  8. "Saint Alexander Nevsky". Britannica.com. สืบค้นเมื่อ December 19, 2018.

58°41′N 27°29′E / 58.683°N 27.483°E / 58.683; 27.483