มหาหิงคุ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มหาหิงคุ์
Ferula scorodosma syn. assa-foetida
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Eudicots
ไม่ได้จัดลำดับ: Asterids
อันดับ: Apiales
วงศ์: Apiaceae
สกุล: Ferula
สปีชีส์: F.  assa-foetida
ชื่อทวินาม
Ferula assa-foetida
L.

มหาหิงคุ์ (ฮินดี: :हींग ถอดรูปได้เป็น หีค หรือ หีงคะ ชื่อภาษาอังกฤษคือ asafoetida หรือเรียกสั้น ๆ ว่า hing) เป็นยางที่หลั่งจากพืชหลายชนิดในสกุลมหาหิงคุ์ (Ferula) ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในประเทศอิหร่าน อัฟกานิสถาน และนิยมเพาะปลูกใกล้กับประเทศอินเดีย มหาหิงคุ์มีกลิ่นเหม็นฉุน รสเผ็ดร้อน นิยมใช้ทำยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อในเด็ก นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาระบาย ยาแก้ไข้หวัด และใช้ผสมอาหารได้อีกด้วย

ศัพทมูลวิทยา/ที่มาของชื่อ[แก้]

ชื่อภาษาอังกฤษของมหาหิงคุ์คือ asafoetida ซึ่งมาจากคำภาษาลาติน asa ซึ่งแปลว่ายางไม้ และ foetidus ซึ่งแปลว่ากลิ่นเหม็นแรง บางทีอาจเรียกว่า Devil's dung ซึ่งแปลว่ามูลผี อนึ่งคำ aza มาจากภาษาเปอร์เซีย ว่า azā ส่วนชื่อภาษาฮินดี ใช้ หีค (हींग) เนื่องจากพืชชนิดนี้มีกลิ่นแรงมาก ในภาษาฝรั่งเศสจึงเรียกว่า แมร์ดดูดียาบล์ (merde du Diable) ซึ่งแปลว่ามูลผีเช่นเดียวกับชื่อภาษาอังกฤษ[1]

ประโยชน์[แก้]

การใช้ประกอบอาหาร[แก้]

มหาหิงคุ์เป็นเครื่องเทศที่มีฤทธิ์ช่วยย่อยอาหาร มักใช้ร่วมกันกับขมิ้น ใส่ในแกงกะหรี่ มหาหิงคุ์มีกลิ่นแรงมาก จึงต้องใส่ไว้ในโหลปิดแน่นมิให้อากาศเข้าออกได้ มิเช่นนั้นจะทำให้กลิ่นไปปะปนเครื่องเทศชนิดอื่น บางทีนิยมผสมกับแป้งปริมาณมาก เพื่อมิให้กลิ่นแรงเกินไปเวลาใช้[2]

ถึงจะมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ แต่เมื่อใส่ในน้ำมันร้อน ๆ หรือเนยใส จะได้กลิ่นหอมหวนคล้ายกับหัวหอมผสมกับกระเทียม (นิยมใช้ในบรรดาผู้ที่ไม่รับประทานหัวหอมหรือกระเทียม[3][4]) นิยมใส่ขณะทำการ tempering หรือการผัดเครื่องเทศกับน้ำมันในขั้นแรกของการทำอาหารอินเดีย มหาหิงคุ์ยังช่วยให้รสชาติของอาหารกลมกล่อม ใช้เพียงเล็กน้อยในการประกอบอาหาร

ในบางลัทธิเช่น โยคี จะห้ามการรับประทาน กระเทียม หัวหอม และมหาหิงคุ์ เช่นเดียวกับ เนื้อสัตว์และแอลกอฮอล์

การใช้เป็นยา[แก้]

มหาหิงคุ์เป็นยาแก้ท้องอืด ลดอาการปวดเกร็งในช่องท้อง โดยมีฤทธิ์ลดการเจริญและแบ่งตัวของเชื้อแบคทีเรียในลำไส้[5][6] รวมทั้งใช้เป็นยาช่วยย่อย เป็นยาระบายแก้อาการท้องผูกได้ด้วย[7] ในไทย มหาหิงคุ์ใช้ผสมกับเอทิลแอลกอฮอล์ทาท้องเด็กอ่อนเพื่อช่วยให้ขับลม หรืออาจจะผสมน้ำหยอดให้เด็กรับประทาน อาจใช้แก้พิษฝิ่นที่สูบเข้าไปด้วยได้[8]

เมื่อมหาหิงคุ์ถูกนำเข้าสู่โลกตะวันตก ก็ได้มีการทดลองใช้สารละลายมหาหิงคุ์ในแอลกอฮอล์รักษาแผล [9] แก้ไข้หวัด โดยมีการนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยจากไข้หวัดสเปนเมื่อ พ.ศ. 2461 จนในเวลาต่อมาได้มีการบรรจุลงในรายการตำรายากลางของสหรัฐอเมริกา (United States Pharmacopeia) เพื่อใช้เป็นยาป้องกันโรคไข้หวัด[10] ล่าสุดมีการทดลองใช้รากของมหาหิงคุ์เพื่อฆ่าไวรัสไข้หวัดใหญ่ H1N1[11][12]

ยิ่งไปกว่านั้น มหาหิงคุ์สามารถใช้ลดอาการโรคลมชัก ได้อีกด้วย[13]

ลักษณะ[แก้]

ยางจากต้นมหาหิงคุ์ประกอบด้วยยางเหนียว 40 - 65% ยางภายในเซลล์ 25% น้ำมันหอมระเหย 10–15% โดยมีเถ้า 1.5–10% ประกอบด้วยสารสำคัญเช่น อะซาเรซิโนแทนนอล (asaresinotannol) A และ B, กรดเฟรูลิก, อัมเบลลิเฟอโรน และสารอื่น ๆ[14] ยางมหาหิงคุ์ได้จากการเจาะหรือตัดเอาน้ำเลี้ยงลำต้นและรากออกแล้วตากให้แห้งเป็นผลึกคล้ายอำพัน เวลาจะใช้ต้องนำไปบดกระแทกให้แตกเสียก่อน แล้วจึงเข้าผสมในยาหรือผสมกับแป้งเพื่อโรยอาหาร

ต้นมหาหิงคุ์ Ferula assafoetida เป็นพืชล้มลุกใบเลี้ยงเดี่ยวในวงศ์มหาหิงคุ์ มีความสูงไม่เกิน 2 เมตร และชูดอกขึ้นสูงราว ๆ 2.5 - 3 เมตร ลำต้นตอนที่ชูดอกกลวง วัดผ่านศูนย์กลางได้ 10 เซนติเมตร ภายใต้เปลือกลำต้นเป็นยางสีจาง ๆ ดอกมีสีเหลือง ส่วนผลเป็นรูปไข่แบนสีน้ำตาลแดง ภายในมีน้ำยางสีขาวข้น รากมีลักษณะหนาหนักเนื้อมาก มียางเช่นเดียวกับลำต้น ทุกส่วนของพืชมีกลิ่นเหม็นฉุน[15]

ดูเพิ่ม[แก้]

การใช้ประกอบอาหาร[แก้]

http://www.seriouseats.com/2010/06/spice-hunting-asafoetida-hing.html

อ้างอิง[แก้]

  1. Asafoetida: die geur is des duivels! Vegatopia (in Dutch), Retrieved 8 December 2011. This used as source the book World Food Café: global vegetarian cooking by Chris and Carolyn Caldicott, 1999, ISBN 978-1-57959-060-4
  2. Vandevi Hing (Asafetida) http://www.amazon.com/dp/B000JMDJ52
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-03. สืบค้นเมื่อ 2015-03-05.
  4. "I Spice: Asafetida". The Washington Post. 23 April 2010.
  5. Srinivasan, K.(2005) "Role of Spices Beyond Food Flavoring: Nutraceuticals with Multiple Health Effects", Food Reviews International, 21:2, 167–188
  6. S. K. Garg, A. C. Banerjea, J. Verma and M. J. Abraham, "Effect of Various Treatments of Pulses on in Vitro Gas Production by Selected Intestinal Clostridia". Journal of Food Science, Volume 45, Issue 6 (p. 1601–1602).
  7. Hemla Aggarwal and Nidhi Kotwal. Foods Used as Ethno-medicine in Jammu. Ethno-Med, 3(1): 65–68 (2009)
  8. นิศารัตน์ ศิริวัฒนเมธานนท์. "มหาหิงคุ์ ยาเก่าเอามาเล่าใหม่". คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  9. Beaumont, William: Experiments and Observations on the Gastric Juice and the Physiology of Digestion (McLachlan & Stewart, Edinburgh, 1888), p.15
  10. "What's in your Acifidity Bag?". สืบค้นเมื่อ 2014-09-16.
  11. Lee, CL (August 2009). "Influenza A (H1N1) Antiviral and Cytotoxic Agents from Ferula assa-foetida". Journal of Natural Products. xxx (xx): 1568–72. doi:10.1021/np900158f. PMID 19691312. {{cite journal}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  12. Ancient Chinese Remedy May Work for Flu http://www.livescience.com/health/090910-flu-remedy.html
  13. "Ferula asafoetida: Traditional uses and pharmacological activity". สืบค้นเมื่อ 2013-05-27.
  14. Handbook of Indices of Food Quality and Authenticity. Rekha S. Singhal, Pushpa R. Kulkarni. 1997, Woodhead Publishing, Food industry and trade ISBN 1-85573-299-8. More information about the composition, p. 395.
  15. Abstract from Medicinal Plants of the World, Volume 3, Chemical Constituents, Traditional and Modern Medicinal Uses. Humana Press. ISBN 978-1-58829-129-5 (Print) 978-1-59259-887-8 (Online). DOI 10.1007/978-1-59259-887-8_6. Ivan A. Ross. http://www.springerlink.com/content/k358h1m6251u5053/[ลิงก์เสีย]