เขตมหานคร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงเขตมหานครนิวยอร์กในเวลากลางคืน ลองไอแลนด์ทอดตัวออกจากศูนย์กลางที่แมนฮัตตันไปทางตะวันออก

เขตมหานคร (อังกฤษ: metropolitan area) หรือ เมโทร (อังกฤษ: metro) คือภูมิภาคที่ประกอบด้วยใจกลางเมืองที่มีประชากรหนาแน่น และพื้นที่โดยรอบที่มีประชากรน้อยกว่า ซึ่งอยู่ภายใต้เขตการบริหารเดียวกัน มีอุตสาหกรรม โครงสร้างพื้นฐาน และที่อยู่อาศัยร่วมกัน[1] เขตมหานครมักประกอบด้วยหลายเขตอำนาจและหลายเขตเทศบาล ได้แก่ ย่าน ตำบล แขวง โบโร นคร เมือง นอกเมือง ชานเมือง เทศมณฑล อำเภอ เขต รัฐ และแม้แต่ประเทศ อย่างเช่นยูโรดริสทริกต์ (eurodistrict) เมื่อสถาบันทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองเปลี่ยนไป เขตมหานครจะกลายเป็นภูมิภาคที่สำคัญทางเศรษฐกิจและการเมือง[2]

เขตมหานครจะรวมถึงเมืองบริวาร และพื้นที่ชนบทที่แทรกระหว่างกลาง ซึ่งมีสังคมและเศรษฐกิจเชื่อมโยงหรือขึ้นอยู่กับศูนย์กลางของเมือง โดยทั่วไปจะวัดจากรูปแบบการเดินทางไปกลับเป็นประจำ (commuting)[3] เขตมหานครส่วนใหญ่มักยึดกับนครศูนย์กลางแห่งเดียว เช่น เขตมหานครปารีส (ปารีส), เขตมหานครมุมไบ, เขตมหานครนิวยอร์ก (นครนิวยอร์ก) และกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในบางกรณี เขตมหานครอาจมีศูนย์กลางหลายแห่งที่มีความสำคัญใกล้เคียงกันก็ได้ เช่น เขตมหานครแดลลัส–ฟอร์ตเวิร์ท (แดลลัสและฟอร์ตเวิร์ท), เขตมหานครอิสลามาบาด–ราวัลปินดี (อิสลามาบาดและราวัลปินดี), เขตมหานครแม่น้ำไรน์-รัวร์ในเยอรมนี และรันด์สตัดในเนเธอร์แลนด์

แนวคิดเกี่ยวกับพื้นที่ทางสถิติของเมือง (metropolitan statistical area) มีความเด่นชัดขึ้นในสหรัฐอเมริกา เขตมหานครเองอาจเป็นส่วนหนึ่งของอภิมหานคร (megalopolis) ที่มีขนาดใหญ่กว่า สำหรับศูนย์กลางเขตเมืองนอกเขตมหานครที่สร้างแรงดึงดูดที่คล้ายกันในระดับที่เล็กลงในแต่ละภูมิภาคของตนนั้น ได้มีการริเริ่มแนวคิดเรื่องรีจิโอโพลิส (regiopolis) และเขตรีจิโอโพลิตัน (regiopolitan area) หรือรีจิโอ (regio) โดยศาสตราจารย์ชาวเยอรมันในปี 2006[4] และนอกจากนี้ในสหรัฐอเมริกา ก็มีการใช้คำว่า พื้นที่ทางสถิติของเมืองขนาดเล็ก (micropolitan statistical area)

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Squires, G. Ed. Urban Sprawl: Causes, Consequences, & Policy Responses. The Urban Institute Press (2002)
  2. Mark, M.; Katz, B; Rahman, S.; Warren, D. (2008). "MetroPolicy: Shaping A New Federal Partnership for a Metropolitan Nation" (PDF). Brookings Institution. pp. 4–103.
  3. "Definition of Urban Terms" (PDF). demographia.com. สืบค้นเมื่อ 22 October 2013.
  4. Prof. Dr. Iris Reuther (FG Stadt- und Regionalplanung, Universität Kassel): Presentation "Regiopole Rostock". 11 December 2008, retrieved 13 June 2009 (pdf).

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]