ผู้ใช้:Kelos omos1/เฮก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เฮก

's-Gravenhage (Den Haag)
เทศบาล
ตึกสูงในเมืองเฮก จากมุมมอง ณ จตุรัสกลางเมือง ที่มีพระรูปของเจ้าชายวิลเลียม เดอะ ไซเลนท์ ประดิษฐานอยู่
ตึกสูงในเมืองเฮก จากมุมมอง ณ จตุรัสกลางเมือง ที่มีพระรูปของเจ้าชายวิลเลียม เดอะ ไซเลนท์ ประดิษฐานอยู่
ธงของเฮก
ธง
ตราราชการของเฮก
ตราอาร์ม
สมญา: 
Residentiestad (เมืองพระตำหนัก), Hofstad (เมืองราชสำนัก)
ที่ตั้งของเฮก
พิกัด: ข้อผิดพลาด Lua ใน package.lua บรรทัดที่ 80: module 'Module:ISO 3166/data/NL' not found 52°05′N 4°18′E / 52.08°N 4.30°E / 52.08; 4.30
ประเทศเนเธอร์แลนด์
จังหวัดเซาท์ฮอลแลนด์
พื้นที่(ค.ศ. 2006)
 • เทศบาล98.20 ตร.กม. (37.92 ตร.ไมล์)
 • พื้นดิน82.66 ตร.กม. (31.92 ตร.ไมล์)
 • พื้นน้ำ15.54 ตร.กม. (6.00 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (31 ธันวาคม ค.ศ. 2008)
 • เทศบาล482,742 คน
 • ความหนาแน่น5,757 คน/ตร.กม. (14,910 คน/ตร.ไมล์)
 • เขตเมือง1,008,605 คน
 • รวมปริมณฑล1,404,000 คน
 • คำเรียกประชากรHagenaar or Hagenees
 อ้างอิงจาก denhaag.nl.
เขตเวลาUTC+1 (CET)
 • ฤดูร้อน (เวลาออมแสง)UTC+2 (CEST)

เฮก (ภาษาดัทช์: Den Haag หรือชื่อทางการ 's-Gravenhage) เป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสามในประเทศเนเธอร์แลนด์ รองจากอัมสเตอร์ดัมและร็อตเตอร์ดัม มีประชากรทั้งหมด 482,742 คน (จากข้อมูลในวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2008) (รวมประชากรที่ได้จากการรวมกันเป็นกลุ่มเป็น 1,000,000 คน) มีพื้นที่ประมาณ 100 ตร.กม. เมืองนี้อยู่ทางตะวันตกของประเทศ และเป็นเมืองหลวงของจังหวัดเซาท์ฮอลแลนด์ เมืองเฮกเป็นส่วนหนึ่งของเขตมหานครรันสตัด เช่นเดียวกันเมืองอัมสเตอร์ดัม ร็อตเตอร์ดัม และอูเทรสท์ รวมทั้งเขตแล้วมีประชากรอาศัยอยู่ 6,659,300 คน

เมืองเฮกเป็นศูนย์กลางของรัฐบาลโดยพฤตินัย แต่ไม่ใช่เมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์ โดยในรัฐธรรมนูญแห่งเนเธอร์แลนด์ระบุไว้ว่า เมืองหลวงของประเทศคืออัมสเตอร์ดัม เฮกเป็นที่ทำการของรัฐสภาเนเธอร์แลนด์ และยังเป็นสถานที่ที่สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์แห่งเนเธอร์แลนด์ทรงพำนักและทรงงาน ที่นี่เป็นที่ตั้งของสถานเอกอัครราชทูตและที่ทำการกระทรวงทั้งหมด รวมไปถึงศาลฎีกาแห่งเนเธอร์แลนด์, คณะกรรมการกฤษฎีกาแห่งเนเธอร์แลนด์ และองค์กรล็อบบี้ต่างๆ

ประวัติ[แก้]

เมืองเฮกก่อตั้งขึ้นประมาณ ค.ศ. 1230 เมื่อเคาท์ฟลอริสที่สี่แห่งฮอลแลนด์ซื้อที่ดินข้างๆ หนองน้ำ เพื่อสร้างที่พักไว้อาศัยเวลาออกล่าสัตว์ ต่อมาในปี 1248 วิลเลียมที่ 2 ผู้ดำรงตำแหน่งเคาท์แห่งฮอลแลนด์และพระมหากษัตริย์แห่งชนโรมันทรงตัดสินประทัยที่จะขยับขยายที่พักอาศัยเป็นพระราชวัง แต่พระองค์เสด็จสวรรคตก่อนที่พระราชวังจะสร้างเสร็จ ซึ่งท้ายที่สุดได้รับการสร้างต่อจนเสร็จโดยฟลอริสที่ห้า พระราชโอรสของพระองค์ โดยเฉพาะอาคารริดเดอร์ซาล ที่ถูกใช้งานด้านการเมืองการปกครองต่างๆ เช่นการกล่าวพระราชสุนทรพจน์ประจำปีโดยพระมหากษัตริย์ ซึ่งสถานที่ดังกล่าวยังคงความสำคัญมาได้จนถึงทุกวันนี้

ชื่อและสถานะ[แก้]

ในเวลาต่อมา เมืองเฮกได้กลายเป็นศูนย์กลางการบริหารประเทศและที่พำนักของเคาท์ทั้งหลายในฮอลแลนด์ เป็นที่มาของชื่อเมืองที่มาจากคำว่า 'Des Graven Hage แปลว่าที่พำนักส่วนตัวของเหล่าเคาท์

เมื่อดยุคแห่งเบอร์กันดีเข้ามาปกครองเทศมณฑลฮอลแลนด์และซีแลนด์ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 ได้มีการแต่งตั้งผู้ว่าการมณฑลเพื่อเป็นตัวแทนผู้ปกครองในนามรัฐฮอลแลนด์ โดยมีฐานะเป็นสมาชิกแห่งสภาที่ปรึกษา และเมืองเฮกนี่เองที่เป็นที่ตั้งของที่ว่าการมณฑล จนกระทั่งช่วงเริ่มต้นของสงครามแปดปี เมื่อเมืองเฮกถูกรุกรานโดยชาวสเปน และในเมื่อเฮกเป็นเมืองที่ปราศจากกำแพงล้อมรอบ ทำให้ทหารสเปนเข้ามาครอบครองเมืองได้โดยง่าย เมืองเสี่ยงต่อการถูกทำลายอีกครั้งในปี ค.ศ. 1575 เมื่อรัฐฮอลแลนด์เสนอที่จะทำลายเมือง แต่เจ้าชายวิลเลียมแห่งออเรนจ์ห้ามปรามไว้เสียก่อน ตั้งแต่ปี 1588 เป็นต้นมา เฮกกลายเป็นที่ทำการของรัฐบาลของสาธารณรัฐดัทช์ แต่ไม่ได้รับสถานะเป็นเมืองอย่างเป็นทางการ เนื่องจากรัฐบาลยังต้องการบริหารงานเมืองต่างๆ อยู่ อย่างไรก็ดี เมื่อพระเจ้าหลุยส์ นโปเลียนขึ้นครองราชย์ในปี 1806 พระองค์ได้พระราชทานพระราชานุญาตให้เฮกมีสถานะเป็นเมืองตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

หลังจากสงครามนโปเลียน ประเทศเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์ได้ผนวกกันเป็นสหราชอาณาจักรแห่งเนเธอร์แลนด์เพื่อเป็นรัฐกันชนให้แก่กันในกรณีที่ฝรั่งเศสรุกราน ทั้งสองราชอาณาจักรผลัดเปลี่ยนเมืองหลวงระหว่างบรัสเซลล์และเฮกทุกๆ 2 ปีเพื่อเป็นการประนีประนอม หากแต่ที่ทำการรัฐบาลจะอยู่ที่เฮกตลอดเวลา

สัญลักษณ์ประจำเมืองเฮกคือนกกระสา ซึ่งอาจจะมีต้นกำเนิดมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15

เมืองยุคใหม่[แก้]

ด้วยเหตุที่ว่าเมืองเฮกไม่เคยมีกำแพงล้อมรอบ ผังเมืองชั้นในของเฮกจึงไม่หนาแน่นเหมือนเมืองใกล้เคียงที่เล็กกว่าอย่างเมืองไลเดนหรือเดลฟท์ที่มีทั้งกำแพงและคลองล้อมรอบ หากแต่มีถนนเล็กๆ หลายสายอยู่กลางใจเมือง ซึ่งอาจจะถูกสร้างมาตั้งแต่ยุคกลางตอนปลาย และยังมีถนนกว้างอีกหลายสายที่มีบ้านหรูหราที่ถูกสร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 18 เพื่อเป็นที่พำนักของนักการทูตและครอบครัวชาวดัทช์ที่มีฐานะร่ำรวย เมืองนี้เต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้างจากหลายยุคสมัย อาทิเช่นโบสถ์ใหญ่ที่ถูกสร้างในศตวรรษที่ 15, ศาลาว่าการนครจากศตวรรษที่ 16, พระราชวังหลายแห่งจากศตวรรษที่ 17, โบสถ์นิกายโปรแตสแตนท์ในถูกสร้างในศตวรรษที่ 17 ด้วยสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ และสิ่งก่อสร้างสำคัญอีกหลายๆ แห่งที่ถูกสร้างในศตวรรษที่ 18 เมื่อรัฐบาลเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในสังคมของชาวดัทช์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1859 เป็นต้นมา เมืองเฮกก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ถนนหลายสายถูกสร้างขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อรองรับข้าราชการจำนวนมากที่เข้ามาทำงานในที่ทำการต่างๆ ของรัฐบาล และชาวดัทช์ที่เดินทางเข้ามาร้องเรียนเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาล และเรียกร้องความเป็นธรรมจากการเอารัดเอาเปรียบของบริษัทเนเธอร์แลนด์อีสต์อินดีส เมืองเฮกโตขึ้นเรื่อยๆ จนเข้าไปผนวกกับบางส่วนของเทศบาลชนบทลูสไดเน็นในปี 1903 และเติบโตจนครอบคลุมเทศบาลทั้งหมดในปี 1923

บางส่วนของเมืองเสียหายอย่างรุนแรงในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อนาซีเยอรมันเข้ายึดครองเนเธอร์แลนด์ ได้มีการสร้างกำแพงแอตแลนติกตัดผ่านซีกหนึ่งของเมือง ทำให้เมืองส่วนนั้นถูกผู้รุกรานนาซีรื้อถอนทั้งหมด ต่อมาในวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 1945 เครื่องบินทิ้งระเบิดของสหราชอาณาจักรโจมตีพลาดเป้า (เป้าหมายคือฐานยิงจรวด วี-2 ที่อยู่ในสวนสาธารณะข้างเคียง) ระเบิดตกลงไปในเขตบีเชดึนเฮาท์ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นและยังเป็นที่ตั้งของสถานที่ทางประวัติศาสตร์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 500 คนและยังคงทิ้งร่องรอยความเสียหายมาจนถึงทุกวันนี้

เมืองเฮกใน ค.ศ. 1868

หลังจากสงคราม เฮกกลายเป็นเมืองหนึ่งที่มีการก่อสร้างมากที่สุดในยุโรป โดยเมืองขยายออกไปทางตะวันตกเฉียงใต้เสียเป็นส่วนมาก ในขณะที่ส่วนที่เสียหายจากสงครามก็ถูกบูรณะอย่างรวดเร็ว ส่วนยอดประชากรก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงจุดอิ่มตัวในที่สุด ในปี ค.ศ. 1965 ด้วยจำนวนประชากรทั้งหมด 600,000 คน

ในช่วงทศวรรษที่ 1970 ถึง 1980 ครอบครัวผิวขาว ชนชั้นกลางจำนวนมากค่อยๆ ย้ายออกไปอาศัยในเมืองข้างเคียงอย่างฟูร์บูร์ก เลดเช็นดัม ไรส์เว็ก และยูโทเมียร์แทน ประชากรที่อยู่ในตัวเมืองจึงมีฐานะค่อนข้างยากจน ส่วนแถบชานเมืองประชากรจะมีฐานะที่ดีกว่า ความพยายามที่จะรวมเมืองปริมณฑลเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเมืองเฮก ถูกต่อต้านอย่างมาก จนกระทั่งในทศวรรษที่ 1990 เมื่อรัฐสภาดัทช์เห็นชอบที่จะผนวกเฮกเข้ากับพื้นที่ในเมืองข้างเคียง และทำให้มีการสร้างเขตพักอาศัยในพื้นที่นั้นอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน